ภาวนาจั๊มปิ้งสูตร


การเดินแบบมีสติค่อยเป็นค่อยไป ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ณ เมืองออรังคบาด รัฐมหาราษฏร์ ประเทศอินเดีย ประมาณ ๐๘.๐๐ น. พวกเราเดินทางออกจากที่พักในตัวเมือง มุ่งหน้าไปสู่ถ้ำออรังคบาดซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่มากนัก ผ่านมหาวิทยาลัยแล้วทะลุไปถึงด้านหลัง ซึ่งอยู่ติดกับเชิงเขามองดูไม่สูงนักแต่เป็นเทือกเขายาวออกไปพอสมควร พอไปถึงบริเวณเชิงเขาก่อนที่จะเดินขึ้นบันไดไปสู้ถ้ำ จะมีวัดชาวพุทธใหม่ตั้งอยู่ มีพระสงฆ์ประมาณ ๑๕ รูป มีชาวพุทธซึ่งดูท่าทางจะเป็นนักศึกษาและชาวอินเดียทั่วไปที่หันมานับถือพุทธศาสนาตามดอกเตอร์อัมเบ็ดก้าพากันมาไหว้พระและนั่งสมาธิเป็นกลุ่ม ๆ เห็นแล้วน่าชื่นชม หลังจากเข้าไปไหว้พระในวิหารแล้ว พวกเราเดินขึ้นบันไดเพื่อไปชมถ้ำพุทธศาสนาบนเขา จากเชิงเขาขึ้นไปสู่ถ้ำ ไม่ถือว่าสูงนัก แต่ก็ทำเอาเหนื่อยพอสมควร เราพยายามจะขึ้นไปดูโดยเริ่มไล่มาจากถ้ำที่หนึ่งตาม ลำดับ ดังข้อมูลที่เรามีอยู่ ดังนั้นเมื่อถึงยอดเขาแล้วจึงต้องเดินขึ้นบันไดไปอีกหลายขั้น เพื่อไปสู่ถ้ำหมายเลข ๑ ผู้นำทางที่มีความชำนาญในการเดินขึ้นเขาและมีร่างกายแข็งแรงก็เดิ่นลิ่ว ๆ ไปก่อนอย่างไม่เหลียวหลัง ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักเกินร้อยและเพิ่มหัวจิตหัวใจเข้าไปอีกนิดหน่อยรวมกันเป็นร้อยเศษ ๆ อย่างเราก็ค่อย ๆ เดินขึ้นไปเรื่อย ๆ พร้อมกับมองค้อนคนที่เดินไปก่อนพลางคิดในใจว่า กลับไปคราวนี้จะรีดน้ำหนักให้เหลือซักหกสิบเศษ ๆ แล้วค่อยมาเดินแข่งกันอีกรอบ ยังดีที่มีสมาชิกบางท่านเดินตามมาอย่างช้า ๆ มิใช่ว่าจะน้ำหนักเกินเราหรอกนะ แต่ก็นาน ๆ จะมาเดินครั้ง ทำเอาเรี่ยวแรงค่อย ๆ หดหายไปเหมือนกัน เลยต้องคิดหากลวิธีเหนี่ยวรั้งหาพรรคพวกเพื่อไม่ให้เขาเดินทิ้งห่างระยะออกไปจากเรามากนัก เอ้า..! ลองใช้วิธีเดินไปด้วย ทำสมาธิไปด้วยสิ จะได้ไม่ค่อยเหนื่อยมากนัก ไม่เหมือนเดินขึ้นเฉย ๆนะ ที่ทั้งเหนื่อยและหอบด้วย โดยเฉพาะยิ่งรีบเดินจ้ำอ้าว ๆ กะจะให้ถึงเร็ว ๆนั้น ก็ยิ่งจะทำให้เหนื่อยหอบ หายใจไม่ทัน และพลันจะเป็นลมเอาเสียให้ได้อีกด้วย ลองกำหนดจิตไว้ที่เท้าทั้งสองข้างนะ เวลาเดินขึ้นบันได ให้มองออกไปข้างหน้าประมาณ ๑-๒ วา อย่ามองขึ้นไปข้างบน อย่ากังวลอยากรู้ว่ามันสูงหรือต่ำ ก้าวแรกให้เดินขวาแล้วขยับซ้ายตาม อย่าให้เท้าซ้ายเลยเท้าขวาไป ให้ก้าวนำและก้าวตามกันไปทีละข้าง เอ้าลองดู ขวา........พุทโธ ซ้ายตาม ๑ ขวา........ธัมโม ซ้ายตาม ๒ ขวา.......พุทโธ ซ้ายตาม ๓ ขวา........ธัมโม ซ้ายตาม ๔ ขวา.......พุทโธ ซ้ายตาม ๕ ทีนี้สลับข้างบ้าง ซ้าย.......พุทโธ ขวาตาม ๑ ซ้าย.........ธัมโม ขวาตาม ๒ ซ้าย.......พุทโธ ขวาตาม ๓ ซ้าย........ธัมโม ขวาตาม ๔ ซ้าย.......พุทโธ ขวาตาม ๕ สลับกันไปเรื่อย ๆ ขวา...พุทโธ ขวา...ธัมโม ซ้ายตาม ๕ ขั้น ซ้าย...พุทโธ ซ้าย...ธัมโม ขวาตาม ๕ ขั้น เพื่อถ่วงน้ำหนักของร่างกายให้เท้าทั้งสองข้างรับน้ำหนักเท่า ๆ กัน ทำให้ปวดขาน้อยลง ทำให้ใจอยู่นิ่ง ไม่เหนื่อย ไม่หอบ จนถึงบันไดขั้นสุดท้าย ลมหายใจยังเป็นปกติ ขาก็ไม่อ่อนกำลัง เหมือนอย่างที่เคยเป็น (วิธีนี้จะต่างจากการไต่เขาหรือเดินขึ้นบันไดสูง ๆ แบบปกติ ที่เคยเดินซ้าย-ขวา ซ้าย-ขวา สลับกันไปเรื่อย ๆ กว่าจะถึงก็ทั้งเหนื่อยและหอบ) พอเดินขึ้นไปถึงบันไดขั้นสุดท้ายก็ถึงหน้าถ้ำพอดี เออ...เข้าท่านะท่าน ไม่เหนื่อยเลย ดีจริง ๆ จากนั้นภาวนากถาก็เริ่มขึ้น เสียงใครบางคนบอกว่า นี่นะ....การเดินแบบมีสติค่อยเป็นค่อยไป ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน เป็นกรรมฐานชนิดหนึ่ง จริงไหมท่าน ? พูดเสร็จแล้วมองหาผู้สนับสนุนแนวคิด ใช่... จริง ... เป็นกรรมฐานชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าสติปัฏฐาน เพราะการเดินต้องมีสติสัมปชัญญะถึงจะไม่เกิดอันตราย และยังช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยได้อีกวิธีหนึ่งด้วย อันที่จริงการปฏิบัติธรรม มิใช่จะมีแต่การนั่งสมาธิภาวนา หลับตา พุทโธ พุทโธ อยู่กับที่เท่านั้น แม้ในเวลาที่เราทำงานหรือทำอะไรอยู่ก็ตาม ก็ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรมได้ทั้งนั้น ขอแต่ให้เรามีสติเป็นตัวตั้งมีสัมปชัญญะเป็นตัวรู้ก็พอ อย่างเรามาเดินขึ้นเขา เพื่อชมถ้ำแกะสลักหิน ซึ่งคนสมัยก่อนใช้ความพากเพียรพยายามแกะภูเขาทั้งลูกให้เป็นถ้ำ เป็นพระพุทธรูป เป็นลวดลายศิลปะมากมาย ชวนให้เราเกิดศรัทธาในความเพียรพยายามที่บรรพบุรุษได้ทำเอาไว้ อยากจะมาชมมาสักการะบูชา ถ้าไม่มีศรัทธา ไม่มีความเพียรเป็นยอดยิ่งแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เหมือนเราจะปฏิบัติธรรม อันดับแรกเราก็ต้องมีความศรัทธาและมีความเพียรในการที่จะปฏิบัติ มีจุดมุ่งหมายที่แจ่มแจ้งชัดเจนว่าเราจะทำอะไร จะไปที่ไหน ? ขณะที่เราทำ หรือกำลังก้าวเดินไป เราก็ให้มีสติเป็นตัวกำหนดรู้อยู่ตลอดเวลา ส่วนสัมปชัญญะนั้นจะคอยสนับสนุนและคอยเป็นผู้ดูแลกำชับให้สติตั้งมั่นมากขึ้น เหล่านี้รวมแล้วเรียกว่าสติปัฏฐาน ในส่วนที่เป็นภาพรวม ๆ นะ แต่ถ้าจะให้แยก แยะรายละเอียดในเรื่องของสติปัฏฐานก็ต้องว่ากันไปอีกยาว อยากจะฟังไหมล่ะ ? เดี๋ยวทั้งเดินทั้งพูดไปด้วย ก็ทำให้ลืมเหนื่อยไปได้เหมือนกัน ถึงตอนนี้เราผ่านหมู่ถ้ำที่อยู่ทางซีกด้านซ้ายมาแล้วทั้ง ๕ ถ้ำ และกำลังจะเดินเลาะเลียบเทือกเขาเพื่อไปชมหมู่ถ้ำที่อยู่ทางซีกขวาอีก ๘ ถ้ำ ซึ่งอยู่ในหุบเขาลูกถัดไปอีกลูกหนึ่ง โดยจะต้องเดินอ้อมไปตามทางซึ่งโค้งนิดหน่อย ตามที่ผู้นำทางบอกว่าอีกประมาณ ๒-๓ โค้ง ก็ถึงแล้ว ระหว่างทางถ้ามองไปด้านขวาจะเห็นทิวทัศน์บรรยากาศอีกแบบหนึ่งซึ่งหาดูได้ยาก คือทิวเขาหินที่ขึ้นเป็นหย่อม ๆ และลดหลั่นกัน เป็นลานกว้าง คล้ายอากาศยามแห้งแล้งอยู่ตลอดแนว บางท่านเรียกซะเก๋ไก๋ว่า นี่คือ แกรนด์แคนย่อน แห่งอินเดีย ทำให้ดูเพลิน ๆ ไป ไม่ค่อยกังวลเรื่องความเหนื่อยเท่าไรนัก คนที่เดินนำหน้าก็ลิ่ว ๆ ไปก่อนอย่างไม่กังวลว่าใครจะเดินไหวไม่ไหว ใครใช้ให้อยากมา ต้องแบกสังขารของแต่ละท่านตามที่เอามาด้วย คนที่ซวยที่สุดก็คือคนที่ร้อยเศษ ๆ อย่างเรา ขณะที่เดินเลาะเลียบเขาพลางชมทิวทัศน์ไปเรื่อย ๆ นั้น เสียงทักท้วงมาทางด้านข้างก็ดังขึ้นทำลายบรรยากาศที่เงียบเชียบ เพราะต่างคนต่างถนอมกำลังทุ่มเทให้กับการเดินพยุงสังขารอย่างเดียว แล้วเรื่องการปฏิบัติธรรมไปพร้อม ๆ กับการทำงานนั้นเป็นอย่างไรครับท่าน ? นิมนต์ขยายความเพื่อให้คนที่กำลังจะเริ่ม ต้นได้เกิดความเข้าใจนะครับ จะได้เอาเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้บ้าง เออ...เดินไปฟังไปก็แล้วกันนะ จะได้ไม่เสียเวลา และทำให้ได้ข้อคิดข้อปฏิบัติไปด้วย อันดับแรกเราต้องรู้จักตัวสติปัฏฐานก่อนว่าหมายถึงอะไร สิ่งที่เป็นที่ตั้งของสติ หรือสิ่งที่จะต้องเอาสติเข้าไปดูแลควบคุมให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ สูตรนี้สำคัญนะ เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุก ๆพระองค์ เลยทีเดียว เริ่มจาก กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา การจะรู้กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นก็คือ การรู้กายว่าขณะปัจจุบันนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ คือการรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำพูดที่เรากำลังพูด ในส่วนนี้ต้องมีสติกำกับอยู่ตลอด รู้อยู่ตลอด เข้าใจตลอด และระวังรักษาอยู่ตลอด ให้การกระทำไปถูกทาง หรือให้พูดดีทำดีนั่นเอง ขณะที่เราทำหรือพูด หรือดำเนินชีวิตไปตามปกติ ก็มักจะเผลอตัว ลืมนั่นลืมนี่บ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราก็สามารถที่จะควบคุมให้สติกลับคืนมาอยู่กับตัวเราได้โดยตลอด นี่คือการรู้กายานุปัสสนา พวกเราเดินมาถึงโค้งสุดท้ายก่อนจะถึงหน้าหมู่ถ้ำ หลังจากถูกหลอกมาหลายต่อหลายโค้ง จากเสียงของคนที่เดินนำหน้าลิ่ว ๆ ว่า ใกล้แล้ว ๆ กว่าจะถึงก็ไม่รู้ว่ากี่ใกล้ต่อกี่ใกล้เหมือนกัน การสนทนากันเรื่อง- สติปัฏฐานก็ต้องพักเอาไว้ เพื่อจะได้เข้าชมถ้ำต่อ ๆ ไป เราใช้เวลาชมและพิจารณาแต่ละถ้ำไปด้วยความละเอียด แต่ก็ต้องเร่งเวลาหน่อย เพราะใกล้จะเที่ยงแล้ว ต้องกลับที่พักและเตรียมเดินทางกลับ ตลอดทุกถ้ำที่เราเยี่ยมชม ได้รับการดูแลจากตาลุงแก่ ๆคนหนึ่ง ซึ่งพยายามจะช่วยเราโดยการบอกรายละเอียดและอธิบาย แต่เราก็ทำเป็นรู้เรื่องดี เพราะมีข้อมูลอยู่แล้ว กลับลงมาจากถ้ำที่ ๑๓ อันเป็นถ้ำสุดท้าย ก็ต้องเดินกลับทางเดิม แต่ขาลงนี่รู้สึกจะเร็วกว่าขาขึ้นมาก พวกเราก็เดินกันอย่างสบาย ๆ ท่ามกลางอากาศร้อนเล็กน้อย เอ้า...ต่ออีกท่าน ยังไม่จบเลย แหม ! กำลังเข้าขั้นเลยทีเดียว เสียงใครคนหนึ่งท้วงขึ้นระหว่างเดินลงจากเขา เอ้อ....นึกว่าลืมไปแล้ว เอ้า...ต่อก็ต่อ ทีนี้ข้ามมาข้อที่สอง เรื่องเวทนา นี่เราเห็นได้ชัดเจนเลยว่าเวทนามันเกิดขึ้นอย่างไร ความร้อนก็เป็นเวทนา ความเหนื่อยก็เป็นเวทนา ความมหัศจรรย์ใจก็เป็นเวทนา สรุปแล้ว สุขก็เป็นเวทนา ทุกข์ก็เป็นเวทนา เราต้องรู้จักแยกความรู้สึกให้เป็น ทุกข์เกิดเพราะอะไร อย่างไรจึงจะเรียกว่าสุข คนเรานี้นะ ถ้าบอกว่าตั้งแต่เกิดมาฉันไม่เคยพบความสุขเลย มีแต่ทุกข์มาตลอด นั่นแสดงว่าโกหกล่ะ หรือถ้าบอกว่า ฉันมีแต่ความสุข ไม่เคยทุกข์เลย นั่นก็เหลวใหล อันที่จริงคนเรามีทั้งสุขและทุกข์ แต่มันจะต่างกันตรงที่ว่า ถ้ามีความสุขมาก ความทุกข์มันก็น้อย ทุกข์นั้นก็ไม่ให้ผล ไม่เกิดผล แต่ขณะที่เราทุกข์มาก ความสุขก็ใช่ว่าจะไม่มี แต่มันมีเพียงน้อย ก็ไม่อาจให้ผลได้เช่นกัน ฉะนั้นสุข-ทุกข์ จึงมีมาคู่กันตลอด เราลองถามตัวเองว่า ชีวิตที่ผ่านมา เรามีสุขหรือมีทุกข์มากกว่ากัน แล้วต่อไปล่ะเราจะสร้างสุขหรือสร้างทุกข์มาก กว่ากัน นี่เราต้องเข้าใจและให้รู้ พิจารณา ทุกข์มาเราก็รู้ แล้วก็วาง สุขมาเราก็รู้ แล้วก็วาง ถ้าวางใจจากสุขหรือทุกข์ได้ด้วยสติความรู้เท่าทัน เราก็อยู่อย่างสบาย ๆ สุขมากเราก็ไม่หลง ทุกข์มากเราก็ไม่แบก คนเราก็อยู่ได้ นี่ต้องทำใจให้รู้ให้เข้าใจอย่างนี้ ต่อไปเรื่องของ จิต เอาย่อ ๆ นะ ไม่ต้องพิศดารอะไรมาก จะได้เป็นแนวทางประดับความรู้ความเข้าใจ จิต คือส่วนที่เป็นตัวกำหนดรู้ จิตคือตัวที่ปรุงแต่ง ก่อนจะแสดงออกมาทางกายคือการกระทำ และทางวาจาคือคำที่พูด ถ้าจิตดีจิตงาม ก็หมายถึงจิตที่เป็นกุศล ส่งผลให้การกระทำหรือคำพูดก็ดีตามไปด้วย แต่ถ้าจิตร้าย จิตเสีย ก็เป็นอกุศล ส่งผลให้การกระทำเป็นไปในทางไม่ดีไม่งาม คำพูดก็ไม่ไพเราะเสนาะโสต ฉะนั้นจิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพยายามควบคุมรักษา และแสวงหาแต่สิ่งที่ดีงามเข้ามาใส่ เพราะเดิมที จิตนี่ใสสะอาดบริสุทธิ์ เป็นกลาง ๆ ยังไม่มีอะไรเข้ามาปรุงแต่ง เหมือนเด็กทารกแรกเกิดยังบริสุทธิ์สดใส พอโตขึ้นตามวัยแล้วจึงค่อยมีสิ่งต่าง ๆ เข้ามาแต่งเติมภายหลัง พร้อมที่จะเป็นได้ทั้งฝ่ายกุศล คือ ความดี และฝ่ายอกุศล คือ ความชั่ว ขึ้นอยู่กับการสั่งสมอบรมหรือปรุงแต่งนั่นเอง ฉะนั้นจึงควรระวังรักษาจิต อย่าให้สิ่งเลวร้ายได้มีโอกาสเข้ามากล้ำกราย ขอให้ดำเนินไปแต่ในสิ่งที่ดีงาม จึงจะเป็นกุศลโดยแท้ เมื่อกายตั้งมั่น มีสติสัมปชัญญะครบสมบูรณ์ รู้และเข้าใจ วางใจได้ในสุขและทุกข์ที่เกิดขึ้นและเข้ามาแวะเวียนในระหว่างการดำเนินชีวิต รักษาจิตให้มั่นอยู่แต่ในทางกุศล ผลสุดท้ายก็สามารถที่จะได้รู้และเข้าใจถึงธรรม ซึ่งเป็นผลอันเกิดจากการมีจิตตั้งมั่น ฝักใฝ่ในความดีงาม ดังนั้นการปฏิบัติธรรม เพื่อการรู้และเข้าใจในธรรม จึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ต้องอาศัยความตั้งใจจริง อันเกิดจากความมีศรัทธาเป็นพื้นฐาน มีความเพียรพยายามเป็นตัวขับเคลื่อน มีสติคอยเป็นตัวควบคุม มีสมาธิเป็นที่ตั้ง และมีปัญญาเป็นตัวคอยดูแลแก้ไข และต้องอาศัยเวลาเป็นตัวบ่มเพาะ ค่อยเป็นค่อยไป เดินให้ตรง ให้ถูกทาง อย่างช้า ๆ แต่มั่นคง ดีกว่ารีบเดินแล้วหลงทาง กว่าจะกลับมาตั้งหลักได้ ก็สูญเสียกำลังใจไปมากแล้ว หรือไม่ก็หมดกำลังใจไปเลยก็มีให้เห็นมามากต่อมาก เราเดินลงมาจนถึงเชิงเขา โดยผู้พูดก็พูดไปเดินไป ผู้ฟังก็ฟังไปเดินตามกันไปติด ๆ และยังต้องเดินกัน ต่อไปอีก เพื่อหารถเข้าไปยังตัวเมืองซึ่งเราพักอยู่ ภาวนากถาจึงต้องจบลงแบบง่าย ๆ โดยที่ยังทิ้งกลิ่นอายของความอยากรู้อยากฟังไว้ต่อไป จากออรังคบาดเราต้องนั่งรถไฟไปยังแมนมาด เพื่อรอขึ้นรถไฟกลับเมืองพาราณสี ตามลำดับ รถไฟเข้าเทียบชานชาลาสถานีออรังคบาด ซึ่งพวกเราต้องอาศัยรถขบวนนี้ไปยังสถานีแมนมาดโดยใช้เวลาประมาณสามชั่วโมง ตั๋วที่พวกเราจองได้คือชั้นธรรมดา ( General ticket )ซึ่งเรียกตามภาษาแขก ว่า จั๊มปิ้ง คือแล้วแต่คุณจะสามารถขึ้นได้หรือไม่ได้ และเมื่อคุณขึ้นไปแล้ว คุณจะมีที่นั่งหรือไม่ก็เรื่องของคุณ ถ้ามีก็ได้นั่ง ถ้าไม่มีก็ต้องยืนและถ้าแน่นก็ต้องเบียด ช่างเป็นเรื่องน่าจดจำโดยแท้ ขบวนที่เราขึ้นนั้นเป็นขบวน เดียวที่จะไปแมนมาดและจะไปทันรถไฟขบวนที่จะไปพาราณสี ถ้าไม่ขึ้นขบวนนี้ก็จะต้องรออีกขบวนหนึ่งซึ่งจะออกตอนสองทุ่ม ซึ่งไปไม่ทันรถไฟไปพาราณสีแน่นอน เราจำเป็นจะต้องขึ้นขบวนนี้ให้ได้ กว่าจะพาสังขารเบียดแทรกความหนาแน่นของพลเมืองแขกขึ้นไปหาที่ยืนได้ ก็เล่นเอาเสียเหนื่อยพอ สมควร อย่าไปถามถึงเรื่องที่นั่งเลยครับท่าน เพียงมีที่ให้ยืนก็ถือว่าพวกเราโชคดีมากแล้ว ชั้นอื่น ๆทั้งชั้นนอนและชั้นแอร์ก็เต็มแบบแออัด ยัดแล้วก็เยียดเหมือนกันนี้แล รถเริ่มเคลื่อนขบวนออกไป พวกเราก็ยืนเกาะกลุ่มไปกับแขก ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายกลิ่น ทั้งที่อาบน้ำปะแป้งมาอย่างดี ทั้งที่ไม่เคยเจอน้ำมาเลย กลิ่นแขกฟุ้งไปทั่วทั้งขบวนรถไฟ ใครไม่เคยก็อยากจะชวนให้ลองดู แล้วจะรู้จักเมืองแขกอย่างลึกซึ้งถึงใจพระเดชพระคุณ ทั้งคนขายของที่เดินวกไปวนมา ช่างขยันในการทำมาหากินบนความแออัดของผู้คนเสียเหลือเกิน ทั้งคนขอทานในคราบวณิพกร้องเพลงไป ขอไปพลาง ทั้งแบมือขอเอาแบบดื้อ ๆ ก็มี ลำพังแค่ยืนอยู่เฉย ๆ ก็แออัดมากพอแล้ว นี่ต้องคอยเบี่ยงตัวหลบคนขายของให้เขาเบียดไปเบียดมา ทั้งร้องขายทั้งใช้มือแหวกทางไปด้วย ยิ่งมีคนซื้อก็ยิ่งดูวุ่นวายเพราะมันไม่มีที่ว่างให้พอวางของลงแล้วขาย แต่แขกก็ทำได้อย่างน่าอัศจรรย์ โอ้....มันช่างแสนจะสุดยอดของการเดินทางเสียนี่กระไร เอ้า..อะไรจะเป็นก็ให้มันเป็น อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด พอเริ่มทำใจได้และปรับตัวให้คุ้นเคยกับสภาพแล้ว พวกเราก็ทำใจสบาย ๆ มองตากันปริบ ๆ นึกอยากจะหัวเราะก็ได้แค่หันมาอมยิ้มให้กันแบบเค็ม ๆ นึกไปนึกมาก็เอาล่ะวะ...สนุกไปอีกแบบ ฮ่า..ฮ่า.. และเพื่อไม่ให้คณะเกิดความกังวลกับเรื่องของเวลา ว่าเมื่อไหร่จะถึงซักทีหนอ มันเหนื่อยเต็มทีแล้ว จั๊มปิ้งสูตร จึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง คราวนี้เอาวิธีกำหนดอิริยาบถในการปฏิบัติธรรม ซึ่งตามปกติมีอยู่ ๔ อย่าง คือ ยืน เดิน นั่ง นอน การเดินได้พูดไปพอรู้เรื่องบ้างแล้ว การนั่งก็เคยนั่งกันมาแล้ว การนอนเอาไว้ก่อน มาพูดถึงการยืน ให้มันเข้ากับสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ต่อหน้าขณะนี้ การยืน คือการกำหนดสติในอิริยาบถที่เรากำลังยืนอยู่ โดยการกำหนดจิตพิจารณาที่กายของเรา ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นไปจรดปลายผม ตั้งแต่ปลายผมลงมาจรดปลายเท้า อนุโลมปฏิโลมกลับไปกลับมา ให้เห็นว่าขณะ นี้เรากำลังยืน เป็นปัจจุบันอารมณ์ โดยไม่ต้องหลับตา แต่ถ้ายังไม่เข้าใจคือไม่ชำนาญ ก็ให้ลองใช้จินตนาการว่า เรากำลังยืนมองตัวเราอยู่ โดยกำหนดให้ตัวเรามีสองร่าง คือร่างหนึ่ง(ร่างจริง)ยืนอยู่เฉย ๆ อีกร่างหนึ่ง(จินตนาการ) ยืนมองดูอยู่ จากปลายผมจรดปลายเท้า จากปลายเท้าจรดปลายผม กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ ให้แจ่มชัด ไม่เอนเอียง จากนั้นค่อยพิจารณากำหนดลมหายใจเข้า-หายใจออก ตามลำดับ และเมื่อจิตตั้งมั่นดีแล้ว เราค่อย ๆ พิจารณาร่างกายเข้าไปทีละส่วน จากกายด้านนอก เสื้อผ้าอาภรณ์ เข้าไปหากายด้านในคือเนื้อหนัง มังสา พิจารณาเข้าไปจนถึงเนื้อและกระดูกตามลำดับ แล้วดูกลับออกมาจากกระดูก ถึงเนื้อและหนัง กระทั่งกลับมาที่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่ ให้เกิดอารมณ์ปัจจุบัน มีสติกำกับทุกเมื่อ อย่างนี้เรียกว่า การกำหนดอิริยาบถโดย การยืน พูดไปพูดมา สัพเพเหระจนเพลิน รถไฟวิ่งไปจอดไป ตามสถานีย่อย ๆ ตลอดทางบางทีก็คิดตลก ๆ ว่า นี่ถ้ามีผู้โดยสารขอลงกลางทางเพื่อไปนาไปไร่ มันก็คงจะจอดให้ลงได้ตามอัธยาศัยเป็นแน่ แม่หวานเย็นเจ้าเอย พอรถไฟถึงสถานีไหน ก็มีทั้งคนขึ้นและคนลงประปราย และแล้วก็มาถึงสถานีที่ค่อนข้างจะใหญ่สักหน่อย พอรถจอดก็มีคนเริ่มทยอยลงเรื่อย ๆ พอเห็นว่ามีที่ว่าง พวกเราก็ขยับตัวเข้าไปนั่ง คิดว่าจากนี้ไปคงจะได้นั่งอย่างสบาย ๆ บ้างล่ะทีนี้ พลันก็มีเสียงคำถามดังขึ้นมาว่า ถึงไหนแล้ว ? ขณะที่นั่งและมองลอดหน้าต่างตู้รถไฟออกไป ก็พอมองเห็นตัวหนังสือเขียนเป็นภาษาอังกฤษบอกว่า Manmad ซึ่งตรงกับคำตอบที่ใครบางคนตอบมาว่า แมนมาด. .อ้าว..! ถึงแล้วนี่ จึงต้องรีบลุกขึ้นขนสัมภาระต่าง ๆ ลงจากรถไฟ ก่อนที่มันจะเคลื่อนตัวออกไปยังสถานีอื่นอย่างหวุดหวิด เป็นอันว่าตลอดระยะทางกว่าสามชั่วโมง พวกเราไม่ได้นั่งเลย จนกระทั่งถึงที่ลง กะว่าจะนั่งซักหน่อยก็ต้องรีบจ้ำอ้าวลงเกือบไม่ทัน แต่ก็ปลงตกตั้งแต่แรกขึ้นแล้วล่ะว่า จะ ต้องเจอกับสภาพอย่างไร อาศัยที่มีจั๊มปิ้งสูตร ทำให้เวลาดูเหมือนจะสั้นนิดเดียว ยังไม่ทันที่จะขยับไปนั่งเลย ก็ต้องลงเสียแล้ว เป็นอันว่าต้องจบ ทุลักทุเลกถา และ ภาวนาจั๊มปิ้งสูตร เอาไว้แค่นี้ เอวัง ฯ หมายเหตุ.- ขอมอบคุณค่าที่เกิดจากบันทึกนี้ แก่เพื่อนผู้นำทางที่แสนดีของพวกเรา พี่ชายที่เอื้ออาทร และหญิงสาวผู้มีความงามและความอดทนเป็นเลิศ
หมายเลขบันทึก: 348321เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2010 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท