มีลมหายใจ มี KM มี R2R...


การเฝ้าเพ่งพินิจ พิจารณาความเป็นไปแห่งอัตภาพนี้แล จักทำให้เราได้รู้จัก "ระเบียบวิธีวิจัย (Research methodology) ที่เป็นไปได้จริงตาม "ธรรมชาติ"

การจัดการความรู้ (KM) ก็ดีหรือว่าการวิจัยในงานประจำก็ดี (R2R) ถ้าจะทำให้แน่นและให้ดีควรเริ่มต้นที่รู้จักวิจัยเพื่อการจัดการความรู้และงานภายในตัวของตัวเอง

ร่างกายของเราที่ได้รับมาจากพ่อและแม่นี้ถือว่าเป็นงานในหน้าภาระหน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่เราจะสามารถนำไปเพื่อสร้างงานสร้างประโยชน์แก่สังคม

ดังนั้น สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้และ "จำเป็น" ที่จะต้องการจัดความรู้เป็นเบื้องต้น เป็นลำดับแรกนั้นก็คือร่างกายของเราเอง

เมื่อเราเริ่มต้นที่จะจัดการความรู้ร่างกายของเราเองนั้น ทักษะสำคัญเบื้องต้นนั้นก็คือการหมั่น "สังเกตุ (Observation)" ความเป็นไปและความเสื่อมไปได้แห่งอัตภาพนี้

ให้เรารู้จักสังเกตุความเปลี่ยนแปลงทั้งในทางที่ดีขึ้นและแย่ลง แล้วนำมาเปรียบเทียบในระหว่างช่วงอายุ ระหว่างวัน ระว่างเดือน ระหว่างปี ว่าวันนี้กับเมื่อวานหรือวันไหน ๆ ถ้าเราทำสิ่งใดแล้วร่างกายเราผิดเพี้ยนไปก็ขอเพียงสรุปไว้ใน "จิตสำนึก" ให้ได้จดได้จำ

การสรุปรายงานการวิจัยจากการสังเกตร่างกายนี้ จักเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่สำคัญที่เราจะสามารถน้อมนำไปใช้ในการร่างสังเกตุร่างกาย สังเกตุชีวิตและสังเกตุงานของบุคคลอื่น

เมื่อเรารู้จักชีวิต รู้จักจิตใจของตนเอง เราย่อมรู้จักธรรมชาติแห่งความเป็น "มนุษย์"

ครั้นเมื่อเราจักต้องไปทำงานกับมนุษย์อีกมากมาย งานต่าง ๆ นั้นจึงเป็นเรื่องง่ายเมื่อเรารู้จักเรา เพราะ "รู้เขา รู้เรา..."

การเฝ้าเพ่งพินิจ พิจารณาความเป็นไปแห่งอัตภาพนี้แล จักทำให้เราได้รู้จัก "ระเบียบวิธีวิจัย (Research methodology) ที่เป็นไปได้จริงตาม "ธรรมชาติ"

เพราะร่างกายของเรานี้เกิดขึ้นด้วยธาตุตามธรรมชาติ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และย่อมเสื่อมไปเป็นเนืองนิจ

ร่างกายนี้เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ย่อมดับไป ซึ่งมิต่างอะไรกับงานในหน้าที่หรือตำแหน่งที่เราได้รับ เมื่องานหรือตำแหน่งนั้นมีขึ้นหรือเกิดขึ้นกับเรา ย่อมตั้งอยู่ได้กับเราในชั่วขณะ และเมื่อกาลหรือเวลาผ่านไป ใครต่อใครก็ย่อมมาอยู่มาแทนที่ได้ ซึ่งเป็นเหตุแห่งความดับไปแห่งงานในหน้าที่ ในตำแหน่งนั้น

ขอให้เราเรียนรู้วัฏจักรแห่งชีวิตแล้วน้อมนำไปพิจารณาให้ใกล้ชิดกับวัฏจักรของวิถีการทำงาน

การทำงานในหน้าที่ใด ตำแหน่งใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ใด ๆ ที่เรามี เราอยู่ เราครอบครองอยู่ ถ้าหากไม่รู้จักถ่ายเทให้เลื่อนไหลไปก็เปรียบเสมือนดั่งแม่น้ำที่ตายไม่ไหลและหยุดนิ่ง

แม่น้ำที่หยุดนิ่งและไม่ไหลเป็นที่ใดนั้นย่อมมิสามารถยังประโยชน์ให้แก่ผู้ใดได้ฉันนั้น ถ้าหากเรามีตำแหน่ง ได้รับหน้าที่และมีความรู้ใดอยู่ หากไม่รู้จักที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้นั้น ๆ ก็หามีคุณค่าสมกับประโยชน์ที่แท้จริงไม่

พร้อมกันนั้น การไม่รู้จักยักย้าย ถ่ายเท ความรู้และกำลังที่มีในตน ย่อมทำให้เกิดความเศร้าหมองในจิตในใจ เปรียบเสมือนกับแม่น้ำที่ถูกขังอยู่นิ่ง ๆ ก็รังแต่จะถูกแสงแดดแผดเผา ระเหยไป ไร้ผลประโยชน์ อีกทั้งใต้ผืนน้ำนั้นก็รังแต่เป็นที่สะสมของน้ำของเสีย ซึ่งหมักหมม เพาะบ่มเป็นมลพิษซึ่งจะทำให้น้ำนั้นเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น คละคลุ้ง

หากวันนี้เรามีลมหายใจอยู่ก็ขอให้นำโจทย์แห่งร่างกายอันเป็นธาตุเป็นขันธ์นี้ตั้งไว้เพื่อจัดการความรู้ เพื่อให้จิตใจนั้นได้น้อมนำชีวิตไปสู่วิถีแห่งการพัฒนาที่แท้จริง...


 

ดั่งดอกไม้บาน : เสถียรธรรมสถาน

 

หมายเลขบันทึก: 345165เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2010 08:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • น่าคิด ผสม เพลงที่ทำให้ "สงบเย็น"ค่ะ
  • สังเกตุความเปลี่ยนแปลงทั้งในทางที่ดีขึ้นและแย่ลง แล้วนำมาเปรียบเทียบในระหว่างช่วงอายุ ขอเพียงสรุปไว้ใน "จิตสำนึก" ให้ได้จดได้จำ
  • การเฝ้าเพ่งพินิจ พิจารณาความเป็นไปแห่งอัตภาพ จักทำให้เราได้รู้จัก "ระเบียบวิธีวิจัย (Research methodology) ที่เป็นไปได้จริงตาม "ธรรมชาติ"
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท