On the Way: People's Republic of China (PRC) #1


มหาวิทยาลัยยูนนานแห่งนี้ ผู้เขียนได้รับคำบอกเล่าจากเพื่อนร่วมทางที่เคยมีประสบการณ์ในการเดินทางมาที่นี่ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ต่างพูดตรงกันว่าเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งการพัฒนานี้หมายรวมถึงการพัฒนาของบุคลากรด้วย!!


ที่ไปที่มา 

อันเนื่องมาจากผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปมณฑลยูนนาน  สาธารณรัฐประชาชนจีน ในโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และด้านวิชาการกับหน่วยงานนานาชาติ ประสบการณ์จากการเดินทางครั้งนี้ สะท้อนความรู้สึกบางอย่างทำให้ผู้เขียนต้องมีคำถามและความคาดหวังบางอย่างอยู่ในใจ

Yunnan Normal University (YNNU)

มหาวิทยาลัยยูนนาน เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในฐานะองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาครูของประเทศ ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้สร้างหลักสูตรการพัฒนาครูขึ้นใหม่ที่เน้นการวิจัยเป็นฐาน หนึ่งในกระบวนการสำคัญที่คือการคัดเลือกบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจีนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศให้กลับมาพัฒนาประเทศของตนเองในฐานะอาจารย์ของมหาวิทยาลัย รวมถึงอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้วก็ยังคงทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ แก่เด็กรุ่นหลัง เพื่อสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านขึ้นใหม่ ...

          จุดเด่นของสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ที่ รัฐบาลผู้บริหารประเทศมีอำนาจในการบริหารจัดการหรือดำเนินการทุกวิถีทางที่จะพัฒนาประเทศสู่ความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกการเปลี่ยนแปลงของประเทศนี้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมหาวิทยาลัยยูนนานแห่งนี้ ผู้เขียนได้รับคำบอกเล่าจากเพื่อนร่วมทางที่เคยมีประสบการณ์ในการเดินทางมาที่นี่ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ต่างพูดตรงกันว่าเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งการพัฒนานี้หมายรวมถึงการพัฒนาของบุคลากรด้วย!! ผู้เขียนซึ่งเพิ่งเคยมาเป็นครั้งแรก มีโอกาสได้ฟังการบรรยายสรุปจากคณะผู้แทนของมหาวิทยาลัย (ซึ่งหลายคนเมื่อ 5 ปีก่อนทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงาน... แต่ปัจจุบันด้วย Career path ที่ดี ทำให้พวกเค้าได้ขึ้นสู่การเป็นหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ไปเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ของเรา 5 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ก็ยังคงเหมือนเดิม) คณะผู้แทนฯ ยอมรับว่า องค์กรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรรถนะของบุคลากรเป็นอย่างมาก และผลที่ได้รับคือ มหาวิทยาลัยยูนนานมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงจนเป็นองค์กรชั้นนำที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทางยุโรป (นอกจากวัดจากงานวิจัยและความร่วมมือต่าง ๆ ที่ได้รับฟังจากการบรรยายและการนำเสนอด้วยวีดีทัศน์แล้ว ผู้เขียนยังวัดจากจำนวนนักศึกษา “ฝรั่ง” ที่เดินกันขวักไขว่ระหว่างทางที่เราเดินดูจุดต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย) ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ความสำเร็จเหล่านี้เกิดจากการวางแผนกลยุทธ์ที่ดีที่ทำให้สามารถพัฒนาทั้งองค์กรและสมรรถนะของบุคลากรควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน

คิดกันเล่น ๆ

ประเทศไทยมีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการผลิตและพัฒนาครูหลายองค์กร  (ถ้า) องค์กรทั้งหลายร่วมมือกันเพื่อออกแบบระบบการพัฒนาครูใหม่ โดยให้มีการดำเนินการควบคู่กันไปใน 2 ลักษณะ ลักษณะแรก คือ การพัฒนาหลักสูตรครูใหม่ให้มีประสิทธิภาพโดยใช้การวิจัยเชิงอนาคตเป็นฐาน โดยหลักสูตรใหม่นี้ต้องสามารถผลิตครูที่มีคุณภาพเพื่อจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กมีความรู้ มีทักษะ และที่สำคัญคือเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ (learn how to learn) ที่จะช่วยให้เด็กสามารถแสวงหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ ลักษณะที่สอง คือการพัฒนาต่อยอด สำหรับครูที่ทำงานสอนในโรงเรียน ให้มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม...  

คิดเล่น ๆ... เราพูดถึงการปฏิรูปการศึกษากันมานานมาก ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ก็โถมเข้ามาเป็นระลอก ๆ เหมือนคลื่นที่ซัดเข้าฝั่ง (คือซัดแล้วหาย... ซัดแล้วหาย... หาดทรายก็ยังอยู่เหมือนเดิมแถมบางทีคลื่นพัดขยะมาเพียบ!) ถ้ารัฐบาล องค์การด้านการศึกษา นักวิจัย นักการศึกษา ตลอดจนครูและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย มาจับมือกันทำงานเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง... ผลจะเป็นอย่างไร? เพราะเท่าที่ดูอยู่ในขณะนี้ การจัดการศึกษาของประเทศเวียดนามกำลังเข้มแข็งขึ้นทุกวัน ๆ ใครจะไปรู้ อีก 10 ปีข้างหน้าคนไทยอาจต้องส่งลูกหลายไปเรียนต่อต่างประเทศ... ที่ “เวียดนาม” ก็อาจเป็นได้ !!!

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 350542เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2010 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท