งบประมาณของรัฐกับโรงเรียน (ไทยเข้มแข็ง 2 และ งบเรียนฟรี)


คุณครูผู้น่ารักจากโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เคยร่วมกันจัดค่าย โทร.มาถามข่าวคราวด้วยความห่วงใยสถานการณ์ในกรุงเทพฯ คุยไปคุยมาก็เล่าให้ฟังถึงความปวดหัวของงบไทยเข้มแข็ง 2 ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้นสังกัดของคุณครูได้รับงบมา 80 ล้านบาท แบ่งมาให้ทางโรงเรียนพร้อมกำชับว่าต้องเบิกจ่ายภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น คุณครูต้องรีบจัดการซื้อๆๆๆๆอย่างเร่งด่วน งบที่ว่านี้มีการบังคับหมวดการจัดซื้อไว้ เช่น ให้ซื้อเครื่องดนตรีไทย คุณครูคิดว่าอยากซื้อกลองยาวเพราะสอนได้และน่าจะได้ประโยชน์จริง แต่เมื่อสั่งซื้อปรากฏว่ากลองยาวขาดตลาดเพราะทุกโรงเรียนก็ได้รับงบเหมือนกันและต้องรีบซื้อเหมือนกันด้วย สุดท้ายทางร้านส่งอังกะลุงมาให้แทน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครจะสอน

จากเครื่องดนตรีต่อมาที่งบจัดซื้อสื่อการสอนประเภทซีดีรอม คุณครูปวดหัวมากเพราะที่โรงเรียนมีคอมพิวเตอร์เพียง 3 ตัว แต่จะต้องซื้อสื่อมากมายไม่รู้ว่าเด็กๆจะเปิดดูครบได้อย่างไร การจัดค่ายอบรมให้นักเรียนที่ทางโรงเรียนสามารถจัดอาหารให้ได้ในราคาย่อมเยาก็ต้องพยายามสร้างตัวเลขเพื่อขอเบิกงบให้ได้ตามยอด มิฉะนั้นก็จะถูกต้นสังกัดเพ่งเล็งเพราะต้องยุ่งยากเรื่องคืนเงินงบประมาณ เหล่านี้เป็นเรื่องที่คุณครูปวดหัวเป็นที่สุด

จบจากรายการไทยเข้มแข็งแล้ว งบเรียนฟรีก็จะเข้ามา และทางโรงเรียนจะต้องแจกค่าเสื้อนักเรียนให้กับผู้ปกครองก่อนปิดเทอมนี้ คุณครูบ่นว่าใครหนอช่างคิดให้แจกเงินตอนจะปิดเทอม เสื้อนักเรียนคงได้แปลงกายเป็นขวดเหล้าหรือมือถือกันยกใหญ่

คุณครูสรุปว่า ที่ทุกอย่างเร่งด่วนไปหมดก็คงเป็นเพราะนโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องของประชานิยม ที่รัฐต้องรีบๆอัดให้เผื่อจะต้องมีการเลือกตั้งในเร็วๆนี้ ที่จริงการมีงบประมาณมาให้โรงเรียนเป็นเรื่องดี แต่น่าจะมีเวลาให้คิดและดำเนินการให้เหมาะกับสภาพของโรงเรียนอย่างเป็นอิสระ ไม่ใช่บังคับกันทั้งเนื้อหาและเวลาแบบนี้

นี่อาจจะเป็นเพียงหนึ่งคำบ่นจากคุณครูหนึ่งคน แต่ก็สะท้อนให้เห็นความจริงของการใช้งบประมาณราชการไทยได้ชัดเจนมาก คงเป็นเสียงตัวแทนให้กับคุณครูอีกหลายท่านที่อยากบ่นในเรื่องนี้เหมือนๆกัน

หมายเลขบันทึก: 345859เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2010 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ทำให้นึกถึง...การใช้งบของกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน...

เสียดายเงินประเทศชาติ...

  • ดิฉันคิดแบบพยายามเข้าใจ ในฐานะที่เคยทำแผนงานที่ต้นทางนะคะว่า
  • ปัญหามาจากกระบวนการบริหารงบประมาณที่ยาวมาก ทำให้เงินไปถึงปลายทางช้า ใช้เงินไม่ทัน
  • กระบวนการเริ่มต้นที่ มีคำสั่งมาให้ทำแผนขอเงินโครงการพิเศษสักโครงการลงมาที่กระทรวง  กระทรวงแจ้งไปที่กรม  ผู้บริหารกรมมอบลงไปที่นักวิชาการ  นักวิชาการประชุมๆๆๆ คิดเนื้องาน คิดเงิน คิดเสร็จเสนอผู้บังคับบัญชาขั้นต้น (ถ้าไม่แก้) เสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูง (ถ้าไม่แก้) รวบรวมเป็นแผนงานเสนอฝ่ายการเมือง  อนุมัติแล้วกลับมาตกแต่งแก้ไขตาม comment แล้วแจ้งกลับหน่วยเจ้าของแผน  หน่วยเจ้าของแผน (ระดับกรม) แจ้งไปยังหน่วยระดับจังหวัด
  • ในการบริหารงบประมาณส่วนหนึ่งคือการทำเอกสารต่างๆ ที่ต้องถูกต้อง ชัดเจน ไม่มีผิดพลาด นี่ก็เป็นส่วนหนึ้งของการได้รับเงินช้า  คนใช้ ใช้ไม่ทัน
  • การใช้เงินไม่ทันตามกำหนดถูกตัดสินว่าเป็นข้อผิดพลาดของผู้บริหารปลายทาง แม้ว่ามันจะช้าไปจากต้นทาง
  • คนทำงานในกระทรวง  อย่างเร็วที่สุดเงินมาปลายไตรมาศแรก หรือต้นไตรมาศสอง  ถ้ามีปัญหาขลุกขลักทางการเมือง เงินมาถึงกลางๆ ปีเราก็ต้องเร่งใช้  จังหวัดก็ยิ่งช้าลงไปอีก
  • ยิ่งเป็นหน่วยงานที่ไกลจากกระทรวงก็ยิ่งช้าไปอีก
  • กองแผนงาน กับ กองคลัง ของกรม ที่เก่งๆ คล่องๆ ช่วยให้งานเร็วขึ้นได้แน่ค่ะ
  • โรงเรียน เป็นหน่วยใช้เงินอยู่ปลายสุด เงินไปช้า  คนใช้เงินน่าเห็นใจ  ผู้บังคับบัญชายิ่งน่าเห็นใจกว่าเพราะถูกบีบให้ใช้เงินตามกำหนด
  • ดิฉันไม่ได้แก้ตัวให้ใครนะคะ  เล่าความจริงที่เกิดจากกระบวนการทำงาน  ถ้าจะแก้ก็ต้องทบทวน workflow ตลอดทางเพื่อดูว่าตรงไหนจะเร็วได้  เพราะมันพันกันไปหมด  ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าวันที่นัดพิจารณาแผนงานของกรม  ผู้บริหารมีงานด่วนเข้ามา เราก็ต้องรอไปอีก ฯลฯ เป็นต้น
  • ปัญหางบไทยเข้มแข็งของก.สาธารณสุขที่อื้อฉาว ดิฉันคิดว่าเกิดจากความเร่งรีบ ทำแผนงานนะคะ ทำให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ดิฉันไม่คิดว่ามีเจตนาทุจริต
  • งบไทยเข้มแข็งมีปัญหามาก เพราะมีเวลาทำน้อย ดิฉันคิดว่าเป็นบทเรียนการใช้เงินก้อนใหญ่ๆ ที่ต้องทบทวนเช่นกันค่ะ

 

ขอบคุณคุณ nui ที่มาเล่าจากมุมมองฝ่ายทำแผน

แล้วทำยังไงดีล่ะคะ แผนถึงจะออกมาเป็นงานได้อย่างเกิดผลและไม่ต้องผ่านกระบวนการมากมายอย่างนี้?

ขอฝากความหวังไว้ที่การพัฒนาและกระจายบุคลากรคุณภาพในท้องถิ่น

กับการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ประชาธิปไตยจะได้ไม่ต้องมาทวงกันในกรุงเทพฯอีกต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท