(1) นวัตกรรมการฟื้นฟูเด็กพิการในชุมชน


การฟื้นฟูเด็กพิการในชุมชน

 

วันที่.รอคอย (1) 

          เมื่อน้องเดือนเกิดมา พ่อแม่ก็รับรู้ว่าน้องเดือน มีความผิดปกติหลายอย่าง จากคำบอกเล่าของแพทย์และพยาบาล เพราะน้องเดือนเกิดมามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติมาก   มีอาการตัวเขียว ซึ่งเป็นอาการของเด็กที่ขาดออกซิเจนขณะคลอด จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดนานถึง 3 เดือน  และเมื่อน้องเดือนมีสุขภาพกายดีขึ้น แพทย์อนุญาตให้ออกจากตู้อบ แต่กลับเป็นข่าวร้ายสำหรับพ่อแม่น้องเดือน เมื่อแพทย์แจ้งให้ทราบว่า การนำเด็กเข้าตู้อบเป็นเวลานาน และการได้รับออกซิเจนมากเกินไป อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางสายตาหรือบกพร่องทางการเห็นได้ หลังจากน้องเดือน รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจนถึงระยะปลอดภัยแพทย์ก็อนุญาตให้กลับบ้าน

         ถึงแม้น้องเดือนจะมีความบกพร่องทางการเห็น แต่พ่อแม่น้องเดือน กลับทุ่มเทแรงกายแรงใจเลี้ยงดูน้องเดือน ด้วยความรักความเมตตา และเอาใจใส่ อย่างไม่ย่อท้อ จนสุขภาพของน้องเดือนดีขึ้นเป็นลำดับ

         พัฒนาการของเด็กทั่วไประยะ 3-5 เดือน จะสามารถคืบคลาน พลิกตัวได้เอง แต่สำหรับน้องเดือนแล้วพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติ พ่อแม่จึงนำน้องเดือนไปพบแพทย์อีกครั้งและแพทย์ได้ทำการตรวจสุขภาพ พบว่าน้องเดือน มีกล้ามเนื้อขาทั้ง 2 ข้าง อ่อนปวกเปียก ไม่มีแรงที่จะพยุงให้ร่างกายให้คืบคลานได้เลย

                พ่อแม่ก็นำน้องเดือนมาเลี้ยงต่อที่บ้าน ด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างดี จนกระทั่งน้องเดือนอายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง ในเวลานั้น พ่อแม่น้องเดือนได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ ในการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและการเตรียมความพร้อม  ของเด็กพิการทุกประเภท   และประกอบกับมีครูการศึกษาพิเศษได้บริการช่วยเหลือเด็กพิการ

                พ่อแม่จึงมาพบครู   เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาของน้องเดือน  จากการพูดคุยกับครูในวันนั้นทำให้พ่อแม่เกิดความหวัง ครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต   โดยเฉพาะความช่วยเหลือ ด้านการกระตุ้นพัฒนาการโดยครอบครัวซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลย

                หลังจากนั้นจึงได้วางแผนงานร่วมกับครูในการจัดทำแผนการให้บริการเฉพาะครอบครัว(IFSP ) เพื่อกระตุ้นพัฒนาการทุกด้านของน้องเดือน โดยเฉพาะทักษะการเคลื่อนไหวและการสื่อสาร   มีการจัดทำอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกกระตุ้นพัฒนาการ   จัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ

                เมื่อเวลาผ่านไป   หลังจากมาพบครูการศึกษาพิเศษ   ด้วยความดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ในการฝึกกระตุ้นพัฒนาการของกล้ามเนื้อขาทั้ง   2   ข้างแข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจนกระทั่งน้องเดือนสามารถ นั่งทรงตัวได้   เกาะยืนได้   และก้าวเท้าไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจในตนเองสูง   พ่อแม่ จึงมีกำลังใจที่จะฝึกกระตุ้นพัฒนาการน้องเดือนในขั้นต่อไป

                ต่อมา เมื่อครูการศึกษาพิเศษได้มา  ติดตามผลพัฒนาการของน้องเดือน   พ่อแม่ได้สร้างความประหลาดใจ  ให้กับครูเป็นอย่างมาก   ที่สามารถทำให้น้องเดือน  มีการเปลี่ยนแปลงในเวลาอันรวดเร็ว   แม้จะไม่เท่าเทียมกับเด็กปกติ  จึงได้ร่วมกับครูการศึกษาพิเศษ  จัดทำแผนการให้บริการเฉพาะครอบครัว(IFSP )

ฝึกกระตุ้นพัฒนาการ  ในขั้นสูงต่อไป   จนกระทั่งน้องเดือนมีอายุเพิ่มขึ้น น้องเดือนก็สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามแผนการให้บริการเฉพาะครอบครัว(IFSP ) ที่วางไว้  นอกจากนั้นยังพบว่า  น้องเดือนมีการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์   สังคมและสติปัญญา  ไปในทางที่ดีเกือบใกล้เคียงกับเด็กปกติ  โดยสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆได้ดังนี้ 

ผลจากการฝึกกระตุ้นพัฒนาการโดยเครื่องช่วย(ภูมิปัญญาท้องถิ่น)

                กระบอกหมุน       เป็นนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำมาประยุกต์ใช้ ในการฝึกเดินของเด็กที่มีพัฒนาการเกาะยืนและเริ่มก้าวเท้าเดิน แต่การทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ยังไม่ประสานกันดีและเด็กขาดความมั่นใจ

         ก่อนฝึกเดินโดยใช้กระบอกหมุน   เด็กไม่สามารถเกาะยืน  ยืนทรงตัว และเดินด้วยตนเองได้

         หลังฝึกเดินโดยใช้กระบอกหมุน เด็กสามารถเกาะยืน ยืนทรงตัว และเดินภายในบ้านโดยสามารถบอกตำแหน่งเครื่องใช้หรือสัมผัสหรือเลือกใช้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ สามารถเดินขึ้น-ลงพื้นต่างระดับ ขึ้น-ลงบันได ได้ด้วยตนเองอย่างคล่องแคล่วและปลอดภัย เดินผ่านทางแคบหรือประตูหรือบริเวณที่มีสิ่งกีดขวางได้ปลอดภัย และสามารถเดินบริเวณพื้นดิน ที่มีสนามหญ้ารอบ ๆ บริเวณนอกบ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย ด้วยตนเองได้ สามารถเดินถือสิ่งของที่มีน้ำหนัก 1,000 กรัม ได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย 

         ราวไม้  เป็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น  ใช้ในการฝึกเดินเพื่อให้รู้ทิศทางและช่วยในการก้าวเท้าเดินในแนวเดียวกัน ไปทางขวา-ซ้าย ตามต้องการ

         ก่อนฝึกเดินโดยใช้มือเกาะราวไม้  เด็กไม่สามารถเดินไปตามทิศทางที่กำหนดได้

         หลังฝึกเดินโดยใช้มือเกาะราวไม้  เด็กสามารถเดินโดยใช้มือทั้ง 2 ข้างเกาะราวไม้ไปตามทิศทางที่กำหนดได้ เช่น เดินไปข้างหน้า เดินถอยหลัง เดินไปแนว ซ้าย – ขวา และสามารถเดินโดยใช้มือข้างใดข้างหนึ่ง เกาะราวไม้เดินไป-กลับได้ในระยะ 3-6 เมตรอย่างปลอดภัย

        ย่องแย่ง เป็นนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น  ที่นำมาประยุกต์ใช้   ในการฝึกทรงตัวและเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคง และยังลดพฤติกรรมการกดตาของเด็ก ใช้เล่นเป็นกิจกรรมบทบาทสมมติ

       ก่อนฝึกเดินทรงตัวและการเคลื่อนไหวโดยใช้ย่องแย่ง เด็กไม่สามารถเดินทรงตัว และเคลื่อนไหวด้วยตนเอง โดยแกว่งแขนทั้ง 2 ข้างได้

       หลังฝึกเดินทรงตัวและการเคลื่อนไหวโดยใช้ย่องแย่ง เด็กสามารถเดินทรงตัวและเคลื่อน-ไหวด้วยตนเอง โดยแกว่งแขนทั้ง 2 ข้างได้ และยังพบว่าขณะที่เด็กเดินทรงตัวและเคลื่อนไหวไป-มาด้วยตนเองนั้นมือทั้ง  2 ข้างจะต้องจับย่องแย่งพาดไว้บนไหล่หรือบนบ่า ทำให้เด็กลดพฤติกรรมการกดตาได้อีกด้วย

        รถกระป๋องนำทาง  เป็นนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น(การละเล่นพื้นบ้าน)ที่นำมาประยุกต์ใช้แทนไม้เท้าขาว ในการนำทางเดินไปยังเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้เทคนิคการป้องกันตนเองจากสิ่งกีดขวางในเส้นทางที่คุ้นเคยได้อย่างปลอดภัย

        ก่อนฝึกเดินโดยใช้รถกระป๋องนำทาง เด็กเดินภายในบ้านได้โดยผู้ปกครองต้องช่วยเหลือหรือเดินอย่างขาดความมั่นใจและชนสิ่งกีดขวางบ่อย ๆ

       หลังฝึกเดินโดยใช้รถกระป๋องนำทาง เด็กสามารถเดินภายในบ้านได้ด้วยตนเองและเดินอย่างมั่นใจและผ่านสิ่งกีดขวางภายในบ้านได้อย่างปลอดภัย  สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นอย่างดี

       ราวบันได เป็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น  ใช้ในการฝึกเดินขึ้น-ลงทางต่างระดับ

      ก่อนฝึกเดินขึ้น-ลงบันไดโดยใช้ราวบันได เด็กขึ้น-ลงบันไดหรือทางระดับโดยผู้ปกครองช่วยเหลือ

      หลังฝึกเดินขึ้น-ลงบันไดโดยใช้ราวบันได  เด็กขึ้น-ลงบันไดหรือทางระดับโดยการสลับเท้าได้ด้วยตนเองอย่างปลอดภัย

       มือจับและม้านั่ง  เป็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น  ใช้ในการฝึกเดินขึ้น-ลงพื้นต่างระดับ ทำให้เดินสามารถเดินขึ้น-ลง พื้นต่างระดับอย่างปลอดภัยด้วยตนเอง  ทำให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

       ก่อนฝึกเดินโดยใช้มือจับและม้านั่ง เด็กเดินขึ้น-ลงพื้นต่างระดับโดยผู้ปกครองช่วยเหลือหรือหยุดนั่งพักและค่อย ๆ หมุนตัวแล้วใช้มือทั้ง 2 ข้างดันตัวให้ลุกขึ้นยืนและเดินต่อไปได้หรือหยุดนั่งพักและห้อยขาทั้ง 2 ข้างลงแล้วใช้มือทั้ง 2 ข้างดันตัวเองให้ลุกขึ้นยืนก่อนก้าวเท้าเดินไปข้างหน้าต่อไป

        หลังฝึกเดินโดยใช้มือจับและม้านั่ง เด็กสามารถเดินขึ้น-ลงพื้นต่างระดับได้โดยใช้มือข้างที่ถนัดจับมือจับ และก้าวเท้าที่ถนัดขึ้นบนม้านั่ง ใช้มืออีกข้างเกาะหรือจับที่เสาบ้านและก้าวเท้าที่เหลือขึ้นไปยังพื้นต่างระดับด้วยตนเองได้อย่างรวดเร็วมั่นคงและปลอดภัย

        หลังจากครูการศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ร่วมมือกับผู้ปกครอง ฝึกกระตุ้นพัฒนาการ จนทำให้น้องเดือนสามารถมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าในทุกทักษะ เช่น ทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา ทักษะการสื่อสาร ทักษะทางสังคม ทักษะการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน ทักษะทางวิชาการและทักษะการสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม(O&M)

        ผู้อำนวยการ พ่อแม่ ครูการศึกษาพิเศษและทีมสหวิชาชีพ ได้ร่วมกันประเมินพัฒนาการ น้องเดือน และสรุปผลพัฒนาการในทุกทักษะ น้องเดือน  ผ่าน  ในระดับดีมาก ทุกทักษะ สามารถส่งต่อไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น ในโรงเรียนเฉพาะความพิการ

        จึงขอขอบคุณ ศาสตราจารย์วิริยะ  นามศิริพงศ์พันธ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ  ที่ได้สนับสนุนงบประมาณในการช่วยเหลือ  ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช  พ่อแม่ ครูการศึกษาพิเศษและทีมสหวิชาชีพและน้องเดือนที่ให้ความร่วมมือในการฝึกกระตุ้นพัฒนาการเป็นอย่างดี

                                                                    อุบลรัตน์  นำนาผล  เรียบเรียง

หมายเลขบันทึก: 344859เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ต้องขอบคุณ

"ครูการศึกษาพิเศษ"และ"ครูอ้วน"แทนน้องนะคะ

ได้มีโอกาส..ทำสิ่งดีๆ

 

สวัสดีค่ะครูอ้วน

ภูมิปัญญาท้องถิ่นก็มีประโยชน์มาก

และก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องเดือน

ขอให้มีพัฒนาการโดยไวนะค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท