รู้และ “รู้อย่างไร”


 

การทำงานเป็นกรรมกรสองสัปดาห์นี้มีค่ามากกว่าการยืนคุมงานมากกว่า 2 ปี...

สองปีที่ผ่านมารับทำหน้าที่ “คุมงาน” ก่อสร้างที่โน่น ที่นี่ทั้งงานเล็ก งานใหญ่
สองสัปดาห์นี้เราตัดสินใจลงมา “ทำงาน” นับว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก ๆ เพราะคำตอบหลาย ๆ อย่างเราคิดว่าเคยเข้าใจ วันนี้เพิ่งเข้าใจ

เมื่อก่อนเราเห็นคนงานเหนื่อยเราก็รู้ว่าเขาเหนื่อย แต่เราไม่รู้ว่า “เหนื่อยอย่างไร...”
เมื่อก่อนเราเห็นคนงานทำงานกลางแดดเราก็รู้ว่าเขาร้อน แต่เราไม่รู้ว่า “ร้อนอย่างไร...”
เมื่อก่อนเราเห็นคนงานยกของชิ้นใหญ่ ๆ มาก ๆ เราก็รู้ว่าเขาหนัก แต่เราไม่รู้ว่า “หนักอย่างไร...”

หลาย ๆ อย่างที่เราเคยเหมือนว่ารู้ แต่แท้ที่จริงแล้วเรายังไม่รู้ลึกถึงขนาดอธิบายได้คำว่า “อย่างไร (How)”

ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) จะเกิดขึ้นไม่ได้จากการยืนดูหรือใช้หูฟัง คนที่มี Tacit Knowledge จากการที่ได้ปฏิบัติจริงเท่านั้นถึงจะอธิบายถึงคำว่า “อย่างไร (How)” ได้อย่างถูกต้อง

เราอาจจะเคยนิยามถึงคำว่าร้อนได้ แต่อาการร้อนที่เกิดขึ้นกับตัวเรานั้นความแตกต่างจากการอ่านหนังสือกับความร้อนที่เกิดขึ้นภายในตัวเราทำให้คนเราอธิบายสรรพสิ่งนั้นแตกต่างกัน

การเรียนรู้จิตใจคน เราต้องดำรงตนให้อยู่ในห้วงของสภาวะจิตใจนั้น
บางคนคิดว่าอ่านหนังสือมามาก เรียนหนังสือมาเยอะ ก็สามารถเข้าใจจิตใจคนได้ สิ่งได้ก็แค่อธิบายตามหลักการที่ใครคนหนึ่งเขียนไว้ตามเหตุ ตามปัจจัยเหล่านั้น

แต่หากเราได้ปฏิบัติเอง รู้แจ้ง เห็นเอง เราจะเข้าใจพื้นฐานของความรู้ ตัวแก่นของความรู้เกิดได้จากการปฏิบัติเท่านั้น

เมื่อเรารู้ถึงรากฐาน เราก็จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับบริบทหรือสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป
การรู้จากการอ่าน การฟัง หรือการเรียนนั้นเป็นความรู้แบบผิว ๆ เราจะตอบหรืออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นได้ถูกต้องก็ต่อเมื่อ ปัจจัยทั้งหลายทั้งปวง เป็นเหมือนอย่างที่อาจารย์ คนแต่งหนังสือ หรือนักวิชาการเคยประสบพบมาเท่านั้น

เรามีโอกาสมากแค่ไหนที่จะมีปัจจัยทั้งหมดเหมือนกับนักแต่งนักสือ หรือบิดาทางวิชาการต่าง ๆ ได้ร่างเป็นตำราเอาไว้
เราสามารถบอกได้ไหมว่า ปัจจัยของเราเหมือนของเขาทั้ง 100%

ดังนั้นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีจากการอ่านหรือการฟังนั้นมีโอกาสผิดพลาดสูง เพราะเราไม่สามารถกำหนดตัวแปรหรือปัจจัยที่มากระทบได้ทุกตัว
แค่อากาศเปลี่ยนไปเพียง 1 องศา ทุก ๆ อย่างก็เปลี่ยนไป แล้วไฉนเลยเราจึงยึดติดความรู้ในตำราให้มีคุณค่ามากกว่าความรู้ของการปฏิบัติจริง

 

หมายเลขบันทึก: 350223เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2010 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท