สงกรานต์ ที่หายไป


  สงกรานต์ ,ปี๋ใหม่เมือง  วันปีใหม่ของไทย  ของคนเมืองล้านนา  วันที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นชาติไทย  ถ้ามีเครื่องย้อนเวลาฉันอยากรู้ว่าสงกรานต์ในอดีตจะแตกต่างจากตอนนี้มากแค่ไหน  ความสวยงามทางวัฒนธรรม คงมีมากกว่าตอนนี้

    เมื่อตอนฉันยังเด็กฉันยังจำได้ วันสงกรานต์วันที่ 13 ย่าบอกว่าจะถือเป็นวันสิ้นปี ทุกคนจะทำความสะอาดบ้านเพื่อต้อนรับสิ่งดีๆที่เข้ามาในปีใหม่ ห้ามพูดจาหยาบคายห้ามพูดเรื่องอับโชค ห้ามด่าพ่อ ล่อแม่  โชคดีที่บ้านเลี้ยงมาดีเลยไม่เคยหลุดพูดคำพวกนี้ออกมาในวันนี้

     ในวันที่ 14 วันนี้ฉันชอบมาก ชอยมากกว่าไปเล่นน้ำสงกรานต์ เพราะจะเป็นวันที่ ทุกบ้านจะเตรียมข้าวของ สำหรับไปวัด หรือทำพิธีสืบชะตา(ซึ่งปัจจุบันคงไม่ค่อยมีแล้ว)ทุกปีย่าจะทำขนมจ็อก (ลักษณะจะคล้ายขนมเทียนนั้นแหละแตกต่างตรงที่ใช่น้ำอ้อยลงไปในแป้งทำให้สีแป้งไม่เหมือนกัน แล้วก็ไส้ข้างในขนมจ็อกจะใช้ไส้มะพร้าวขั่วน้ำอ้อยแต่ขนมเทียนจะเป็นไส้ถั่วเขียว) ฉันชอบที่จะช่วยย่าทำ เราจะทำกันเยอะมากๆ หลายครอบครัวร่วมกันทำ  พอสุกก็จะแจกจ่ายตามบ้านญาติเพื่อเอาไปถวายพระในวันรุ่งขึ้น ขั้นตอนนี้แหละที่สำคัญ   เพราะมันทำให้ฉันได้กินขนม อิ่มไปทั้งวัน แถมอร่อยด้วย  พออิ่มก็ต้องทำตัวเป็นหลานที่ดีหน่อย  ช่วยย่าเก็บกวาดจากนั้นก็ไม่เหลือแรงจะไปเล่นน้ำสงกรานต์แล้ว

       ตอนเย็นเราจะเดินไปที่ตลาดหลังตลาดจะติดกับลำน้ำปิง ที่นั้นมีทรายละเอียดแล้วก็นุ่มมาก   ย่าใช้สลุง(ขันเงินมีลวดลายขนาดเท่าลูกบอล)ตักดินทราย ส่วนฉันกับพี่สาวแค่ขันน้ำก็พอเพราะสลุง มันหนัก  เราตักดินทรายไปก่อที่วัด ทุกคนจะก่อทรายกองเดียวกันก่อให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  ฉันเคยถามย่าว่าทำไหมเราต้องตักทรายเข้าวัด  ย่าบอกว่าเพราะเวลาเรามาวัดทรายจะติดเท้าเราออกไปด้วยทุกครั้ง การตักทรายเข้าวัดคือการเอาทรายมาคืนวัดนั้นเอง

    พอวันที่ 15 วันนี้หนุ่มๆสาวๆจะแต่งตัวกันสวยงาม ถือสถุงที่จุด้วยข้าวปลาอาหาร  ดอกไม้ธูปเทียน  ขวดน้ำส้มป่อยและขันใบเล็ก และที่สำคัญ"ตุง" ธงกระดาษที่รูปนักษัตรทั้ง 12 และ"ตุงชั้น"หลากสีสวยงามนำมาปักที่กองทราย เราเข้าวัดทำบุญฟังเทศน์ จากนั้นจะแห่ไม้ก้ำหรือไม้ค้ำต้นโพธิ์ หนุ่มสาวพากันฟ้อนรำ และเล่นน้ำกันสนุกสนาน

   นั้นเป็นความทรงจำยังเด็กของฉัน  แต่พอตอนนี้การเล่นน้ำสงกรานต์ในเมืองดูน่าเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับฉัน 

    สงกราต์ปีนี้ดูจะน่าสนใจขึ้นเมื่อฉันมาอยู่บ้านสามี  ที่นี้มีวัฒนธรรมที่ยังคงความเป็นพื้นเมืองอยู่  ที่นี้ยังมีการดาคัว(เตรียมของสำหรับสืบชะตาและไปวัด) มีมุมที่งดงามของความเป็นล้านนา ฉันช่วยแม่สามีโม่ข้าวเหนียวเพื่อเตรียมทำขนมปาด เกิดมาก็เพิ่งจะเคยโม่แป้งเอง โม่ด้วยโม่หินไม่ใช่เครื่องโม่ที่เบาแรงแบบในเมือง

     ฉันได้ขนทรายเข้าวัด  ตามสามีที่หาบน้ำจากบ้านไปรดน้ำหรือจะเรียกว่าสาดจะถูกกว่า  ไปสาดน้ำไม้สะหรี(ต้นโพธิ์) ที่นี้เราจะสาดน้ำตั้งแต่ประตูเข้าวัด สาดที่ เจดีย์  วิหารวัด ต้นไม้ในวัด ต้นโพธิ์ สาดใส่กันบ้างสนุกดี  ฉันว่ามันเป็นกุสโลบายของคนโบราณเพราะช่วงน่าร้อนน้ำจะแห้ง ขาดแคลนจะให้พระสงฆืหาบน้ำมารดต้นไม่ก็ใช่ที ชาวบ้านจึงถือโอกาสเอาวันนี้ช่วยกันรดน้ำภายในวัด ต้นไม้ ในวัดทุกต้นถือว่าได้บุญโดยปริยาย แล้วถือสืบมาจนทุกวันนี้  สาดน้ำในวัดเรื่อยมาจนเวลากลับเราจะล้างเท้าหน้าประตูวัดเพื่อดินติดเท้ากลับบ้านเป็นอันเสร็จพิธี

    รุ่งเช้าวันที่ 15 ฉันตื่นตั้งแต่ตี 4 (ที่นี้ถือว่าสายแล้วสำหรับวันปีใหม่) ไปวัดกับแม่สามี สำหรับอุปกรณ์ไปวัด ก็จะมีขนมข้าวต้มข้าวปลาอาหารทั่วไป และ ข้าวนึ่งอุ่นอีก แอ็บ(กล่องข้าวที่สานด้วยไม้ไผ่)ตุงแล้วก็เสื่อ  ที่นี้เราทำพิธีกันนอกวิหาร ทำพิธีกลางลานวัดกันเลยทีเยว  เพราะที่ในวิหารไม่มีที่พอสำหรับผู้คนมากมาย ฉันปูเสื่อให้แม่นั่ง จากนั้นเราก็ไปใส่ถวายข้าวตอกดอกไม้ ที่นี้เรียกใส่ขันแก้ว พอถึงเวลา ผู้คนก็พากันเข้าแถว เพื่อเตรียมใส่บาตรข้าวเหนียว ใส่เฉพาะข้าวเหนียวเพราะกับข้าวจะแยกใส่อีกที่หนึ่ง  เหมือนที่หลวงพระบางประเทศลาว ก็ใส่แบบนี้เช่นกัน แต่เขาทำกันทุกวันเมื่อพระบิณฑบาตร

    หลังจากสวดมนต์ฟังเทศน์ฟังธรรมถือว่าเสร็จพิธีทางศาสนาแล้ว ช่วงสาย เรา3 คนพ่อแม่ลูกก็หอบของขึ้นมอเตอร์ไชต์ออกไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ บ้านนั้นบ้านนี้ ผูกข้อไม้ข้อมือ ให้พร ตามธรรมเนียม

    หลังจากวันที่ 15 จะเป็นช่วงของการสืบชะตา บางก็ไปสืบที่วัด  บ้างก็สืบกันที่บ้านปีนี้ที่บ้านสามีเราสืบชะตากันที่บ้าน ของจะเตรียมจึงมากกว่าทุกปี น่าเสียดายที่ฉันไม่มีรูปมาอวดทุกคน  ของที่เตรียมจะเป็นกระทงกาบกล้วย ตามจำนวนคนในบ้าน ไม้ค้ำ ต้นกล้วย ต้นอ้อย สายสินญ์ และสายสินญ์ที่ชุบน้ำมันเพื่อเผาตอนพระสวดชืบชะตา อันนี้ฉันไม่รู้ความหมายว่าเผาเพื่ออะไร เพราะเขาบอกเพียงว่าเป็นพิธีที่สืบต่อกันมาเท่านั้น

    สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นหนึ่ง  มันเป็นความสวยงามของวิธีชีวิต ที่คนในเมืองเริ่มที่จะลืม หรือเราไม่เคยใส่ใจ เราจัดงานสืบสานแต่ไม่เคยนำไปใช่จริงๆในแหล่งชุมชน เราพร่ำบอกว่าลูกหลานหลงวัฒนธรรม แต่เราเองก็ไม่เคยบอกว่าวัฒนธรรมเราเป็นมาอย่างไร มีแต่ในตำรา แต่ขาดประสบการณ์จริง   แล้วเราจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร  หรือต้องรอให้มันมันเพียงการจดประทึกทางประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งเท่านั้น 

หมายเลขบันทึก: 352998เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2010 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอให้มีความสุขในวันสงกรานต์นะครับ

สวัสดีจ๊ะ

สงกรานต์ปีนี้มีกิจกรรมให้ทำหลายอย่างเลยนะ

ยังไงก็มีความสุขมากๆนะจ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท