กัลยาณีกถา


กัลยาณี เธอยิ้มระรื่นอย่างชื่นใจ พูดจาทักทายกับพวกเราอย่างเป็นเหมือนญาติสนิทที่ไม่เห็นหน้ากันมานานแสนนาน
๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ คณะของพวกเราที่จะเดินทางมุ่งหน้าไปสู่ถ้ำอชันต้า-เอลโลร่า ออกจากพาราณสีจนมาถึงสถานีรถไฟแมนมาดด้วยความปลอดภัย แต่ก็เกือบจะไม่ได้ลงจากรถไฟเสียแล้ว เพราะผู้นำทางของพวกเราพักอยู่เบาะชั้นบนสุด จึงมองไม่เห็นป้ายบอกชื่อสถานี หลังจากรถไฟเข้าจอดเทียบชานชาลา มีคนหันไปมองที่ป้ายแล้วอ่านคำว่า แมนแมด หรือแมนมาด อะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นมา จึงคิดสะกิดใจ และแล้วก็รีบสั่งพวกเราให้ลงจากรถไฟได้ทันเวลา ก่อนที่มันจะเคลื่อนออกจากที่ไปสู่สถานีอื่น ๆ อย่างหวุดหวิด และจากสถานีนี้ไป พวกเราต้องนั่งรถไฟไปอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเป็นรถขบวนเล็กที่รับส่งผู้โดยสารระหว่างเมือง พวกเราจำเป็นต้องนั่งปะปนไปกับคนแขกชาวบ้านทั่ว ๆ ไป เพราะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรถไฟขบวนธรรมดา ๆ นี้เท่านั้น จึงจะนำพวกเราไปถึงที่หมายได้ รถไฟของเมืองแขกจะมีหลายระดับ ตั้งแต่ชั้นที่ดีที่สุด หรูหราที่สุด จนลงไปถึง.......ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรสุด ๆ ดี เอาเป็นว่า ที่ ๆ ชาวแขกพื้นเมืองเขานิยมนั่งกันนั่นแหละ ราคาถูกที่สุด คนแออัดมากที่สุด วิ่งช้าที่สุด จอดบ่อยและนานที่สุด เรียกว่าปล่อยให้ขบวนอื่นไปหมด ๆ แล้วค่อย ๆ คลานตามเขาไป ประมาณนั้น สารพัดที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสุด ๆ ถ้าระดับดีที่สุดก็เป็นห้องนอน ติดแอร์เย็นฉ่ำ มีประตูปิดเปิดอย่างดี แบบเป็นส่วนตั๊ว..ส่วนตัว มีอาหารเครื่องดื่มบริการพร้อมทุกอย่าง เอาไว้บริการแขกระดับวี.ไอ.พี. หรือแขกระดับอภิมหาเศรษฐี ระดับชั้นที่ว่านี้จะซี้ซั้วไปซื้อตั๋วขึ้นไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะถามก่อนว่า คุณทำไมถึงจะซื้อตั๋วชั้นนี้ มีความจำเป็นอะไร ดูมันทำ แทนที่เงินก็เงินเรา มันจะถามไปทำไม อยากนั่งชั้นดี ๆ หน่อย มีเงินจะซื้อมันก็ไม่ขายให้เลย ดังนั้นอะไร ๆ ก็เป็นไปได้ที่เมืองแขก มีเงินแล้วใช่ว่าจะทำได้หรือซื้อได้ทุกอย่าง มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า มีคนไทยคณะหนึ่งมาเที่ยวอินเดีย เข้าไปในร้านอาหารแล้วต่างคนต่างสั่งอาหารที่ตัวเองอยากจะรับประทาน มีคนหนึ่งในคณะอยากจะทานไก่ จึงสั่งพนักงานไป ไม่นานพนักงานคนเดิมก็กลับมาถามว่า พวกคุณจะทานไก่กันกี่คน คำตอบที่ได้รับคือ คนเดียว พนักงานหายไปครู่หนึ่งก็กลับมารายงานว่า ไก่ที่สั่งไม่ได้ เพราะทานคนเดียว แล้วทานไก่เป็นตัว ๆ สิ้นเปลืองไปเปล่า ๆ สรุปแล้วคือ มันไม่ทำให้ทาน ฉะนั้นอย่าคิดว่ามีเงินแล้วจะซื้อได้ทุกอย่าง มาพูดเรื่องรถไฟต่อดีกว่า ชั้นรองลงมาจาก วี.ไอ.พี. ก็มีชั้นแอร์ ๒ เตียง เป็นห้องคู่ แอร์ ๔ เตียง และ แอร์ ๖ เตียง ตามลำดับ จนลงมาถึงชั้นเตียงนอนธรรมดา ๆ แบบไม่มีแอร์แต่มีพัดลม และชั้นสุดท้ายคือม้านั่งยาว ไม่มีหมายเลข แล้วแต่จะหาที่นั่งหรือที่ยืนได้ตามความสามารถ มีชั้นล่างกับชั้นบน สนนราคาก็ลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ จากแพงที่สุด (สำหรับแขก)ถึงถูกที่สุด(สำหรับพวกเรา...เพราะเขาก็ยังถือว่าแพง ยกเว้นให้ขึ้นฟรี แขกมันถึงจะบอกว่า พะหุต อัจฉ้า) โดยมากพวกเรานิยมใช้บริการชั้นแอร์ ๖ เตียง หรือไม่ก็ชั้นนอนธรรมดา ซึ่งถูกเงินดี ส่วนแขกชาวบ้านทั่ว ๆ ไปนิยมใช้บริการแบบชั้นม้ายาว ด้วยเหตุผลราคาถูก ประหยัดไปซ่า มีเพื่อนเยอะดี เพราะยังไง ๆ เสีย ก็ถึงพร้อมกันกับชั้นอื่น ๆ อยู่ดี เขาว่ากันอย่างนั้น รถไฟที่วิ่งระยะทางไกล ๆ จากรัฐสู่รัฐ ข้ามรัฐ สู่เมืองหลวง จะเป็นรถไฟขบวนใหญ่ มีให้บริการทุกระดับชั้น แต่สำหรับรถไฟที่วิ่งบริการระหว่างเมืองสู่เมืองใกล้ ๆ กัน จะเป็นรถไฟขบวนเล็ก ๆ ซึ่งได้รับฉายาว่า หวานเย็น คือ จอดทุกสถานี ไม่รีบร้อน บางทีก็มีคนพูดติดตลกว่า นี่ถ้ามีคนสัปดี้สัปดนตีตั๋วลงกลางทุ่งนา เขาก็คงจะจอดให้แน่ ๆ และพวกเราก็จะต้องนั่งรถไฟขบวนที่ว่านี้ซะด้วยสิ เอ้า..ไหน ๆ ก็มากันจนถึงนี้แล้ว อะไรก็ไปเถอะ ขอให้ได้ไปถึงที่หมายก็แล้วกัน (แบบปลงสุด ๆ ) หลังจากผู้นำทางได้จองตั๋วเรียบร้อยแล้ว ก็รอเวลารถไฟออกเดินทาง พวกเราขึ้นไปยึดที่นั่งได้พอเหมาะพอดี ผู้คนไม่แออัดมากนัก แล้วรถไฟก็ค่อย ๆ คลานออกจากสถานีไปเรื่อย ๆ เอื่อย ๆ ตามประสาคุณหวานเย็น และตามอารมณ์ของคนควบคุมขบวน ขณะที่พวกเรานั่งอยู่บนรถไฟที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่เมืองออรังคบาดอันเป็นจุดหมายปลายทาง สายตาทอดมองดูบรรยากาศตามท้องทุ่งอินเดีย บ้างก็พูดคุยกันหลากหลายเรื่องราว ที่นำมาเล่าสู่กันฟัง จู่ ๆ ก็มีสายตาคู่หนึ่งแอบมองมาที่พวกเรา ด้วยแววตาที่อ่อนโยนและบ่งบอกถึงมิตรภาพ คล้ายกับเป็นมิตรที่คุ้นเคยกันมานาน รอยยิ้มที่มุมปากน้อย ๆ ที่ออกจะซื่อ ๆ ทำให้พวกเราอดใจไม่ได้ที่จะทักทายกับเจ้าของสายตาคู่นั้น เธอชื่อ..กัลยาณี สาวน้อยตัวเล็กอายุราว ๑๒ ขวบ เธอบอกกับพวกเราว่ามากับคุณแม่ และที่สำคัญที่ทำให้พวกเราเกิดความสนใจในตัวเธอและเกิดความประทับใจอย่างที่สุดคือ เธอเป็นชาวพุทธ เช่นเดียวกับพวกเรา หลังจากที่พระพุทธศาสนาได้เสื่อมสลายไปจากดินแดนพุทธภูมิ ด้วยผลแห่งการถูกทำลายจากคนนอกศาสนา กว่า ๗๐๐ ปี ที่ผู้คนในดินแดนแห่งนี้ ได้ลืมพระพุทธศาสนาไปเสียสิ้น จนมาถึงยุคสมัยที่อังกฤษเข้ามายึดครองอินเดีย และทำการขุดค้นโบราณสถานที่เป็นของพระพุทธศาสนา เรื่องราวของพระพุทธเจ้าจึงได้ถูกเปิดเผยให้ปรากฏขึ้นมา และเผยแผ่ไปสู่ชาวอินเดียอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในยุคที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว ได้เกิดมีผู้นำชาวพุทธที่เข้มแข็งคนหนึ่ง ได้เป็นผู้นำชาวอินเดียหันกลับมานับถือพระพุทธศาสนา ท่านผู้นั้นคือ ดร.บาบา สาเห็บ เอ็มเบ็ดก้าร์ วีรบุรุษจากสลัมแห่งชนชั้นจัณฑาล ผู้ผงาดจากโคลนตมขึ้นมาเป็นบิดาผู้ร่างกฏหมายรัฐธรรมนูญปกครองชาวอินเดียมาจนถึงปัจจุบัน จากวันนั้นถึงวันนี้ มีครอบครัวชาวพุทธเกิดขึ้นนับล้านทั่วทั้งอินเดีย และครอบครัวของกัลยาณี ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย พอเธอทราบว่าพวกเราเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัยที่เธอเคารพนับถือเป็นสรณะที่พึ่งทางจิตใจ เธอก้มลงกราบที่พื้นอย่างนอบน้อม โดยไม่ระคายเคืองกับความเลอะเทอะสกปรกของพื้นรถไฟ เธอช่างงามน่ารักเสียเหลือเกิน ยากแสนยากนักหนาที่พวกเราจะได้เห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ กราบพระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ได้อย่างถูกต้องครบถ้วนทุกกระบวนความ แต่เราก็ได้เห็นแล้วจากกัลยาณี เธอยิ้มระรื่นอย่างชื่นใจ พูดจาทักทายกับพวกเราอย่างเป็นเหมือนญาติสนิทที่ไม่เห็นหน้ากันมานานแสนนาน ด้วยใบหน้าที่อิ่มเอิบ ยิ้มแย้มแบบซื่อ ๆ บริสุทธิ์ใจ อย่างที่พวกเราไม่เคยได้รับและได้เห็นมาก่อนจากคนอินเดียทั่วไป และเธอก็สามารถสวดมนต์ไหว้พระให้พวกเราได้ฟังตามที่พวกเราร้องขอ ทุกบททุกถ้อยความที่เธอสวด ด้วยเสียงที่ดังฟังชัด และด้วยความนอบน้อมอย่างจริงใจ พร้อมกับการประณมมือที่สวยงาม เริ่มตั้งแต่ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ต่อด้วย ปัญจะสีละ หรือที่พวกเราพากันเรียกว่า เบญจศีล นั่งเอง เธอว่าไปตามลำดับ ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ นอกจากนั้นแล้วเธอยังสวดบทสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ด้วยเสียงเจื้อยแจ้วแว่วหวาน ชวนให้ผู้ฟังเกิดความตะลึงงันและชื่นชมเธออย่างออกหน้าออกตา อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ . สฺวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ . สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ . พวกเราต่างชื่นชมและประทับใจกับความน่ารักและความสามารถของเธออย่างยิ่ง และอดที่จะคิดหวนไปถึงเยาวชนคนไทยบ้านเราไม่ได้ ลูกหลานเยาวชนที่บ้านไทยเมืองพุทธของพวกเรา ที่ปากพูดประจานตัวเองปาว ๆ ว่าเป็นชาวพุทธมาแต่กำเนิด สืบทอดมาจากบรรพบุรุษด้วยความภาคภูมิใจ แต่ดูเอาเถอะ จะมีใครสักกี่คนที่กราบเบญจางคประดิษฐ์ได้อย่างถูกต้องสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย เห็นมีก็แต่กราบแบบพอให้แล้วไปทีเท่านั้น ก้มลงครั้งเดียวแล้วแบมือกราบรวดเดียวสามครั้งเลย มักง่าย ไม่เป็นระเบียบและขาดความสวยงาม น่าตำหนิแท้ ยิ่งถ้าบอกให้สวดมนต์ไหว้พระด้วยแล้วล่ะก็... แม้ นะโม ๓ จบ ให้พูดตามพระบอก ยังถูก ๆ ผิด ๆ ...หมดท่าเลยทีเดียว คิดไปคิดมาช่างน่าละอายใจเหลือเกิน ใช่ว่าจะเห็นผู้อื่นดีกว่าพวกตน แต่ความรู้สึกมันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ทำให้ข้าพเจ้าตั้งปณิธานเอาไว้ว่า กลับไปถึงบ้านคราวนี้จะพิมพ์หนังสือสวดมนต์แจกจ่ายไปทุกครอบครัว ชักชวนให้ลูกหลานไหว้พระสวดมนต์ให้ได้ดั่งกัลยาณี แนะนำให้รักษาประเพณีการกราบการไหว้ที่ถูกต้องสวยงามเอาไว้ให้สืบทอดไปถึงลูกถึงหลานต่อไป ระหว่างการสนทนากัน หนูน้อยกัลยาณีได้เชิญชวนพวกเราไปเยี่ยมบ้านของเธอที่เมืองนาคปูร์บ้าง เธออาสาจะเลี้ยงข้าวปลาอาหารพวกเรา ซึ่งทุกคนก็ตอบรับน้ำใจของเธอด้วยความยินดี ว่าหากมีโอกาสพวกเราจะไป ทำให้เธอดูชื่นบานใจมาก ส่วนแม่ของเธอ เมื่อเห็นพวกเราพูดจาสนทนากับลูกสาวคนดีของเธอด้วยความสนิทสนมคุ้นเคย เธอก็ช่างมีน้ำใจดีแท้ ในช่วงที่รถไฟจอดตามสถานีต่าง ๆ ระหว่างทาง เธอก็ขวนขวายหาซื้อขนมและของเคี้ยวของกินต่าง ๆ มาเลี้ยงพวกเราตามมีตามได้ ด้วยความกระตือรือล้น ทำให้พวกเรายิ่งเพิ่มความประทับใจในสองแม่ลูกคู่นี้มากยิ่งขึ้น สมาชิกของพวกเราบางคนถามผู้ชำนาญการที่เป็นผู้นำทางของพวกเราว่า จะสังเกตุได้อย่างไรว่า คนไหนเขาเป็นชาวพุทธหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่พวกเราได้รับคือ ให้สังเกตุดูที่แววตาและกิริยาที่แสดงออกต่อพวกเรา ถ้าเป็นชาวพุทธ จะมองพวกเราด้วยสายตาแห่งความเป็นมิตรและยิ้มแย้มทักทาย หรือไม่ก็อาจจะเข้ามากราบหรือไหว้อย่างนอบน้อมเหมือนชาวพุทธทั่วไป พร้อมกับคำทักทายที่อ่อนน้อม แต่ถ้าไม่ใช่ชาวพุทธเขาจะมองเราด้วยความเฉยเมย คือมองแล้วก็มองผ่านเลย หรือไม่ก็จ้องมองด้วยสายตาที่เฉื่อยชาระคนประหลาด ๆ ไม่ยิ้มไม่ทักทาย นั่นคือความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พวกเราต่างเก็บเกี่ยวกอบโกยเอาความประทับใจไว้ให้ได้มากที่สุด ตลอดระยะทางที่ได้เดินร่วมกัน จนถึงสถานีสุดท้ายที่พวกเราต้องลงจากรถไฟ ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกลา พวกเราต่างกล่าวร่ำลาสาวน้อยกัลยาณีและแม่คนดีของเธอ ด้วยความหวังว่า โอกาสหน้าจะได้พบเจอกันอีก แม้จะมิใช่กัลยาณี แต่ก็ขอให้ได้พบกับชาวพุทธที่แสนดีอย่างเธอ.. กัลยาณี ชื่อนี้ช่างไพเราะ สวดเสนาะสำเนียงธรรมเธอพร่ำขาน ยิ้มทักทายใจชื่นระรื่นบาน สุขสำราญเมื่อได้พบประสบเจอ จะจดจำเธอไว้ในกมล จะระลึกนึกถึงเธอเสมอ จะแผ่เมตตาจิตคิดถึงเธอ ให้พบเจอแต่ความสุขทุกทิพา ฯ
หมายเลขบันทึก: 348324เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2010 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท