ชมพระอาทิตย์ตกดิน (บนรถยนต์)
ก่อนเข้าถึงเมืองเสียมเลียบราว 50 กม. เริ่มมองเห็นบ้านเรือนชาวบ้านที่ตั้งกันเป็นกลุ่ม ๆ อยู่ริมถนน บ้านเรือนมองให้เห็นถึงสภาพความเป็นชนบทที่อยู่บนที่ราบสูงบ้างเล็กน้อย สภาพทุ่งนากว้างใหญ่ค่อย ๆ หายไป ปรากฏมีป่าละเมาะเป็นหย่อม ๆ บ้านเรือนมีทั้งเก่าใหม่ปะปนกัน ยกพื้นสูงเอามาก ๆคือสูงกว่าเมืองไทยสักสองศอกหรือเมตร ส่วนใหญ่เป็นเรือนทรงจั่วแบบมะนิลา เป็นเรือนสามห้อง หรือสามจั่ว โดยมีเรือนใหญ่จั่วกว้างอยู่กลาง และจั่วเล็กขนาบข้าง แปลกตรงที่ไม่มีนอกชาน โดยมีระเบียงด้านหน้าค่อนข้างกว้างมีไว้เป็นพื้นที่ทางสังคม(Social Area) แบบเรือนไทย
สภาพถนนเริ่มดีกว่า 100 กม. ที่ผ่านมา มีร่องรอยการทำผิวทางแบบลาดยางมะตอยบ้าง
เป็นช่วง ๆ นักเรียนปั่นจักรยานกลับบ้านปะปนกับชาวบ้านที่กลับจากงาน เต็มสองข้างทาง นักเรียนหญิงใส่เสื้อสีขาวดูสะอาดสวมผ้าถุงหรือผ้าสิ้นพื้นถิ่น ดูน่ารักน่าเอ็นดูท้ายจักรยานมีฟืนมัดติดท้ายเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานในครัวเรือน ที่เมืองนี้เขาเรียนกันเป็นชุดละครึ่งวัน ครูชุดเดียว ดังนั้นเขาจะผลิตคนได้ 2 เท่า หรือสองรุ่นในหนึ่งปี อีกครึ่งวันก็กลับไปช่วยพ่อแม่ทำงานหรืออาจกล่าวได้ว่าไปเรียนวิชาการยังชีพกับพ่อแม่ รัฐบาลให้เรียนฟรี 12 ปี เช่นเดียวกับเมืองไทย ป.1 – ป.4 ,มัธยม 1-6 โอกาสเรียนระดับอุดมศึกษานั้นน้อยมาก เด็กในเมืองจะเรียนพิเศษกันอีกครึ่งวัน ในกรณีที่พ่อแม่พอมีฐานะ ที่มีอาชีพค้าขาย จะเห็นมีกลุ่มนักเรียนนั่งเรียนกันตามใต้ถุนบ้านหลายหลัง รถเรากว่าจะถึงโรงแรมก็จวนพลบค่ำพอดี
คุณซาร่าพาคณะเราผ่านเมืองเสียมเลียบเพื่อที่จะไปชมพระอาทิตย์ตกดินที่เขาปราสาทซึ่งตั้งอยู่ยอดเขา คณะท่องเที่ยวจะต้องซื้อตั๋วเข้าชมโบราณสถานกับทุกคนๆละ 20 US หรือประมาณ 900 บาท เก้าพันเรียว ค่าเงินไทย 1 บาท เท่ากับ 10 เรียว นับเงินจ่ายกันแต่ละครั้ง พอ ๆ กับเงินกีบประเทศลาว หรือเงิน จ๊าด ในเมียนม่า เช่นกัน ตั๋วเข้าชมถูกกำชับว่าห้ามหายเด็ดขาดและจะต้องโชว์ทุกครั้งก่อนเข้าชมเมือง การดำเนินการจัดการ รัฐบาลให้สัมประทานเอกชนจัดการทั้งหมดคือรัฐจะได้ไม่ต้องลงทุน นั่งเก็บค่าต๋งอย่างเดียวสบายดี ผู้ได้รับสัมประทานจะต้องดำเนินการทุกอย่างตามที่ตกลงกับรัฐไว้ เช่น ทำถนนจัดทำสาธารณูประโภคที่จำเป็นทุกอย่าง จัดการระเบียบร้านค้าขายตามเงื่อนไขทุกประการ จึงดูทุกอย่างมีระบบระเบียบเรียบร้อยดี รถเราเคลื่อนออกจากสำนักงานขายบัตรได้เล็กน้อย รถก็ดับอีกครั้งเหลือแต่เครื่องปั่นแอร์อีกเช่นกัน ดวงออกเดินทางคงไม่ดีแน่ ปรากฏว่าน้ำมันหมดเพราะท่อน้ำมันรั่ว ไม่ใช่ถูกขโมยดังที่กล่าวไว้คราวก่อนโปรแกรมที่ว่าจะไปดูพระอาทิตย์ตกดินก็เลยต้องเปลี่ยนมาเป็นนั่งอยู่ในรถดูพระอาทิตย์ตกดินแทน ส่วนรถคันที่ 1 ได้ดูไปแล้ว คุณซาร่าบอกว่าไม่ต้องตกใจ พรุ่งนี้จะชดเชยให้ได้ดูแน่นอน และดังที่เคยคุยไว้ว่ารถที่ใช้นี้เป็นบริษัทใหญ่ที่เชื่อถือได้ เสียที่ใดไม่ช้า ไม่ต้องคอยนาน จะมีชุดคอมมาโดรีบมาแก้ไข ก็จริงดังว่าลงไปยิงกระต่ายกันพักเดียว ชุดปฏิบัติการก็มาจัดการให้ทันทีมีไฟฉาย มีช่างมาแก้ไข แต่ก็เสียเวลาไปเกือบชั่วโมงเช่นกัน รถราวุ่นวายคล้ายกับปักกิ่งเมืองจีน ทั้งสามล้อเครื่อง จักรยาน รถยนต์วิ่งกันกันแบบมีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นปาดซ้ายขวาไปมาดูน่าหวาดเสียว แต่ไม่มีชนกันดูก็แปลกดี เมืองอื่นๆห้ามเอาเป็นตัวอย่าง คุณซาร่าบอกกำชับนี่คือวิถียวดยานใช้ความสามารถเฉพาะตัวของหมู่เฮาชาวขแมร์ เป็นอันว่าได้เวลาอาหารพอดี รถพาคณะเราย้อนเข้าเมืองอีกครั้ง เพื่อพบกับเมนูอาหารไทยเมืองขแมร์ รถพาคณะเราผ่านเข้าออกบนถนนแคบๆ แต่ให้รถสวนกันได้ ไฟฟ้าในเมืองสว่างไสว ด้วยค่ากระแสอันแสนแพงหน่วยละ 13 บาท แพงกว่าไฟเมืองไทยอีกเช่นกัน ร้านอาหารไม่ใหญ่โตเกินไปเตรียมเปิดแอร์ตั้งโต๊ะอาหารพร้อมสรรพ ยกเว้นสุราปลาปิ้งเบียร์ไม่มี แต่ใครใคร่ดื่มก็มีขาย เบียร์อังดอร์ กระป๋องละ 1 US หรือ 35 บาท ถ้าเป็นไฮเนเก้นก็ 2 US เบียร์ช้างไม่มีหรือไม่ให้นำเข้าไม่ทราบเหตุผล นักอนุรักษ์บางโต๊ะแอบซ่อนสุราไว้ใต้โต๊ะค่อยๆรินแจกคอเดียวกันคนละจอกสองจอกพอเป็นกะสายเรียกน้ำย่อยไม่ว่ากัน อาหารเป็นชุดลำเลียงมาไม่ขาดสาย ด้วยความหิวทีถูกรถขย่อนท้องไส้มาทั้งวันมือไม้ขวักไขว่ไปมาเต็มโต๊ะ รสชาติอาหารใช้ได้ถูกปากกันทุกคน ที่ขาดไม่ได้คงเป็นปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียมพริกไท หรือพริกเขมร เนื้อนุ่มจริงๆ แต่เย็นไปหน่อยคงทอดคอยนานจนเกินไป พนักงานถือโถข้าวเดินวนเวียนไปมาไม่ขาดสาย ซอมบาย ซอมบาย ขอข้าวหน่อย คำฮิตติดปาก ข้าวสวยนุ่มเหนียว ขาวเม็ดเล็ก แต่ไม่เหนียวเท่าข้าวเกาหลี กลิ่นหอมนักคงเป็นข้าวใหม่แน่นอน หกสิบชีวิตอนุรักษ์ก้มหน้าก้มตา วนเวียนกับโต๊ะอาหารสักพักใหญ่ทุกอย่างก็เรียบร้อย น้ำดื่มเป็นขวดแบบเมืองไทย ดื่มเสียให้พอเพราะซื้อข้างนอกแพงอีก ขวดเล็ก 1 US เช่นกัน คงไม่ต้องอธิบายว่าทำไมแพง ก็ต้นทุนการผลิตจากน้ำมันหรือค่าไฟเป็นต้นทุนที่แพง แค่สองอย่างนี้ก็พอแล้ว ยังไม่รวมฟิกคอร์สอื่น ๆ อีกมากมาย เขามีไว้เฉพาะคนต่างชาติที่มีเงินเท่านั้น ชาวบ้านเขาดื่มน้ำบ่อกันไม่ต้องซื้อ ต้องกรองกลั่นให้เสียสตางค์ ด้วยบ้านเมืองนี้นั้นได้รับสมญานามเป็นเมืองแห่งน้ำ มีอารายธรรมสายแห่งน้ำ หรืออองโกรนครน้ำ แหล่งกำเนิดอารยธรรมขแมร์ ดังฯพณฯ ณุด ณาราง นักวิชาการนักต่อสู้ชาวขแมร์ ท่านอ้างไว้