ไม้ยมก และคำซ้ำ


          ใช้ไม้ยมกหลังคำ  วลี  หรือประโยค เพื่อให้อ่านซ้ำคำ  วลี หรือประโยคอีกครั้งหนึ่ง       

         ต้องใช้ไม้ยมกเสมอถ้าเป็นคำซ้ำ   ไม่ควรใช้ไม้ยมก  เมื่อเป็นคนละบท  คนละความ  หรือเมื่อรูปคำเดิมเป็นคำ ๒ พยางค์ที่มีเสียงซ้ำกัน  หรือเมื่อเป็นคำคนละชนิดกัน  หรือเมื่อเป็นคำประพันธ์ ยกเว้นกลบทที่มีกำหนดให้ใช้ไม้ยมก

 

 

          เขาใส่เสื้อสีดำ ๆ

          ฉันเบื่อ ๆ ไม่ค่อยอยากไปประชุม

                  คำที่ต้องใช้ไม้ยมกทุกครั้ง  เช่น

          เห็นกันอยู่หลัด ๆ

          ผัวเมียคู่นี้ทะเลาะกันอยู่เนือง ๆ

          เพิ่งได้กำไรมาเหนาะ ๆ ห้าแสนบาท

         ก็รู้มาเลา ๆ ว่าเขาจะลาออก

          การวิ่งเหยาะ ๆ ทุกเช้าทำให้แข็งแรง

          ทียังงี้ล่ะก็มาทำไหว้ปลก ๆ (ปะ-หลก)

         

                  สังเกตคำบุพบทกับคำวิเศษณ์จากการซ้ำคำเมื่อคำคำนั้นเป็นทั้งบุพบทและวิเศษณ์

                 

                    บุพบท            วิเศษณ์

           คุณวางบนเก้าอี้ซิ        คุณวางบน ๆซิ

          เขาเดินไปรอบห้อง       เขาเดินไปรอบ ๆ

          โต๊ะอยู่ข้างเตียง          โต๊ะอยู่ข้างๆ

                     คำวิเศษณ์ที่ใช้ในประโยคคำสั่งต้องใช้เป็นคำซ้ำ

 

                 ยิ้มสวย ๆ ซิ      

                 นั่งนิ่ง ๆ เถอะ

                 ขุดหลุมลึก ๆ

                 กระซิบเบา ๆ

                 เดินเร็ว ๆ

 

          ลักษณะของคำที่ต้องซ้ำ

      

          ๑. มีความหมายเป็นพหูพจน์   เช่น

              พี่ ๆไม่อยู่บ้าน

              เพื่อน ๆ จะมาหา

              ลูก ๆ โตกันหมดแล้ว

 

          ๒. ทำกริยานั้นต่อเนื่องหลายครั้ง

              เดิน ๆ  เข้าเถอะน่า

              เขาพูด ๆ ไปได้สักหน่อยก็หยุด

              เขามอง ๆ ฉันแล้วก็ยิ้ม

 

          ๓. ในคำกริยาที่ ๒ คำซ้อนกัน  แล้วซ้ำกริยาทั้งสอง แสดงว่าทำทั้งสองอย่างสลับกันหลายครั้ง

              บันไดตึกนี้มีคนขึ้น ๆ ลง ๆ ทั้งวัน

              เขาไป ๆ มา ๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับสระบุรีทุกอาทิตย์

 

         ๔. ซ้ำคำวิเศษณ์ขยายกริยาเพื่อบอกว่าทำกริยาซ้ำ ๆ ต่อเนื่องกัน

              แลบลิ้นแผล็บ ๆ

              ร้องกรี๊ด ๆ

              ทุบอกอั๊ก ๆ

 

          ๕. ซ้ำลักษณะนาม หรือคำวิเศษณ์ บอกจำนวนที่อยู่หลังคำ  "เป็น" เพื่อบอกจำนวนพหูพจน์

 

            เขามีทองเป็นหีบ ๆ

            เขามีเงินเป็นแสน ๆ

 

          ๖.  ซ้ำเพื่อบอกว่าผู้ทำ ทำกริยาทีละอย่าง

           เขาใช้ดินสอหมดไปเป็นแท่ง ๆ (ใช้หมดหลายแท่ง)

           เขาใช้ดินสอหมดเป็นแท่ง ๆ ไป (ใช้หมดทีละแท่งรวมเป็นหลายแท่ง)

 

 

         ๗. ซ้ำเพื่อบอกความเป็นกลาง ๆ ไม่เจาะจง  ไม่ชัดเจน

               หม้อใบใหญ่  (ชัดเจน ทุกคนเข้าใจตรงกัน)

               หม้อใบใหญ่ ๆ (อาจจะเล็กกว่าหม้อใบใหญ่ก้ได้)

 

         ๘. ว้ำเพื่อบอกว่าทำนองนั้น ทำอย่างไม่ตั้งใจ

              ฉันจะไปนั่งให้เจ้าของงานเห็นสักหน่อย  (ตั้งใจ)

              ฉันจะไปนั่ง ๆ ให้เจ้าของงานเขาเห็นสักหน่อย (ไม่ได้ตั้งใจทำ)

 

         ๙. ซ้ำเพื่อบอกว่าผู้กระทำมีเจตนาจะทำเช่นนั้น

 

              เขาเดินช้า   (แสดงอาการเดิน)

              เขาเดินช้า ๆ  ( เขามีเจตนาจะเดินช้า)

 

          ๑๐. ซ้ำเพื่อให้ความหมายแปลกไปจากเดิม

 

             เฉย หมายถึงนิ่ง

             เขานั่งเฉยอยู่ได้ไม่นานก็ลุกออกไปเฉยๆ (ไม่ทำกริยาอย่างอื่นให้รู้ล่วงหน้า)

 

            อยู่  หมายถึง พัก อาศัย

            เขารักกันมากกำลัอยู่ ๆ ก็ได้ข่าวว่งจะแต่งงานกัน อยู่ ๆ ก็ให้สัมภาษณ์ว่าเลิกกันแล้วกัน  (ทำโดยไม่คาดฝันมาก่อน)

 

          ๑๑. ใช้คำซ้ำในเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นเพื่อแสดงความไม่เจาะจง

            ถ้าฉันไปเที่ยวนาน ๆ  ฉันจะเหงา  (ไม่ทราบว่านานนี้คือกี่วัน)

            เธอต้องมาหาฉันเรื่อยๆ (ไม่ทราบว่านานแค่ไหน เพียงใด)

 

                         

             

 

            

 

 

ที่มา: หนังสืออุเทศภาษาไทย  ภาษาไทยน่าศึกษาหาคำตอบ

        สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา

        สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

        กระทรวงศึกษาธิการ

หมายเลขบันทึก: 346999เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2010 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท