มองข้างหลังภาพ (ตอนที่ 1 : เล่าเรื่องด้วยภาพ)


ผู้เขียนขอทำตัวเป็น เหยี่ยวข่าว นำสิ่งดีๆ ที่มองเห็น มาเล่าสู่กันฟัง รวมถึง นำเสนอความนึกคิดที่กลั่นกรองจาก เหตุการณ์ บรรยากาศที่ได้สัมผัส โดยแบ่งเป็น 3 ตอน

มองข้างหลังภาพ เวทีสัมมนาคณะทำงาน 9 จังหวัด ครอบครัวเข้มแข็ง  เมื่อ วันที่ 16-18 มิถุนายน  2549  ซึ่งจัดโดย สถาบันครอบครัวรักลูก   ณ โรงแรมสวนบวกหาด อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี

เวทีนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ

  1. เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานและปัจจัยความสำเร็จร่วมกันของภาคี 9 จังหวัด (พัทลุง สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี กาฬสินธุ์ สุรินทร์ น่าน พะเยา และลำปาง) ตามยุทธศาสตร์ 4 ด้านของโครงการครอบครัวเข้มแข็ง
  2. เพื่อเรียนรู้การจัดการความรู้ แนวทางการปฏิบัติ และสามารถนำไปปรับใช้ทำงานในพื้นที่ให้เป็นจริงได้

             ทีมงาน สคส. ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง KM  ในช่วงบ่ายของวันแรก  คุณวรรณา  เลิศวิจิตรจรัส จึงหอบหิ้วผู้เขียน ไปเรียนรู้ KM ปฏิบัติด้วย โดยเราอยู่สังเกตการณ์ จนถึงบ่าย 3 โมงเย็น ของวันที่ 2

             สำหรับความคาดหวังของ สคส. คือ การไปให้ความมั่นใจกับทีมจัดงานในเรื่องการใช้กระบวนการ KM  และมองหาสิ่งดีๆในเวทีแห่งนี้

             สำหรับความคาดหวังของผู้เขียน คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนว KM ปฏิบัติ ในฐานะ KM Intern

             ผู้เขียนขอทำตัวเป็น เหยี่ยวข่าว นำสิ่งดีๆ ที่มองเห็น มาเล่าสู่กันฟัง  รวมถึง นำเสนอความนึกคิดที่กลั่นกรองจาก เหตุการณ์ บรรยากาศที่ได้สัมผัส โดยแบ่งเป็น 3 ตอน  ได้แก่

1. เล่าเรื่องด้วยภาพ
2. การพัฒนาคนด้วยกระบวนการ KM
3. KM กับภาษาวัฒนธรรม

ตอนที่1 : เล่าเรื่องด้วยภาพ

             ถ้าเราทำน้ำพริกกะปิ ซึ่งมีเครื่องปรุง  ดังต่อไปนี้

  1. กะปิ
  2. พริกขี้หนู
  3. มะนาว
  4. น้ำตาล
  5. กระเทียม
  6. มะเขือพวง

             ลองมาพิจารณา เครื่องปรุงแต่ละอย่างกันเถอะ…

1. กะปิ  สื่อสร้างบรรยากาศ
             เราเดินทางถึงจุดหมาย โรงแรมสวนบวกหาด ชะอำ  เวลา 09.00 น. ผู้เขียนชมกับคุณตุ๋ยว่าเลือกทำเลเก่ง จะสร้างบรรยากาศได้ดี เพราะมีทั้งสวน ทะเล  โรงแรม(สระว่ายน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวก)  เธอออกตัวว่า เก่าไปหน่อย  ผู้เขียนเห็นด้วย ในแง่ของคุณภาพการบริการที่สามารถปรับปรุงได้อีก แต่ด้วยงบประมาณ เวลา และความสำเร็จของงาน เวลาออกรบ ผู้เขียนเลือกทำเลก่อน  เรื่องอื่น เรามาปรับง่ายกว่า

    ทางเดินเข้าห้องกิจกรรม โรงแรมสวนบวกหาด  เมื่อลงจากรถ ผู้เขียนเห็นโรงแรม เห็นชายหาด เห็นทะเล รู้สึกผ่อนคลาย เมื่อออกเดินมาฝั่งสวน จะมีต้นไม้สีเขียว ไม้ดอก สลับกับบ้านพักเป็นหลังๆ ทำให้รู้สึกสดชื่น  เดินผ่านสระน้ำ เพื่อแวะที่โต๊ะลงทะเบียน

            โต๊ะลงทะเบียน เหมือนทั่วไป  แต่มีกองดอกลีลาวดีวางอยู่ แจกคนละ 1 ดอก   เมื่อเดินเข้ามาในห้องจัดกิจกรรม  ยังเห็นดอกน้ำเต้าวางอยู่บนโต๊ะอีก 4-5 ดอก  ตอนแรก ผู้เขียน คิดว่า ทีมงาน จะใช้เล่นเกม จึงเฝ้ารอดู  แต่คำตอบ คือไม่ใช่….

  ห้องจัดกิจกรรม   ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับแฟ้มเอกสาร พร้อมดอกลีลาวดี ที่ทีมจัดงานช่วยกันเก็บมาจากในสวน แล้วเดินเข้าสู่ห้องกิจกรรมที่ตั้งอยู่ริมบึง

      สื่อสร้างบรรยากาศ    ใบโพธิ์ทอง ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องเขียน “ปณิธานที่มุ่งมั่นกระทำความดี ในโครงการครอบครัวเข้มแข็ง” แล้วนำไปวางในพานหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 1 ใบ  แขวนไว้ที่ต้นไม้ 1 ใบ  ทำให้เกิดความรู้สึกรวมเป็นหนึ่ง       

                                                  ทิวทัศน์  มุมหนึ่งของห้องจัดกิจกรรม Shopping Idea ในวันที่ 2 มองเห็นวิวทะเลของหาดชะอำ และต้นไม้ ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งจะมองเห็นภูเขาสีเขียว นับเป็นฮวงจุ้ยที่เกิดความสมดุลธรรมชาติ  ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เปิดความนึกคิดกันเต็มที่      

  ดอกไม้ที่ช่วยกันเก็บ   โคนต้นไม้ที่แขวนใบโพธิ์ทอง  เต็มไปด้วยดอกบานบุรี ที่เก็บมาจากสวน ดูเหมือนแจกันดอกไม้ ที่ช่วยให้ผู้เขียนเกิดความสดชื่น ในหัวจิตหัวใจไม่น้อยทีเดียว

    อุปกรณ์เสริม   กลองเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่ง ที่ทีมจัดงานเตรียมไว้สำหรับ กิจกรรมสันทนาการ เพื่อเร่งจังหวะที่เร้าใจ คนตีกลองเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั่นเอง

  ฆ้องเตือนเวลา    อุปกรณ์ที่ใช้เตือนเวลา เข้าร่วมกิจกรรม เป็นฆ้องเสียงทุ้มนุ่มหู กลมกลืนไปกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในเวทีนี้ด้วย

2. พริกขี้หนู สันทนาการมืออาชีพ

          เปิดงาน   งานเริ่มขึ้น ด้วยพิธีกรหญิงชาย ที่มี Step การดำเนินรายการไม่เบา  พิธีกร กล่าวทักทาย ผู้เข้าร่วม แนะนำ โรงแรมแจ้งกำหนดการคร่าวๆ  แนะนำ วิทยากรรับเชิญ แจ้งกติกาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  จากนั้น นำเข้าสู่ themeงาน : โดยอ้างถึงความประทับใจ ภาคภูมิใจ ในองค์พระประมุข ที่ทรงมีพระอัจริยภาพ สามารถ “เปลี่ยนความคิดคนไปสู่การพัฒนาได้”      

            ผู้เขียนสนใจ Competency เขาอีกแล้ว  จึงเฝ้าดูทักษะเด่นของเขา ต่อไป

            มีการฉาย VCD ภาพความประทับใจ เมื่อ วันที่ 9 มิถุายน 2549  โยงมาเรื่องการตั้งสติ  ตั้งปณิธานในการทำงานโครงการครอบครัวเข้มแข็ง  ทำสิ่งที่ดีงาม เพื่อ พ่อหลวง  จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมนั่งหลับตา แล้วแจกใบโพธิ์ทอง 2 ใบ  เขียนปณิธานที่มุ่งมั่นอยากจะทำความดีในโครงการครอบครัวเข้มแข็ง   แล้วเข้าแถว ไปวางใส่พาน หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ 1 ใบ  แขวนไว้ที่ต้นไม้ 1 ใบ ถือเป็นการประกาศปณิธาน สิ่งที่ผู้เขียน เขียน คือ “การถ่ายทอด KM ปฏิบัติ”  ผู้เข้าร่วมทั้งหมดร้องเพลง “ภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา” ร่วมกัน

  เกมทำความรู้จัก ขั้นตอนของการปลุกเร้าอุดมการณ์จบลง  จากนั้นเข้าสู่การร้องเพลงใช้กิจกรรมเข้าจังหวะ เพื่อทำความรู้จักกัน  เช่น เพลง สวัสดี  สุขฤทัยเพลินใจเพลินตา เป็นต้น   มีเสียงกลอง  เสียงร้องเพลง  เสียงปรบมือ เสียงหัวเราะ ทำให้บรรยากาศ อบอุ่น ขึ้นมาทันที

                การแบ่งกลุ่ม   Trickหนึ่งที่ใช้ คือ การย่อยอาหารกลางวัน ด้วยการรำวง เพื่อนำไปสู่การแบ่งกลุ่ม

  แบ่งกลุ่มต่อ   การแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้กิจกรรมเข้าจังหวะเข้ามาผสมผสานอย่างแนบเนียน ไม่ต้องอธิบายวิธีการแบ่งกลุ่มให้เสียเวลา ในขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกำลังสนุกกับการร้องรำทำเพลง มารู้สึกตัวอีกที ก็เข้ากลุ่ม 8 คน เรียบร้อยแล้ว

  ปณิธานหนึ่ง   การตั้งปณิธานในการทำงานโครงการครอบครัวเข้มแข็ง  ทำสิ่งที่ดีงาม เพื่อ พ่อหลวง  ด้วยการเขียนปณิธานที่มุ่งมั่นอยากจะทำความดีในโครงการครอบครัวเข้มแข็ง   แขวนไว้ที่ต้นไม้ ถือเป็นการประกาศปณิธาน

3. มะนาว กระบวนการ

 คุณอ้อ สคส. บรรยาย KM ครึ่งวัน   คุณวรรณา  เลิศวิจิตรจรัส  รับหน้าที่ให้ความรู้ เรื่อง KM ในช่วงบ่าย ของ วันที่ 16   มิถุนายน  2549 

              จับคู่คุยกัน   “การจัดการความรู้ คืออะไร ในความเข้าใจของท่าน” คือหัวข้อ ที่คุณอ้อ กำหนดให้  จับคู่คุยกัน  แล้วขออาสาสมัครเล่าสิ่งที่ฟังจากคู่ของตน ไม่มีการสรุปถูกผิด เป็นการฝึกทักษะการฟัง ผู้ทีนำเสนอ จะได้รับของที่ระลึก จากนั้นคุณอ้อนำเสนอ ความหมายการจัดการความรู้ที่ เตรียมมา หลายตัวอย่าง

                 ถอดฉากประทับใจ   คุณอ้อ เสนอ VDO เรื่อง KM ในขบวนการเกษตรธรรมชาติที่พิจิตร แล้วให้กลุ่ม ช่วยกันถอดฉากประทับใจ  และเลือก ถอดเรื่องกระบวนการ KM หรือ ปัจจัยสู่ความสำเร็จ อีกหนึ่งข้อ

_               นำเสนอ  _ตัวแทนกลุ่ม ออกมานำเสนอ  ฉากประทับใจ และปัจจัยสู่ความสำเร็จ

   ทีมงานทำงานตลอดเวลาที่ดำเนินกิจกรรม   ระหว่างที่ สคส.บรรยาย  ทางทีมงานจากสถาบันครอบครัวรักลูก ก็สรุปประเด็น เป็น My Map  และมีคุณลิขิตบันทึกประเด็นลงคอมพิวเตอร์อีกท่านหนึ่ง

 Shopping Idea ในวันที่ 2 ของการจัดกิจกรรม (วันที่ 17 มิถุนายน 2549)  ความน่าสนใจอยู่ที่ช่วงบ่าย คือ กิจกรรม Shopping Idea ที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลไกการทำงานครอบครัวเข้มแข็งในแต่ละจังหวัด ข้อดี คือการใช้ความรู้จากกระบวนการ KM มาผสานกับเนื้องาน เห็นเป็นรูปธรรม

 กติกา  วิธีหนึ่งในการแจ้งกติกาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ ติดที่ผนัง 4 ด้านในห้องประชุม

4. น้ำตาล คน

 ทีมงานคนเก่ง  ทีมจัดงานร่วมประชุมถอด ฉากประทับใจ จากการดู VCD กระบวนการจัดการความรู้ “ขบวนการเกษตรธรรมชาติที่พิจิตร” ด้วยความสนุกในการทำงาน นี่คือบทบาทหนึ่ง

             Key man_คุณตุ๋ย   หนึ่งในผู้ควบคุม การจัดเวทีครั้งนี้ คือ ผู้อำนวยการศูนย์ครอบครัวเข้มแข็ง “คุณจินตนา  คุมพ์ประพันธ์”   จากสถาบันครอบครัวรักลูก  ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นในการทำงาน และมีอารมณ์ศิลปะ กับดอกไม้และการวาดภาพ  

_                      เจ้าของคำถาม   _อาจารย์สำรวย  จาก น่าน  เจ้าของคำถาม  “การจัดการความรู้แบบเดี่ยวในคน  ก่อนเชื่อมโยงไปที่กลุ่มทำอย่างไร?”  ทำให้วิทยากร สคส. ต้องเอ่ยปากชมว่าคำถามเยี่ยม  …"”ปราชญ์คนหนึ่ง”  ที่ผู้เขียนค้นพบในเวทีนี้

_                               AAR เปิดใจ  _อาจารย์สมคิด  จาก พัทลุง  เปิดเผย ใน AAR ว่าเคยมีแนวคิดที่แตกต่างในเรื่อง KM กับ เจ้าสำนัก สคส. แต่มาวันนี้ ได้ฟัง วิทยากร สคส. แล้ว คิดว่า พวกเราทั้งหมดกำลังเดินไป ในเส้นทางเดียวกัน (LO)  ….”ปราชญ์อีกท่าน” ที่ได้ร่วมแลกปลี่ยนเรียนรู้

                คนเก่ง   นักการเกษตรฯ สาวโสด จาก น่าน ผู้มุ่งมั่น ในอุดมการณ์ รักแผ่นดินพร้อมปกป้อง น่าจะเป็นคน KM อีกท่าน ที่ไปเรียนรู้ทุกเวที ทุกนักวิชาการ ที่ลงสู่ชุมชน เพื่อสกัดความรู้มาทำงานเพื่อชุมชน ในสไตล์ตัวเอง  
สิ่งที่ผู้เขียน ประทับใจอาจารย์ท่าน คือ คำสารภาพผิดเล็กๆน้อยๆที่กระทำ ระหว่างเดินทางมาร่วมกิจกรรม จนอดแซวไม่ได้ว่า “อาจารย์ฉลาดในการสร้างความปลอดโปร่งของจิตใจ โดยสารภาพบาปกับผู้เขียน”  ซึ่งจริงๆ เป็นกิจกรรมหนึ่งของ LO

            เธอ คือ อาจารย์พยอม   ที่ต้องการนำ KM มาใช้กับ  “ครอบครัวเข้มแข็ง” ซึ่งได้ทำอยู่แล้ว ทีม 9 จังหวัดก็ทำอยู่ เช่นเดียวกัน สิ่งที่ต้องการใน AAR คือ อยากใช้ _ Gotoknow.org _ ร่วมกับ สคส.

5. กระเทียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม

น่าน    ช่วงเวลา 19.00–21.00 น. เป็นเวทีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม วิถีชีวิตภาคี ของ 9 จังหวัด “การฟ้อน” ของตัวแทนจังหวัดน่าน ตรึงให้ผู้ชมในห้อง เงียบไปได้ชั่วขณะหนึ่ง จนพิธีกรส่งเสียงเตือน ความรู้สึกจึงกลับมา ต่างหัวเราะเขินตัวเองกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ สาวสวยผู้ฟ้อน 

        

กาฬสินธุ์    คืนวัฒนธรรมที่รอคอย เป็นคำบอกเล่า ที่ผู้เขียน ได้ยินมากกว่า หนึ่งปาก… ทางกาฬสินธุ์ เตรียม หมอแคนมือโปร รวมถึง นักร้อง นักรำ มือกลอง ท้องถิ่น มาชวนผู้ชมออกมารำกันอย่างสนุกสนาน ได้อารมณ์ ความรู้สึก   ผู้เขียนจำได้ว่า หนึ่งในสมาชิกแสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าฟัง “เด็กสมัยนี้ ไม่เอา คาถาที่เป็นมรดกท้องถิ่นแล้ว ทั้งที่สวดแล้วจะช่วยให้เกิดสติสมาธิที่ดีงาม” ผู้เขียนมองว่าเป็นเคล็ดลับของ KM ท้องถิ่น   ของดี ของแต่ละจังหวัด ตามถิ่นที่เกิดของคนๆนั้น 

6. มะเขือพวง ข้อมูลที่ปรากฏแก่สายตา

 ข้อมูลที่นำมาใช้ในทันที    ในห้องจัดกิจกรรม วันที่ 2 จะพบ บอร์ดข้อมูลข่าวสาร ผลงาน โครงการครอบครัวเข้มแข็ง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ ในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการผลักดันงาน กลไกการทำงานให้เข้มแข็ง      ความเปลี่ยนแปลงมี้ ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่าเป็นการปรับปรุง มาจาก การ AAR ในวันแรก ตอนหนึ่ง คือ “ทำเยอะแต่ไม่ค่อยเก็บข้อมูลความรู้”

            คุณติ่งสรุปKM    คุณสุภาวดี  หาญเมธี (คุณติ่ง) หนึ่ง ในKey man สังเคราะห์ความคิด หลังจาก ฟัง สคส. ให้ความรู้เรื่อง KM สรุปออกมา ในรูปของหัวปลา(KV)  ตัวปลา(KS) และหางปลา(KA) โดยเชื่อมโยงกับโครงการครอบครัวเข้มแข็ง ออกมานำเสนอต่อที่ประชุม และติดผลงานนี้ไว้ ในห้องดำเนินกิจกรรม เพื่อเป็นข้อมูลในการทำงานต่อไป  ผู้เขียนจึงให้ความมั่นใจกับคุณตุ๋ยว่า ทีมงานของท่าน ก็มีคนเก่งกระบวนการ KM อยู่แล้ว รวมตัวท่านเอง

             ผู้บริหาร 2 ท่าน ของสถาบันครอบครัวรักลูก ยังมีอีกหลายมุม ที่น่าสนใจ  ท่านพูดตรงกันเสมอ เมื่อ เราชมการจัดงาน  ว่าเป็นฝีมือของลูกน้อง  เขาเก่งกันทุกคน ใช้ความสามารถตามความถนัด ผู้เขียนอยากจะสรุปว่า “ท่านเล่นบทบาทโค้ชที่ดี”   เรื่องคนจึงอยู่ในหัวข้อการนึกคิดของผู้เขียน ต่อไป

             เมื่อเครื่องปรุงครบแล้ว  ลองตำน้ำพริกกะปิ  KM ทานกัน ในจินตนาการดู ว่าจะได้รสชาติอย่างไร?

 

หมายเลขบันทึก: 35309เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2006 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2018 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบคุณค่ะ  เป็นบทเรียนการเล่าเรื่อง"เทคนิคของคุณลิขิต" ได้ชัดเจน  พ่วงด้วย สอดแทรกปรัญญา km โดยแท้ "ทุกคนคือคนสำคัญ"  "กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์คุณกิจชัดเจน"  ขอบคุณอีกครั้งค่ะ  

ขอบคุณเช่นกันค่ะ  คุณลิขิตมีความสุข ที่วิธีนำเสนอการเล่าเรื่องผ่านภาพ เป็นประโยชน์กับคุณเมตตา  และได้รู้ว่า  เกิดมุมมอง "ทุกคน คือ คนสำคัญ" 

ในทัศนะคุณลิขิต  "ทุกสิ่งทุกอย่างก็สำคัญแบบละเลยไม่ได้ค่ะ"  เพียงแต่เราจะจัดสมดุลอย่างไร?...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท