นะโม


ทำไมจึงพากันตั้งนะโมก่อน และว่าถึงสามจบ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ฯ ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ฯ ***** เคยมีความสงสัยไหมว่า ทำไมเวลาที่จะทำพิธีอะไรทางพุทธศาสนา จึงพากันตั้ง นะโม หรือว่า นะโม ขึ้นก่อน และทำไมบท นะโม ซึ่งเป็นบทเดียวกันจึงว่าตั้งสามรอบ ? ข้าพเจ้าเองก็เคยคิดสงสัย จนกระทั่งได้อ่านบทความที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระเทพกิตติรังษี พระอาจารย์ของข้าพเจ้าได้เขียนไว้ ในเรื่องความเป็นไปเป็นมาของคำว่า นะโม จึงขอคัดย่อ ๆ มา ดังนี้ “บทนมัสการนี้ ประกอบด้วยบทที่เป็นคำบาลี ๕ บท มี นะโม เป็นต้น นับเรียงพยางค์ได้ ๑๘ พยางค์ บท ๓ บท คือ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ประกาศพระคุณของพระพุทธเจ้า ๓ ประการ คือ พระกรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ ตามลำดับ ผู้ตั้งบทนมัสการ นะโม สาตาคิรายักษ์ เป็นผู้ตั้ง ตัสสะ อสุรินทราหู เป็นผู้ตั้ง ภะคะวะโต ท้าวจาตุมหาราช เป็นผู้ตั้ง อะระหะโต ท้าวสักกะ เป็นผู้ตั้ง สัมมาสัมพุทธัสสะ ท้าวมหาพรหม เป็นผู้ตั้ง คาถาระบุผู้ตั้งนะโม นโม สาตาคิรายกฺโข ตสฺส จ อสุรินฺทโก ภควโต จาตุมหาราชา สกฺโก อรหโต ตถา สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส มหาพฺรหฺมา ปญฺจเทวา นมสฺสเร ฯ ประโยชน์ของการตั้งบทนมัสการ ๑.เพื่อดำเนินตามร่องรอยของอารยชน ๒.เพื่อขออานุภาพพระคุณคุ้มครอง ๓.เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ ๔.เพื่อทำชีวิตให้มีสาระ” กระนั้นก็ตาม เมื่อความสงสัยในเรื่องของที่มาที่ไปของ นะโม จบลงแล้ว ก็ไม่แคล้วให้สงสัย ว่าทำไมจึงต้องว่ากันสามจบ กระทั่งข้าพเจ้าได้มาเรียนต่อและอยู่ที่ประเทศอินเดีย อันเป็นแดนเกิดของพระพุทธศาสนา ได้คบค้าสมาคมกับคนแขกมากมาย สุดท้ายข้าพเจ้าก็ถึงบางอ้อ เพราะประเทศนี้มีธรรมเนียมปฏิบัติว่า ถ้าคุณจะพูด จะตกลง หรือจะอะไรก็ตาม อย่างน้อยต้องบอก ต้องยืนยัน ต้องตกลงกันให้แน่วแน่ สามครั้งเป็นอย่างน้อยจึงจะสำเร็จผล ถ้าเพียงแค่ตกลงไหม แล้วได้คำตอบว่า ตกลง คุณจะต้องผิดหวัง ฉะนั้นทุก ๆ ครั้ง ต้องย้ำว่า แน่นอนไหม ถ้าได้รับคำตอบว่า แน่นอน ก็ต้องใส่กลอนให้สนิทว่า จริง ๆนะ แขกก็จะตอบว่า สัจจา สัจจา ซึ่งหมายความว่า จริง ๆ ขอรับ นั่นแหละจึงเชื่อได้ (ขนาดนี้แล้วบางทียังพลาด คิดเอา) ข้าพเจ้าจึงหายข้องใจทันทีว่า ทำไม นะโม จึงต้องว่าตั้งสามจบ ด้วยประการฉะนี้แล ฯ
หมายเลขบันทึก: 348441เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2010 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท