เริ่มต้นการบำเพ็ญบารมี


ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า

เริ่มต้นการบำเพ็ญบารมีและตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ครั้งแรกพระมหาบุรุษได้เป็นพราหมณ์ชื่อว่า สุเมธ ในเมืองชื่อว่า อมรวดี นับจากปัจจุบันนี้ไป ๔ อสงไขยและแสนกัปป์ เมื่อพ่อแม่ตายจึงได้ออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่า จนได้ฌานและอภิญญา วันหนึ่งไปในเมืองได้พบกับพระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร กำลังเสด็จเข้าไปในเมือง และได้เห็นชาวเมืองกำลังทำความสะอาดถนนหนทางต้อนรับเสด็จ จึงได้ร่วมทำด้วย แต่ทำไม่เสร็จและตรงนั้นมีโคลนตม จึงนอนทอดกายลงเป็นเหมือนสะพานลาดหนังเสือไว้บนตัวและให้พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เดินเหยียบตนข้ามโคลนตมไป พระพุทธเจ้า ทีปังกร จึงได้ทรงตรัสว่า “ในที่สุดกาลเวลา ๔ อสงไขย์และแสนกัปป์ พราหมณ์ผู้นี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ” หลังจากนั้นมา พระพุทธเจ้าของพวกเราก็ได้รับการพยากรณ์ว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอย่างแน่นอน ในสำนักของพระพุทธเจ้าอีก ๒๓ พระองค์ และหลังจากนั้นทรงได้บำเพ็ญบารมี (คุณธรรมที่ทำให้ถึงความสำเร็จ) ๑๐ ประการ คือ ๑. ทาน การบริจาคเสียสละวัตถุสิ่งของ ๒. ศีล การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ๓. เนกขัมมะ การออกบวชเสียสละความทุกข์ทางโลก ๔. ปัญญา การศึกษาหาความรู้ที่แท้จริง ๕. วิริยะ ความเพียรพยายาม ๖. ขันติ การอดทนอดกลั้น ๗. สัจจะ การมีความจริงใจ ๘. อธิษฐาน การตั้งใจจริง ๙. เมตตา ความเอื้ออาทรเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ๑๐. อุเบกขา การเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ควรทำอย่างไรในกรณีนั้นๆ บารมีทั้ง ๑๐ ประการ นี้ ได้บำเพ็ญสั่งสมมาเป็นระยะเวลาหลายกัปป์ แต่เท่าที่ปรากฏการบำเพ็ญบารมีทั้งหมดของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๗ และ ๒๘ เป็นจำนวนถึง ๕๔๗ เรื่อง ซึ่งเรียกว่า ชาดก(เรื่องราวการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า) และคนไทยรู้จักดีในนาม พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ การบำเพ็ญบารมีนี้ แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ ๑. ระดับธรรมดา เรียกว่า บารมี ๒. ระดับกลาง เรียกว่า อุปบารมี ๓. ระดับสูง เรียกว่า ปรมัตถบารมี การบริจาควัตถุสิ่งของทั่วๆ ไป เรียกว่า ทานบารมี การบริจาคอวัยวะ เช่นเลือดในร่างกายแก่ผู้อื่น เรียกว่า ทานอุปบารมี การบริจาคชีวิตเพื่อรักษาความดี ความถูกต้อง เช่น ทหารเสียสละชีวิตเพื่อป้องกันศัตรูที่จะเข้ามาทำลายบ้านเมือง เรียกว่า ทานปรมัตถบารมี และพระพุทธเจ้าของพวกเราก็ได้บำเพ็ญบารมีจนครบทั้ง ๑๐ อย่าง และ ๓ ระดับ เรียกว่า บารมี ๓๐ ทัศ ส่วนการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ชาติสุดท้ายก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มีดังนี้คือ ๑.พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ๒. พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี ๓. สุวรรณสามบำเพ็ญเมตตาบารมี ๔. พระเจ้าเนมิราชทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี ๕. พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี ๖. พระเจ้าภูริทัต ทรงบำเพ็ญศีลบารมี ๗. พระจันทกุมาร ทรงบำเพ็ญขันติบารมี ๘. พระมหานารทกัสสปะ ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี ๙. พระวิธูรบัณฑิตบำเพ็ญสัจจะบารมี ๑๐. พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓) หลังจาการบำเพ็ญบารมีในภพของพระเวสสันดรแล้ว พระโพธิสัตว์จึงไปบังเกิดเป็นเทวดาชั้นดุสิต และพวกเทวดาก็ทูลอัญเชิญลงมาบังเกิดในโลกมนุษย์เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าสั่งสอนมนุษย์ในโลกนี้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 348173เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2010 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท