BWN Newsletters # 41-50


BWN Newsletters # 41-50

24/8/50 Newsletter#50 (DMCR meets the Press)

สวัสดี BWN ทุกท่านครับ
     กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จัดประชุมให้ความรู้นักข่าว ถึงการพังทลายของชายหาด ผลจากการก่อสร้างเขื่อนริมทะเล ตั้งแต่ จ.นราธิวาส- นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 50 ที่ โรงแรมขนอมโกลเด้นบีชรีสอร์ท ทำให้นักข่าวได้ทราบความจริง ถึงสาเหตุของปัญหาว่า ไม่ใช่เป็นเพราะโลกร้อนหรือธรรมชาติอย่างที่กล่าวโทษกัน รายละเอียดของข่าว ในหนังสือพิมพ์ต่างๆอ่านได้ใน web BWN
     จากนั้นทีมนักข่าวได้ไปดูสภาพจริง ที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีฯ พบว่า เขื่อนกันทรายปากคลองท่าศาลา
ทำให้ชายฝั่งด้านทิศใต้พังทลายลึกกว่า 100 ม. และชายฝั่งเปลี่ยนจากหาดทรายสวยงาม ไปเป็นหาดโคลน ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน ทั้งการประกอบอาชีพ พักผ่อน กำบังคลื่นลม ฯลฯ แหล่งท่องเที่ยว เช่น หาดสระบัว ถูกเปลี่ยนเป็นโคลนตม ดูรูปการประชุมฯได้ที่ web BWN
     จันทร์ที่ 27 ส.ค. 50 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และตัวแทนสภาทนายความ เดินทางมาหาดใหญ่ เพื่อติดตามการพังทลายของชายฝั่งสงขลา จากการสร้างเขื่อนริมทะเล ซึ่งในรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2550 คณะกรรมการสิทธิฯ สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ ในการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นสาธารณะสมบัติของชาติ

Save our beaches... Now!
==============

11/8/50 Newsletter#49 (TV 9 on site Songkhla Beach Erosion)
สวัสดี BWN ทุกท่านครับ
    เมื่อ 10 ส.ค.50 นี้ ทาง TV ช่อง 9 ได้มาสำรวจและถ่ายทำการพังทลายของชายหาดและฝั่ง จ.สงขลา โดยช่วงเช้าบันทึกภาพการพังทลายชายหาด ต.สะกอม อ.จะนะ ทำให้เห็นความเสียหายอย่างรุนแรง ที่เกิดจากเขื่อนริมทะเล ซึ่งมันฟ้องด้วยภาพ
    จากนั้นช่วงเที่ยงได้ไปเก็บข้อมูลที่ บ.นาทับ ขณะกำลังบันทึกภาพก็ถูกบุคคลซึ่งอ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่ อ.บ.ต.นาทับ ขับรถขวางถนนเข้าประกบ และถามว่าถ่ายรูปไปทำอะไร และมีการโต้เถียงกันเกิดขึ้น ทำให้ทีมงานช่อง 9 รับทราบถึงความไม่โปร่งใสของ โครงการถมหินริมทะเล
     ในช่วงบ่ายได้ไปถ่ายภาพที่ บ.บ่ออิฐ อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งกำลังทำชายฝั่งและทะเลเป็นเขื่อนรูปตัว L ยาวประมาณ 200 ม. มีรถแทรคเตอร์และรถบรรทุกขนาดใหญ่หลายคัน กำลังขุดทรายออกจากชายหาด สักครู่ก็มีคนที่ไม่น่าไว้วางใจเข้ามาที่ทีมงาน ทำให้ทุกคนต้องรีบเก็บอุปกรณ์ขึ้นรถกลับ
   จากประสบการณ์ตรง ทำให้ทีมงานนักข่าว ได้ข้อสรุปว่า ทุกแห่งที่มีการพังทลายเกิดขึ้น ล้วนมาจากเขื่อนริมทะเล และโครงการที่กำลังดำเนินงานอยู่ มีความไม่โปร่งใส
    รูปงานทำงานของ TV ช่อง 9 ในครั้งนี้ดูได้ใน web BWN และขอให้ติดตามข่าวนี้ทาง TV ในเร็วๆนี้
 
Protecting Our Beaches
===============


9/8/50 Newsletter#48 (New info of beach losses in Southern Thailand)
สวัสดีครับ BWN
    เมื่อต้น ส.ค.50 นี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้บินสำรวจการพังทลายของชายหาดและฝั่ง ตลอดแนวภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จากนราธิวาสถึงเพชรบุรี และได้ข้อสรุปว่า ทุกแห่งที่มีการพังทลายอย่างรุนแรงเกิดขึ้น ล้วนมาจากการสร้างเขื่อนริมทะเล ซึ่งหวังว่าเราจะได้เห็นรายงานนี้ในเร็วๆนี้
    ขณะนี้ผู้สื่อข่าวต่างๆ ให้ความสนใจเรื่องการพังทลายของชายฝั่ง หวังว่าความจริงจะได้รับการเปิดเผย อย่าได้โทษธรรมชาติกันอีกเลย
    ผมทราบว่าขณะนี้กรมเจ้าท่ากำลังสร้างเขื่อนริมทะเลขนาดใหญ่มาก ที่ชายฝั่ง อ.หัวไทร-ปากพนัง ของ จ.นครศรีธรรมราช ด้วยงบกว่า 300 ล้าน โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันชายฝั่ง เมื่อเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ไปสำรวจชายฝั่งเจอเข้า ก็ถูกคนงานก่อสร้างตามประกบ และถามว่าเป็น NGO หรือเปล่า ก็ชี้ชัดว่าโครงการจำพวกนี้มันไม่โปร่งใสอย่างไร นับเป็นการใช้งบประมาณก่อสร้างแบบทำลายที่สนุกสุดเหวี่ยง บนการพังทลายแบบโดมิโน ที่ไม่มีวันจบสิ้น นี่แค่เฟสแรก ปีต่อๆไปก็จะสร้างต่อไปอีก แปลกใจว่าทำไมจึงไม่มีการตรวจสอบเลย ที่นี่ประเทศไทย
     รายละเอียดการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล บ้านหน้าโกฏิ-หน้าสตน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ใส่ไว้ใน web BWN แล้ว ในหัวข้อ ข่าวจากสื่อ
    อังคาร 21 ส.ค.50 นี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะจัดประชุมเรื่อง การพังทลายของชายฝั่งภาคใต้ อ่าวไทย ที่ อ.ขนอม จ.สุราษฎรธานี ใครสนใจก็ติดตามรายละเอียดได้ที่ web BWN
    โปรดติดตามข่าวสารรักษาชายหาดได้ที่นี่ จนกว่าความถูกต้องจะกลับคืนสู่สังคม

Help Protecting Our Beaches
===============


ยกเลิกการจัดประชุม ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งสงขลา ส.ค.50 ที่สงขลา เนื่องจากอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่อนุมัติการจัดประชุม

=================


31/7/50 Newsletter#47 (TOR Construction Breakwater at Songkhla Beach)
สวัสดี BWN
    รายละเอียดการจ้างเหมาก่อสร้างเขื่อนริมทะเล และถมหาดสงขลาที่บ้านบ่ออิฐ อำเภอเมืองสงขลา ซึ่งเป็นงานของกรมเจ้าท่า ได้ถูกนำมาใส่ไว้แล้วใน web BWN
    เมื่ออาทิตย์ที่ 29 ก.ค. 50 ผมได้มีโอกาสนำเสนอภาพ คุณค่าและการพังทลายของชายหาดและฝั่ง จ.สงขลา-นครศรีธรรมราช จากเขื่อนริมทะเล ให้แก่คุณการุณ ไสงาม และคุณยุทธิยง พิธีกรรายการสภากาแฟ ของ ASTV ซึ่งทั้งสองต่างแปลกใจว่า ทำไมจึงปล่อยให้ความเสียหายเช่นนี้เกิดขึ้น และจะช่วยผลักดันให้ความรู้แก่คนไทยได้ทราบความจริง

Save our Beaches
============


22/7/50 Newsletter#46 (Bye Bye Songkhla Beach)
สวัสดีครับ BWN
      เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ก.ค. 50 ทีผ่านมา ผม อ.กัลยาณี และ Prof. Sikke ได้ไปดูการสร้างเขื่อนหินริมทะเลตลอดแนวชายฝั่ง จ.สงขลา เมื่อไปถึงบ้านนาทับก็ต้องสลดใจ เมื่อเห็นกองหินสีแดงมหึมา (ที่ประกอบด้วยหิน
ขนาดใหญ่กว่าโต๊ะกินข้าวปนเปกับเศษเล็กๆ) ถูกถมยาวหลายร้อยเมตรไป บนชายหาดบ้านนาทับที่สวยงาม ทำให้ทุกคนสลดใจไปกับความจริงที่ปรากฎ ทำไมหนอคนไทยจึงมีจิตใจที่หยาบกระด้าง ทำลายทรัพยากรชายหาดอันเป็น สมบัติของชาติและเป็นมรดกแก่ลูกหลานได้ถึงเพียงนี้
      จากนั้นเราก็เดินทางต่อไปถึงบ้านบ่ออิฐ ก็เห็นการถมหินเป็นเขื่อนยาวกว่า 200 เมตร พุ่งจากชายหาดลงสู่ชายทะเลที่เงียบสงบและมีเด็กๆเล่นน้ำอยู่ข้างๆ คนงานแถวนั้นบอกว่า กำลังสร้างเขื่อนริมทะเลเริ่มจากบ้านบ่ออิฐ ไปถึงบ้านนาทับ
      เมื่อมองต่อไป ก็เห็นรถแทรคเตอร์กำลังตักทรายจากชายหาด ใส่รถบรรทุกขนาดใหญ่หลายคัน  ผมและ Prof. Sikke จึงเดินตามถนนหลวงไปยังจุดนั้นและยกกล้องขึ้นถ่ายรูป ขณะนั้นเองหัวหน้าคนงานก็เข้ามาประชิดผม (หลังจากที่ขมขู่ อ.กัลยาณีที่นั่งรออยู่ในรถ)และขู่ด้วยความไม่พอใจว่า คุณเป็น NGO หรือเปล่า? ไม่ให้เข้ามาที่นี่ และห้ามถ่ายรูปเพราะเป็นงานของกรมเจ้าท่า  ผมจึงบอกว่าเราเป็นอาจารย์มาหาข้อมูล และนี่เป็นแผ่นดินไทยใครๆก็ใช้เส้นทางนี้ได้
       เมื่อผมและ Prof. Sikke ยกกล้องขึ้นถ่ายรูปรถที่กำลังตักทราย ชายคนนั้นก็ตะโกนให้รถบรรทุกปิดล้อมรถยนต์ของเรา ซึ่งขณะนั้น อ.กัลยาณีนั่งอยู่ และขู่ว่าจะยึดกล้องของเรา จากนั้นก็ขว้างหินก้อนใหญ่หลายก้อนเข้าใส่ Prof. Sikke ทำให้ท่านต้องวิ่งหนี และเหตุการณ์ดูรุนแรงไม่ปลอดภัย  จนเราต้องรีบขับรถกลับทันที  ภาพการไปชายหาดครั้งนี้ ผมใส่ใน website BWN
       สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ไม่แตกต่างไปจากสิ่งที่ผมได้เจอมาแล้วเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่กรมเจ้าท่ามาจัดประชุมฯเรื่องท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่ จ.สงขลา ซึ่งผมก็ถูกข่มขู่โดยนายมานะ เจ้าของบริษัทฯที่รับออกแบบโครงการท่าเรือฯนี้
       เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ป่าเถื่อนที่สุดเท่าที่ผมเคยประสบมา เพราะแค่เห็นเราก็ถูกข่มขู่ทำร้ายแล้ว ชายหาดได้สอนให้ผมรู้ซึ้งถึงสังคมไทย และให้ความรู้ที่เป็นองค์รวมอันประมาณค่าไม่ได้ นับแต่นี้ต่อไปผมจะไม่ไปชายหาดใดอีกแล้ว แต่จะนำความรู้ทั้งหมดที่สั่งสมมาเผยแผ่ใน website BWN เพื่อให้ความจริงปรากฎ แม้ว่ามันจะสายไปแล้วสำหรับสังคมไทย ที่จะเยียวยาฟื้นฟูชายหาดที่สวยงามของเราให้กลับคืนมา
        ขอแจ้งข่าวการรักษาชายหาดให้ทุกท่านทราบ ว่า 6 ก.ค.นี้รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะมาสำรวจการพังทลายของชายหาดสงขลา-นครฯ และ 27-28 ส.ค. นี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดประชุมปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งสงขลา ที่โรงแรมฯใน อ.เมืองสงขลา รายละเอียดดูได้ที่ website BWN ในหัวข้อ กิจกรรมเฝ้าระวัง
       จดหมายข่าว BWN นี้เป็นฉบับสุดท้ายที่จะส่งถึงท่าน เพราะไม่มีหาดทรายให้เฝ้าระวังเร่งด่วนอีกแล้ว ข่าวสารต่อจากนี้ทุกท่านที่สนใจเรียนรู้ สามารถดูได้จาก website BWN และสุดท้ายนี้ขอขอบคุณและขออภัยทุกท่าน ถ้าที่ผ่านมามีอะไรที่ล่วงเกินท่านไป

ด้วยความปรารถนาดี
So Long Our Lovely Beaches
==================

19/7/50 Newsletter#45 (Now constructing breakwaters in Songkhla)

สวัสดีครับ BWN ทุกท่าน
     ขณะนี้การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น พร้อมทั้งเขื่อนริมชายฝั่งของสงขลาเรา ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยกรมเจ้าท่า นำหินจำนวนมากมาถมบนชายหาด ตั้งแต่ บ้านนาทับ ขณะนี้ถึงบ้านบ่ออิฐแล้ว และจะถมต่อๆไปจนถึง บ้านเกาะแต้ว และเก้าเส้งในที่สุด จากนั้นก็จะถมหินในทะเลอีกชุดหนึ่ง เป็นระยะทางที่เท่ากัน สรุปแล้วเราะไม่มีหาดทรายให้เหลืออีกแล้ว ใครสนใจให้ไปถ่ายรูปเก็บไว้ได้
     ดังนั้นหน้าที่ของผมในฐานะผู้สื่อข่าว BWN ก็กำลังจะหมดภาระกิจแล้ว เพราะคนสงขลา และผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเอาหาดหิน ซึ่งก็สอดคล้องกับสังคมไทยที่ไม่รู้ว่า เราคือใคร? จะรักษาชายหาดไปเพื่ออะไร?
     ผมจะไปถ่ายรูปมาลงใน web BWN เป็นครั้งสุดท้ายและจะวางมือในเรื่องนี้ ไม่ขอเอ่ยถึงอีก เพราะถือว่าชายหาดได้วิบัติถาวรแล้ว
     เมื่อถมหินเสร็จแล้ว ต่อจากนี้ก็จะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ของภาคใต้ ระหว่างบ้านนาทับ-บ้านสะกอม โดยการถมทะเลให้เป็นเกาะขนาดใหญ่กว่า 300 ไร่ และมีเขื่อนหินขนาดใหญ่ยาวกว่า 1000 ม ไว้กันคลื่นของท่าเรือนี้ ก็ถือว่าสงขลา ได้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับ มาบตาพุดเรียบร้อย
   ก็ขอเชิญชวนทุกท่านไปไว้อาลัย และดูให้เห็นกับตานะครับ ใครจะไปพร้อมผมก็ยินดี โดยจะเดินทางออกจาก ม.สงขลาฯวันเสาร์ที่ 21 ก.ค.นี้ เวลา 10:00 น
 
Goodbye Our Lovely Beaches.
================


10/7/50 Newsletter#44 (Biggest Harbour Hearing News)

สวัสดีครับ BWN ทุกท่าน
     ผมได้ไปฟังการประชุมรับฟังความเห็น การสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 เมื่อจันทร์ที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 13:00-16:00 น. บรรยากาศในที่ประชุม เป็นการจัดตั้งมวลชนมาโดยแท้ มีเสียงเชียร์เอาท่าเรือขนาดใหญ่ (ยิ่งใหญ่ยิ่งชอบ) อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท sea spectrum ที่นำโดยนายมานะ ภัตรพานิช ผู้จัดการโครงการฯนี้ บอกอย่างภูมิใจว่า เราจะทำคล้ายกับท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งมีสาระการประชุมฯโดยย่อดังนี้
     ตัวท่าเรือมี 3 แบบ โดยแบบที่ 1 และ 2 จะถมชายฝั่งและทะเล เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นระยะทาง 500-600 เมตร ต่อจากนั้นจะเป็นเขื่อนหินขนาดใหญ่ ยื่นยาวออกไปอีกประมาณ 1 ก.ม. ส่วนแบบที่ 3 จะถมเป็นเกาะใหญ่ในทะเลซึ่งอยู่ห่างฝั่งประมาณ 400 ม
 และมีสะพานใหญ่เชื่อมกับฝั่ง นอกจากนั้นจะมีทางรถไฟและถนนขนาดใหญ่เชื่อมสู่ถนนหลวง รูปแบบท่าเรือดูได้ที่ web BWN
    เมื่อทีมงานของบริษัทฯบรรยายจบ ผู้ดำเนินรายการก็ขอให้ชาวนาทับขึ้นมากล่าวสนับสนุนโครงการฯ จากนั้นชาวบ้านสะทิงพระก็ขึ้นมาแย่งให้ไปสร้างที่บ้านเขา ตัวแทนหอการค้าก็ออกมาเห็นด้วย  ที่น่าสังเกตก็คือ หน่วยราชการและคนอื่นๆที่มาฟังต่างเงียบหมด  มีเพียงสถาบันเพาะเลี้ยงชายฝั่ง (NICA) ที่ขอให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และนายทหารเรือที่กล่าวว่า ยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำท่าเรือใหม่ และชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไร
    เมื่อเวลาผ่านไปจนถึง 15:30น ผมก็ขอแสดงความเห็น โดยถามว่า ขอให้ทางบริษัทฯช่วยบอกที่ประชุมด้วยว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ชายหาดและฝั่งพังทลายอย่างรุนแรง นายมานะตอบด้วยอารมณ์โกรธว่า "รู้แต่ไม่บอก" และท้าทายให้ผมไปเจอกับเขาที่ไหนก็ได้ จากนั้นก็ประนามผมว่า ไม่มีความรู้ ไร้ประสบการณ์ ไม่มีผลงาน ฯลฯ ซึ่งผมไม่ได้ตอบโต้แต่ประการใด แต่ก็เชื่อว่าคนที่ร่วมประชุมฯคงเห็นแล้วว่าโครงการนี้ไม่โปร่งใส
    เมื่อเขากล่าวหาจบ ผมก็อ่านมติของที่ประชุมใหญ่กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ให้ทุกคนทราบว่า ในยุทธศาสตร์ 9 ข้อเพื่อแก้ไขการพังทลายของชายฝั่งนั้นได้ระบุไว้ว่า ปัญหาเกิดจาก การสร้างสิ่งก่อสร้างริมทะเล
ซึ่งจะต้องมีการรื้อถอนออกไป และผมก็ขอฉายภาพการพังทลายของชายฝั่งสงขลา - ปากพนัง และสาเหตุให้ทุกคนในที่ประชุมได้ประจักษ์ ผมได้เสนอในที่ประชุมว่า การทำโครงการฯต่างๆที่ผ่านมาทำให้สังคมแตกแยก เพราะความรับรู้ต่างกัน คนสงขลาต้องการให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืน แต่จู่ๆก็มาเปลี่ยนให้สงขลาเป็นเขตอุตสาหกรรมใหม่ จึงควรประกาศให้คนสงขลาและทั้งประเทศได้ทราบให้ชัดเจนจะได้ไม่ต้องมาเข้าใจผิดกันอีก แล้วจะทำอะไรก็เชิญเลย
    
Save Our Beaches
============


4/7/50 Newsletter#43 (Urgent ! Public Hearing for Songkhla Harbour on July 9,07)

ด่วนครับ BWN
     กรมเจ้าท่าจะมาทำประชาพิจารณ์ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ในวันจันทร์ที่ 9 ก.ค. 50 เวลา 13.00-16.30 น ที่ ห้องประชุมสมิหลา ชั้น 2 โรงแรมราชมังคลา พาวีเลี่ยน บีช รีสอร์ท อำเภอเมืองสงขลา รายละเอียดอ่านได้ที่ web กรมเจ้าท่า
http://www.md.go.th/md2webApp/02_5_1.jsp?actId=68
ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมไปแสดงความเห็น และผู้ที่สนใจสามารถติดต่อมาที่ BWN ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ชายหาดสงขลาคนสงขลาต้องตัดสินใจ นะครับ
      ขณะนี้กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ได้นำรายงานการสำรวจกัดเซาะอ่าวไทยตอนล่าง ปลายปี 49 ขึ้น website ของกรมฯแล้ว สามารถนำไปเผยแผ่ได้ที่
http://www.dmcr.go.th/DCLM/index.php หัวข้อ เอกสารเผยแพร่ - การสำรวจพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งทะเลในฤดูมรสุม บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันตกฯ
      มีอาจารย์คณะนิติสาสตร์ มธ. ให้ความสนใจ ในการทำคดีเรื่องการพังทลายของชายหาด โดยบอกว่า หากมีผู้เสียหาย เช่น ชุมชน หรือ ชาวบ้านในพื้นที่ที่เดือดร้อน ก็สามารถฟ้องร้องได้เลย ยินดีจะดำเนินการให้  นับเป็นข่าวที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่รักในทรัพยากรชายหาด ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า ศาล เท่านั้นที่จะชี้ขาดและรักษาชายหาดไว้ได้
      ขณะนี้มีข่าวสารเรื่องการใช้ประโยชน์จากชายหาดมากเหลือเกิน แต่ไม่มีสถาบันใดเข้ามาจัดการอย่างเป็นระบบ นี่ยังไม่รวมชายหาดที่อื่นๆที่ขณะนี้กำลังถูกทำลายอย่างย่อยยับ ซึ่ง BWN คงยังไปไม่ถึง ขณะนี้จึงเอาแค่ สงขลา-นครศรีฯไปก่อน อย่างไรก็ตามใครมีข่าวที่อื่นๆจะนำมาแลกเปลี่ยนกันก็ยินดีครับ
    
Save Our Beaches
==============


1/7/50 Newsletter#42 (More progress on beach erosion with DMCR)

สวัสดีครับ BWN
     ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างมากเกี่ยวกับการรักษาชายหาดของเรา โดยวันที่ 21-22 มิ.ย. 50 กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งจัดประชุมให้ความรู้แก่บุคลากรภายในกรมฯ ให้ทราบถึงปัญหาการพังทลายของชายหาดที่อยู่ในขั้นวิกฤติ ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องชายหาดไม่ได้ถูกบรรจุเป็นงานของกรมฯมาก่อน บัดนี้ทางสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งจะดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูชายหาดอย่างจริงจัง และได้จัดทำรายงานการสำรวจการพังทลายของชายฝั่งภาคใต้อ่าวไทยปี 49 เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้แล้ว รายละเอียดติดต่อที่ คุณปริทัศน์ เจริญสิทธิ์
[email protected]
     เมื่อ 26 มิ.ย. มีการประชุมชาวบ้านตลอดแนวชายฝั่งภาคใต้อ่าวไทยที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการพังทลายของชายฝั่งที่กระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งทางสำนักงานป้องกันจังหวัดนครศรีธรรมราชรายงานว่า กำแพงชายฝั่งที่ใช้งบฯ 72 ล้านบาทสร้างในปี 49 ที่ อ.หัวไทรพังทลายทันที และขณะนี้กำลังสร้างใหม่ ดูรูปที่ web BWN หัวข้อ รวมภาพชายหาด
     เมื่อ 27 มิ.ย. รองอธิบดีกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งได้สำรวจการพังทลายของชายหาดปากพนัง-หัวไทร และได้พบกับนายก อบต. แหลมตะลุมพุก ซึ่งขณะนี้ชาวบ้าน 200 ครอบครัวต้องการย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ขณะนี้ทางจังหวัดฯได้สร้างกำแพงชายฝั่งไว้ข้างหมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าฤดูมรสุมนี้หมู่บ้านจะต้องถูกทำลายอย่างแน่นอน สามารถดูรูปได้ที่ web BWN
http://www.geocities.com/psboon02/bwn.html
     จากการดูการพังทลายของชายหาดที่บ้านบ่อคณที อ.ปากพนัง และอ.หัวไทร ทำให้รองอธิบดีฯเข้าใจผลกระทบจากเขื่อนริมทะเล และไม่เข้าใจว่าทำไมจึงปล่อยให้เสียหายขนาดนี้ ซึ่งท่านจะประสานกับผู้บริหารอื่นๆที่รู้จักให้ช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนต่อไป
     ขอแนะนำ web site Wycombe High School ซึ่งแสดงการก่อกำเนิดหาดทรายแบบต่างๆ เป็นภาพเคลื่อนไหว ที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับชายหาด โปรด click ไปที่
http://www.school-portal.co.uk/GroupRenderCustomPage.asp?GroupID=12426&ResourceId=61278
     ใครมีอะไรดีๆก็ขอให้แนะนำกันมา เพื่อจะได้รักษาชายหาดที่สวยงามของเราไว้ตลอดไป
     Help Save Our Living Beaches
===========


25/6/50 Newsletter#41 (DMCR go ahead with BWN)
ถึงเพื่อน BWN
    ช่วงนี้มีกิจกรรมมากมายที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูชายหาดให้กลับคืนมา หลังจากที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เชิญ BWN ไปบรรยายเรื่องการพังทลายชายฝั่งภาคใต้ให้ฟังเมื่อ 20-22 มิ.ย. 50 โดยในวันที่ 27 มิ.ย. 50 รองอธิบดีฯกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะเดินทางมาดูสาเหตุการพังทลายชายฝั่งหัวไทรและปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง 
    นอกจากนี้ 26 มิ.ย. 50 ชาวบ้าน อ.หัวไทร-ปากพนัง ร่วมกับ NGO ในท้องที่จัดประชุมเพื่อหาแนวทางรักษาชายฝั่งอย่างยั่งยืนขึ้น ที่ จ.นครศรีฯ
     ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวในเรื่องการพังทลายของชายหาด ที่เราจะต้องรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ รายละเอียดยังมีอีกมากซึ่งจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป 
Make Our Beach Alive
=============

คำสำคัญ (Tags): #bwn newsletters 41-50
หมายเลขบันทึก: 345605เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2010 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท