ถอดรหัสค้นหาแนวคิดเรื่อง “ผู้นำ” ในโครงการ คศน.


การพัฒนาผู้นำในโครงการ คศน. ไม่ได้มีขึ้นเพียงเพื่อต้องการสร้างคนที่มา “รับไม้” ในตำแหน่งหรือในองค์กรต่าง ๆ แต่เพื่อมา “รับไม้” ภารกิจในการปฏิรูปสังคมร่วมกัน อย่างที่อาจารย์ประเวศท่านชักชวนว่า “มาช่วยกันทำเมืองไทยให้น่าอยู่ที่สุดในโลก”

ผมพยายามค้นหาคำตอบว่าแนวคิดเรื่องผู้นำและการพัฒนาผู้นำของโครงการ คศน. เป็นอย่างไร เพราะแม้ทุกคนที่เข้ามาร่วม จะรับรู้ได้ว่ามีแนวคิดหลักที่เห็นร่วมกันอยู่ชุดหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เคยมีการประมวลออกมาให้ชัดเจน ซึ่งในช่วงเริ่มต้นคงไม่ใช่เรื่องสำคัญนักเพราะคนที่มาช่วยกันพัฒนาโครงการก็คุยกันบ่อยและเข้าใจกันดีอยู่แล้ว แต่มาถึงทุกวันนี้ที่มีผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการมากกว่าหลักร้อยไปแล้ว ผมจึงคิดว่าการสรุปแนวคิดหลักออกมาเพื่อสื่อสารให้เข้าใจตรงกันน่าจะเป็นสิ่งจำเป็น

ผมจึงเริ่มด้วยการตั้งคำถามหลัก ๆ ขึ้น 4 คำถาม เพื่อเป็นประเด็นในการค้นหาคำตอบ ซึ่งได้แก่ (1) ในโครงการนี้เราจะพัฒนาผู้นำไปเพื่ออะไร (2) เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นผู้นำที่พัฒนาขึ้นมาจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร (3) ใช้กระบวนการอย่างไรในการพัฒนาผู้นำอย่างที่ต้องการ และ (4) จะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ทำได้ผลจริง แต่เพื่อไม่ให้บันทึกยืดยาวจนเกินไป ผมจะเริ่มด้วยสองคำถามแรกก่อน

คำถามแรก คศน. พัฒนาผู้นำไปเพื่ออะไร?

เท่าที่ได้ฟังหลายท่านพูดในวงสนทนาต่าง ๆ ของ คศน. ก็ทำให้รู้ว่าเรื่องการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่คิดกันมานานแล้วในกลุ่มสามพราน (รวมถึงในที่อื่น ๆ ด้วย) แต่เมื่อคุณหมอสงวน (นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงษ์) เสียชีวิตด้วยวัยเพียงห้าสิบต้น ๆ นั้น ทำให้คนอื่น ๆ ในกลุ่มหันมาให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากขึ้น ด้วยเห็นว่าขณะนี้ยังขาดกระบวนการที่เป็นระบบในการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมา “รับไม้” ต่อจากพี่ ๆ ที่เป็นเหมือนตัวละครที่จะค่อย ๆ ลาโรงกันไป

เมื่อท่านอาจารย์ประเวศ (ศ.นพ.ประเวศ วะสี) ได้ปรารภในกลุ่มสามพรานหลังการเสียชีวิตของคุณหมอสงวนไม่นานนักว่า เราควรจัดให้มี “กลไกพัฒนาผู้นำ” ขึ้นอย่างเป็นระบบเสียที ก็เกิดคณะทำงานขึ้นมารับการบ้านข้อนี้มาทำ (ประชุมครั้งแรก 11 มี.ค. 2551 ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) และมีการทำงานกันอย่างต่อเนื่องนานกว่าสองปีจนเป็นโครงการ คศน. ในทุกวันนี้

ผมคิดว่างานที่ผู้คนในกลุ่มสามพรานร่วมกันทำมานานหลายสิบปี โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพในมิติต่าง ๆ เป็นแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันโครงการนี้มาโดยตลอด ซึ่งบทเรียนสำคัญ (ในความคิดของผม) คือ การเปลี่ยนแปลงในเรื่องยาก ๆ เป็นสิ่งที่ “เป็นไปได้จริง” ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปโครงสร้าง (ด้วยยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของอาจารย์ประเวศ) หรือการปฏิวัติแนวคิด โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง “สุขภาพ” ในประเทศไทย ที่ปัจจุบันเรื่องสุขภาพไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องหมอเรื่องยาอีกต่อไป เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องยาวนานของผู้คนจำนวนมาก

คศน. จึงเกิดขึ้นมาจากฐานคิดที่ว่า การปฏิรูปในทุก ๆ ระบบที่อาจารย์ประเวศเรียกว่า “ปฏิรูปประเทศไทย” เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยที่ต้องอาศัย “ผู้นำ” รุ่นใหม่ ๆ จากหลากหลายวิชาชีพหลายภาคส่วนในสังคมมาทำงานร่วมกัน เพื่อพาสังคมออกจากวิกฤติการณ์ที่ซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นทุกที

จึงน่าจะสรุปได้ว่าการพัฒนาผู้นำในโครงการ คศน. ไม่ได้มีขึ้นเพียงเพื่อต้องการสร้างคนที่มา “รับไม้” ในตำแหน่งหรือในองค์กรต่าง ๆ แต่เพื่อมา “รับไม้” ภารกิจในการปฏิรูปสังคมร่วมกัน อย่างที่อาจารย์ประเวศท่านชักชวนว่า “มาช่วยกันทำเมืองไทยให้น่าอยู่ที่สุดในโลก”

ซึ่งในชื่อของโครงการที่กล่าวถึง “ผู้นำการสร้างสุขภาวะ” ก็บ่งบอกวัตถุประสงค์นี้ไว้โดยนัยอยู่แล้ว แต่ในชื่อภาษาอังกฤษ ที่เขียนว่า “Leadership Network for the New Health Movement” (ย่อว่า LN4H) ได้ระบุเป้าหมายไว้ค่อนข้างชัดเจน คือ สร้างเครือข่ายผู้นำเพื่อการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ (ชื่อภาษาอังกฤษนี้ตั้งขึ้นในการประชุมพัฒนาโครงการนี้ที่ประเทศอิตาลีโดยการสนับสนุนของมูลนิธิ Rockefeller เมื่อปลายเดือน มี.ค. 2552 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของ Rockefeller คือคุณ Kate Bond ร่วมคิดด้วย)

                                               

คำถามที่สอง “ผู้นำ” มีคุณสมบัติอย่างไร?

ตอนเริ่มต้นโครงการมีการพูดกันไว้อย่างชัดเจนว่าแนวคิด INN (Individual-Node-Network) ของอาจารย์ประเวศ เป็นแนวคิดหลักที่เราจะใช้ในการพัฒนาผู้นำ โดยที่คุณหมอสุวิทย์ (นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ) ก็ได้อ้างอิงเอากรอบแนวคิดเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพ” (Capacity Development) ของ UNDP มาใช้ด้วย ซึ่งแม้จะคล้ายคลึงกันแต่มีรายละเอียดต่างกันพอสมควร (UNDP แบ่งเป็น Individual-Entity-Interrelationship Between Entities-และEnabling Environment ซึ่งอาจเทียบได้ว่าเป็น INNE) (UNDP 1997:3-4)ซึ่งผมคิดว่าการอ้างอิงกรอบแนวคิดของ UNDP อาจมีประโยชน์หลักในแง่การสื่อสารทำความเข้าใจกับคนอื่น (รวมทั้งชาติอื่นด้วย) โดยในทางปฏิบัติแล้ว คศน.ยังคงยึดแนวคิด INN เป็นหลัก

ถ้าไปดูแนวคิดเรื่อง INN ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจารย์ประเวศพูดมานาน ในหนังสือ “หลังประติมาสาธารณสุข” ได้ถ่ายทอดคำอธิบายของท่านไว้ว่า การทำงานปฏิรูประบบต่าง ๆ (ในการปฏิรูปประเทศไทย) เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนไม่สามารถทำได้ด้วยคนเดียวหรือองค์กรเดียว แต่ต้องรวมตัวกันคิดรวมตัวกันทำเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ให้เต็มประเทศ โดยใช้โครงสร้างที่เรียกว่า INN นี้ (พงศธร 2552:17) ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในการพัฒนาผู้นำก็จะเป็นการย้ำให้เห็นว่าในปัจจุบันผู้นำไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ แต่ต้องทำงานแบบ “ผู้นำรวมหมู่” (Collective Leadership) หรือที่แพทย์ชนบทเรียกกันว่าเป็น “ขบวนการหมาหมู่”

ผมลองทบทวนดู (เท่าที่พอจะทำได้) ว่าแนวคิดอะไรอีกบ้างของอาจารย์ประเวศที่น่าจะต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วยในการวิเคราะห์แนวคิดเรื่อง “ผู้นำ” ของ คศน. (ที่ต้องวิเคราะห์แนวคิดของอาจารย์ประเวศเป็นหลัก เพราะท่านถือเป็นครูใหญ่ของโครงการ และบรรดาผู้ที่เข้ามาร่วมกันพัฒนาโครงการนี้ล้วนเป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านทั้งนั้น) ซึ่งพบว่ามีอยู่อย่างน้อย 3 ประเด็น คือ

1. คุณสมบัติของผู้นำ:

ในปี 2540 (ปาฐกถาอารีย์ วัลยะเสวี ครั้งที่ 11) ท่านอาจารย์ประเวศ ได้วิเคราะห์ตัวอย่างผู้นำตามธรรมชาติจากกระบวนการชุมชน และสรุปออกมาเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของ “ผู้นำ” 4 ประการ คือ (1) ฉลาด หรือท่านใช้อีกคำหนึ่งว่า “มีปัญญา” (2) เป็นคนเห็นแก่ส่วนรวม (3) เป็นคนติดต่อสื่อสารกับผู้คนรู้เรื่อง และเมื่อมีคุณสมบัติ 3 ข้อแรกก็จะมีข้อที่ (4) ด้วยคือ เป็นที่ยอมรับของสมาชิกโดยอัตโนมัติ

ซึ่งเมื่อลองค้นข้อมูลเปรียบเทียบ พบว่าคุณสมบัติเหล่านี้ (โดยเฉพาะข้อ (1) และ (3)) สอดคล้องกับผลการสำรวจการพัฒนาผู้นำในประเทศต่าง  ๆ ทั่วโลก (World Leadership Development Survey 2005) ซึ่งพบว่าคุณสมบัติของผู้นำที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ 2 อันดับแรกคือ มีความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategy Development) (แสดงว่าต้องฉลาด) และ มีทักษะในการสื่อสาร (Communication Skills) (แสดงว่าต้องติดต่อสื่อสารกับผู้คนรู้เรื่อง)

2. เรื่องเซลล์ประสาทสังคม (social neuron):

เป็นสิ่งที่ท่านใช้เปรียบเทียบอยู่เสมอเมื่อกล่าวถึงเครือข่ายทางสังคม ที่แต่ละคนเป็นเหมือนเซลล์ประสาทตัวหนึ่ง ที่มีเส้นแขนงเชื่อมโยงกับเซลล์ประสาทอื่น (คนอื่นๆ) อย่างซับซ้อน เกิดเป็นพลังในการเรียนรู้และผลักดันเรื่องต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง Node และ Network ใน INN รวมทั้งผมคิดว่าการที่แต่ละคน (แต่ละเซลล์) จะเชื่อมโยงกันได้ คน ๆ นั้นจะต้องมีคุณสมบัติข้อที่ (3) ของการเป็นผู้นำคือต้องสื่อสารกับคนอื่นรู้เรื่องด้วย

3. เรื่องพลังนิวเคลียร์มนุษย์ (human nuclear power):

ท่านมักจะยกเอา “เจ้าชายสิทธัตถะ” ขึ้นเป็นตัวอย่างของมนุษย์ที่สามารถปลดปล่อยพลังจากภายในตัวเองและกลายเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของโลกได้ ซึ่งท่านพยายามชี้ให้เห็นตามว่ามนุษย์ทุกคนมีพลังมหาศาลนี้อยู่ในตัว ถ้าสามารถปลดปล่อยได้ก็จะส่งพลังออกมามหาศาลเหมือนพลังงานนิวเคลียร์...ซึ่งแนวคิดนี้ถูกย้ำไว้ตั้งแต่การประชุมทีมพัฒนาโครงการ คศน. ครั้งแรก (11 มี.ค. 2551) ที่เน้นว่าอาจารย์ประเวศเสนอให้การพัฒนาผู้นำเน้น “มิติทางจิตวิญญาณ” ด้วย และท่านก็ได้พูดถึงเรื่องนี้อีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง คศน. ครั้งที่ 2 (14 พ.ค. 2552)

 เมื่อพิจารณาดูทิศทางการพัฒนาผู้นำในปัจจุบัน ก็จะเห็นแนวโน้มของการย้อนกลับเข้าไปสนใจ “ภายใน” มากกว่าที่จะให้ความสำคัญแต่เรื่องความรู้และทักษะด้านต่าง ๆ

คศน.เองก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้นำในประเด็นนี้โดยกำหนดไว้เป็นปรัชญาของผู้นำในอุดมคติของ คศน. ซึ่งมีคุณสมบัติ 4 ประการได้แก่ (1) มีปัญญา (Wisdom) (2) มีสติตื่นรู้ (Awakening) (3) พัฒนาเติบโตภายใน (Spirituality) และ (4) ก่อเกิดแรงบันดาลใจให้กับตนเองและผู้อื่น (Inspiration) ซึ่งเขียนเป็นอักษรย่อรวมกันว่าเป็น WASI (หมายเหตุ...คำภาษาไทยเป็นสิ่งที่ผมตีความเอาเอง เนื่องจากยังไม่เคยมีการตีความให้ชัดเจน)

 

จากทั้งหมดนี้เมื่อมาประมวลเป็นแนวคิดเรื่องผู้นำของ คศน. น่าจะสรุปได้ว่าผู้นำมีคุณสมบัติที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ

  1. ระดับปัจเจก (Individual) คือการเป็นผู้ที่มีปัญญา มีสติตื่นรู้ พัฒนาเติบโตภายใน และก่อเกิดแรงบันดาลใจให้กับตนเองและผู้อื่น (WASI) และ
  2. ระดับกลุ่มและเครือข่าย (Node and Network) คือการมีภาวะผู้นำรวมหมู่ (Collective Leadership)

ซึ่งผมคิดว่าคุณสมบัติทั้งสองประการนี้รวมกันเป็นสิ่งที่ คศน.เรียกว่า “ผู้นำแนวใหม่” นั่นเอง

 

หมายเหตุ

ผมใช้เวลาเขียนบันทึกนี้อยู่หลายวัน ด้วยอยากประมวลความคิดและข้อมูลเท่าที่ได้ไปค้นคว้ามาในระยะเวลาหนึ่ง จึงทำให้อาจมีลักษณะครึ่ง ๆ กลาง ๆ ระหว่างบันทึกและบทความวิชาการอยู่มากเกินไปสักหน่อย (แต่ก็ไม่ได้เข้มงวดกับความเป็นวิชาการ)

เอกสารอ้างอิง

(1) ประเวศ วะสี (2540). ภาวะผู้นำ พยาธิสภาพในสังคมไทยและวิธีแก้ไข. ใน ผู้นำ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และสุทธิลักษณ์ สมิตะสิริ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: มติชน.

(2) พงศธร พอกเพิ่มดี, บรรณาธิการ (2552). หลังประติมาสาธารณสุข. นนทบุรี: คศน.

(3) UNDP. (1997). Capacity Development. New York: UNDP.

(4) Management Center Europe, and Human Resource Institute (2005). Global Leadership Development Survey 2005. Brussels.

 

คำสำคัญ (Tags): #คศน.#ผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 349190เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2010 02:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 05:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากครับพี่วิรุฬที่ให้ความกระจ่างในกระบวนการพัฒนาภาวะผู้นำ ผมก็มีความภูมิใจที่ได้เป็นผู้นำคศน.

ขอบคุณหมอชายค่ะ สิ่งที่หมอชายรวบรวมมาทำให้เห็นภาพสิ่งที่สังคมไทยขาดแคลนอย่างมาก เห็นการขับเคลื่อนและความพยายามในการสร้างผู้นำแนวใหม่ท่ีจะช่วยปฏิรูปสังคมไทยให้ดีกว่านี้ ขอเป็นหนึ่งพลังท่ีจะช่วยสนับสนุนให้เกิดมรรคผลในเร็ววัน


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท