อุตสาหกรรมกับชุมชน


อุตสาหกรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชน

            เมื่อวันที่ 27-28 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมาผมได้รับเชิญจากเครือซิเมนต์ไทย SCG ให้ร่วมเป็นวิทยากรรับเชิญในงานสัมมนาชุมชนสัมพันธ์ประจำปี 2553 ณ.บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด จังหวัดลำปาง ภายใต้หัวข้องานชื่อ Green Business and Community Engagement โดยมีพนักงานที่ดูแลในด้านงานชุมชนสัมพันธ์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากกลุ่มธุรกิจต่างๆภายในเครือเข้าร่วมประมาณ 70 ท่าน กิจกรรมที่เกิดขึ้นตลอด 3 วันนั้นประกอบด้วยกิจกรรมหลักในวันแรกเป็นการเข้าร่วมศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนชาวบ้านสามขาที่อยู่รอบข้างโรงงานปูนซิเมนต์ไทยลำปาง และการสร้างฝายชะลอน้ำภายในพื้นที่ที่ชุมชนสามขา จังหวัดลำปาง โดยคืนแรกนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะพักค้างคืนกับชาวบ้านสามขา ในรูปแบบของโฮมสเตครับ วันแรกนี้ผมไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากติดภารกิจภายในมหาวิทยาลัย ผมเดินทางไปวันที่สองของการสัมมนา ซึ่งกิจกรรมหลักจะเป็นการบรรยายเชิงวิชาการ และเวทีเสวนาร่วมของผู้บริหารบริษัท นักวิชาการ และนักวิชาการชุมชนอิสระครับ โดยผมได้รับเกียรติให้ช่วยบรรยายเชิงวิชาการในหัวข้อเรื่อง industrial ecology and sustainable development of industry ซึ่งทางกลุ่มผู้จัดงานต้องการให้ผมสร้างจิตสำนึกที่ดีในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและบทบาทของอุตสาหกรรมต่อการร่วมสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเด็นหลักๆที่ผมอยากนำมาถ่ายทอดให้กับผู้อ่านทุกท่านในบทความฉบับนี้ก็มีอยู่สองสามประเด็นครับ

            ประเด็นแรกที่อยากถ่ายทอดก็คงจะเป็นเรื่องของตัวโรงงานปูนซิเมนต์ลำปางที่เป็นเจ้าของสถานที่ของการจัดงานในครั้งนี้ครับ ย่างก้าวแรกที่ผมสัมผัสได้เมื่อเข้าไปยังตัวโรงงานของปูนซิเมนต์ลำปางนั้น ต้องขอบอกว่ารู้สึกตกใจกับสภาพแวดล้อมโดยรอบที่มีลักษณะของพื้นที่ป่าอยู่มากกว่าตัวโรงงานครับ ดูแปลกมากกว่าโรงงานปูนซิเมนต์อื่นๆที่ผมเคยเข้าไปสัมผัส แต่เผอิญว่าในช่วงที่ไปนั้นเป็นช่วงหน้าแล้งครับ สภาพป่านั้นก็ดูจะเป็นสีน้ำตาลมากกว่าสีเขียวไปนิดหนึ่ง ผมสอบถามกับผู้บริหารของโรงงานก็ได้รับคำตอบว่า ตัวโรงงานนี้ตอนก่อนที่จะเริ่มสร้างมีการออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่เดิม โดยพยายามให้เกิดการตัด หรือย้ายต้นไม้ที่มีอยู่เดิมให้น้อยที่สุด อาคารสำนักงานก็มีการประยุกต์ใช้หลักการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อเป็นร่มเงาในเวลากลางวันที่มีแดดร้อนจัด ช่วยประหยัดพลังงานจากการใช้แอร์ได้มากทีเดียว โดยเฉพาะสภาพอากาศทางตอนเหนือที่มีอากาศค่อนข้างเย็นด้วยแล้วทำให้ตอนเช้าแถบจะไม่ต้องเปิดแอร์กันเลยครับ พื้นที่ป่าที่มีอยู่โดยรอบตัวโรงงานทำให้มีนกหลากหลายชนิดเข้ามาพำนักอาศัย ในช่วงอพยพย้ายถิ่นในแต่ละฤดูจำนวนมากครับ ผมได้รับหนังสือจากชมรมดูนกของพนักงานในบริษัทรวบรวมได้ถึงกว่า 148 ชนิดครับ กิจกรรมตลอดปีของทางบริษัทที่เกี่ยวข้องกับชุมชน และสิ่งแวดล้อมมีอยู่มากมายเช่นเดียวกัน อาทิเช่นการส่งเสริมให้ใช้จักรยานภายในบริษัท โดยผู้บริหารเป็นคนจัดหาจักรยานมาเตรียมไว้ให้ การร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำกับชุมชนที่อยู่โดยรอบข้าง การนำเอาความร้อนที่เกิดขึ้นจากเตาเผาซิเมนต์มาต้มน้ำให้เป็นไอน้ำเพื่อนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงงานกว่า 9 เมกกะวัตต์ เป็นต้น ผมถ่ายทอดอย่างนี้มิใช่ทางบริษัทให้เงินผมเพื่อมาเขียนโปรโมทสิ่งที่บริษัทกำลังทำนะครับ แต่ผมกำลังอยากจะถ่ายทอดในสิ่งที่ได้ไปสัมผัสมาจริงๆ โดยนำไปเปรียบเทียบกับโรงงานซิเมนต์ที่ผมเคยได้ไปสัมผัสมาก็เท่านั้นแหละครับ ซึ่งถ้าหลายๆท่านยังเคลือบแคลงสงสัย ผมขอแนะนำว่าถ้าไปลำปางให้ลองไปแวะขอเยี่ยมชมได้ครับ ผมว่าทางผู้บริหารของบริษัทคงยินดีเป็นอย่างยิ่ง แนะนำให้ไปตอนเช้าตรู่เลยครับ จะได้เดินดูนกหลายชนิดที่เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ในเขตป่าของตัวโรงงาน อ้อแล้วก็อย่าลืมไปแวะชมโครงการสร้างฝายชะลอน้ำที่ชุมชนบ้านสามขาด้วยก็ดีครับ จะได้ทราบว่าฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำรินั้นมีดีอย่างไร

            ประเด็นถัดมาที่ผมอยากสื่อสารผ่านถึงผู้อ่านก็เห็นจะเป็นประเด็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของภาคการผลิต หรือภาคอุตสาหกรรมต่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน บทเรียนที่ดีจากการเข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ที่ผมได้สัมผัสผ่านการวิเคราะห์ และสังเคราะห์เป็นความเห็นส่วนตัว (เน้นนะครับว่าเป็นความเห็นส่วนตัว) ผมพบว่าภาคอุตสาหกรรมในสังคมบ้านเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนที่อยู่โดยรอบนอกรั้วโรงงานได้อย่างไม่ยากเย็น หากมีความตั้งใจ และจริงใจที่จะกระทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยผ่านกลไกการสร้างความสัมพันธ์ และความเข้มแข็งที่ผมวิเคราะห์ออกมาแล้วว่าสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับ ได้แก่

1)       ระดับภายในโรงงานอุตสาหกรรม หรือองค์กร (Micro Level) ต้องสร้างแนวคิดเบื้องต้นก่อนครับว่าพนักงานภายในโรงงานก็เป็นชุมชนหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าชุมชนรอบข้างที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความเข้มแข็ง แนวทางการดำเนินงานของหลักการ Corporate Social Responsibility (CSR) ระบุอย่างชัดเจนครับว่า นอกจาก Human rights, Community rights แล้วต้องสร้างให้เกิด Employee rights ด้วย อย่าลืมครับว่าพนักงานภายในบริษัทก็เป็นชาวบ้านเช่นกัน อาจจะมาจากท้องถิ่นอื่น แต่ก็มีสิทธิในทรัพยากร และโอกาสทางสังคมเทียบเท่ากับชุมชนที่อยู่รอบข้างโรงงาน หากโรงงานอุตสาหกรรมต้องการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนรอบข้างเพื่อให้เกิดความยั่งยืน อันดับแรกต้องไม่ลืมที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งของพนักงานภายในโรงงานตนเองก่อน โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของสวัสดิการ ความปลอดภัย และความเป็นธรรมในทุกระดับ เปรียบเสมือนว่าเมื่อทหารมีขวัญและกำลังใจที่ดีแล้ว กองทัพก็สามารถรุกต่อไปด้วยความเข้มแข็งนั่นเองครับ

2)       ระดับชุมชนรอบข้าง (Community Level) ประเด็นนี้ดูเหมือนจะเป็นประเด็นสำคัญของอุตสาหกรรมในบ้านเราครับ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนรอบข้างของโรงงานอุตสาหกรรม ถือเป็นสิ่งที่นอกจากจะสามารถช่วยลดกระแสการต่อต้านกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นเสมือนเกราะกำบังที่คอยลดแรงเสียดทานจากกระแสระดับสังคมโดยรวม และยังคอยเป็นเสมือนหน่วยรักษาความปลอดภัยชั้นหนึ่งที่คอยช่วยสอดส่องดูแลระบบนิเวศน์โดยรอบโรงงานให้อีกด้วยครับ กลไกการสร้างความสัมพันธ์และความเข้มแข็งระหว่างโรงงานกับชุมชนรอบข้างก็มีหลายรูปแบบครับ ขึ้นอยู่กับยุทธวิธีของแต่ละผู้บริหาร แต่ละพื้นที่ ผมใคร่เรียนเสนอสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามน่าจะดูดีกว่าครับ เพราะการสร้างชุมชนสัมพันธ์ และความเข้มแข็งของชุมชนรอบข้างที่ผ่านมานั้น อุตสาหกรรมมักจะนึกแค่เพียงส่งพนักงานชุมชนสัมพันธ์ลงไปในพื้นที่ สร้างความคุ้นเคยกับชาวบ้าน โดยมักจะลืมมองข้ามสิ่งสำคัญเหล่านี้ ได้แก่ 1) การให้ความรู้ ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของโรงงาน เช่น กระบวนการผลิต และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมการผลิตของตน 2) เวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งควรจะจัดอย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้ชุมชนที่เกี่ยวข้องทุกระดับได้แสดงความคิดเห็น 3) การส่งเสริมชุมชนอย่างยั่งยืน มองให้ทะลุครับว่าการบริจาคสิ่งของ หรือเงินทอง จากอุตสาหกรรมนั้นต้องสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับชุมชนในอนาคตต่อไปได้ การมองหาช่องทางส่งเสริมอาชีพพื้นบ้าน การริเริ่มธนาคารหมู่บ้าน การส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือน หรือแม้แต่การริเริ่มจัดตั้งโครงการธนาคารขยะ ขึ้นล้วนแล้วแต่สามารถสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชนได้ต่อไปในอนาคตครับ

3)       ระดับสังคมภายในประเทศ และภูมิภาค (National and Regional Society Level) ต้องสร้างแนวคิดมุมมองที่กว้างขึ้นกว่าเดิมครับสำหรับการทำ CSR ของอุตสาหกรรมในบ้านเรา แค่เพียงพอใจในระดับชุมชนรอบข้างนั้น ไม่เพียงพอสำหรับการนำประเทศของเราสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ครับ ต้องไม่ลืมครับว่าชุมชนหลายๆชุมชนนั้นก็ประกอบกันเป็นสังคม ในระดับใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ หรือระดับภูมิภาค เพราะฉะนั้น แนวทางการทำ CSR ของอุตสาหกรรมต้องมองให้ทะลุสู่ระดับประเทศและภูมิภาคครับ เพราะปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันนั้นไม่ใช่แค่เพียงระดับชุมชน หรือจังหวัดก็จบครับ มันเลยเถิดไปถึงระดับประเทศและระดับภูมิภาคแล้วครับ ยกตัวอย่างง่ายๆครับ ประเทศจีนสร้างเขื่อนมากมายตามแนวฝั่งน้ำโขง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของตน แต่ผลกระทบมั่นสู่ประเทศที่อยู่ปลายน้ำโขงอย่างเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ

4)       ระดับสังคมทั่วโลก (Global Society Level) ระดับนี้ดูเหมือนจะอยู่ห่างตัวเรามากเกินไปนะครับ หลายๆคนคิด แต่ผมเองอยากให้มุมมองใหม่ว่า การสร้างความเข้มแข็งไม่ว่าจะในระดับใดที่ผ่านมานั้น ล้วนแล้วแต่จะมาขมวดปมอยู่ที่ระดับสุดท้ายนี้เสมอครับ เปรียบเสมือนปากทางที่น้ำไหลลงสู่ทะเล ความเท่าเทียมกันของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการปลดปล่อยของเสีย จำเป็นอย่างยิ่งครับต้องมีความเท่าเทียมกัน สังคมโลกจึงจะอยู่ได้อย่างสงบสุข ร่มเย็น หากสังคมใดสังคมหนึ่งในโลกนี้ เห็นแก่ตัวเข้าแย่งชิงทรัพยากรของผู้อื่น หรือข้าผลิตแต่เองรับมลพิษ เชื่อเหลือเกินครับว่า หนีไม่พ้นสงครามอย่างแน่นอน อย่าลืมครับว่าสิ่งที่ CSR ระบุไว้และให้ความสำคัญอันดับต้นๆคือ Human right เพราะฉะนั้นต้องเท่าเทียมกันทุกสังคมบนโลกใบนี้ครับ ท้ายสุดต้องขออภัยทุกท่านด้วยครับที่เว้นระยะของบทความไปนานมากจริงๆ จะพยายามหาเวลาว่างมาเขียนแบ่งปันประสบการณ์กันให้มากขึ้นกว่านี้ครับ

 ติดตามบทความย้อนหลังได้ที่ www.en.mahidol.ac.th/EI

ผศ.ดร. กิติกร จามรดุสิต

เมษายน 2553

หมายเลขบันทึก: 352596เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2010 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 04:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท