การให้ความชื้นกับ "ไม้เกาะ"


นับตั้งแต่เรากลับมาที่นี่ (ธันวาคม ๒๕๕๒) เราก็สังเกตุดูเจ้าต้น เฟิร์นข้าหลวง (Bird's nest fern) ที่นำมาเป็น "ไม้เกาะ" เกาะอยู่ตามต้นไม้เหล่านี้มานานว่าทำไมมันซีดลง ซีดลง

เราก็เคยถามผู้เชี่ยวชาญทางด้านต้นไม้ว่า เป็นเพราะสาเหตุที่เราแกะกระถางออกแล้วมาเกาะอย่างนี้ใช่หรือเปล่าที่ทำให้มันซีดขนาดนี้ คำตอบที่ได้คือนั้นไม่ใช่เป็นอย่างที่เราตั้งสมมติฐานไว้ เพราะผู้เชี่ยวชาญให้เหตุผลว่า "ความชื้นไม่พอ..."

เราก็พยายามสังเกตุดูว่าก็มีคนรดน้ำทุกวัน ฉีดกันทุกวัน แต่ทำไมมันไม่เขียวอื๋อเหมือนกับเฟิร์นตามจุดอื่น ๆ จะว่าความชื้นไม่พอเพราะไม่รดน้ำก็ไม่น่าใช่

เมื่อวานนี้ (๒๒ เมษายน ๒๕๕๓) ก็มาถึงบางอ้อว่าการรดน้ำแบบที่เราทำกันก่อนหน้านี้มันยังไม่ถูกต้อง คือ เรารดจริง แต่รดไม่นานพอที่จะให้ความชุ่มชื้นซึมเข้าไปถึงรากต้นไม้

เพราะการแค่เอาน้ำฉีด ๆ ให้โดนเฟิร์นที่เกาะอยู่บนต้นไม้นั้นให้ความชุ่มชื้นได้แค่เพียงใบซึ่งไม่กี่นาทีใบก็จะเสียความชุ่มชื้นไปโดยแสงแดดและแรงลม

การฉีดน้ำที่ถูกต้องจะต้องฉีดไปที่วัสดุปลูกด้วย ฉีดนาน ๆ ฉีดให้ชุ่ม โดยต้นไม้จะต้องให้มากหรือน้อยกว่ากันนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการคือ แสงแดดและความสูง 

1. แสงแดด เฟิร์นข้าหลวงเป็นไม้ร่ม ถึงร่มรำไร ดังนั้น ต้นใด กอใดที่โดนเกินเกินกว่า 50% ต่อวัน กอนั้น ต้นนั้นควรจะรดน้ำให้ชุ่มกว่าปกติ

2. ความสูง โดยปกติแล้วเฟิร์นและกล้วยไม้จะชอบอยู่บนที่สูงเพราะมีรากอากาศที่สามารถดูดซับความชื้นจากแรงลมที่พัดพาความชื้นมาธรรมชาติได้ แต่ทว่าในหน้าแล้งอย่างนี้การอยู่บนที่สูงกลับกลายเป็นโทษมากกว่ามีประโยชน์ เพราะแรงลมที่พัดมาตามธรรมชาติแทนที่จะพัดพาความชื้นมากลับกลายเป็นพัดพาเอาไอร้อนมาเผาความชื้นที่วัสดุปลูก

ดังนั้นถ้าหากเฟิร์นต้นใดอยู่สูง ๆ และได้รับแดดมากกว่า 50% โดยเฉพาะอย่างยิ่งถถ้าเป็นแดดช่วงบ่ายที่มีความเข้มของแสงสูงกว่าช่วงเช้าด้วยแล้วควรจะรดน้ำให้วัสดุปลูกชุ่มอย่างน้อยวันละสองครั้ง

การรดน้ำให้วัสดุปลูกชุ่มนั้นจะต้องแช่สายน้ำให้โดนวัสดุปลูกอย่างน้อย 1-2 นาที ถ้าให้ดีที่สุดควรรดกลับไปกลับมาอย่างน้อย 2 ครั้ง

การฉีดน้ำลงในวัสดุปลูกซ้ำไปซ้ำมาหลาย ๆ ครั้งก็เหมือนกับเรานำกาบมะพร้าวไปแช่น้ำ ถ้าฉีดน้อยน้ำจะไม่สามารถซึมเข้าไปในกาบมะพร้าวได้ แต่ถ้าฉีดไปจนชุ่ม กาบมะพร้าวก็จะยิ่งดูดซึมน้ำได้มากขึ้นและมากขึ้น

การปลูกต้นไม้ที่ว่ายากแล้ว การดูแลรักษาต้นไม้ยังเป็นสิ่งที่ยากกว่า ต้องหมั่นสังเกตุอุปนิสัย เรียนรู้พฤติกรรมของต้นไม้เพื่อเราและต้นไม้จักได้เกาะเกี่ยวอาศัยดูแลซึ่งกันและกัน...

หมายเลขบันทึก: 353590เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2010 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท