สัพเพเหระกถา


บรรพชากถาจึงเป็นอันว่ายุติ และสัพเพเหระกถา ว่าด้วยการสวดมนต์บทต่าง ๆ จึงเริ่มขึ้น
๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๙ เดิมทีคณะธรรมภาวนาที่จะร่วมเดินทางไปถ้ำอชันต้า-เอลโลร่า มีกำหนดจะออกเดินทางแต่เช้า แต่ทางเอเย่นต์ที่จองตั๋วรถไฟให้นั้น ได้เปลี่ยนขบวนรถที่จะเดินทาง จึงทำให้เวลาล่าช้าออกไปอีกมากทีเดียว ระหว่าทางจากสถานีพาราณสีไปลงที่สถานีภูสาวัน ต้องใช้เวลากว่า ๒๐ ชั่วโมง เมื่อรถไฟออกเดินทางช้ากว่ากำหนด เวลาก็จึงต้องยืดออกไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ พวกเราต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถไฟวันหนึ่งกับคืนหนึ่งพอดี ขณะที่เดินทางอยู่บนขบวนรถไฟดังกล่าว ก็พักผ่อนบ้าง พูดคุยกันบ้างเป็นบางขณะ แล้วแต่โอกาส ช่วงหนึ่งแห่งการสนทนากัน มีคำถามดังแทรกขึ้นมาจากใครคนหนึ่งว่า ทำไมท่านจึงมาบวช ? ซึ่งเป็นคำถามที่ทำให้ผู้ตอบรู้สึกงงทีเดียว เพราะตั้งแต่บวชมากว่า ๒๓ ปี ยังไม่มีใครถามคำถามที่ตรงไปตรงมาเช่นนี้เลย โดยมากก็จะถามเพียงว่า ท่านบวชมานานหรือยังเท่านั้น ข้าพเจ้าจึงได้แต่ตอบว่า ไม่รู้สิ ตอนที่เข้ามาบวชก็ยังไม่รู้เลยว่า ทำไมถึงมาบวช รู้แต่ว่าจะต้องบวช ขัดขืนไม่ได้ เพราะเป็นความประสงค์ของพ่อแม่ผู้ปกครอง จำได้แต่ว่า วันที่ข้าพเจ้าเดินทางออกจากบ้านด้วยการเดินเท้าเปล่ากว่า ๒๐ กิโลเมตร กับคุณพ่อสองคน วันนั้นที่หมู่บ้านของข้าพเจ้ามีงานบุญประจำปีคือบุญมหาชาติ ทีแรกที่คุณพ่อบอกให้แต่งตัวคิดว่าท่านจะพาไปซื้อเสื้อผ้าที่ตลาด จึงตื่นเต้นเป็นที่สุด เพราะนาน ๆ จะได้เข้าไปตลาดสักที่หนึ่ง คิดว่าท่านคงจะซื้อเสื้อผ้าโก้ ๆ ให้สักชุด จนเดินทางไปถึงวัดบ้านโคกใหญ่อำเภอน้ำพอง ก็เกือบจะพลบค่ำแล้ว คุณพ่อบอกให้รออยู่ที่นี่ก่อน จะเข้าไปหาญาติแล้วจะกลับมาหา รออยู่จนมืดค่ำมีเพื่อนมาชวนไปอาบน้ำ และเข้านอนตามคำสั่งของพระอาจารย์ จนรุ่งเช้าและเข้าพิธีโกนผมนาค แห่นาค และบรรพชาเป็นสามเณร ก็ไม่ได้เจอคุณพ่อเลย คุณป้าซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเอาผ้าอาบน้ำและบริขารที่จำเป็นในการบวชมาให้ พร้อมกับบอกว่าคุณพ่อกลับบ้านไปตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว และสั่งไว้ให้เอาของเหล่านี้มาให้ ข้าพเจ้าก็ไม่ได้คิดอะไร และก็บวชมาตั้งแต่นั้นจนบัดนี้กว่า ๒๓ ปีแล้ว โดยที่ไม่รู้ว่าทำไมจึงมาบวช แต่ก็พอจะรู้เจตนารมณ์ของคุณพ่อว่าท่านต้องการให้ลูกเรียนหนังสือ เพราะถ้าไม่บวชก็ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ เหมือนลูก ๆ ของคุณพ่ออีกหลายคน ซึ่งเราเป็นผู้ที่โชคดีที่สุดที่คุณพ่อเลือกให้บวชเรียนแทนการที่จะต้องไปทำนาช่วยคุณพ่อเหมือนคนอื่น ๆ ขณะที่กำลังเล่าเรื่องของการออกบวชอยู่นั่นเอง ได้มีคำถามที่น่าสนใจอีกคำถามหนึ่ง ดังสอดแทรกขึ้นมาว่า ท่านค่ะ นอกจากทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น แล้ว โยมควรจะสวดบทไหนดี ? ดังนั้นบรรพชากถาจึงเป็นอันว่ายุติ และสัพเพเหระกถา ว่าด้วยการสวดมนต์บทต่าง ๆ จึงเริ่มขึ้น ด้วยความสนอกสนใจของมวลหมู่สมาชิกชาวธรรมภาวนา โดยปกติ เมื่อเราสวดมนต์ทำวัตรเช้า – เย็น อันเป็นการสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และบทแผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแล้ว เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นการน้อมนำเอาพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ มาเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน จึงนิยมสวดมนต์บทต่าง ๆ ตามที่โบราณบรรพชนเราเคยปฏิบัติกันสืบ ๆ มา ดังคำอาราธนาที่เรากล่าวเมื่อนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ว่า ขอพระคุณเจ้าได้โปรดสาธยายพระปริตร เพื่อขจัดทุกข์ ขจัดภัย และขจัดโรคาพาธต่าง ๆ ด้วยเถิด เราก็น้อมเอาบทพระพุทธมนต์เหล่านั้นมาสาธยายเองเมื่อมีโอกาส ก็จะมีผลช่วยคุ้มครองป้องกันและรักษา เหมือนกับที่เราอาราธนาพระมาสวดนั่นเอง อ้าว... ลองเปิดหนังสือดูนะ จะบอกความสำคัญของการสวดแต่ละบท ๆ เพื่อจะได้เอาไว้ให้เลือกสวดได้ตามความต้องการ ดูตามหนังสือพระพุทธมนต์ฉบับตามรอยบาทพระศาสดา อินเดีย-เนปาล เริ่มจากหน้า ๓๒ คือการกล่าวเชิญเทพเทวดาให้มาฟังธรรม คือบทที่เรากำลังจะสวด เพื่อให้มาอนุโมทนาและเป็นสักขีพยาน ตลอดทั้งการมารับส่วนแห่งบุญกุศลด้วย โดยปกติ ถ้าเป็นงานราชพิธี หรือที่เกี่ยวกับพระราชาหรือพระราชสำนัก ก็จะนิยมเริ่มตั้งแต่ สะรัชชัง สะเสนัง เป็นต้นไป แต่สำหรับพวกเราให้เริ่มที่ ผะริตวานะ เมตตัง สะเมตตา ฯลฯ นี้เป็นบทอัญเชิญเทพเทวดาที่อยู่บนสวรรค์ บนยอดเขา หุบผา ในอากาศ และพื้นปฐพี ที่สถิตย์อยู่ในทวีป ในประเทศ ในหมู่บ้าน บนต้นไม้ ในป่า ในเหย้าเรือน และเรือกสวนไร่นา รวมทั้งยักษ์ คนธรรพ์ นาค เทวดาซึ่งอยู่บนบก ที่ลุ่ม ที่ดอ ให้มาชุมนุมกัน เพื่อฟังธรรม ซึ่งเรากำลังจะสาธยายกันต่อไป เริ่มจาก บทนมัสการ คือ นะโม ๓ จบ เป็นการไหว้ครูก่อน คือเป็นบทนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูของพวกเรา จากนั้นก็เป็นบทไตรสรณคมน์ คือที่พึ่งอันสูงสุด อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต่อด้วยบท นมการสิทธิคาถา ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๔ ทรงรจนาขึ้น เป็นบทน้อมเอาเดชานุภาพแห่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาทำให้ประสบชัยชนะในสิ่งที่พึงปรารถนาและขจัดอันตรายทั้งหลายทั้งปวงให้พินาศสิ้นไป โดยมีหัวใจพระคาถาว่า ชะยะสิทธิ โหตุ สัพพันตะรายา จะ วินาสะเมนตุ . ต่อไปคือบท นมการสิทธิคาถา ซึ่งเป็นของเก่ามีมาแต่โบราณกาลแล้ว เป็นบทที่กล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าในอดีตทุกพระองค์กว่าสามล้านพระองค์ทีเดียว แล้วอธิษฐานขออานุภาพแห่งการกระทำความนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ให้ขจัดอุปัทวะและอันตรายทั้งหลายทั้งปวงให้พินาศสิ้นไป มีหัวใจของพระคาถาสำหรับภาวนาว่า นะมะการานุภาเวนะ สัพพันตะรายาปิ วินัสสันตุ . บทต่อไปคือ นโมการอัฏฐกคาถา หรือ นะโม ๘ ซึ่งเป็นบทนอบน้อมพระรัตนตรัย เพื่อให้เกิดเดชานุภาพในการเจริญพระพุทธมนต์ คือมนต์ทุกบทที่จะสวดต่อไปนี้ จะมีอานุภาพได้ก็เพราะการสวดมนต์บทนี้นำเสียก่อน โดยมีหัวใจย่อ ๆ ว่า โอม นะมะการานุภาเวนะ สุวัตถิ โหตุ สัพพะทา . มงคลสูตร คือบทลำดับถัดมา พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสที่พระเชตวันมหาวิหาร ปรารภการถกเถียงกันเรื่อง มงคล ของเหล่าเทพและมวลมนุษย์ สุดท้ายเทวดาจึงกราบทูลถาม พระองค์ตรัสมงคล ๓๘ ประการ มีการไม่คบคนพาล เป็นต้น จนถึง จิตเกษม พระสูตรนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นหลักปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีงาม ผู้ปรารถนาสิ่งที่ดีงามแก่ตนและครอบครัว พึงเจริญธรรมบทนี้และปฏิบัติตามอยู่เป็นนิตย์ นอกจากเป็นหลักปฏิบัติเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว พระสูตรนี้ยังมีอานุภาพในการป้องกันอันตรายอันจะเกิดจากความไม่เที่ยงธรรมของเหล่าคนพาลสันดานหยาบทั้งหลาย อีกทั้งทำให้ผู้สวดมีความเจริญรุ่งเรือง เหมือนเปลวเทียนที่ส่องสว่าง ปราศจากทุกข์โศกโรคภัยในการดำเนินชีวิต และเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถึงความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด พระคาถาสำหรับภาวนาย่อ ๆ ว่า สัพพัตถะ โสตถิง คัจฉันติ ตันเตสัง มังคะละมุตตะมัง ฯ ต่อไปเป็น รตนสูตร ซึ่งใช้สวดเพื่อป้องกันภูติผีปีศาจและอุบัติภัยทั้งหลาย พระสูตรนี้พระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระอานนท์เรียนจากพระองค์โดยตรง แล้วให้สวดทำน้ำมนต์เพื่อขจัดปัดเป่าภัยพิบัติที่เกิดกับชาวเมืองไพสาลี ผู้สวดต้องน้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ทำสัจจกิริยา ให้เกิดเป็นอานุภาพขจัดปัดเป่าภัยพิบัติทั้งหลาย นอกจากนั้นยังมีอานุภาพสามารถป้องกันภัยที่เกิดจากผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม ภัยจากโจรผู้ร้าย จากอาวุธนานาประการ จากธรรมชาติ จากเคราะห์กรรม จากสัตว์ร้าย ตลอดจนภัยอันเกิดจากความไม่เที่ยงธรรมของจิตมนุษย์ทั้งหลายด้วย หัวใจคาถาย่อ ๆ ว่า เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ พุทธัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ ธัมมัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ สังฆัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ . มาถึงพระสูตรที่สำคัญยิ่งอีกบทหนึ่ง คือ กรณียเมตตสูตร ซึ่งพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทานให้แก่ภิกษุกลุ่มหนึ่งที่ไปบำเพ็ญความเพียรในป่า แต่ถูกเหล่ารุกขเทวดาเบียดเบียนและทำกิริยาหลอกหลอนโดยประการต่าง ๆ พระสูตรบทนี้ใช้สวดเพื่อให้เทวดาเกิดความรักด้วยอานุภาพแห่งการแผ่เมตตา พระองค์ทรงแนะนำวิธีการใช้พระคาถาบทนี้ว่า ก่อนจะเข้าสู่ราวป่า ให้หยุดยืน ตั้งจิตแผ่เมตตา พร้อมกับสาธยายพระสูตรนี้ นอกจากเทวดาจะไม่แสดงสิ่งที่น่ากลัวหลอกหลอนแล้ว ยังจะมีใจอนุเคราะห์โดยไมตรีจิตด้วย เมื่อต้องเดินทางผ่านป่าเขาลำเนาไพร หรือไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ท่านให้สวดกรณียเมตตสูตร เพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันภยันตราย อันจะเกิดจากอมนุษย์ ภูติผีปีศาจทั้งหลาย ให้เกิดความอ่อนโยน มีเมตตา มีความรู้สึกเหมือนเราเป็นญาติเป็นลูกหลาน พระคาถาย่อสำหรับภาวนาว่า เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง ฯ ถัดไปเป็นบท ขันธปริตร เป็นพระคาถาที่ใช้สวดเพื่อแผ่เมตตาให้บรรดางู และสัตว์ที่มีพิษทั้งหลาย เป็นการคุ้มครองป้องกันภัยจากสัตว์ร้าย และยังสามารถป้องกันยาพิษทั้งหลายได้ด้วย หัวใจพระคาถาว่า นะโม ภะคะวะโต นะโม สัตตันนัง สัมมาสัมพุทธานัง ฯ ถึงลำดับของพระคาถานกยูงทอง หรือ โมรปริตร ซึ่งพระโพธิสัตว์ครั้งเสวยพระชาติเป็นนกยูงทองได้ใช้สวดในเวลาเช้าก่อนออกหากิน และเวลาเย็นก่อนจะเข้านอน ปรากฏว่าปลอดภัยไม่เกิดอันตรายใด ๆ เลย จึงนับถือสืบ ๆ กันมาว่าเป็นพระคาถาที่มีอานุภาพปกป้องคุ้มครองให้มีความสวัสดิภาพแคล้วคลาดปลอดภัย ใครใช้สวดเป็นประจำก็จะเป็นสิริมงคล แม้ศัตรูผู้มุ่งร้ายก็ไม่สามารถทำอันตรายอะไรได้เลย พระคาถานี้มีอยู่ ๒ วรรค โดยวรรคแรกขึ้นต้นว่า อุเทตะยัญ จักขุมา ใช้สวดตอนเช้า ส่วนวรรคหลังที่ขึ้นต้นว่า อะเปตะยัญ จักขุมา นั้น ใช้สวดในตอนค่ำ พระคาถาทั้งสองวรรคมีหัวใจสำคัญเหมือนกันว่า นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา ขอให้ภาวนาประจำจะแคล้วคลาดปลอดภัยตลอดกาลแล ฯ จากนั้นเป็น วัฏฏกปริตร เป็นพระคาถาสำหรับป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ เรียกง่าย ๆ ว่า พระคาถานกคุ่ม พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นลูกนกคุ่ม อาศัยคุณแห่งศีลและสัจจะที่ทรงบำเพ็ญมาแล้ว แสดงปาฏิหาริย์ดับไฟไม่ให้ลุกลามมาถึงพระองค์และบริวารได้ และตรัสว่า ปาฏิหาริย์นี้จะคงอยู่ตลอดไป ถ้าใครสวดพระคาถานี้แล้วจะมีอานิสงส์คือการป้องกันอันตรายอันจะเกิดจากไฟทั้งหลาย ดังนั้น ในเวลาทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เปิดสถานที่ เปิดโรงงาน เปิดสำนักงาน เปิดกิจการต่าง ๆ นิยมนิมนต์พระมาสวดวัฏฏกปริตรนี้ คำภาวนาโดยย่อว่า สัจเจนะ เม สะโม นัตถิ เอสา เม สัจจะปารมีติ ฯ บทต่อมาคือ อาฏานาฏิยปริตร บทนี้เป็นพระคาถาที่ท้าวจาตุมมหาราชได้กราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงรับไว้สอนพระสาวก เพื่อป้องกันการรบกวนจากยักษ์ คือ เหล่าเทวดาที่ไม่หวังดีทั้งหลาย ธรรมดาเทวดาที่มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาก็มาก ที่ไม่ศรัทธาเลยก็มี ดังนั้นหากตั้งใจท่องบ่นพระคาถานี้อย่างช่ำชองคล่องปาก มีจิตประกอบด้วยเมตตา ย่อมบังเกิดพลังเดชานุภาพในการคุ้มครองป้องกันเหล่าอมนุษย์ที่ไม่หวังดรทั้งหลาย มีคำภาวนาย่อ ๆ ว่า เย จาปิ นิพพุตา โลเก ยะถาภูตัง วิปัสสิสุง เต ชะนา อะปิสุณา มะหันตา วีตะสาระทา ฯ พระคาถาต่อไปคือ โพชฌังคปริตร เป็นพระคาถาที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้นมา โดยน้อมเป็นสัจจกิริยา เพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เกิดเป็นความสุขสวัสดี มีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืน สมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระสาวกผู้ป่วยไข้ ก็หายเจ็บป่วยทันใด แม้คราวที่พระพุทธองค์ทรงอาพาธ ก็โปรดให้พระสาวก สวดให้ทรงสดับ พระองค์ก็ทรงหายจากอาพาธเช่นกัน จึงเป็นพระคาถาที่ดีนักแล ผู้ปรารถนาอายุยืนโดยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จึงควรเจริญบทโพชฌงคปริตรนี้อยู่เนือง ๆ แล คำสวดย่อ ๆ (ให้ตัวเอง ) ว่าดังนี้ เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา ฯ คำสวดย่อ ๆ (ให้ผู้อื่น ) ว่า ดังนี้ เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ หน้าถัดไปเป็น อภยปริตตคาถา โดยเนื้อหาได้อ้างเอาอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นสิ่งช่วยขจัดปัดเป่าลางร้ายทั้งมวล อันเกิดจากเสียงนกที่ทำให้ไม่สบายใจ บาปเคราะห์ ฝันร้ายที่เป็นลางไม่ดี และสิ่งอันเป็น อัปปมงคลทั้งหลายทั้งปวง ให้พินาศไป ใครที่สวดประจำจะได้บุญ มีเดชานุภาพมาก มีเกียรติคุณและยศศักดิ์ยิ่งใหญ่ เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น พระคาถาย่อว่า ยันทุนนิมิตตัง อะวัมังคลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินนัง อะกันตัง พุทธานุภาเวนะ ธัมมานุภาเวนะ สังฆานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ พระคาถาที่เริ่มด้วยคำว่า สักกัตวา พุทธะระตะนัง เป็นต้นไปนั้น เรียกว่า พระคาถา พุทธะโอสถ ใช้สวดสำหรับบรรเทาทุกข์ ธรรมะโอสถ ใช้สวดสำหรับบรรเทาภัย สังฆะโอสถ ใช้สวดสำหรับบรรเทาโรคทั้งหลาย ใครท่องบ่นเป็นประจำ จะทำให้ ทุกข์ โศกโรคภัยทั้งหลายที่มีอยู่สงบลง หรือหายไปนั่นเอง โดยย่อของพระคาถาว่า พุทธะเตเชนะ ธัมมะเตเชนะ สังฆะเตเชนะ สัพพะทุกขา สัพพะภะยา สัพพะโรคา วูปะสะเมนตุ เม (สำหรับสวดให้ตัวเอง) หรือ เต (สำหรับสวดให้ผู้อื่น) ฯ หน้าถัดไปเป็น เมตตานิสังสสูตร คือพระสูตรที่กล่าวถึงอานิสงส์ของการแผ่เมตตาว่ามี ๑๑ อย่าง คือ หลับเป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข เป็นต้นไปจนถึง การไม่หลงในคราวทำกาลกิริยา และเข้าสู่พรหมโลก จึงเป็นพระสูตรบทหนึ่งที่ควรสวด แต่โดยมากนิยมสวดเป็นคำแผ่เมตตาดังที่พวกเราพากันสวดว่า สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นต้น ต่อไปคือบท สัจจกิริยาคาถา กล่าวถึงที่พึ่งอันประเสริฐอื่นใดนอกเสียจาก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้ว เป็นไม่มี และอาศัยสัจจะกิริยานี้ ทำให้ผู้สวดมีแต่ความสุขสวัสดีและมีชัยชนะตลอดกาลนาน โดยใช้คำภาวนาย่อ ๆ ว่า พุทโธ เม สะระณัง วะรัง ธัมโม เม สะระณัง วะรัง สังโฆ เม สะระณัง วะรัง สุดท้ายเป็นบท อุยโยชนคาถา เรียกว่า คาถาส่งเทวดากลับวิมาน เมื่อก่อนที่เราจะสวดมนต์ เราได้ทำการอัญเชิญเทวดาลงมาเป็นสักขีพยานและร่วมฟังธรรมที่จะสาธยาย ดังนั้นเมื่อสวดจบทุกบทหรือตามที่เรากำหนดไว้จบแล้ว ก็ควรสวดบทนี้เป็นลำดับสุดท้าย เพื่อให้เทวดาได้อนุโมทนาบุญจากการฟังพระพุทธมนต์แล้วกลับวิมานของตน ๆ โดยสวัสดิภาพ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมาดังนี้แล ส่วนบทที่เหลือ คือ ชยสิทธิคาถา หรือที่พวกเราคุ้นเคยและพูดกันจนชินปากว่า พระคาถาพาหุง นั้น เป็นการสวดบทชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีต่อเหล่ามารร้ายต่าง ๆ ด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน เป็นพระคาถาที่นิยมสวดอยู่ตลอด และมีอานิสงส์มากเกินกว่าจะบรรยายได้ครบถ้วน และเมื่อสวดพระคาถาพาหุงแล้ว นิยมต่อด้วยพระคาถามหาการุณิโก อันเป็นบทสำหรับสรรเสริญชัยชนะของพระพุทธองค์ดังที่กล่าวมาแล้วในบทพาหุงนั่นเอง พระคาถาทั้งสองนี้ มีอานุภาพ อานิสงส์ ให้ผู้สวดเป็นผู้มีชัยชนะตลอด ตั้งความหวัง ความปรารถนาสิ่งใดไว้ ก็จะได้บรรลุ สมหวังทุกประการ รวมไปถึงบท มงคลจักรวาลใหญ่ ที่กล้าวอ้างเอาพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ และอานุภาพต่าง ๆ ของพระพุทธองค์มาประมวลกัน เพื่อให้เกิดความเป็นสวัสดิมงคล ให้หายจากทุกข์โศกโรคภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง และหมู่ทวยเทพย่อมทำการดูแลรักษาอย่างดี ทำให้มีอายุยืนยาวนานด้วย สำหรับบท ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง เป็นบทให้พรที่รั้งท้าย เพื่อประมวลเอาความเป็นมงคลทั้งหลายทั้งปวงที่ได้สวดสาธยายมาแล้วนั้น มารวม กันลงที่พุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ และ สังฆานุภาพ ให้เกิดความสุข ความสวัสดีไปตลอดกาลนาน ต่อจากนั้นยังได้สนทนาและอธิบายถึงพระสูตรพิเศษอื่น ๆ มี มหาปรินิพพานสูตร ปัจฉิมวาจา และ สังเวชนียสถาน เป็นต้น จนถึงอธิบายวาระจิตของการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ กำลังจะอธิบายไปถึง มกุฏพันธนเจดีย์ ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์การถวายพระเพลิงพระบรมศพ แต่ก็จำต้องจบสัพเพเหระกถาลงเพียงเท่านี้ เมื่อทุกคนได้แยกย้ายกันไปทำภาระกิจส่วนตั๊ว..ส่วนตัว ของใครของเรา เอวัง ฯ หมายเหตุ.- ตั้งใจจะอธิบายต่อให้จบทุกบททั้งเล่ม แต่ก็ไม่รู้จะต่ออย่างไร เพราะไม่มีบรรยายกาศให้ระลึกถึง จึงได้แต่หวังว่า จะมีโอกาสต่อให้จบบริบูรณ์สักวันหนึ่ง
หมายเลขบันทึก: 348693เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2010 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท