เมื่อห้องเย็น กลายเป็นห้องที่อบอุ่นด้วยการแบ่งปัน - การประชุมแบบมีส่วนร่วมกับผอ. 2


ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากมายกว่าคำสั่งสอน แม้ว่าท่านไม่ได้บอกให้พวกเราไปประชุมแบบนี้โดยตรง แต่ก็เป็นการเชิญชวนให้พวกเราลองไปจัดประชุมอย่างนี้บ้าง

                เมื่อผอ.ขึ้นมา  รู้สึกประหลาดใจในท่าที  ที่ท่านบอกว่าวันนี้มาเพื่อรับฟัง  พูดคุยกันระหว่างทีมบริหารและทีมเวชกรรมสังคม  ที่จริงไม่ควรจะนั่งโต๊ะแบบนี้ด้วยซ้ำ  น่าจะนั่งจับเข่าคุยกันมากกว่า  ผมคิดในใจว่า  กลุ่มงานของผมพึ่งจัดไปสัปดาห์ก่อนเองครับ

                ผมขอข้ามเนื้อหาการประชุมไปนะครับ  แต่ขอมุ่งที่กระบวนการที่ผอ.จัดการประชุม  นั่นคือการประชุมแบบมีส่วนร่วมดีๆนี่เอง  ท่านทำยังไงเหรอครับ

                -เปิดโอกาสให้ทีมบริหารและทีมเวชกรรมสังคนได้แสดงความคิดเห็น  โดยเรียกทีละคน  ที่ละหน่วยงาน  แม้ว่าไม่สามารถทำให้ทุกคนมีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น  แต่ก็เปิดช่องให้ทุกคนได้พูดเพิ่มเติมได้ 

                -รับฟังทุกเรื่องที่เสนอ   ทั้งที่เป็นเนื้อหาและอารมณ์ความรู้สึก  แม้ว่าจะเป็นการบ่นถึงภาระงานที่หนัก  การประเมินที่มากเกินไป    ท่านสะท้อนความรู้สึกผู้ฟังเป็นระยะ  เช่นอึดอัดอยู่ใช่ไหม  ฟังดูเหนื่อยนะ  แต่การสะท้อนดูเป็นธรรมชาติ  เนียนไปกับกระบวนการประชุม

                -การชี้แนะหรือสั่งสอน  จะทำเมื่อลูกน้องได้ระบายความรู้สึกระดับหนึ่งแล้ว  ท่านจับประเด็นได้ว่า  ความเชื่อของคนในกลุ่มงานจะเชื่อว่า งานชุมชนนั้นหนัก  และยากที่จะทำให้สำเร็จ  แต่ท่านได้ลองให้มองดูว่า  ถ้าถามคนในโรงพยาบาล  ทุกคนก็จะตอบเหมือนกัน  แต่ตัวเราเองมิใช่หรือที่เลือกที่จะลงชุมชนเอง  จะทำอย่างไรให้ใจเราอดทนต่อภาระงานที่หนักและอยู่กับงานที่หนักอย่างมีความสุข  ผมคิดว่าการชี้แนะตรงนี้สำคัญ  เป็นการเตือนสติให้เราหันมองคนอื่นบ้าง  แทนที่จะมองแต่ตัวเรา  และเราจะพัฒนาตนเองอย่างไรให้อยู่กับภาระงานที่หนักได้ 

                -การยอมรับในข้อบกพร่องของตนเอง  มีเสียงสะท้อนมาว่า หัวหน้ามักจะตำหนิมากกว่าชม  ทำให้ขวัญกำลังใจของคนทำงานลดลง  ท่านเองก็ยอมรับว่า  ไม่ค่อยได้ชมลูกน้อง  แม้แต่ลูกตนเองก็ยังไม่เคยชม  แต่ท่านก็จะรับไปปรับปรุงตัวเอง

                -อารมณ์ขันที่สอดแทรกเป็นระยะ  เช่นแซวเรื่องหมอ 2 คนโกนหัว เป็นการประท้วงหรือเปล่า  หรือการโยงกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน  ช่วยให้บรรยากาศการประชุมผ่อนคลายลงบ้าง

                -การใช้ mind map เพื่อบันทึกข้อคิดเห็นและประเด็นต่างจากการประชุม  และฉายขึ้นจอ Projecter ด้วย  ทำให้ผู้เข้าร่วมเห็นประเด็นต่างๆและที่สำคัญ ความคิดเห็นทุกความคิดเห็นขึ้นบนจอเหมือนกัน

                -บารมีของผอ.  เป็นเหมือนยันต์ที่คอยช่วยย้ำกติกาการประชุมที่ให้พูดทีละคน  แต่ถ้าวันนี้ไม่มีผอ.  ผมคิดว่าการพูดคุยคงโต้กันเหมือนตีปิงปองเป็นแน่แท้ (นึกถึงที่นายกคุยกับนปช.แล้วไม่สำเร็จ  อาจจะเป็นเพราะขาดคนกลางที่มีบารมีและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย)

                สุดท้ายการประชุมครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างการมีส่วนร่วมจริงๆ   ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากมายกว่าคำสั่งสอน  แม้ว่าท่านไม่ได้บอกให้พวกเราไปประชุมแบบนี้โดยตรง  แต่ก็เป็นการเชิญชวนให้พวกเราลองไปจัดประชุมอย่างนี้บ้าง

                วันไหน  เราจะจัดประชุมแบบนี้ที่กลุ่มงานครับ

หมายเลขบันทึก: 351610เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2010 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท