ผลงาน คปร. และแต่งกิ่งเหลือไว้ให้ผลดก


 

       

       เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2536 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.)ในปี 2537-  2540  มี วัตถุประสงค์ เพื่อปรับเปลี่ยนและลดพื้นที่ปลูกพืชที่มีปัญหาในด้านราคาและการผลิต โดยส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนไปทำกิจกรรมการเกษตรอื่น ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วน และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ(ร้อยละ 5 ต่อปี ) เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชัยนาทหลายรายที่ดำเนินการแล้วประสบผลสำเร็จและเป็นวิทยากรเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้สู่เพื่อนเกษตรกรต่อไป

แนวคิดดีที่น่าติดตาม

       นายสุนทร  พรมฮวด  เกษตรกรและผู้ใหญ่บ้านวัย 62 ปี บ้านเลขที่ 61 บ้านดอนกระโดน หมู่ 3 ต.วังไก่เถื่อน อ.หันคา จ.ชัยนาท ผู้เข้าร่วมโครงการ คปร. ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นสวนมะม่วงในพื้นที่  9  ไร่  อีกทั้งเตรียมความพร้อมรับ การเปิดเสรีด้านการค้า ที่สินค้าเกษตรจะได้รับผลกระทบ ผลจากผลผลิตทางการเกษตรชนิดเดียวกันในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน  เพราะถ้าราคาของเราสูงตามต้นทุนที่ใช้ปัจจัยจากภายนอกมากและมีราคาสูง สินค้าจากประเทศอื่นที่ราคาต่ำก็จะเข้ามาตีตลาดในประเทศไทย ทำให้ผลผลิตของไทยล้นตลาดราคาก็ต่ำลงมาอีก  ถึงตอนนั้นมะม่วงของเราคงจะขายไม่ได้แน่นอน  มีหนทางแก้คือต้องพยายามลดต้นทุนในการเพาะปลูก เพื่อความสามารถในการแข่งขัน ไม่เช่นนั้นอยู่ไม่รอด ด้วยการเน้นการปรับปรุงดินจากปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นมาเองจากวัสดุที่พอหาได้ในท้องถิ่น  การตัดแต่งกิ่งด้วยเทคนิคไว้ตอกิ่ง และการห่อผลเพื่อให้ปลอดภัยจากหนอนแมลงวันทอง และผิวของผลให้ตรงตามความต้องการของตลาด

จุดเริ่มต้นที่ประสบผลสำเร็จจากโครงการ คปร.

        นายสุนทร  พรมฮวด  เปิดเผยว่า   ได้เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) กับสำนักงานเกษตรอำเภอหันคา  ตอนนั้นมีคุณแดงต้อย วัฒนานันทน์ เป็นเจ้าพนักงานการเกษตรประจำตำบลวังไก่เถื่อน  ได้ชักชวนให้เปลี่ยนที่นาเป็นพืชสวน ซึ่งขณะนั้นราคาข้าวตกต่ำและราคาผันผวนเช่นในปัจจุบัน จึงเข้าร่วมโครงการ คปร. ในปี 2537 ในพื้นที่ 9 ไร่ ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ 250 ต้น มะม่วงเขียวเสวย 250 ต้น จัดทำสวนแบบยกร่อง ท้องร่อง กว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร  สันร่องปลูกมะม่วงกว้าง 8 เมตร ปลูกมะม่วง 2 แถว หลังจากปรับสภาพพื้นที่แล้วได้เข้ารับการอบรมถ่ายทอดความรู้จากทางราชการตลอดมา ควบคู่กับการเปิดรับความรู้จากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตมะม่วงนอกฤดูและการลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงจากราคาผลผลิตที่ขึ้นกับตลาดนอกประเทศ  “การน้อมนำคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาปฏิบัติ ตามปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ส่งผลให้ลดต้นทุนการผลิตได้มาก” และ อย่าประมาท ดังนั้นจึงไม่ไว้ในในด้านราคาสินค้า จึงปลูกมะม่วง 2 สายพันธุ์ และไม่เลิกจากการทำนา

ประเด็นสำคัญ 3 ประการที่ทิ้งไม่ได้

        1. การปรับปรุงบำรุงดิน   โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และเสริมด้วยปุ๋ยเคมี เพื่อปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ประจำคือปุ๋ยอินทรีย์จานด่วน  เกษตรกรไม่ยอมใช้ปุ๋ยหมัก เพราะทำได้ยาก เพราะต้องคอยหมั่นพลิกกลับกองปุ๋ย แต่สูตรนี้จะหมักในกระสอบปุ๋ยเคมี ดังนี้ มูลค้างคาว (หรือมูลสัตว์อื่น) 1 กระสอบ แกลบดิบเก่า 1 กระสอบ รำอ่อน 1 กระสอบ น้ำสะอาด 10 ลิตร (ถ้าวัตถุดิบแห้งมาก ก็สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้) น้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย  1 ลิตร

              วิธีทำ นำมูลสัตว์ แกลบ ขี้เถ้าแกลบ และรำอ่อนมาผสมคลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ผสมน้ำ กับหัวเชื้อจุลินทรีย์เข้มข้นให้เข้ากัน รดลงบนกองวัสดุ และทำการผสมให้เข้ากันจนมีความชื้นประมาณ 35% (โดยทดลองกำดู) เมื่อคลุกเคล้าเข้ากันดีแล้วจึงตักปุ๋ยใส่กระสอบ และมัดปากถุงให้แน่น  กองกระสอบปุ๋ยซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ โดยวางกระสอบแต่ละตั้งให้ห่างกัน เพื่อให้ความร้อนสามารถระบายออกได้ทั้ง 4 ด้าน ซึ่งจะได้ไม่ต้องกลับกระสอบทุกวัน ทั้งไว้ประมาณ 5-7 วัน ตรวจดูถ้ามีกลิ่นหอม และไม่มีไอร้อนก็สามารถนำไปใช้งานได้ และสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน นำไปหว่าใต้ต้นมะม่วง  1 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตร และคลุมด้วยด้วยใบมะม่วงที่ล่วงหล่นลงมา

       2. การตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ต้นไม้แข็งแรงและอายุยืน รูปร่างลักษณะเหมาะแก่การปฏิบัติงานในสวน  และป้องกันการระบาดของโรคและแมลง  การตัดจำเป็นต้องเหลือตอกิ่งไว้ และควรตัดลงมาถึงตาที่อยู่ในทิศทางที่ต้องการ  การตัดลงมาถึงตาที่หันเข้าหาพุ่มเป็นการตัดที่ไม่ถูกต้อง เพราะกิ่งที่เกิดใหม่จะไม่มีประโยชน์ซึ่งต้องตัดทิ้งในภายหลัง  การตัดควรตัดชิดกับตา และทำเป็นปากฉลามโดยให้รอยแผลหันออกจากตา  การตัดที่เหลือตอไว้ยาวๆ เหนือตานั้นจะไม่เกิดประโยชน์ บางครั้งตอจะแห้งหรือเน่าลามลงมาถึงตาด้วย สำหรับการตัดกิ่งทิ้งทั้งกิ่งหรือตัดโดยไม่ให้เหลือตอกิ่ง เป็นการตัดกิ่งที่ไม่ต้องการทิ้ง  เช่น กิ่งที่หันเข้าหาพุ่มหรือหันออกจากทิศทางที่ต้องการ  หรือกิ่งที่เป็นโรคตลอดจนกิ่งแห้ง เป็นต้น  การตัดแบบหลังนี้จะตัดชิดกับต้นหรือชิดกับกิ่งใหญ่เลยที่เดียว

          3. การห่อผล ควรระวังอย่ารัดก้านแรงเกินไป เพราะจะรัดท่อน้ำและอาหาร ผลจะไม่โต

คำสำคัญ (Tags): #มะม่วง
หมายเลขบันทึก: 349427เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2010 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท