“เงินออมรูด”ระเบิดเวลาลูกใหม่ สัญญาณไม่พอลงทุน แบงก์ปรับดบ.รับมือ
เมกะโปรเจ็กต์
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 25 สิงหาคม 2548 18:42 น.
<p> อาการ “มือเติบ” จนเก็บออมได้น้อยลงของคนไทยเป็นอย่างนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากผู้รู้จักอดออมมาเป็นผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อเสถียรภาพประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศต้องการ “การลงทุน” ทำให้เงินออมที่มีอยู่อาจไม่พอซื้อพันธบัตรรัฐบาลด้วยซ้ำ เพราะการใช้จ่ายมีมากกว่า ซึ่งก่อนที่ปัญหาจะสั่งสมมากกว่านี้ ภาครัฐอาจต้องเร่งกระตุ้นภาคครัวเรือนให้มีอัตราการออมมากขึ้น ด้วยมาตรการเพิ่มแรงจูงใจทุกวิถีทาง ขณะที่แบงก์ต่าง ๆ ก็เร่งระดมทุนผ่านบัญชีเงินฝากระยะยาว และบัญชีวงเงินพิเศษของลูกค้าระดับบน ให้สอดรับกับนโยบายเร่งการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์
อัตราการออมที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นนัยสำคัญที่บอกถึงการสะสมทุนของประเทศอาจไม่เพียงพอต่อการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งโครงการของภาครัฐและเอกชน ดังนั้นเมื่อเงินออมมีน้อยไม่สอดคล้องกับความต้องการลงทุน การกู้เงินต่างประเทศจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่การกู้จากต่างประเทศไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไป เพราะยิ่งกู้มากความเสี่ยงก็ยิ่งมาก ซึ่งถึงจุดหนึ่งอาจกลายเป็นฉนวนที่จุดให้เศรษฐกิจระเบิดได้อีกรอบ
ย้อนกลับไปอดีตก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ประเทศไทยกู้เงินจากต่างประเทศในภาวะอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งการกู้เงินอย่างไม่คำนึงถึงผลกระทบได้นำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และจากประเทศที่เติบโตอย่างมีอนาคตก็กลายเป็นประเทศที่มีแต่หนี้ท่วมหัว เป็นผลมาจากการลงทุนที่เกินตัว ใช้เงินมากกว่าที่ออมไว้ ซึ่งผิดกับหลักการที่ว่ายิ่งลงทุนมากเท่าไรก็ต้องมีการออมมากเท่านั้น
ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่พยายามลงทุนมากกว่าการออมถึง 8% ต่อจีดีพี 2 ปีซ้อน จริงอยู่แม้จะทำได้ และผลกระทบไม่เกิดขึ้นในทันที แต่ปัญหาที่สั่งสมมานั้นก็เหมือนระเบิดเวลาที่รอเพียงจุดฉนวน ก็พร้อมจะประทุขึ้น ซึ่งผลของการกระทำในครั้งนั้นคือประเทศไทยกลายเป็นลูกหนี้จนว่ากันว่าเด็กที่เกิดในช่วงนั้นก็มีหนี้ติดตัวแล้ว
กอบศักดิ์ ภูตระกูล หนึ่งในผู้บรรยายบทวิเคราะห์ “การออมในประเทศไทย: ความเพียงพอและความเสี่ยง” ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการออมของประเทศมีนัยสำคัญยิ่งในเชิงนโยบายต่อดุลบัญชีเดินสะพัด และระดับการเจริญเติบโตของประเทศ หากต้องการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ จะต้องมีเงินออมที่เพียงพอต่อการลงทุน
แต่สัญญาณการออมเงินของประเทศไทยกำลงอยู่ในช่วงขาลง เห็นได้จากอัตราการออมปี 2534 อยู่ที่ 35.2% และปี 2546 ลดลงมาอยู่ 30.5% ซึ่งการส่งสัญญาณลบในภาวะที่ประเทศต้องการลงทุนเช่นนี้เป็นเรื่องน่ากังวลเมื่อเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคการลงทุนอีกครั้ง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเพิ่มอัตราการออม
ในโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐทำให้ประเทศไทยจะต้องเพิ่มสัดส่วนเงินออมขึ้น 2% แม้จะเป็นตัวเลขไม่สูงแต่เป็นเรื่องน่าคิดว่าหากอัตราการออมเงินในประเทศลดลงเช่นนี้ เมื่อรัฐบาลออกพันธบัตรใครจะเป็นผู้ลงทุน จริงอยู่ว่าอาจเป็นลูกค้าสถาบัน เช่น กองทุนรวม ธนาคาร เข้ามาลงทุน แต่เม็ดเงินจากสถาบันส่วนหนึ่งก็มาจากรายย่อย ดังนั้นรายย่อยจึงมีความสำคัญต่อภาคเอกชนค่อนข้างมาก
ย้อนไปเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ใหญ่หลายแห่ง เริ่มระดมทุนด้วยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาว และการปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากวงเงินพิเศษระดับ 3-10 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อเตรียมรับมือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ นั่นก็เห็นว่า ภาคการออมยังสำคัญต่อผู้ลงทุนสถาบันอย่างแบงก์พาณิชย์ เนื่องจากการระดมทุนเพื่อให้เกิดการออมมากขึ้น จะต่อยอดไปถึงการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการลงทุนได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามการลงทุนของรัฐไม่ได้เพิ่มปัญหาด้านเสถียรภาพประเทศของประเทศมากกว่าการลงทุนของภาคเอกชน โดยจากการศึกษาของบทความการออมในประเทศไทย : ความเพียงพอและความเสี่ยง พบว่าการลงทุนของภาคเอกชนต้องเพิ่มสัดส่วนเงินออมถึง4% ดังนั้นการเร่งเพิ่มอัตราเงินออมน่าจะมาจากการรองรับการลงทุนของภาคเอกชน
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย บอกว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมจากบริโภคมาออมมากขึ้นนั้นจะต้องมีแรงจูงใจเป็นตัวส่งเสริม ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการออมเงินนั้นจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าโดยนำเงินออมไปลงทุน และให้ผู้ออมมีสิทธิเลือกว่าจะลงทุนในรูปแบบไหนตั้งแต่การลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ หรือประกันชีวิต นอกจากนี้อาจใช้มาตรการภาษีเข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มแรงจูงใจมากขึ้น เช่น ลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาวได้รับสิทธิพิเศษลดหย่อนภาษี 300,000 บาท เป็นต้น
บทบาทของการออมไม่ได้มีความสำคัญต่อระดับประเทศหรือมหภาคเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความสำคัญต่อระดับจุลภาคด้วย โดยการออมจากประชาชนนั้นอีกนัยหนึ่งคือสร้างความมั่นคงต่อครัวเรือนเมื่อยามแก่ชรา หรือเกษียณอายุ ด้วยผู้ออมมีเงินใช้ในบั้นปลายชีวิต
เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา บอกว่า การออมในระดับจุลภาคก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ด้วยอุปสรรคนานัปการระหว่างเส้นทางออมนั้นมีค่อนข้างมาก โดยปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญ คือ พฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งพบว่าครัวเรือนมีความต้องการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นทำให้การออมลดลง อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนออมน้อยลงมาจากสวัสดิการที่ภาครัฐจัดขึ้นให้ไม่ว่าจะ 30 บาทรักษาทุกโรค ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งประชาชนตระหนักแล้วว่าจะมีเม็ดเงินใช้ยามฉุกเฉินทำให้ไม่เกิดการออม
อย่างไรก็ตามในปัจจัยนี้สำหรับประเทศไทยแล้วยังถือว่ามีผลน้อย โดยส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น โดยยังพบอีกว่า ฐานะ รายได้ และการศึกษาก็มีผลต่อการออมเช่นกัน
การออมที่เพียงพอสำหรับประเทศนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเพียงพอในระดับบุคคล ดังนั้นในอนาคตรัฐควรส่งเสริมให้มีการออมในระยะยาว และควรเพิ่มการออมจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเพิ่มการออมในส่วนของภาคธุรกิจ และภาครัฐ เพื่อให้เพียงพอต่อการเผชิญปัญหาทั้งทางด้านการเจริญเติบโตของประเทศ ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และปัญหาโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป
</p>