สึนามิ คนไทย ไม่เคยเข็ด


            เช้าตรู่ของวันที่ 7 เมษายน 2553 ผมตื่นขึ้นมาท่ามกลางธรรมชาติริมชายทะเลสวยงาม ณ. บ้านพักในอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ด้วยภารกิจที่สำคัญต้องมาช่วยงานอาจารย์ท่านหนึ่งในคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ด้านการจัดการขยะในสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัด ทำให้ผมต้องปลีกตัวจากนครปฐมมาพักพิงอยู่ที่อุทยานแห่งชาตินี้ถึงสามคืน เช้าวันนี้เป็นวันที่สองของการทำงานครับ สภาพทะเลด้านนอกดูสงบสวยงามเหมือนวันแรกที่ผมมาถึง แต่ไม่กี่นาทีในระหว่างที่ผมกำลังจะเริ่มเปลี่ยนเสื้อผ้าอาบน้ำแต่งตัวเพื่อออกมาให้ทันนัดหมายทานข้าวเช้าตอนเจ็ดโมงกับทีมงาน ทันใดนั้นเสียงโทรศัพท์มือถือคู่ใจของผมก็ดังขึ้น ผมรับโทรศัพท์ด้วยเพราะหมายเลขดังกล่าวเป็นหมายเลขของอาจารย์รุ่นพี่ รศ.ดร. กัมปนาท ภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ หนึ่งในคณะทำงานที่มาด้วยกันครั้งนี้ ใจนึกอยู่ว่า ยังเหลือเวลาอีกตั้งครึ่งชั่วโมงกว่าจะถึงเวลานัดหมายทานข้าวเช้า ทำไมถึงรีบโทรมาเร่งผมขนาดนี้ พอรับสายคำแรกที่ผมได้ยินจากอาจารย์รุ่นพี่ท่านนี้คือ เฮ้ย ฟังข่าวเช้านี้หรือเปล่า? มีแผ่นไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ ที่เกาะสุมาตรา บริเวณเดียวกับที่เกิดสึนามิครั้งที่แล้ว ทางกรมอุตุประกาศให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยอพยพโดยด่วนแล้ว อะไรกันเนี่ย?????? ผมเองนึกในใจว่าอาจารย์กัมปนาทท่านนึกสนุกแกล้งอะไรกันแต่เช้าเลยเนี่ย เพราะเมื่อคืนที่ผ่านมาเราไปท่านอาหารกันที่ริมชายหาดที่อยู่ถัดออกไปจากสถานที่พักประมาณ 7 กิโลเมตร ภายในวงก็มีการร่วมเสวนาสภากาแฟกันเรื่องของผลกระทบจากสึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศเมื่อ 6 ปี ที่แล้วต่อพื้นที่บริเวณชายฝั่งของประเทศไทย “เรื่องจริงโว้ย !!!” เสียงเน้นย้ำจากอาจารย์กัมปนาท ตะโกนสั่งให้ผมรีบเก็บข้าวของ แล้วไปพบกันที่จุดจอดรถตู้ของคณะทำงานภายใน 5 นาที งานเข้าซะแล้วสิครับพี่น้อง ในใจผมนึก ผมไม่รอช้ารีบเก็บข้าวของตามคำแนะนำของอาจารย์ท่านนี้โดยเร่งรีบ โดยขอแปรงฟันสัก 1 นาทีก่อนเดี๋ยวเกรงว่าจะคุยกับคนอื่นลำบาก หลังจากนั้นผมก็รีบหิ้วสัมภาระมายังจุดที่รถตู้ของคณะทำงานจอดอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เห็นอาจารย์กัมปนาทมาถึงก่อนแล้วด้วยชุดแต่งกายที่ยังอยู่ในชุดนอนกางเกงขาสั้นอยู่ พร้อมกับตะโกนปลุกคนรถซึ่งยังนอนอยู่ในรถอย่างสำราญขึ้นมา อีกไม่เกิน 10 นาทีคณะทำงานของเราซึ่งมีประมาณ 10 คนก็ทยอยเก็บข้าวของลงมาพร้อมกันที่รถตู้ เด็กนักศึกษาที่มาช่วยงานสองสามคนที่มาด้วยนั้น เอยปากถามถึงข้าวเช้าที่เราสั่งรอไว้ที่ร้านค้าภายในอุทยานว่าจะทานกันก่อนไหม เสียงดังสวนกลับจากอาจารย์กัมปนาท ว่า นี่เขาประกาศอพยพหนีสึนามิกันแล้วยังจะห่วงกินอีกหรือ เดี๋ยวก็ได้มีคนทำบุญเอาไปให้กินหรอก ประโยคนี้ทำเอาทุกคนต้องหยุดนิ่ง และหันหัวออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยนี้ทันที ก่อนไปด้วยจิตวิญญาณของอาจารย์สิ่งแวดล้อม เรายังไม่ลืมที่จะรีบไปบอกกับนักท่องเที่ยวภายในพื้นที่เสี่ยงภัยนี้ ถึงประกาศเตือนภัยสึนามิ แต่ปรากฏว่านักท่องเที่ยวทุกคนดูจะไม่เชื่อเรา และเห็นเราเป็นตัวตลกกันไปเสียอีกต่างหาก คณะของเราจึงตัดสินใจขับรถออกจากพื้นที่ตามป้ายนำทางการอพยพเมื่อเกิดภัยสึนามิที่มีติดอยู่ตามถนนอย่างเร่งด่วนเพียงคณะเดียว คณะของเราขับรถย้อนกลับมาที่ตัวเมืองจังหวัด ซึ่งน่าจะปลอดภัยที่สุด และหาร้านรับประทานอาหารเช้ากันพร้อมกับเริ่มเสวนาถึงเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างสนุกสนาน และไม่ลืมที่จะโทรศัพท์ติดตามข่าวสารจากคนรอบข้างที่สามารถเข้าถึงวิทยุ หรือโทรทัศน์ได้ เวลาประมาณ 9 โมง ก็มีประกาศยกเลิกการเตือนภัยสึนามิในประเทศไทย ทางคณะของเราจึงเดินทางกลับมายังที่พักและเริ่มปฏิบัติงานตามภารกิจต่อไป ถึงแม้ในใจยังคงไม่ลืมเหตุการณ์ระทึกขวัญเมื่อเช้าที่เกิดขึ้นก็ตาม เรื่องที่ผมนำเสนอนี้ดูเหมือนจะเป็นนิยายครับ แต่ขอย้ำเลยครับว่าเรื่องจริง ทำไมผมถึงนำเอาเรื่องนี้มาเขียนเล่าสู่กันฟัง ประเด็นที่อยากจะสื่อสารให้กับท่านผู้อ่าน และผู้ที่เกี่ยวข้องมีอยู่สองสามประเด็นครับ

ประเด็นแรก ระบบการเตือนภัยสึนามิที่มีอยู่ภายในท้องที่นั้น บอกตามตรงครับว่า “ ห่วยแตก !!!” ภายในที่พักที่ผมพักอยู่นั้นไม่มีโทรทัศน์ บริเวณโดยรอบเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อภัยสึนามิก็ไม่มีสัญญาณเตือนภัย และไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนวิ่งมากบอกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เลย ที่ผมเห็นมีอยู่นั้นก็เพียงป้ายปักเตือนนักท่องเที่ยว บริเวณชายหาด ว่าบริเวณดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ !!!! ถ้าท่านอาจารย์กัมปนาทท่านไม่ได้ติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือในเช้านี้ คาดว่าคณะทำงานของเราก็ไม่ทราบเรื่องนี้เลยครับ โชคดีครับว่าครั้งนี้มันไม่มีสึนามิเข้ามาเหมือนกับคราวที่แล้ว แต่ภัยธรรมชาติยากนักครับที่จะคาดเดา การจัดการความเสี่ยงด้วยแนวทางเชิงรุก นั่นคือการอพยพขึ้นสู่พื้นที่สูงที่ปลอดภัยอย่างรวดเร็ว ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และสมควรกระทำโดยเร็วที่สุด การรู้ก่อน หนีเร็ว ย่อมที่จะช่วยให้คนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับอันตราย และเกิดการสูญเสียน้อยที่สุดจากภัยธรรมชาติที่ไม่คาดคิดเหล่านี้ได้ครับ

ประเด็นที่สอง ต้องเรียนว่า คนไทย ไม่เคยเข็ดครับ คำเตือนจากผม และคณะอาจารย์ที่วิ่งบอกนักท่องเที่ยวที่อยู่ตามชายหาด และในบ้านพัก ดูจะเป็นเรื่องไร้สาระ ตัวผมเองยังถูกย้อนจากนักท่องเที่ยวบางท่านเลยว่า ก็ฉันไม่มีทีวีดูนี่ ก็เลยไม่รู้ว่าจะมีสึนามิ สิ่งสำคัญคือระบบการเตือนภัยที่ทั่วถึง และการสื่อสารที่ครอบคลุม รวมถึงเมื่อได้รับข่าวสารแล้วต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ อย่าอยู่เพียงสิ่งที่มองเห็น ภัยธรรมชาติบางครั้งกว่าที่ธรรมชาติจะเริ่มเตือนเรามันก็ต้องร้องเพลงสายเกินไปเสียแล้วครับ เรื่องนี้ต้องร่วมกันสร้างจิตสำนึก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันขนานใหญ่ครับ ที่ญี่ปุ่น ประเทศที่ต้องเผชิญกับสึนามิบ่อยครั้ง เมื่อได้รับการเตือนจากรัฐบาล หรือท้องถิ่น ทุกคนต้องอพยพทันทีครับ ถือเป็นกฎ และระเบียบที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คนไทยเราเคยมีประสบการณ์การสูญเสียจากภัยสึนามิมาแล้ว แต่ดูเหมือนเราจะไม่จำภาพนั้นให้ฝังอยู่ในจิตสำนึกของเราเอาเสียเลย ใช่ครับดูสภาพแวดล้อมและท้องทะเลก็ไม่เห็นน่าจะมีอะไรนี่นา แต่นี้เป็นภัยธรรมชาติอย่างฉับพลันครับ คลื่นยักษ์เวลามันมาให้เห็นแล้วนะ หนีให้ตายก็หนีไม่ทันครับ เมื่อรู้ล่วงหน้าแล้วไม่ปฏิบัติก็เห็นว่าน่าจะสมควรไปกับคลื่นนั้นครับ

ประเด็นสุดท้าย อยากฝากถึงแนวทางการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากพิบัติภัยสึนามิ ที่ผมเองอยากนำเสนอผ่านแนวทาง 3E ที่จำเป็นต้องประกอบด้วย

1)       Education หรือการให้ความรู้ ซึ่งนี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดครับ การให้ความรู้ที่ถูกต้อง ย่อมนำสู่การสร้างความตระหนักต่อการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากพิบัติภัยธรรมชาติ มิใช่แค่ภัยจากสึนามิ ยังหมายรวมถึงภัยอื่นๆ ที่เราอาจจะต้องเผชิญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดมักจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดครับ เพราะในแง่ของการปฏิบัตินั้นไม่ง่ายเลย สิ่งนี้ต้องวางเป็นแผน หรือนโยบายที่ภาครัฐต้องทำอย่างจริงจังครับ

2)       Emergency Plan and Evacuation หรือแผนฉุกเฉิน และการอพยพครับ แผนฉุกเฉิน และการอพยพที่ดี มีประสิทธิภาพย่อมส่งผลดีต่อความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติจากธรรมชาติครับ แต่มีแผนที่ดีก็ต้องประกอบด้วยการปฏิบัติที่เคร่งครัด และการซ้อมแผนอย่างต่อเนื่องด้วยครับ มิเช่นนั้นแผนที่เตรียมไว้เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงก็คงเป็นแค่แผนที่ชุมชนไม่สามารถปฏิบัติได้ครับ อ้อ ต้องขอชื่นชมครับว่าในบริเวณที่ผมไปพักดังกล่าวนั้นมีป้ายแสดงเส้นทางการอพยพหนีภัยคลื่นสึนามิปักไว้ตามถนนสายหลักอย่างชัดเจน แต่เรื่องที่ขำก็ดูเหมือนจะเป็นพี่โชเฟอร์ของคณะทำงานเราที่ตกใจแล้ววิ่งสวนลงตามถนนที่จะไปชายหาด ทำเอาท่านอาจารย์กัมปนาท ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำต้องเอ่ยปากว่าว่าจะวิ่งไปตายหรือ ป้ายก็บอกให้เห็นอย่างชัดเจนว่าให้หนีขึ้นที่สูง ประเด็นนี้ต้องบอกครับว่า สติ เวลาเกิดการหนีภัยธรรมชาติ ต้องมีสติครับ ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างมีสติ จะปลอดภัยที่สุดครับ

3)       Enforcement สิ่งนี้หลายท่านอาจจะมองว่าไม่น่าจะเป็นสิ่งจำเป็นเลยสำหรับการบริหารจัดการความเสี่ยงพิบัติภัยธรรมชาติ แต่ในส่วนตัวของผมเองคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งครับ การบังคับใช้แผนฉุกเฉิน หรือการอพยพ เป็นสิ่งสำคัญ ควรต้องสร้างเป็นกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผมจำได้ว่าเมื่อตอนที่ผมไปอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนเข้าพักภายในศูนย์อบรมจะต้องมีการเปิดวิดีโอแนะนำสถานที่ และการปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว หรือภัยธรรมชาติ ซึ่งทางศูนย์นั้นถือเป็นกฎที่ผู้เข้าพักต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด บ้านเรายังไม่เคร่งครัดขนาดนั้นครับ ด้วยเพราะผมเข้าใจว่าเราไม่ค่อยได้เจอกับเหตุการณ์แบบนั้นมากนัก แต่นี่คือการบริหารจัดการความเสี่ยงใช่หรือไม่ครับ จำต้องให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์ได้ยิ่งดี เพราะฉะนั้นการบังคับเป็นกฎเกณฑ์ไม่ว่าจะในระดับชุมชน หรือจังหวัด ผมเองยังคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญครับ

ท้ายสุดนี้ผมอยากฝากไว้นิดหนึ่งครับว่า ผมเขียนบทความนี้มิได้มีเจตนาต้องการกล่าวร้าย หรือตำหนิถึงข้อบกพร่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดครับ เพียงแต่อยากให้เป็นสิ่งที่สะกิดใจคนไทยทุกคนถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะสึนามิ ที่เราเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับมันมาแล้ว แต่คนไทยเราไม่เคยเข็ดกับมันสักที !!!!

 สนใจติดตามบทความย้อนหลังได้ที่ www.en.mahidol.ac.th/EI

ผศ.ดร. กิติกร จามรดุสิต

เมษายน 2553

หมายเลขบันทึก: 352597เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2010 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท