การติดตั้งหินแกรนิต : ประยุกต์ตัวคีบเหล็กแผ่นมาใช้ยกหินแกรนิต


ช่วงกลางปีก่อน (๒๕๕๒) หลังจากที่ได้รับมอบหมายงานควบคุมการก่อสร้างซึ่งเป็นการปูหินแกรนิตแบบแห้ง (Dry Process) หลังจากที่โปรเจคเดิมใช้การปูแบบเปียก (Wet Process) หรือใช้ปูนนั้น ปรากฎว่าเมื่อเวลาผ่านไปคราบน้ำปูน หรือคราบกาบขาว ๆ ก็ไหล่ออกมาทำให้หน้างานสกปรกและเลอะเทอะ

ตอนเตรียมงานคราวที่แล้ว มีสิ่งที่ต้องขบคิดและวางแผนค่อนข้างมาก เพราะงานนี้ต้องนำหินแกรนิตแผ่นใหญ่ (ประมาณ 2x1 เมตร) ซึ่งน้ำหนักประมาณแผ่นละ 100 กิโลกรัม ขึ้นไปติดบนสูง (5-20 เมตร) ดังนั้นจึงต้องเตรียมงาน วางแผนให้รัดกุมและรอบคอบมากที่สุด

การนำของที่ใหญ่และหนักขึ้นสู่ที่สูงนั้นปกติแล้วจะใช้ "รอก" ชักขึ้นไป ซึ่งตอนนั้นเองเราต้องหาข้อมูลเกี่ยวข้องรอกชนิดต่าง ๆ เป็นอย่างมากทั้งที่เป็นรอกธรรมดาและรอกทดแรง

ซึ่งในขณะนั้น เราได้ข้อสรุปและวางแผนคร่าว ๆ ว่า จะแบ่งออกเป็นสอง step

step ที่หนึ่งใช้รอกที่ไฟฟ้าที่ได้แรงจากมอเตอร์ยกแผ่นหินขึ้นไปให้อยู่ในระดับความสูงของหน้างาน จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นรอกทดแรงแบบสาวด้วยมือซึ่งมีความละเอียดสูงค่อน ๆ วางแผ่นหินลงไปที่หน้างาน

แต่ปัญหาเดิมที่เราเคยประสบในการชักรอกหินขึ้นไปนั้นคือลักษณะของการผูกมัดแผ่นหิน ซึ่งจะต้องใช้เลือกหรือสายพานรัดหินจากด้านล่างขึ้นไปหาด้านบนเพื่อรับน้ำหนักและไม่ให้หินแกว่งไปแกว่งมา

ซึ่งการทำเช่นนี้สามารถทำได้ในการใช้รอกไฟฟ้ายกหินขึ้นไปใน step แรก แต่จะมีปัญหาเมื่อจะต้องนำแผ่นหินวางลงไปบนหน้างาน เนื่องจากว่าแผ่นหินนั้นไม่สามารถวางลงได้เพราะติดเลือกที่ต้องวางรั้งอยู่ด้านล่างนั้น

ลักษณะงานเดิม

เราจะต้องวางหินลงบนพื้นของนั่งร้านก่อนแล้วแกะเลือกที่รั้งออกทั้งหมด จากนั้นใช้แรงงานคนค่อย ๆ ยกขึ้นไปลองวางทาบให้ได้พอดีกับหน้างาน

แต่การทำงานจริง ๆ ของการติดตั้งงานหินนั้นจะต้องยกขึ้น ยกลงอย่างนี้หลายครั้งจนถึงหลายสิบครั้งเพราะเป็นงานที่ละเอียดต้องให้เนื้องานชิดกันมีช่องว่างไม่เกิน 1 มิลลิเมตร

เมื่อเห็นแผ่นใหญ่ โอกาสที่จะบิดไป บิดมา ติดโน่น ติดนี่ค่อนข้างมาก ดังนั้น ก็ต้องยกขึ้น ยกลงกันอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อช่างต้องยกขึ้น ยกลงบ่อย ๆ จึงทำให้เกิดอาการล้าที่แขน จนบางครั้งอาจจะปล่อยปะละเลยว่าได้แล้ว แค่นี้ก็พอแล้ว เนื่องจากอาการเหนื่อยล้า จนทำให้งานออกมานั้นเสียหาย

สมมติฐาน (Hypothesis)

1. ตอนนั้นจึงได้ตั้งสมมติฐานว่า น่าจะมีอะไรที่จะใช้หนีบหินขึ้นไปจากด้านบนได้ โดยที่ไม่ต้องใช้เลือกรั้งจากด้านล่างหิน เพื่อที่ว่าเมื่อวางได้ที่แล้วจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาแกะเชือกที่เกะกะอยู่ด้านล่าง วางได้แล้วจะได้เลย..

2. การมีตัวหนีบที่ผูกติดกับรอกที่ทดแรงด้วยมือนั้นสามารถลดกำลังแรงงานคนในการยกขึ้น จะสามารถทุ่มเวลาการทำงานและรักษาสุขภาพของคนงานด้วย (Time and motion management)

ดำเนินการหาข้อมูล

ในขณะนั้นเราก็ได้ไปปรึกษากับร้านขายเหล็กว่า เวลาเขายกเหล็ก เขามีตัวอะไรคีบไหมยกขึ้นไปไหม เพราะในโรงงานใหญ่ ๆ คงจะไม่มีใครมานั่งผูกเชือก มัดแล้วคล้องเหล็กอยู่ เพราะจะทำให้เสียเวลาและเปลืองทรัพยากรบุคคลมาก

 

คำตอบที่ได้รับ คือ มี เป็น "ตัวคีบเหล็กแผ่น" ที่สามารถคีบแผ่นเหล็กได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งสามารถรับยกน้ำหนักได้ตั้งแต่ 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) 2 ตัน และ 3 ตัน

จากขนาดหรือ spect ของตัวคีบเหล็กแผ่นแน่นอนว่าสามารถยกของที่มีน้ำหนัก 100 -200 กิโลกรัมขึ้นไปได้แน่ แต่เราก็ยังต้องขบคิดต่อไปอีกว่า ลักษณะความหนาแน่นของแผ่นหิน จะไม่เกาะติดกันแน่นเหมือนแผ่นเหล็ก เพราะลักษณะการหนีบของตัวคีบนี้ จะใช้แรงบีบไปที่จุดเดียว (ประมาณ 1x1 เซนติเมตร) จากนั้นก็จะยกขึ้นทั้งแผ่น (2x1 เมตร) ขึ้นไป ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดแรงเค้นตรงจุดที่กดจนกระทั่งทำให้หินบริเวณรอบ ๆ จุดที่กดนั้นหลุดออกจากกันได้ คือ หินตรงที่ถูกหนีบจะไม่หลุด แต่หินที่อยู่ข้าง ๆ ในลักษณะแนวกว้างออกไปมีโอกาสที่จะแยกตัวได้ เนื่องจากการรวมตัวกันของหินจะมีช่องอากาศและหินที่มีความหนาแน่นแตกต่างกัน คือ เป็นแผ่นก้อนเล็ก ๆ มารวมตัวเข้าด้วยกัน ซึ่งถ้าสังเกตุก็จะเห็นได้ว่าในหินหนึ่งแผ่นจะมีหินสี (สีหลัก) หินดำ หินใส เม็ดเล็ก เม็ดใหญ่ เรียงตัวเข้าเป็นเนื้อของแผ่นหิน ซึ่งนั่นมีโอกาสที่จะทำให้เกิดการแยกตัวออกมาได้

ซึ่งแตกต่างกันแผ่นเหล็ก ซึ่งมีความเหนียวแน่นมากเกิดจากการหลอมโดยใช้ความร้อนทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีจนทำให้เหล็กหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน

ตอนนั้นเอง เราก็ได้ดำเนินการหาอุปกรณ์อย่างอื่นอีก แต่สุดท้ายก็ไม่มีอุปกรณ์ใดเหมาะสมเท่า "ตัวคีบเหล็กแผ่น" นี้ ขั้นต่อมาจึงต้องหาวิธีการที่จะยกหินขึ้นให้ได้อย่างปลอดภัยที่สุด

ซึ่งตอนนั้นเราทดลองโดยให้น้ำหนักไปที่ 2 ปัจจัยหลักคือ

1. หินตรงที่ถูกบีบและบริเวณใกล้เคียงจะต้องไม่แตก

2. หน้าสัมผัสของหินซึ่งมีความมันนั้นจะต้องไม่หลุดลื่นออกจากตัวหนีบ

ตอนนั้นเอง ก็มีช่างเสนะแนะว่าให้ใช้ยางในรถจักรยานมาเพิ่มความหนืดให้กับหน้าสัมผัสของหินและตัวหนีบ ซึ่งนั่นนอกจากจะทำให้จุดที่หนีบไม่ลื่นแล้ว ยังสามารถกระจายจุดรับน้ำหนักของหน้าสัมผัสของตัวหินออกไปได้ด้วย

 

ดังนั้น จึงเริ่มการทดลองโดยการหนีบหินแผ่นเล็ก ๆ แล้วใช้มือยกขึ้นธรรมดาก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มขนาดของแผ่นหินขึ้นเรื่อย ๆ จนเท่าแผ่นงานจริง โดยลองยกในที่ต่ำ (ติดพื้นดิน) จนกระทั่งไปถึงหน้างานจริงซึ่งสูงจากพื้นดินขึ้นไปกว่า 10 เมตร

ผลการทดลอง

การจากการใช้งานจริงปรากฎว่า ตัวคีบเหล็กแผ่นที่รองด้วยยางในรถจักรยานสามารถหนีบหินแกรนิตที่มีขนาด 2x1 เมตร ในลักษณะแนวกว้างขึ้นไปวางได้โดยไม่มีความเสียหาย

จากเดิมที่จะต้องใช้คนงานยกขึ้น ยกลง ซึ่งหนึ่งแผ่นจะใช้เวลาทำงานประมาณ 1 ชั่วโมง ก็สามารถแรงเวลาลงได้กว่าครึ่งหนึ่ง และไม่ต้องใช้แรงงานคนในการยกขึ้นยกลงนั้นด้วย ทำให้โดยภาพรวมของการทำงานนั้น คนทำงานไม่ต้องเกิดอาการเหนื่อยล้าในการยกหิน ซึ่งทำให้งานในหนึ่งวันสามารถก้าวหน้าไปได้กว่า 2 เท่า...

 

หมายเลขบันทึก: 350108เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2010 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณข้อมูลครับ ผมเคยทำรอกทดแรง ขึ้นของที่สูงๆ ตอนแรกก็ว่าจะซื้อ แต่หาอย่างที่ต้องการไม่มีเลยต้องทำเอง ได้ผลเกินคาดครับ ซื้อของหมดไม่กี่พันครับ ทุกวันนี้ยังเก็บใว้ใช้อยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท