“หมอกับชาวนา ใครฉลาดกว่ากัน”


ศักยภาพในการคิดการเรียนรู้และการทำของคนทั้งสองสุดยอดจริงๆ ต้องขอคารวะ

.... ผมตั้งคำถามชวนทะเลาะ บางท่านอาจถามกลับว่า เฮ้ย? ถ้าตั้งคำถามโง่ๆอย่าถามดีกว่า

.............ก็นั่นนะสิ ในระบบการศึกษาเมืองไทย ใครๆก็รู้ว่ากลุ่มคนที่ฉลาดที่สุด สอบ ม.ปลายได้คะแนนสูงที่สุดจะแห่กันไปเรียนแพทย์หรือหมอ เพราะเป็นอาชีพมีเกียรติและมีเงิน แม้ว่าปัจจุบันความนิยมจะลดลงไปบ้างก็ยังเป็นอาชีพที่คนในสังคมใฝ่ฝัน หรือหากตัวเองไม่อยากอย่างน้อยพ่อแม่ก็อยากแหละหรือว่าใครจะเถียง ดังนั้น ไม่ต้องคิดมากเลย หมอต้องฉลาดกว่าชาวนาแน่ๆ

อาชีพชาวนาเนี่ย ไม่มีสถาบันไหนหรือรร.ไหนสอน ไม่มีประกาศนียบัตร ไม่มีปริญญา แต่หมอมีถึงปริญญาเอก นี่ถ้าหากให้ได้ถึงระดับซุปเปอร์เอก หรือเอกยกกำลัง ก็คงมีหมอที่สมองเข้าขั้นอัจฉริยะตามไปคว้ามาจนได้

ปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจคณะยอดนิยมแห่งปี 2552 โดย www.eduzones.com ปรากฏว่า อันดับที่ 1 คณะแพทย์ศาสตร์ได้รับความนิยมมากที่สุด อันดับที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ และอันดับที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ 4.คณะอักษรศาสตร์ 5.คณะนิติศาสตร์ 6.คณะนิเทศศาสตร์ 7.คณะวิทยาศาสตร์ 8.คณะรัฐศาสตร์ 9.คณะครุศาสตร์ 10.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เราเคยได้ยินคำพูดของนักเรียนมั้ยครับ ว่า อาชีพที่เขาใฝ่ฝันคือ “อาชีพชาวนา” ไม่แน่นอน แม้แต่บรรดา “ลูกชาวนา” ก็ยังอยากหนีจากคำว่า “ลูกชาวนา” ไม่มีทางเลือกจริงจริงแล้ว “อาจจะ” คิดถึง บ้างก็เท่านั้น

ผมเคยจับ “ปู่ไพ” ชาวบ้านจบป.4 มาชกกับ “โทมัส อัลวา เอดิสัน” คราวนี้ผมขอเป็นโปรโมเตอร์จัดให้ “หมอ” ขึ้นชกกับ “ชาวนา” ดูบ้าง  ก็เพราะ วันที่ ๔ มีค.ที่ผ่านมานพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการพาผู้บริหารสปสช.ซึ่งผู้บริหารส่วนหนึ่งก็เป็นหมอ รวมทั้งผมด้วยไปดู “โรงเรียนชาวนา” ที่ดำเนินงานโดย มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี หน่วยงานที่พาเราไปคือ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม นำทีมโดยศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และดร.ประพนธ์ ผาสุกยืด  ก่อนไปผมคิดในใจเอาว่า จะทำนาเนี่ยต้องเข้าโรงเรียนด้วยเหรอ แล้วใครหนอมาเป็น “อาจารย์ชาวนา” อย่างผมเรียนหมอ ผมก็เรียนจาก “อาจารย์หมอ” สงสัยคนสอนชาวนาน่าจะเป็นดร.จากมหาวิทยาลัยเกษตรหรือกระทรวงเกษตรเป็นแน่แท้

พอไปถึงมูลนิธิฯ คุณเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิ และคุณอณัญญา หงษา ผู้จัดการ ได้ให้การต้อนรับ และเล่าให้พวกเราฟังว่า มูลนิธิข้าวขวัญ ทำหน้าที่เป็น “ผู้เอื้ออำนวย” ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนพื้นฐานของภูมิปัญญาของชาวนา บวกกับความรู้จากภายนอก เกิดความรู้จริงที่นำมาใช้ในชีวิตจริงได้ วิทยากรที่มาถ่ายทอดควมรู้ให้เราไม่ใช่ดอกเตอร์ที่ไหน แต่เป็นชาวนาตัวจริงคือ “พี่สุรัตน์” และ “ลุงเบี้ยว” ชาวนาในพื้นที่สุพรรณบุรีที่เป็นพื้นที่ปฏิบัติการของมูลนิธินี่แหละ พอได้ฟังทั้งสองคนเล่าความเป็นมาแล้วบอกได้คำเดียวว่า “นับถือจริงๆ” พี่สุรัตน์บอกว่า มูลนิธิพาไปดูงานเรื่องการปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ไป ๓ ที่ไม่ค่อยเชื่อ เพราะเคยชินกับการใช้สารเคมี เหมือนกับลุงเบี้ยวที่มีคำถามวนเวียนในสมองของแกตลอดว่า “จะจริงหรือ” จะได้ผลหรือ? ฟังดูดีว่า “ลดต้นทุน” ได้ผลผลิตดีจะเป็นไปได้มั้ยหนอ แต่ในที่สุดทั้งสองคน ก็ได้เข้าร่วมกิจกรรม “โรงเรียนชาวนา” เพื่อทดสอบด้วยตัวเองว่าจะทำได้จริงหรือไม่?

“ลุงเบี้ยว”เล่าให้ฟังว่า แกมีนา๑๐กว่าไร่ ตัดสินใจแบ่งที่นามา ๒ ไร่ เอามาทดลองในหลักสูตร มูลนิธิได้พา “นักเรียนชาวนา” เรียนผ่านการทดลอง ปฏิบัติ สังเกต และที่สำคัญคือ “การจดบันทึก” และ “การแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน” ต่อผลการทดลองที่เกิดขึ้นจริง ในที่สุดก็สรุปได้ว่า การไม่ใช่สารเคมีในการทำนานั้นมีผลดีมากมายกว่าที่คิด เขาพบว่า แมลงในแปลงนาของเขา(ไม่ใช่ในตำรา) มีแมลง “ตัวดี” มากกว่า “ตัวร้าย”ที่คอยทำลายข้าว แต่แมลงตัวดีมันกินแมลงตัว ร้ายได้ มันคุมกันเองได้พอเราไม่ “ฆ่าหมู่” แมลงตัวดีก็ขยายพันธุ์มากขึ้น แมลงตัวร้ายก็ไม่ระบาด  เขาพบว่าต้นข้าวที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำเองได้งอกงามดีกว่า ดินก็ดีกว่า(เขาใช้เครื่องมือวัดค่าความเป็นกรดด่างของดินให้เห็นกันเลย) ที่สำคัญคือหมอตรวจเลือดให้แล้วพบว่า สารเคมีในเลือดที่เคยมีมากในระดับอันตรายก็ลดลง อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร? หากชาวนาเหล่านี้ไม่พบคำตอบที่แท้จริงของชีวิตเขาก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร?

“พี่สุรัตน์”บอกว่า เมื่อก่อนเขาทำนาปลูกข้าว ได้เท่าไหร่ก็ขายหมด(แต่ไม่พอใช้หนี้เพราะต้นทุนแพงกว่ารายได้) ไม่เก็บไว้กินเอง เพราะกลัวสารเคมี ปลูกเอง แต่ไม่กล้ากินเอง เราฟังแล้วขนลุก “อ้าว..ที่เรากินทุกวันนี้จะเป็นอย่างไรหนอ..” แกบอกว่าทุกวันนี้ไม่ใช้เคมีแล้ว ปุ๋ยทำเองประหยัดได้มาก ข้าวที่เขาปลูกปลอดภัยจากสารเคมีแน่นอน ผลผลิตก็ได้มากกว่าเดิม มีเวลามากขึ้นเพราะไม่ต้องมาคอยฉีดยาฆ่าแมลงเหมือนแต่ก่อน

“เมื่อก่อนไม่เคยได้พัก ผมไล่ฉีดยาฆ่าแมลงไปทีละแปลง ไปถึงแปลงสุดท้าย ก็พอดีถึงรอบฉีดแปลงแรกอีกแล้ว วนเวียนอยู่อย่างนี้” ผมฟังแล้วถึงบางอ้อ “อย่างนี้นี่เอง แกถึงไม่กล้ากินข้าวที่แกปลูก” ทุกวันนี้แกบอกว่าแกมีเวลาว่างมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความสุขขึ้น หนี้น้อยลง

พี่สุรัตน์ ยังบอกอีกว่า ต้องจด เพราะ “จดแล้วจะจำได้” ฟังแล้วก็อดสะท้อนใจไม่ได้ว่า เราเองส่วนใหญ่รู้อะไรมาแล้วก็ “ไม่จด” มันจึง “ไม่จำ”นั่นเอง

พี่สุรัตน์แกย้อนอดีตให้ฟังว่า ตอนเริ่มต้นน่ะ ไม่แน่ใจเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แกจึงเลือกแบบใช้ปุ๋ยอินทรีย์ด้วยและลดสารเคมีลง สังเกตผลที่เกิดก็พบว่าไม่มีปัญหา แกจึงลดสัดส่วนการใช้เคมีลงจนเลิกใช้ไปในที่สุด

 ขณะที่ลุงเบี้ยวแกเลือกที่จะใช้แบบ แปลงทดลองตามหลักสูตร และแปลงที่ใช้เคมีแบบเดิม ฟังแล้วผมก็คิดแว็บขึ้นมาเลยว่า “โอ้โฮ นี่แกทำวิจัยเลยนะเนี่ย แถมเลือกแบบ Case-control study เสียด้วย” แล้วที่แกต้องแบ่งนามาทดลอง 2 ไร่เนี่ยก็คิดแล้วว่า ลองดู หากเจ๊งก็เสียก็แค่ 2 ไร่ นี่แกก็คิดถึงความเสี่ยงหรือRisk อยู่เหมือนกัน บวกลบแล้วรับความเสี่ยงได้...จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ...ฮ้า เจ๋ง! เรียกว่าแกก็มี “Contingency plan” เอาไว้แล้ว(ภาษาฝรั่งน่ะแกไม่ได้พูดหรอก ผมกระแดะเติมเอง)    และผลการทดลองก็เป็นที่ชัดเจนว่า “ดีแน่” เดี๋ยวนี้แกเลิกใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด ที่จริงแกเล่าให้ฟังอีกหลายเรื่องทั้งเรื่องวิธีการเตรียมดินที่ไม่เผาซังข้าวแต่ใช้วิธีการไถกลบ การดำนา “ต้นเดียว” การคัดพันธุ์ข้าวด้วยตนเอง เรียกว่า “ครบวงจร” เลยทีเดียว

เรื่องสำคัญที่ผมทึ่งก็คือ ศักยภาพในการคิดการเรียนรู้และการทำของคนทั้งสองสุดยอดจริงๆ ต้องขอคารวะ  แกเปลี่ยนความคิดได้จากการทดลองก่อน จดบันทึกทุกอย่างลงในสมุด ไม่มีคอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณผล มีแต่สมุดและปากกาดินสอเท่านั้น ลุงเบี้ยวแกสามารถแจงต้นทุนต่อไร่ให้เราฟังได้เป็นฉากๆอย่างลื่นไหล ข้อมูลตัวเลขจำนวนต้นกร้าที่ใช้ต่อไร่ก็พรั่งพรูออกมาจากปากแกชัดเจนถึงหลักหน่วยอย่างเป็นระบบ ทำให้ผมนึกว่า มันคงถูกจัดระเบียบอย่างดีในสมองของแก “สมองชาวนา” นี่แหละ แกยังย้ำอีกว่า “ผมจดทุกอย่าง”  ลุงเบี้ยวแกแจกแจงตัวเลขอย่างละเอียด เสียดายที่จดมาไม่ทันแต่ก็จำได้เลาๆว่า ลดลงกว่าครึ่งทีเดียว(เห็นมั้ยครับ ไม่จด ก็ไม่จำ แหละครับ)

ฟังอาจารย์ชาวนาทั้งสองคนมาถึงช่วงท้าย ต้องบอกว่า ประทับใจทั้งสองท่านจริงๆ รวมทั้งคุณเดชาและคุณอนัญญาแห่งมูลนิธิข้าวขวัญที่มุ่งมั่นทำสิ่งดีงามมากว่า21ปี สั่งสมความรู้จริงและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ชาวนาอย่างไม่รู้จัดเหน็ดเหนื่อยหรือท้อแท้ เรียกว่ามี “การจัดการความรู้” ที่สมควรเอาเป็นแบบอย่าง

...มีความคิดแว่บขึ้นมาในสมอง...ว่า ชาวนาสองคนนี้ เขาค้นพบสิ่งที่เป็นคุณต่อตนเองและสังคมรอบข้าง สลัดทิ้งความเชื่อและความคุ้นชินเดิมๆมาสู่ชีวิตใหม่ที่มีทุกข์น้อยลง พึ่งตนเองมากขึ้น ไม่หลงใหลไปกับทุนนิยมและการโฆษณาแบบไม่ลืมหูลืมตา เขาเลือกที่จะรับในสิ่งที่เขาพิสูจน์ด้วยตนเองแล้วว่า “รับได้” ในขณะที่ตัวเราและคงมีคนอีกจำนวนมาก ยังไหลไปตามกระแสโลกที่เต็มไปด้วย “ความไม่จริง” ที่ผ่านมาเราก็มักจะเชื่อโดยปราศจากการ “ชั่งใจ” หรือ “กลั่นกรอง” คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่ เลิกใช้สารเคมีในการทำนาเท่านั้น แต่ยังค้นพบและเห็นคุณค่า ศักยภาพของตนเองและผู้อื่น พร้อมก้าวสู่การเป็น “ครู” ชาวนาให้กับชาวนาคนอื่นๆ เขาเปลี่ยนแปลงตนเองได้จาก การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด กระบวนทัศน์และจิตสำนึก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงและยั่งยืน “แล้วเราล่ะ....คงต้องทบทวนตัวเองบ้างแล้วล่ะ”

ส่วนคำถามที่ถามไว้ตอนต้น ว่า“หมอกับชาวนา ใครฉลาดกว่ากัน” คงแล้วแต่ว่าจะมองกันมุมไหน? ที่ผมยกมาเปรียบเทียบเพราะใกล้ตัวคือตัวเราเป็นหมอ และเป็นหมอที่มีโอกาสไปเรียนรู้จากชาวนา ที่คนทั่วไปมักมองว่า “ต้อยต่ำ” ไม่ได้มองถึงศักดิ์ศรีและศักยภาพที่แท้จริงในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งในสังคม ที่สำคัญคือ ใครจะเป็นอย่างไร นั้นเป็นปัจเจกแต่ละคน เป็นตัวตนแต่ละท่าน

เราๆท่านๆ อาจคุ้นชินกับการ “ถามคนอื่น” เราลองตั้งคำถามกับตัวเองและตอบกับตัวเองให้ได้ว่า “เรารู้เท่าทัน” สิ่งต่างๆที่มันเข้ามากระทบกับชีวิตเราแค่ไหน และเราจะ “เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตจากแบบเดิมๆ” แบบที่ชาวนาทั้งสองคนเขาทำได้หรือเปล่า...

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.และคณะผู้บริหารของสปสช. ฟังการบรรยายของคุณเดชา ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ข้างทุ่งนาอย่างสนใจ

 

แปลงนาเกษตรอินทรีย์สาธิต ไม่ใช้สารเคมี

คุณอณัญญา ผู้จัดการมูลนิธิข้าวขวัญ กับครูชาวนา(ตัวจริง) พี่สุรัตน์และลุงเบี้ยว ช่วยกันเล่าประสบการณ์"การจัดการความรู้" ฉบับชาวนาให้ผู้บริหารสปสช.ฟัง

หมายเลขบันทึก: 347291เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2010 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท