ม.ทักษิณ มอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาชีววิทยา แด่ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้


ม.ทักษิณ มอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาชีววิทยา แด่ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้

คำสดุดีเกียรติคุณ 

ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์  ใบไม้ 

ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาชีววิทยา

มหาวิทยาลัยทักษิณ

วันที่  ๑  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓

 

 

 

                ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์  ใบไม้  สำเร็จการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาสัตววิทยา  จากมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลียด้วยทุนโคลัมโบ   และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพันธุศาสตร์  จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

 

                หลังจากสำเร็จการศึกษา ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์  ใบไม้ ได้เข้ารับราชการที่ภาควิชาชีววิทยา - พฤกษศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒   และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์สาขาวิชาชีววิทยา เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๔ และศาสตราจารย์ระดับ ๑๑  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒    ในระหว่างนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก  มหาวิทยาลัยฮาวาย  ประเทศสหรัฐอเมริกา  และศาสตราจารย์อาคันตุกะ  มหาวิทยาลัยเซาต์เปาโล  ประเทศบราซิล   เพื่อร่วมสอนและวิจัย         พันธุศาสตร์ระดับเซลล์  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT)

 

ศาสตราจารย์    ดร.  วิสุทธิ์     ใบไม้   เป็นนักวิชาการที่มีผลงานดีเด่นในสาขาชีววิทยา  พันธุศาสตร์  และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย  เป็นผู้ก่อตั้งโครงการ BRT (Biodiversity Research and Training Program) หรือมีชื่อภาษาไทยว่า “โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย”  อันเป็นโครงการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.)  ให้ทุนสนับสนุนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘  เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ  เป็นการพลิกฟื้นศาสตร์ด้านชีววิทยาในประเทศไทยให้กลายเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญและน่าสนใจสำหรับสังคม   นอกจากนั้นยังได้รับเกียรติเป็นที่ปรึกษาของ TDR/WHO  เป็นผู้ประสานงานศูนย์อ้างอิงการศึกษาพันธุศาสตร์ของยุงก้นปล่องชนิดซับซ้อนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ  สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ   รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น  สาขาพันธุศาสตร์  มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์       รางวัลปาฐกถาสุด แสงวิเชียร   ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล   นักชีววิทยาอาวุโสดีเด่น คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นเมธีวิจัยอาวุโสของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(สกว.)  และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต  สาขาชีววิทยา  สำนักวิทยาศาสตร์  ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๙

 

                ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์  ใบไม้ เป็นบุคคลตัวอย่างที่นักวิชาการรุ่นหลังสามารถนำมาเป็นแบบอย่าง  ทั้งในด้านการทุ่มเทพัฒนาตนเอง  การอุทิศตนเพื่อการเรียนการสอนนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา และสร้างงานวิจัยที่โดดเด่นเป็นประโยชน์ต่อวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้รับการยอมรับจากแวดวงนักวิชาการทุกระดับ  ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากสถาบันต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก  อีกทั้งได้รับเกียรติเป็นที่ปรึกษาให้กับบุคคล  หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นจำนวนมาก

               

ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ ได้มีส่วนช่วยเหลือมหาวิทยาลัยทักษิณมาโดยตลอด ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑   โดยเฉพาะในด้านให้คำแนะนำการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาชีววิทยา  เพื่อให้เป็นหลักสูตรที่มีความเหมาะสมกับมหาวิทยาลัยหลังจากแยกตัวเป็นเอกเทศจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  เป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาและเปิดสอนหลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาชีววิทยา ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา นอกจากนั้น ยังมีส่วนช่วยพัฒนามหาวิทยาลัยทักษิณในภาพรวมโดยการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ประเภทกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๖ - ๒๕๕๒  

 

                โดยเหตุที่ ศ.ดร. วิสุทธิ์  ใบไม้ เป็นนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถและทำคุณประโยชน์สูงสุดให้กับวิชาการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ  สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๕๒   เมื่อวันที่ ๑๙  ธันวาคม ๒๕๕๒  จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาชีววิทยา  เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

 

               

 

คำสำคัญ (Tags): #ไหม ม.ทักษิณ
หมายเลขบันทึก: 348456เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2010 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท