กลอนไดอารี่ซึมซาบ ตอนที่ ๑๗ อารมณ์ขันของพระองค์


ตอนที่ ๑๗ อารมณ์ขันของพระองค์

                ในกลอนไดอารี่ซึมซาบ       จะพบอารมณ์ขันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายแห่ง  เมื่ออ่านแล้วจะเห็นภาพที่ตลกจากการใช้คำและความของพระองค์ดังนี้

                เมื่อเสด็จไปทอดกฐินที่วัดทอง พื้นที่มีน้ำท่วมขัง  จึงทำให้ข้าราชบริพารต้องเตรียมการอย่างวุ่นวายจนเป็นภาพที่ดูตลกดังนี้

                ลานอารามน้ำท่วมถึงคืบกว่า    บันดาข้าทูลอองต้องขํนขวาย

        หาทางดอนผ่อนผันกันวุ่นวาย          บ้างสิ้นอายถอดถุงเท้าลงเก้าลุย

        แต่ตำหรวดกับทหานพานขัดข้อง      ด้วยว่าต้องแห่นำท่องน้ำฉุย

        มหาดเล๊กมหาดล่อยพลอยตะกุย       ดูรุ่กรุ่ยเต็มประดาน่ารำคาน

        คุณสาหร่ายนายอะไรได้เป็นที่         เชิญพระพันนะสีตามที่ถาน

        เดินชิดติดท้ายพระราดทะยาน          ปาติหานลงในหลุมชุ่มทั้งตัว

                เมื่อเสด็จไปทอดพระเนตรคณะละครสัตว์  มีสัตว์หลายประเภทที่ดุร้าย  ทรงบรรยายภาพว่าถ้าหลุดออกมาจากกรงจะน่าหวาดเสียวอย่างไร  ซึ่งจากการใช้ภาษาของพระองค์ทำให้กลายเป็นเรื่องตลกมากกว่าความหวาดเสียว ดังนี้

             กรํงถัดไปในนั้นเขาใส่หมี           โตเตมที่สูงเยี่ยมเทียมค่าหัว

         เลกลงไปในนั้นอีกสองตัว               หลุดมาแล้วไม่ชั่วหนังหัวเปิง

           ตอนที่มีการแสดงของคณะละครสัตว์ทรงบรรยายภาพว่ามีเด็กออกมาขี่ม้า  และทำท่าทางตลก ๆ แต่กลับไม่ตกจากหลังม้าเลย  จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลก  โดยทรงแสดงความคิดเห็นดังนี้

             หมํดชุดนี้มีเดกมาขี่ม้า                    แล้วทำท่าต่างต่างอย่างขันขัน

        ตีนมันเหนียวเกินไปสงไสยครัน             ฤๅหนึ่งมันจะใช้อะไรทา

           ทรงกล่าวถึงการเต้นรำตามแบบต่างประเทศว่าไม่เหมาะกับคนไทย ดังนี้

               เวลาค่ำซ้ำไปบ้านเจ้าคุนพาด     เลยรำท้าวตามชาตเขาเข้าคู่

       หันเหียนเวียนกันไปคล้ายพะบู๊           น่าเวียนหัวเวียนหูเล่นสับประดํน

       ปะเปนไทยเราเอาไปเล่นเช่นนั้น         ได้หัวแตกหัวลั่นกันปี้ป่น

       จะเปนลํมล้มพับถึงอับจน                   สิ้นนุสนตามวันนี้มีเรื่องราว

            จากตัวอย่างที่ยกขึ้นมาทั้งหมด  คงเพียงพอที่จะสนับสนุนได้ว่ากลอนไดอารี่ซึมซาบนั้นมีคุณค่าถึงสามด้าน คือ  ประการที่หนึ่ง คือ สะท้อนภาพเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต  ราชประเพณีที่มีการบันทึกอย่างจริงจัง ประการที่สอง สะท้อนการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรใช้  และประการสุดท้ายกลอนไดอารี่ซึมซาบเล่มนี้ได้ส่งอิทธิพลต่องานวรรณกรรมในรูปแบบล้อเลียนต่อ ๆ มา  อาทิ วงศ์เทวราช  ไผ่ตัน  ฉันจึงมาหาความหงอย  ทำให้งานวรรณกรรมแบบล้อเลียนฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง  นับจากที่พระมหามนตรี (ทรัพย์) ได้แต่งบทละครเรื่องระเด่นลันไดเพื่อเป็นการยั่วล้อมาแล้ว  ดังนั้นพระราชนิพนธ์ไดอารี่ซึมซาบจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอย่างแท้จริง  โดยมีความงามของเรื่องและรูปแบบ ไม่แพ้งานวรรณคดีชิ้นเอกเรื่องอื่น ๆ ของพระองค์เลย

บรรณานุกรม
คล้อย ทรงบัณฑิตย์.  ปฏิทิน 250 ปี พ.ศ. 2304-2555 มีประวัติและวิธีเทียบศักราช ประกาศสงกรานต์
นามานุกรมตั้งชื่อชายหญิง ตั้งฉายาภิกษุสามเณรพระนคร  :  ส. ธรรมภักดี,  2497.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.  กลอนไดอารี่ซึมทราบกับตามเสด็จไทรโยค.  กรุงเทพฯ :
             องค์การค้าคุรุสภา, 2500.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.  พระราชพิธีสิบสองเดือน.   กรุงเทพฯ  :   องค์การค้าคุรุ-

         สภา,  2533.

ประติทินบัตร แล จดหมายเหตุ เล่ม 1 เดือน ตุลาคม-มีนาคม ขาดเดือน มกราคม.  กรุงเทพฯ  :  ต้นฉบับ,  2540.

 

พรทิพย์  วัฒนสุวกุล.  พระราชกรณียกิจอย่างสังเขป.  พระนคร  :  โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2533.

 

. พลายน้อย.  กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคกรุงเทพฯ  :  เมืองโบราณ,  2530.

 

แสงสูรย์ ลดาวัลย์.ร.ว.  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์.  กรุงเทพฯ  :  ม.ป.ท, 2527.

 

สุนทรี  อาสะไวย์และคณะ. กระบวนพยุหยาตราชลมารค.  กรุงเทพฯ  :  สถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,  2542.

หมายเลขบันทึก: 345078เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2010 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รัชกาลที่ ๕ ทรงพระอารมณ์แจ่มใสดีจังเลย อย่างนี้ถึงได้บริหารประเทศไปได้ฉิว

ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่ดีมากๆนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท