ม.ทักษิณ ทูลเกล้าถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทัศนศิลป์ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ


ม.ทักษิณ ทูลเกล้าถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทัศนศิลป์ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

ศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทัศนศิลป์

มหาวิทยาลัยทักษิณ  ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๑

               

                สภามหาวิทยาลัยทักษิณ ขอพระราชทานพระราชวโรกาสทูลเกล้า ฯ ถวายปริญญา ศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทัศนศิลป์  แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา            เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร  รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ด้วยสำนึกในพระอัจฉริยภาพทางทัศนศิลป์  ทรงสร้างสรรค์ผลงานฝีพระหัตถ์ที่งดงามยิ่งเป็นความภาคภูมิใจของแผ่นดิน  เป็นเครื่องบำรุงสติปัญญาและความสุขแก่บรรดาประชาราษฎร์ สมควรที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จะเฉลิมพระเกียรติให้ไพบูลย์ยั่งยืนเป็นที่ประจักษ์

                สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาวิชาศิลปะจากครูอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงเรียนรู้วิชาการด้านทัศนศิลป์โดยทางอ้อมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ พระผู้ทรงปรีชาญาณด้านทัศนศิลป์อย่างหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ทำให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี ทรงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้ตั้งแต่พระชนมายุเพียง ๘ พรรษา และต่อเนื่องตลอดมาจนปัจจุบัน

                ในด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ใต้ฝ่าละอองพระบาท ทรงพระปรีชาสามารถสร้างภาพฝีพระหัตถ์กว่าร้อยภาพ ทั้งภาพสีดินสอ สีเทียน สีน้ำ สีน้ำมัน สีโปสเตอร์ หมึกจีน และภาพพิมพ์  ภาพทิวทัศน์หลายชุดเป็นผลงานจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงาน ไปประทับแรมต่างจังหวัด  และเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ ทรงถ่ายทอดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม จากข้อมูลจริงที่ทรงพบเห็น ภาพบางชุดเป็นผลงานที่ทรงใช้จินตนาการและสร้างภาพขึ้นใหม่  ภาพบางชุดเกิดจากแรงบันดาลพระทัยจากบทกวีจีน เช่น บทกวีจีนบทหนึ่งในสมัยราชวงศ์ถังกล่าวว่า “บทกวีคือรูปภาพที่ไม่มีสี รูปภาพคือบทกวีที่ไม่มีเสียง” ทำให้ทรงวาดภาพจากบทกวีโบราณของจีน เป็นผลงานจิตรกรรมที่แสดงคุณภาพเชิงกวี ซึ่งแสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพทั้งด้านทัศนศิลป์และวรรณศิลป์  ภาพบางภาพทรงนำแผ่นโลหะ 3 ชนิด คือ แผ่นโลหะทองเหลือง ทองแดงและตะกั่ว ผสมกับวิธีระบายสีทางจิตรกรรม เช่น ภาพ “ดอกไม้สามกษัตริย์” ภาพฝีพระหัตถ์ของใต้ฝ่าละอองพระบาทแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความมั่นพระทัยในการใช้ฝีแปรงและการใช้สี จึงเป็นภาพสวยงามลึกซึ้งและมีอัตลักษณ์โดดเด่น ในด้านประติมากรรม ทรงถ่ายทอดความมีชีวิตและความงามของรูปทรงต่าง ๆ เป็นประติมากรรมที่มีลักษณะเหมือนจริงและอื่น ๆ ทรงปั้นรูปสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ช้าง” ด้วยโปรดที่ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ซึ่งมีทั้งความฉลาดและความน่ารัก ในด้านภาพพิมพ์ ทรงนำเทคนิคภาพพิมพ์หิน วาดรูปช้าง แสดงออกซึ่งความมีชีวิตของภาพ

                ในด้านสื่อประสม ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงทดลองใช้เทคนิคต่าง ๆ อาทิ ภาพ “ความขยัน” ทรงนำเอาปากกาที่ทรงใช้แล้วซึ่งเป็นวัสดุสำเร็จรูปมาเป็นสื่อโดยการใช้วิธีการปะ ติดลงบนระนาบที่มีลักษณะเหมือนกับหน้าหนังสือ ทรงทดลองใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วาดภาพ “ต้นไม้” ภาพ

“ป่าไผ่”

                ผลงานสร้างสรรค์ทางทัศนศิลป์ของใต้ฝ่าละอองพระบาท แสดงพระอัจฉริยภาพของการเลือกรูปแบบ วิธีการ รูปทรง และสีสัน  เป็นศิลปะที่งดงามมีพระอารมณ์ขันอันเป็นเสน่ห์ และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพระองค์ สภามหาวิทยาลัยทักษิณ ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทัศนศิลป์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้แผ่ไพศาล และเพื่อเป็นศุภสวัสดิมงคลอันสูงยิ่งแก่มหาวิทยาลัยทักษิณสืบไป

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ไหม ม.ทักษิณ
หมายเลขบันทึก: 348454เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2010 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท