ลัดเลาะเส้นทางศึกษาชุมชน “บ้านศรีนาป่าน” ต.เรือง อ.เมือง จ.น่าน ตอนที่ 1


วิถีของผู้คนชุมชนป่าเมี่ยงสู่การเรียนรู้ปรับตัวสู่ชุมชนสวนชา

...ทิวเขาเขียวๆ ต้นไม้ใหญ่ครึ้ม ตลอดเส้นทางเดินเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ พืชสมุนไพร พืชผักอาหารป่า มีท้องทุ่งนากว้างสุดตา และต้นเมี่ยงที่หลบเงาแดดอยู่ใต้ร่มเงาไม้ยืนต้นใหญ่ ระหว่างทางจะมีจุดแวะพักเรียนรู้ความเป็นมาและความสำคัญของสถานที่แต่ละจุด ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และคุณค่าทางสังคมของชุมชนที่ร่วมกันรักษาดูแลจนผืนป่าแห่งนี้เขียวครึ้มและร่มเย็น

บรรยากาศข้างต้น คือเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบ้านศรีนาป่าน – บ้านตาแวน (ป่าเมี่ยง) ต.เรือง อ.เมือง จ.น่าน ชุมชนเล็กๆ ที่มีผู้คนหัวใจใหญ่ ริเริ่มลงมือเปลี่ยนแปลง จัดการชุมชนด้วยสองมือ สองเท้า หนึ่งสมองและหัวใจ ด้วยคิดและเชื่อมั่นในพลังของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้คนที่เป็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง มิตรสหายร่วมชุมชน ร่วมกันเปลี่ยนป่าที่โล่งเตียนให้เขียวครึ้ม ดินที่แห้งผากให้ชุ่มชื่นมีสายน้ำไหลผ่าน โดยที่ยังคงสืบและสานขนบวัฒนธรรม ฮีตฮอยของชุมชนเอาไว้ได้อย่างมั่นคง

...บ้านศรีนาป่าน ตั้งอยู่หมู่ที่  1  ตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน  สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นเชิงเขา มีครัวเรือน 148 ครัวเรือน ประชากรกว่า 557 คน โดยมีพ่ออุ๊ยสวัสดิ์  ยาโน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน(2549) ทั้งนี้ บ้านศรีนาป่าน คือ หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน จากคำบอกเล่าจากพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย บอกเล่าเรื่องราวครั้งอดีตของบรรพบุรุษของพวกเขาว่า

คำบอกเล่าจากพ่ออุ๊ย“ตั้งบ้านแปลงเมือง” 

บ้านศรีนาป่าน เป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีอายุจากประวัติศาสตร์การตั้งวัด เมื่อปีพ.ศ.2075 (เมื่อ 474 ปี)ที่ผ่านมา ตั้งขึ้นครั้งแรกโดยการนำของเจ้าคำเครื่อง  เจ้าคำเขียว  เจ้ายอดชมพู  ซึ่งหนีทัพมาจากเมืองปัว  และเมืองล้านช้าง  ได้รวบรวมญาติพี่น้อง  ประชาชนที่หนีทัพมาด้วยกัน  มาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินที่ห้วยหลวง(ปัจจุบันคือน้ำตกห้วยหลวง)  ประกอบอาชีพทำสวนเมี่ยง  ทำไร่  ทำนา  และตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านป่าเมี่ยง  ต่อมาหมู่บ้านถูกน้ำป่าและน้ำจากห้วยหลวงท่วม  และหมู่บ้านยังถูกพวกข้าศึกโจมตีบ่อยครั้ง  ชาวบ้านจึงพากันหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ในป่า  จนบ้านเมืองสงบศึก  ท้าวปู่อินทร์เครือญาติของ เจ้าคำเครื่อง  เจ้าคำเขียว  เจ้ายอดชมพู  ได้พาประชาชนที่เหลือออกจากป่ามาปลูกสร้างบ้านเรือนที่หนองหญ้าจ้าป่าน  และได้ร่วมมือกับท้าวสีมา  ปู่แสนสี  สร้างวัดขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนได้มีสถานที่ปฏิบัติธรรม  มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและตั้งชื่อวัดว่า  “วัดป่าน” ตามชื่อของหนองหญ้า  ที่ใช้ตั้งหมู่บ้านต่อมาก็ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า  “บ้านป่าน”  และก็ถูกเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านอีกครั้งเป็น “ศรีนาป่าน”  ในปัจจุบัน

บันทึกจากหนังสือของพ่ออุ้ยหนานอโนชัย  วงศ์ราช  ซึ่งตัวท่านได้เสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ.2477  ณ ที่บ้านตาแวน (ป่าเมี่ยง) หมู่ที่ 4  ตำบลเรือง  อำเภอเมือง  จังหวัดน่าน  ท่านได้เขียนประวัติของบ้านศรีนาป่าน (ป่าเมี่ยง) เอาไว้ว่าในขณะนั้นบริเวณบ้านป่าเมี่ยงมีบ้านอยู่ประมาณ  4 - 7 หลังคาเรือน  มีการประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำนา ทำสวน  ใกล้ ๆ บริเวณบ้านลักษณะของบ้านเรือนในสมัยนั้นเป็นบ้านไม้ หลังเล็ก ๆ หลังคามุงด้วยหญ้าคา  ยกพื้นสูงเนื่องจากมีช้าง เสือ สัตว์ป่าดุร้าย ต่าง ๆ มากมายหลายชนิด ซึ่งคนในสมัยนั้นได้อพยพมาจากแคว้น สิบสองปันนา สิบสองจุไทย  เดินทางมาตั้งฐานหลายที่  เช่น ด่านเชียงฮ่อน  เชียงลม  มาอาศัยอยู่ที่บ้านป่าเมี่ยง  ประมาณ พ.ศ.1872  ซึ่งมีหลักฐานอยู่ที่บ้านหอเจ้าหลวงป่าเมี่ยง  ซึ่งมีของใช้ต่าง ๆ มากมาย เช่น เสื้อผ้า  ปืนยาว  หอก  ดาบ  ศิลา  เครื่องใช้สอยต่าง ๆ ฯลฯ  ซึ่งในขณะนั้นก็ยังหลงเหลืออยู่เป็นบางส่วน  พื้นชาวบ้านเป็นคนชอบกินเมี่ยง  ซึ่งเป็นของขบเคี้ยว  เป็นอาหารว่าง  ในขณะนั้นก็ได้นำพันธุ์เมี่ยงติดมาด้วย  จากที่อยู่อาศัยเก่ามาปลูก  ณ บริเวณป่าบ้านศรีนาป่าน  ปัจจุบัน 

ในสมัยนั้นเป็นสมัยของพระเจ้าติโลกะราชมีพระโอรสชื่อว่า  ท้าวขาก่าน  ในขณะนั้นพระองค์ได้เสด็จมาเมืองน่าน และได้เสด็จประภาสป่ามาเรื่อย ๆ จนมาถึงป่าบ้านป่าเมี่ยง  และได้มาพัก  ณ  บริเวณบ้านป่าเมี่ยง  ชาวบ้านก็ได้นำเมี่ยงที่หมักเสร็จแล้วนำมาถวายเป็นอาหารว่าง  พระองค์ก็เลยติดพระทัยเป็นยิ่งนัก  จึงสั่งให้เอาไปถวายพระเจ้าน่านเป็นประจำติดต่อกันมานานนับร้อยปี  จนมาถึงสมัยพ่อท้าวสีมา  พ่ออุ้ยแสน  หลวงคำ  เป็นผู้นำไปถวายส่วน เป็นประจำ  จนได้ภรรยาเป็นหญิงชาวบ้านป่าเมี่ยง  ท่านก็ได้พาลูก หลาน เพื่อนสนิทมิตรสหาย มาปักหลักอยู่ใกล้ ๆ กับหนองหญ้าจ้าป่าน และ บริเวณตามลำน้ำห้วยหลวง  และได้จัดตั้งที่ทำสำนักสงฆ์ขึ้น  จึงได้ตั้งชื่อวัดตามหนองน้ำชื่อว่า  วัดเจ้าป่าน (วัดศรีนาป่านปัจจุบัน)  เหตุผลเพราะว่าพระสงฆ์ได้มาจำศีลบำเพ็ญบุญกุศล  ที่ศาลากลางหนองหญ้าเจ้าป่าน ในขณะนั้นก็เลยตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อวัด  ต่อมาชาวบ้านก็ได้เพิ่มจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น  ก็ได้มากันขุดดินมากลบหนองน้ำเจ้าป่าน  เป็นที่ตั้งอุโบสถภ์  ขณะเดียวกันก่อนจะสร้างวัดแห่งนั้นขึ้น  ก็มีการสร้างวัดไว้หลายแห่ง  เช่น  วัดพระทองทิพย์  วัดกองหิน(อยู่ที่นาตึดตากู้ปัจจุบัน) ซึ่งยังมีหลักฐานหลงเหลืออยู่บ้าง  เช่น  เศษซากอิฐ  หิน  ดิน  ทราย  ถึงเวลาเทศกาลสงกรานต์  ก็ยังไปทำบุญตักบาตรอยู่จนถึงปัจจุบัน  มิได้ขาด

เช่นเดียวกับคำบอกเล่าของ พ่ออุ๊ยศรีลัย วงศ์คำ ปราชญ์ชาวบ้าน อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านศรีนาป่าน “ความเป็นมาของเรา กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เดินทางอพยพมาจากสิบสองปันนา มาอยู่ที่บ้านร้าง พอตั้งบ้านเรือนอยู่ได้ก็เริ่มสร้างวัด พอคนมากขึ้นบางส่วนก็ขยับขยายไปอยู่บ้านลาน ย้ายไปก็ไปตั้งวัดขึ้นมาอีก จากนั้นก็อพยพมาอยู่บ้านห้วยแล้ง และมาที่บ้านตาแวน ที่มีวัดพระเจ้าทองทิพย์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวบ้านอย่างมาก จนกระทั่งท้ายสุด คนก็ย้ายมาอยู่กันที่บริเวณบ้านศรีนาป่าน ที่มีวัดศรีนาป่านเป็นศูนย์กลางใจ ในช่วงปี พ.ศ.2075 ส่วนสาเหตุการที่คนอพยพโยกย้ายกันมานั้น ก็เป็นเพราะว่าชุมชนเดิมเริ่มขยายตัว คนมากขึ้น บางส่วนก็ต้องอพยพเพื่อไปหาที่อยู่อื่น และที่นาที่ทำกินที่ดีกว่า โดยตอนแรกเริ่มเลยนั้น คนที่ย้ายมามีประมาณ 6 - 7 ครอบครัว ในการย้ายนั้น ชาวบ้านก็เอาวิถีชีวิตมาด้วย อย่างเคยปลูกเมี่ยงก็เอาพันธุ์เมี่ยงมาปลูกในทุกที่ที่ย้ายไปตั้งบ้านเรือนด้วย ดังนั้นทุกหลังคาเรือนก็จะสืบทอดที่สวน ที่ทำกินสืบกันไป เรียกได้ว่าอยู่ร่วมกันไม่มีกฎเกณฑ์ ที่ดินที่ทำกินก็เอาแนวร่องน้ำปันที่ดินกัน ใครจับจองที่ตรงไหนก็จะสืบทอดกันไปถึงลูกถึงหลาน”

“จุดเริ่มต้น...เราไม่เอาสัมปทานป่า”

และนับแต่มีการตั้งชุมชนบ้านศรีนาป่านมานับหลายร้อยปี ชาวบ้านอยู่กันด้วยวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่เชื่อมร้อยกัน มีการจัดการชุมชน บ้านเรือนด้วยวิถีจารีตชุมชน จนกระทั่งความเปลี่ยนแปลงแรกเข้ามายังชุมชน ในปีพ.ศ.2514 สมัยนั้น พ่ออุ๊ยศรีลัย วงศ์คำ เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองชาวบ้านโดยที่อยู่ร่วมกันกับป่าอย่างพึ่งพิงไม่อยากทำลาย จนกระทั่งปีพ.ศ.2517 มีนายทุนต่างถิ่นเข้ามาในชุมชนเพื่อจะสัมปทานป่า ทำให้ชาวบ้านมีการประชุมร่วมกัน ภายใต้การนำประชุมของพ่ออุ๊ยศรีลัย “เราเรียกประชุมกันเลย เพราะเราไม่อยากให้ป่าแก่นายทุน เราไม่อยากให้มีการเซ็นสัญญา เอาเงินมาให้ชาวบ้านเพื่อไปทำลายป่า จากการประชุม ชาวบ้านเห็นร่วมกันว่าเราต้องมีการตั้งคณะกรรมการเดินป่า ดูแลป่าขึ้นมา ทำให้เกิดคณะกรรมการ 6 คนเพื่อทำหน้าที่ดูแลป่า กลายเป็นจุดเริ่มที่มีการเข้ามาดูแลเรื่องการใช้ป่า ใช้ไม้ ใครจะตัดไม้แปงบ้านก็ต้องขอ ต้องบอกกัน  ที่เราไม่อยากให้สัมปทาน เพราะเราเห็นประโยชน์จากป่า คิดดูว่าตอนนั้น ทากจะมีเยอะมาก สัตว์ป่าน้อยใหญ่มากมาย เช่น ช้างจะมีเยอะมาก เรียกได้ว่าอุดมสมบูรณ์มากๆ เลย ชาวบ้านเดินเข้าป่าเก็บเอาใบตองเอาสิ่งต่างๆ จากป่ามาขายบ้าง มาทำเครื่องใช้บ้าง เช่น หมวก ฯลฯ” จากจุดเริ่มต้นของความคิดในการปกป้องการสัมปทานป่าครั้งนั้น ได้ก่อเกิดคณะกรรมการดูแลป่าบ้านศรีนาป่านขึ้น ที่ทำหน้าที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2517

โดยคณะกรรมการดูแลป่าชุดแรก  ให้ความสำคัญกับป่า และปลุกจิตสำนึกให้พี่น้องรักป่า ดูแลต้นน้ำลำธาร ใช้น้ำการเกษตร อุปโภคบริโภคจะแห้ง เอาบทเรียนจากที่อื่นมาเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านเห็นความสำคัญ ก็ร่วมกันรักษาป่า รักษาต้นน้ำ เห็นเชื่อมโยงระหว่างสวนเมี่ยงและป่า อาศัยกันละกัน ถ้าไม่มีป่า ต้นเมี่ยงก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะเมี่ยงอาศัยความชุ่มชื้นของป่า

ต่อมาในปีพ.ศ.2528 สมัยพ่ออุ๊ยแต่ง  วิสมก๋า และพ่ออุ้ยวาท  พ่อน้อย  เป็นผู้ใหญ่บ้าน แนวคิดเรื่องการจัดการป่าโดยชุมชนก็ขยายไปเชื่อมโยงกับการทำงานของสภาตำบลเรือง ซึ่งสภาตำบลมีบทบาทในการรวบรวมคนในตำบลหลากหลายอาชีพเข้ามาอยู่ในโครงสร้างการทำงาน เช่น แพทย์ สารวัตรตำรวจ แกนนำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ในช่วงนี้เองการตัดไม้ทำป่าเริ่มขยายวงกว้างทั่วในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มีชาวบ้านลักลอบเข้าไปตัดไม้บ่อยครั้ง ทำให้สภาตำบลต้องเข้ามาช่วยดูแลป่าอย่างหนัก จับผู้ลักลอบตัดไม้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ...และเค้ารางของการทำลายป่าก็เพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ

จุดวิกฤติหนักๆ เกิดขึ้นในช่วงปีพ.ศ.2530 – 2535 เกิดการลักลอบเข้าป่าตัดไม้มาขายจำนวนมาก สภาพป่าเข้าขั้นวิกฤติหนัก ชาวบ้านระดมสรรพกำลังทั้งจากผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แกนนำฝ่ายต่างๆ ในชุมชน เช่น ฝ่ายรักษาความสงบ ฝ่ายสาธารณสุข ศึกษา ป้องกัน แม้กระทั่งกลุ่มแม่บ้านเข้ามาตรวจตรา ดูแลป้องกัน ด้วยเห็นร่วมกันว่า หากปล่อยให้มีการลักลอบตัดกันได้เรื่อยๆ ไม่ช้าไม่นานสุดท้ายป่าก็จะหมด นอกจากการลักลอบตัดไม้แล้ว ยังเกิดกรณีชาวบ้านขออนุญาตตัดไม้เพื่อสร้างบ้าน แต่ชุมชนกลับพบว่า ปีแล้วปีเล่าบ้านก็ยังไม่เสร็จ และก็ยังตัดไม้อยู่ตลอดเวลา เกิดคำถามว่าแล้วไม้ไปไหนหมด

จากจุดปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 5 ปีนั้น หลังจากนั้นชาวบ้านได้พยายามอย่างหนักที่จะร่วมกันดูแลป่าแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถจัดการ ควบคุมผู้ลักลอบได้ และสถานการณ์ดังกล่าวนี้เอง ทำให้เกิดการนำเอาปัญหามาแลกเปลี่ยนกันในระดับชุมชนหลายชุมในตำบลอย่างกว้างขวาง และการตั้งวงคุยกันครั้งนั้นก็นำมาสู่ก้าวสำคัญของการอนุรักษ์จัดการป่า ในนามกลุ่ม เรืองรักษ์ป่า

เรืองรักษ์ป่า มีส่วนสำคัญในการหลวมรวมคนในชุมชนหลายหมู่ที่พึ่งพิงอาศัยป่าเข้ามาเป็นกลไกในการจัดการดูแลป่าร่วมกัน เกิดการระดมแรง ระดมทุนเพื่อทำกองทุนดูแลป่าโดยขอบริจาคหลังคาเรือนละ 5 บาท จากจำนวนครัวเรือน 1,000 กว่าครัว ทั้งนี้ กลุ่มเรืองรักษ์ป่า มีบทบาทหน้าที่ในการทำกิจกรรมอนุรักษ์ป่าในระดับตำบล หากแต่ชุมชนที่เข้าร่วมในกระบวนการนั้นมีเพียง 2 ชุมชนเท่านั้น คือ  บ้านศรีนาป่านจำนวนสมาชิก  145 คน ส่วนบ้านตาแวน จำนวนสมาชิก  137 คน โดยที่ทุกคนในชุมชนจะถือเป็นสมาชิกกลุ่มเรืองรักษ์ป่า ที่มีบทบาทหน้าที่ปกป้องฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าตำบลเรืองร่วมกัน ภายใต้กฎกติกาที่ชาวบ้านร่วมกันคิด ร่วมกันกำหนดขึ้นมา

“ป่า” : “สวนเมี่ยง”

จากเมล็ดพันธุ์เมี่ยงที่ชาวบ้านจากสิบสองปันนานำติดมาด้วย นับตั้งแต่สมัยอพยพเข้าสร้างบ้านแปง(สร้าง)เมืองนั้น หลายชั่วอายุคนที่ต้นเมี่ยงเติบโต ขยายกิ่งก้าน สาขาเต็มพื้นที่ป่าในตำบลเรือง เมื่อถามว่าต้นเมี่ยงมีมานานหรือยัง คนรุ่นพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ยตอบเพียงว่า “เท่าที่จำความได้ เกิดมาก็เห็นแล้ว”

ดังนั้นสำหรับชาวบ้านตำบลเรือง การปลูกเมี่ยงจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในวงจรชีวิต เป็นวิถีเก่าแก่ที่มาพร้อมกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ...ทั้งนี้ ชุมชนบ้านศรีนาป่าน มีพื้นที่ปลูกเมี่ยง(ชาอัสสัม) ประมาณ  4,800 ไร่ โดยส่วนใหญ่จะปลูกเมี่ยง อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ตามเชิงเขา

เมี่ยงกับชีวิต จึงเป็นวงจรความสัมพันธ์สำหรับคนบ้านศรีนาป่าน รวมทั้งเป็นฐานชีวิต และฐานคิดที่สำคัญของชุมชน เพราะสวนเมี่ยงของชาวบ้าน คือ สวนป่าที่ชาวบ้านอิงอาศัย หากเดินเข้าไปในป่าของชุมชนบ้านศรีนาป่านก็จะพบต้นเมี่ยงน้อยใหญ่เติบโตคละแซมกับต้นไม้นานาพันธุ์ในพื้นที่ป่า

ด้วยเหตุนี้ วิถีการปลูกเมี่ยง จึงเชื่อมโยงกับฐานคิดสำคัญหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงคุณค่าของป่า เพราะสำหรับชาวบ้านแล้ว เมี่ยงที่อร่อย เมี่ยงที่เจริญเติบโต คือ เมี่ยงที่โตในป่า ดังนั้น ชาวบ้านจึงทำสวนเมี่ยง โดยการปลูกต้นเมี่ยงแซมร่วมกับแนวป่า ผสมต้นเมี่ยงธรรมชาติเข้ากับต้นเมี่ยงที่ปลูกเสริม ด้วยเหตุนี้ ทั้งป่าและสวนเมี่ยงจึงดูกลมกลืนกัน โดยปล่อยให้สวนเมี่ยงโตร่วมกับป่า เพราะต้นเมี่ยงนั้นจะเติบโตได้ดีกับสภาพอากาศในป่า ที่ไม่ร้อนเกินหรือร่มเกินไป

ธรรมชาติของเมี่ยงเช่นนี้เอง ชาวบ้านจึงดูแลป่า ดูแลธรรมชาติพร้อมๆ กับดูแลสวนเมี่ยงของพวกเขา โดยการไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สวนเมี่ยงจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ป่า โดยเป็นส่วนที่เกื้อกูลอิงอาศัย และเศรษฐกิจของชุมชนก็เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องและดูแลรักษาป่าไปด้วย รวมทั้ง ก่อเกิดรูปแบบการผลิตที่เรียกว่า วนเกษตรสวนเมี่ยง ซึ่งในพื้นที่ที่ทำสวนเมี่ยง ไม่ใช่จะมีเฉพาะต้นเมี่ยง หากแต่ยังมีต้นไม้หลายอย่างขึ้นรกมากมาย ทั้งต้นที่กินได้ เช่น หมาก ทั้งปลูกทั้งขึ้นเอง เช่น ต้นหวาย หน่อไม้ สมุนไพร สารพัดชนิดตั้งแต่พืชกินได้ พืชสมุนไพร รวมทั้งพืชกินหน่อ และกินเครือด้วย

รายได้จากเมี่ยง

                        การเก็บเกี่ยวเมี่ยง สามารถเก็บได้ 4 รุ่นต่อปี คือ

                        -  รุ่นที่ 1  เก็บเกี่ยว เดือน ปลายพฤษภาคม – ต้นมิถุนายน

                        -  รุ่นที่ 2  เก็บเกี่ยว เดือน กรกฎาคม

                        -  รุ่นที่ 3  เก็บเกี่ยวเดือน ปลายสิงหาคม – ต้นกันยายน

                        -  รุ่นที่ 4  เก็บเกี่ยวเดือน  พฤศจิกายน (เมี่ยงเหมย คือ ถ้ามีความชื้นในอากาศก็จะให้ผลผลิต)

ทั้งนี้ ผลผลิตเฉลี่ยจะอยู่ที่ 900 – 1,500  กิโลกรัม/ไร่ (ใบเมี่ยงสด) และราคาผลผลิตใบเมี่ยงสดจะขายกิโลกรัมละ 8 บาท เมี่ยงที่นึ่งแล้วกิโลกรัมละ 11 บาท  รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 7,200 – 12,000 บาท/ปี

ปัจจุบัน หลังการเก็บเกี่ยวเมี่ยงแล้ว แต่ละครัวเรือนก็จะจัดการเก็บเกี่ยวเมี่ยงและจัดการมัด โดยที่จะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อ ขณะที่สมัยก่อนนั้น พ่ออุ๊ยศรีลัย วงศ์คำ และพ่อบุญผาย นันไชย ระลึกถึงความหลังครั้งวัยหนุ่ม ใบหน้าเปื้อนยิ้มนิดๆ และเล่าว่า “สมัยก่อน พอเก็บเมี่ยงได้แล้ว บางทีก็จะมีพ่อค้าขี่วัวเดินเข้ามาซื้อเมี่ยง หรือบางทีเราเองก็หาบถุงมัดเมี่ยงออกไปขายข้างนอก เวลาออกไปขายครั้งหนึ่งก็นอนค้างแรมระหว่างทาง บางทีเราก็ไม่ได้ขาย เราเก็บเมี่ยงมาแลกเปลี่ยนกันบ้าง อย่างเมี่ยงแลกข้าว แลกพริก เพราะอย่างสมัยก่อนนั้น ชุมชนเราเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ข้าวอาจไม่พอกิน เราก็ต้องเอาเมี่ยงไปแลกข้าวสาร แลกปลา เกลือ พริก เราก็เอาเมี่ยงแลก ไม่ถึงกับขาย ร้อยมัด ร้อยกำ หกสลึง จนมีคำพูดติดปากกันว่า ข้าวเสี้ยง เมี่ยงป่ง หรือ คนเป็นบ่าวเอาเงินมาหมด เมี่ยงก็โต ที่มีความหมายว่า เราเอาเมี่ยงแลกข้าว หรือเอาเมี่ยงไปขายก็ตาม พอเรากินข้าวหมด หรือใช้เงินหมดแล้ว ก็พอดีกับเวลาที่เมี่ยงก็โตอีกครั้ง เอากลับไปแลกเปลี่ยนหรือไปขายได้พอดี”

เมื่อเมี่ยงมีความสัมพันธ์กับป่าอย่างมากมายเช่นนี้ การจัดการป่าจึงมีความหมายรวมถึงการจัดการสวนเมี่ยงด้วย ดังนั้น หลังจากชุมชนต้องเผชิญกับวิกฤติป่าถูกทำลาย เกิดการลักลอบตัดไม้อย่างมากมาย จนการก่อเกิดองค์กรชุมชน ในนามกลุ่มเรืองรักษ์ป่า จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรักษา อนุรักษ์ป่าและรักษาสวนเมี่ยงของชุมชน โดยชุมชนได้ร่วมกันกำหนดกลไกในการควบคุมดูแลร่วมกัน ที่มีกฎเกณฑ์ กติกาที่ชาวบ้านร่วมกันออกแบบ และยอมรับ โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็น 3 ส่วน คือ

ป่าต้นน้ำ เป็นบริเวณเขตป่าอนุรักษ์เพราะเป็นป่าต้นน้ำ เป็นต้นกำเนิดลำห้วยสำคัญๆ อย่างลำห้วยหลวง ห้วยตาแวน ห้วยวะ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้สำหรับการบริโภค อุปโภค และการเกษตร ส่วนห้วยน้ำดังเป็นแหล่งน้ำสำหรับผลิตประปาภูเขา ในเขตป่าต้นน้ำ มีการห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด

ป่าเมี่ยง  เป็นพื้นที่ป่าที่มีการปลูกเมี่ยงแซมอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ตั้งอยู่ระหว่างเขตป่าอนุรักษ์กับเขตป่าไม้ใช้สอย ส่วนใหญ่ป่าเหล่านี้จะมีผู้ครอบครองสิทธิ์และใช้ประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็มีการอนุรักษ์ป่าไปด้วย

ป่าใช้สอย มีพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.)จะเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยไม้เบญจพรรณ  รวมทั้งพื้นที่ทำการเกษตร

นอกเหนือจากเขตป่าที่แบ่งเป็น 3 ส่วนแล้ว ชุมชนยังมีส่วนที่เป็น ป่าชุมชน ที่สงวนไว้สำหรับนำไม้มาใช้ในกิจกรรมของโดยชุมชนบ้านศรีนาป่านมีพื้นที่ 74 ไร่  และพื้นที่ ป่าพิธีกรรม  ซึ่งเป็นบริเวณป่าที่สงวนไว้สำหรับการประกอบพิธีกรรมต่างๆ  เช่น ป่าสุสาน  ป่าวัดร้าง  และป่าหอเจ้าหลวงป่าเมี่ยง

เจ้าหลวงป่าเมี่ยง และเจ้าต๋นปู : พิธีกรรม ความเชื่อ

นอกจากวัฒนธรรมเมี่ยงจะเกี่ยวพันกับการทำกินเลี้ยงครอบครัว เป็นรายได้แล้วนั้น เมี่ยงยังสัมพันธ์เชื่อมโยงกับฐานความคิด ความเชื่อของชุมชนอีกด้วย กล่าวคือ จากประวัติศาสตร์การตั้งชุมชนนั้น การอพยพโยกย้าย การตั้งบ้านเรือน จากกลุ่มครัวเรือน ก็ขยับขยายกลายเป็นชุมชนที่มีการปกครองดูแล ซึ่งสำหรับชุมชนบ้านศรีนาป่านนั้นก็มีการสืบเนื่องสายตระกูลกันต่อมา และยังยึดโยงกันด้วยความเชื่อ เคารพศรัทธาในเจ้าผู้ปกครองเดิมในสมัยโบราณ

การเซ่นไหว้เจ้าหลวงป่าเมี่ยง

ชาวบ้านมีความเชื่อและศรัทธาว่า เจ้าหลวงป่าเมี่ยง คือ ผู้นำหมู่บ้านแต่ครั้งโบราณ และเป็นบุคคลแรกที่นำชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี่ และยังมีสายตระกูลที่สืบเชื้อสายเจ้าหลวงอยู่ ซึ่งสมบัติต่างๆ ของเจ้าของหลวงป่าเมี่ยงนั้น ชุมชนยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดี เช่น ผืนนาของเจ้าหลวง หอก ดาบ เสื้อผ้า โอ่ง ไห ฆ้อง โดยเก็บรักษาไว้ที่บ้านพ่ออุ๊ยตา ปันลูน

ในการเซ่นไหว้เจ้าหลวงป่าเมี่ยงนั้น จะทำพิธีกันในเดือนเก้าเหนือ (ประมาณเดือน 11 ) โดยจะทำพิธี “แก้มน้ำลงนา” ชาวบ้านจะบริจาคเงินหลังคาละ 3 บาท เพื่อนำไปซื้อไก่ จำนวน 8 คู่ พร้อมเครื่องเซ่นไหว้อื่นๆ ที่ใช้ในพิธีกรรมดังกล่าว  โดยจะมีการทำพิธีกรรมรวม 2 จุด คือ

            -  หอ(ศาล) ใต้ : จะตั้งอยู่ที่บ้านศรีนาป่านที่บ้านพ่ออุ๊ยบุญถม ทะอินทร์ เรียกว่า หอเจ้าต๋นปู่

            -  หอ(ศาล) เจ้าหลวงป่าเมี่ยง : จะตั้งอยู่ในบริเวณบ้านตาแวน ส่วนที่เรียกว่า นาก้างปอกไฟ (สถานที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของการจุดดอกไม้ไฟ) และหอที่จำลองไว้บริเวณป่าห้วยหลวง

ก่อนจะมีการเซ่นไหว้ จะมีการให้สัญญาณ เริ่มพิธีกรรมทั้ง 2 หอพร้อมกัน เรียกว่าการสั่นอะม๊อก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอน้ำ ขอฝน และความเป็นสิริมงคล ในฤดูกาลเพาะปลูกให้ปราศจากเชื้อโรค และแมลง ที่จะเข้ามารบกวน ในการทำพิธีกรรมนี้ คนในหมู่บ้านต้องอยู่ภายในหมู่บ้าน 1 วัน เรียกว่า “อยู่ก๋ำ” โดยในการทำพิธีบวงสรวงนั้นผู้ทำพิธีก็จะสืบทอดกันมาตามสายตระกูล เช่น ตระกูลทะอินทร์ และตระกูลท้าวอินทร์  เป็นต้น และในการทำพิธีนี้ เจ้าหลวงจะเป็นผู้เลือกว่าจะให้ใครเป็นผู้ทำพิธี และด้วยระบบเช่นนี้ทำให้คล้ายว่าเจ้าหลวงคอยเฝ้าดูแลชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา ทำตัวดี ทำตัวไม่ดีล้วนมีผลต่อชีวิต ผู้ทำตัวดีก็จะได้รับเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่ในพิธีกรรมของชุมชน ดังนั้นคุณค่า และความหมายเบื้องหลังของพิธีกรรมบวงสรวงเจ้าหลวงนั้น จึงมากกว่าแค่การบวงสรวงบูชา หากแต่คือวันรวมญาติพี่น้อง ที่จะมาพบปะเจอกัน และยังเป็นกลไกในการดูแลพฤติกรรมของคนในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

พิธีกรรมหล่อเมี่ยง คือ การนำเมี่ยงที่นึ่งแล้วไปเซ่นไว้เจ้าหลวงป่าเมี่ยงหลังคาเรือนละ 5 กำ (กำ=มัด) ชาวบ้านให้เหตุผลว่าการทำเมี่ยง ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนที่มาเซ่นไว้เจ้าหลวงจะทำให้เมี่ยงมีผลผลิตดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเมี่ยงที่ทุกคนนำไปบริจาคนั้น นำไปหมักร่วมกัน และแบ่งปันกันกินในชุมชนต่อไป

การเลี้ยงผีขุนน้ำ เพื่อทำพิธีขอน้ำ ขอฝนในฤดูกาลเพาะปลูก และให้อยู่เย็นเป็นสุข ในการเซ่นไว้นั้นจะต้องใช้ตุ่น (หมูดิน 1 คู่) โดยมอบหมายให้พ่ออุ๊ยตา ปันลูน ผู้ดูแลพื้นที่นาของเจ้าหลวง เป็นผู้ไปหาตุ่นมาเซ่นไหว้ และทำพิธีบวงสรวงบริเวณที่นา “ก๊อดเป๋ย” (คือพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณต้นตะแบกใหญ่) ซึ่งจะทำพิธีในวันแก้มน้ำลงนา

การแก้มข้าวใหม่ เป็นพิธีกรรมเซ่นไหว้เจ้าหลวงป่าเมี่ยงก่อนการเก็บเกี่ยวข้าว คือ ประมาณเดือนพฤศจิกายน  โดยที่ทุกครอบครัวจะเอารวงข้าวระยะพลับพลึง  มาบริจาคเพื่อตำเป็นข้าวเม่าแล้วนำข้าวเม่าที่สุกแล้วใส่กระทงใบตอง เพื่อใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ พ่ออุ๊ยบุญถม ทะอินทร์ “การทำพิธีกรรมแก้มข้าวใหม่นี้ทำเพื่อแสดงความขอบคุณต่อเจ้าหลวงป่าเมี่ยง ที่ทำให้ผลผลิตข้าวไม่มีโรคและแมลงรบกวน”

เช่นเดียวกับ พ่ออุ๊ยเขื่อง มะโนวรณ์ “ถ้าปีไหนเกิดวิกฤติจากภัยธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง แมลงระบาด ชาวบ้านก็จะบนบานบวงสรวงโดยขอให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ผลผลิตดี โดยจะใช้สัตว์ใหญ่คือควายตัวผู้สีดำเป็นเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ไอ้หลังเลื้อม” โดยการบวงสรวงลักษณะนี้จะเกิดขึ้นประมาณ 4 ปีครั้ง โดยจะเซ่นไหว้ช่วงเดือนมีนาคม หลังพิธีกรรมเสร็จสิ้นแล้วชาวบ้านก็จะขออนุญาตนำเครื่องเซ่นไหว้มาแบ่งปันกัน

การสะเดาะเคราะห์ (การส่งเคราะห์บ้าน) เป็นอีกพิธีกรรมหนึ่งที่ชาวบ้านเชื่อว่าการเคารพบรรพบุรุษจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้าน คือ ศรีนาป่าน-ตาแวน  จะร่วมกันนำเครื่องเซ่นไหว้ เช่น น้ำอบ น้ำหอม ธูปเทียน ดอกไม้ มารดน้ำดำหัวเจ้าหลวงป่าเมี่ยง ทุกวันที่ 13 เมษายน ทุกปี โดยจะนำเอาเสื้อผ้าของเจ้าหลวง มาสักการบูชา

การสักการะพระเจ้าทองทิพย์

ชาวบ้านจะทำพิธีกรรมบริเวณวัดร้างซึ่งเป็นบริเวณป่าพิธีกรรม โดยจะทำพิธีกรรมทุกวันที่ 16 เมษายน ของทุกปี โดยผู้ถูกเลือกไปเอาน้ำจะต้องเป็นผู้ไปเอาน้ำจากวังฆ้อง ตั้งแต่เช้ามืด(ไปก่อนกามาก่อนไก่) ตักใส่กระบอกไม้ไผ่มาประมาณ  6 กระบอก และชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมนต์  ณ บริเวณจอมปลอกที่ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าทองทิพย์ในอดีต  ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นเป็นจอมปลวกและก่อนอิฐเก่าๆ  อยู่ในบริเวณนั้น

บริวารเจ้าหลวงป่าเมี่ยง ด้วยฐานความเชื่อที่สืบทอดกันมาว่า เจ้าหลวงป่าเมี่ยงนั้นเป็นผู้นำชุมชนที่มีบุญบารมี และมีบริวารห้อมล้อม ดังนั้นถ้ามีพิธีกรรมเกี่ยวกับเจ้าหลวงป่าเมี่ยงครั้งใด บุคคลหรือบริวารที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องทำหน้าที่นั้นจะให้คนอื่นทำแทนไม่ได้

       -  ช่างฆ้อง คือ นายเดช  วงค์คำ  ทำหน้าที่สื่อสารกับเจ้าหลวงป่าเมี่ยง (ข้าวจ่ำ)

       -  ช่างสับ  คือ นายนงค์  ยาสมุทร  ทำหน้าที่ฆ่าสัตว์ที่นำมาบวงสรวง

       -  ช่างเสพ คือ นายบุญอยู่  สายยนต์  นายจำนงค์  ยาสมุทร  และนายผาย นันไชยทำหน้าที่ขับกล่อมโดยการซอ เวลาก่อนและหลัง ลงทรง

       -  ทาสผู้รับใช้ คือ นางวันดี  ปันลูน ทำหน้าที่ล้างเท้าคนลงทรง

ในความคิด ความเชื่อเรื่องเจ้าหลวงป่าเมี่ยงและเจ้าต๋นปู เป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับชุมชนบ้านศรีนาป่าน –บ้านตาแวน  เพราะความเชื่อเช่นนี้ได้เชื่อมร้อยพี่น้อง เครือญาติและชุมชนให้เกลียวกลมกันมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันความเชื่อในเจ้าหลวง ยังโยงไปถึงการควบคุมดูแลลูกหลานในชุมชนให้ต้องประพฤติดี ปฎิบัติดีอีกด้วย เพราะมีเรื่องเล่ากันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่า ครั้งหนึ่งเคยมีวัยรุ่นหนุ่มสาวเข้าไปทำตัวไม่ดี ไม่เหมาะสมในบริเวณป่า ในตอนนั้นเองได้มีหินร่วงหล่นมาทับขาโดยไม่ทราบสาเหตุ และจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ส่งผลทำให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ในชุมชนเคารพ ศรัทธาในเจ้าหลวงมากขึ้นด้วยเห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง จนเกิด การจัดการสืบชะตาป่า สืบชะตาน้ำห้วยหลวงและสร้างหอเจ้าหลวง อันเป็นเครื่องแสดงถึงความศรัทธาและเคารพต่อเจ้าหลวง แต่ขณะเดียวกันพิธีกรรมเหล่านี้ ก็ช่วยรักษาผืนป่าของชุมชนไว้ด้วย

ดอกผลจากป่า

ด้วยต้นทุนต่างๆ ของชุมชนบ้านศรีนาป่าน-บ้านตาแวน  ไม่ว่าจะเป็นฐานประวัติศาสตร์ชุมชน วัฒนธรรม ความเชื่อ การยังชีพ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่หนุนเสริมให้เกิดการดูแลผืนป่าอย่างจริงจัง แม้ว่าจะมีหลายครั้งที่ชุมชนเผชิญกับปัญหาในการจัดการดูแลป่า ไม่สามารถควบคุมคนลักลอบเข้ามาตัดไม้ จนต่อมาสามารถก้าวข้ามปัญหาก่อเกิดกลุ่มเรืองรักษ์ป่า ที่เป็นกลุ่มองค์กรชุมชนที่เข้ามามีบทบาทในการดูแลป่าอย่างจริงจังนั้น

ในส่วนวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับป่า ชาวบ้านก็ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดว่าพวกเขาสามารถใช้สอยประโยชน์อะไรจากป่าได้บ้าง ทั้งนี้ ในการประโยชน์จากป่านั้น ชาวบ้านสามารถหาเก็บกินของป่าได้เพื่อยังชีพ เช่น เห็ด หน่อไม้ โดยเป็นไปตามวัฎจักรของพืชในป่า ส่วนในป่าเศรษฐกิจที่ปลูกสวนเมี่ยงนั้น การแบ่งสรรจะกำหนดโดยดูที่หากมีต้นเมี่ยงต้นหนึ่งอยู่ระหว่างเขตแดนของสองครัวเรือน ต้นตรงกลางนั้นจะแบ่งกันใช้ แบ่งกันเก็บคนละครึ่ง ไม่มีการรุกล้ำแย่งกัน ขณะที่ไม้อื่นๆ ในสวนเมี่ยง ก็สามารถเก็บกินได้หมด เช่น ต๋าว(ลูกชิด) เห็ด หน่อ ผักกรูด ผักฮาก ผักแซ่ว จี๋กุก สัตว์น้ำนานา เช่น ปลาชนิดต่างๆ (ปลาจาด ปลามันมอด ปลาผาหลังม่าน)  

ขณะเดียวกันความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่เกิดขึ้น ก็เป็นเครื่องสะท้อนถึงการรักษาป่าที่ดีของชุมชนได้ เพราะหลังจากป่าสมบูรณ์แล้ว มีการเจอสัตว์หายากใกล้สูญพันธ์หลายชนิด เช่น  เต่าปูลู  ปูผา  ปูแป้ง  เสือ ลิงป่า เก้ง หมูป่า  และเลียงผา เป็นต้น

นอกจากความสำเร็จที่ป่าฟื้นคืนมาโดยกระบวนการของชุมชนแล้ว การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านาซาวฝั่งซ้าย  ก็เป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้เกิดรูปธรรมในการจัดการป่าอย่างจริงจังมากขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่เขตป่าสงวนเข้ามาดูแล ตำรวจป่าไม้เอาจริง เป็นคดีความติดคุก จับปรับ จำคุก ทำให้ชาวบ้านเห็นตัวอย่าง เลยไม่อยากทำ ประกอบกับมีนโยบายห้ามตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดการยึดถือปฏิบัติตามมากขึ้น ดังนั้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา จึงไม่ค่อยมีใครตัดทำลายไม้เพราะกฎเข้มงวด แต่หากจะเอามาสร้างบ้านก็ต้องแจ้งคณะกรรมการหมู่บ้านโดยต้องระบุจำนวนที่จะต้องใช้ ก็จะมีการพิจารณาตามความเหมาะสม

หมายเลขบันทึก: 351419เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2010 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท