ความหวังดีที่ติดกรอบ-ต้องทบทวน


ปัญหาการบริหาร กทม.คือ "วิธีคิด" - สภาองค์กรชุมชน คือ ประชาธิปไตยทางตรง

การจัดการภาคชุมชนกรุงเทพมหานคร... คือประชาธิปไตยฐานราก 

รวมความเห็น   จาก คุณสมพงษ์  พัดปุย

                    รายงานพิเศษ โดย วิมล อังสุนันทววิวัฒน์  หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360 องศา  ออกในช่วงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. กันยายน  2551

เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์รวมของความเจริญในด้านต่างๆ ทำให้ประชาชน อพยพเข้ามาอย่างรวดเร็ว ผลที่ตามมา คือ ระบบนิเวศเสื่อมโทรม เกิดมลภาวะ ปัญหาชุมชนแออัด การจราจรติดขัด เป็นการสะท้อนให้เห็นชัดถึงการจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ ตามไม่เท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง กรุงเทพมหานครจึงแก้ไขปัญหาโดยได้นำแนวคิด "เมืองน่าอยู่" ขององค์การอนามัยโลกเข้ามาดำเนินการ มาตั้งแต่ปี 2537 สำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จ คือ บ้านเรือนสะอาดเรียบร้อย ถูกสุขลักษณะ มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีสภาพแวด ล้อมที่ดี ชุมชนมีการประกอบ อาชีพ ประชาชนมีการเรียนรู้ ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง มีความเอื้ออาทร และมีความเป็นประชาธิปไตย

                  ในส่วนของแผนปฏิบัติการนั้น กรุงเทพมหานครโดยสำนักพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการโครงการชุมชนน่าอยู่ เพื่อเป็นโครงการนำร่องให้ทุกสำนักงานเขตได้ศึกษา และนำไปพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมกับชุมชนในแต่ละพื้นที่เขต โดยในปี 2546 ได้ดำเนินโครงการชุมชนน่าอยู่ไปแล้วทั้งสิ้น 9 ชุมชน ใน 6 กลุ่มเขต


ความหวังดีที่ติดกรอบ...ต้องทบทวน   โดย สมพงษ์ พัดปุย  

              คุณสมพงษ์ เป็นเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาพื้นฐาน  เป็นที่ปรึกษาสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพมหานคร  นอกจากนี้ยังเคยเป็นหนึ่งในทีม ที่ปรึกษาสมัย ดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2539-2543 ซึ่งเป็นแนวการพัฒนาเรื่องประชาคมในเขตกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นครั้งแรก จากประสบการทำงานกับชุมชนในเขตกรุงเทพมหานครมากว่า 30 ปี และมีโอกาสได้คลุกคลีงานร่วมกับการปกครองส่วนท้องถิ่นระดับ อบต.เกือบทั่วประเทศมากว่า 10 ปี เขามีข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า     

                "เลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่จะถึงนี้ก็จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงได้จริง แต่ตอนนี้กำลังมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นคือ ชาวบ้านจะไม่ยอมเหมือนแต่ก่อน สมัยช่วยอดีตผู้ว่าฯ ดร.พิจิตต รัตตกุล ผมก็เป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิดประชาคม แต่วันนี้ประชาคมแทบจะสูญสลาย ตอนนี้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนกำลังจะทำให้เกิดลักษณะนั้นฟื้นขึ้นมาใหม่ เพื่อให้คนได้มาคุยกัน"
                    ในวันนี้กลไกการบริหารจัดการเมือง ตามไม่ทันสภาพเมืองที่ขยายอย่างรวดเร็ว โครงสร้างการบริหารของ กทม. ต่ำที่สุดคือเขต ซึ่งมีขนาดใหญ่เกินไป แล้วชาวบ้านก็หลากหลาย การจัดการดูแลและการแก้ไขปัญหาจึงไม่ทั่วถึง การเกิดขึ้นของสภาองค์กรชุมชนเพื่อมาอุดช่องว่างดังกล่าว
                     ในอดีตเคยมีการจัดตั้งในลักษณะนี้แต่เรียกชื่อต่างออกไปว่า ประชาคม    ประชาสังคม   ประชารัฐ หรือธรรมรัฐ แต่หัวใจคือ "ชาวบ้านเกิดสำนึก...ความเป็นเจ้าของ" ทำให้เกิดวัฒนธรรมการถกเถียงพูดคุยกัน  มันคือรูปแบบ ประชาธิปไตยระดับรากฐานซึ่งเห็นตัวจับต้องได้ ไม่ใช่ระบบตัวแทนที่ไปหย่อนบัตรลงคะแนน แล้วมอบอำนาจจัดการให้ แม้ดูเหมือนสภาองค์กรชุมชน จะเป็นทางออกในการบริหารงานในกรุงเทพมหานครได้ แต่ก็มีข้อจำกัดและอุปสรรครออยู่
                      "เรื่องสภาองค์กรชุมชนนั้น เป็นเหมือนทั้งใช่และไม่ใช่ทางออกในวันนี้ พวกเราตั้งแต่นักวิชาการ ผู้บริหาร กทม. ชาวบ้าน เหมือนคนหลงป่ากันทั้งหมด ไม่เห็นภาพรวม ไม่เห็นจุดเปลี่ยน ถ้าเรายังยืนอยู่ในกรอบนักผังเมือง นักบริหารเมือง นักการเมือง ก็จะหลงไป แล้วไม่เข้าใจ ยิ่งนักกฎหมายยิ่งไม่เข้าใจใหญ่ เขาจะเข้าใจกันเองในหมู่คนที่รู้เรื่องกัน คนอื่นไม่เข้าใจด้วย ทุกคนติดกรอบที่สร้างขึ้นเอง ติดอยู่ในตัวเอง กฎหมายไทยก็เกิดด้วยเหตุนี้และคิดกันว่า "เมื่อใช้จริงก็จะปรับตัวไปเอง" ก็เลยเกิดปรากฏการณ์ กฎหมายกว่า 200 ฉบับ ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ มีคนพยายามทะลุกรอบ ทางออก คือต้องเชื่อมมิติกันให้ครอบมิติ หลากหลายแล้วมีความยืดหยุ่น" คุณสมพงษ์ เสนอทางออกว่าต้องทบทวนถึงเนื้อแท้อย่างเข้าใจ โดยไม่ติดที่กรอบกฎหมาย หรือมุมส่วนตัวของแต่ละคน
                        "ถามว่าเราเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นจริงจากทุกฝ่ายตรงกันหรือเปล่า    เราจะยุ่งเหยิงตรงที่จะแก้กฎ กทม.ก็ไม่ได้ จะยุบจะห้ามก็ยิ่งไม่ได้ใหญ่ มันเหมือนวัวพันหลัก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่วิธีคิด จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้หรือไม่ ถ้าเรายอมรับความจริง ว่า...ชุมชนนี้ เขาเป็นอย่างนี้ เรายอมให้ชาวบ้านเป็นตัวหลักไหม ถ้ายอมจะเริ่มคลี่คลาย แต่ทุกคนจะขมขื่นที่ต้องเปลี่ยน...กลไกการทำงานของวันนี้ คือ กลไกของการเปลี่ยนแปลง
                         ถ้าสภาองค์กรชุมชนจัดตั้งแล้ว กลุ่มที่กระทบมากที่สุด คือ ข้าราชการ เพราะเปลี่ยนยาก ทั้งระบบคน ระบบความคิด กฎหมาย และการบริหารจัดการภายในองค์กร ทั้งที่ชาวบ้านไม่มีอำนาจโดยกฎหมายไปบังคับข้าราชการ แต่อำนาจมาจากการมาประชุมกัน แล้วไม่ร้องของบประมาณจากรัฐ มันคือ "อำนาจจริง" แต่นักการเมืองจะเปลี่ยนเร็ว แล้วอะไรจะทำให้ กทม.คลี่คลาย ดูเหมือนจะเป็นเรื่อง ข้อมูลหรือแผนใช่ไหม เลิกคิดไปได้เลย นโยบายยิ่งไม่มีความเป็นจริง ตอนนี้ กทม. เหมือนขนมชั้น 4 ชั้น ชั้นแรกมีผู้ว่าฯ เป็น ฝ่ายบริหาร ชั้น 2 คือ สภา ชั้น 3 คือ ข้าราชการประจำ และชั้นที่ 4 คือ ชาวบ้าน คนทั้ง 4 กลุ่มนี้ไม่เคยคุยกันอย่างเท่าเทียม อย่างเปิดใจ แต่กระแสโลกไปแล้ว" ผลที่ได้จากการมีสภาองค์กรชุมชน เขาเชื่อว่าจะสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้คนหวังพึ่งตัวเองบนฐานความจริง
                       "การที่ชาวบ้านมาประชุมกันบ่อยๆ มันเกิดวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาในวงชาวบ้าน คุมกันเอง ไม่ต้องใช้กฎหมาย มันอยู่กันได้ กฎหมายหรือองค์กรคือโครงสร้างจะดีอย่างไรถ้าไม่ยืดหยุ่นให้เข้ากับคนใช้ มันก็เป็นไปไม่ได้ เนื้อหาของสภาองค์กรชุมชนคือการมีส่วนร่วม โดยสอดคล้องกับ กทม. และบรรยากาศในแต่ละท้องถิ่น เป็นการใช้เชิงวัฒนธรรม ในประเทศไทยพึ่งตำรามาก  แต่ไม่ใช่ความรู้ ความรู้ในที่นี้คือ รู้กฎธรรมชาติ รู้ไหมว่า สลัม 1,700 ชุมชน หรือ กทม.มีธรรมชาติอย่างไร ถ้าไม่รู้ก็ร่างกฎหมายไปเรื่อย ๆ

                   ชาวบ้านที่มาประชุม เพื่อจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน เริ่มจะเข้าใจว่าต้องเริ่มจากตัวเอง ยอมรับกัน ร่วมมือแล้วก็สร้างความรู้ ต้องใช้เวลา  " แต่มันไม่มีทางเลือก คุณต้องทำ"   

 

หมายเลขบันทึก: 351200เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2010 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท