เงิน เงิน ทอง ทอง


เรียนรู้ด้วยกัน
ทัศนะของนักกฎหมายอิสลามต่อการประกอบธุรกิจแบบเครือข่าย
นักกฎหมายอิสลามได้ให้คำวิน ิจฉัยเกี่ยวกับการทำธุรกิจแบบเครือข่ายจากกรณีของบริษัทบิสเนสและอื่นๆ โดยเป็นการตอบคำถามทั้งในรูปของทัศนะส่วนบุคคลและสภาหรือที่ประชุมนักนิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งส่วนหนึ่งของทัศนะดังกล่าวมีดังต่อไปนี้

1-มัจมะอฺ อัลฟิกฮฺ อัลอิสลามี (สภานิติศาสตร์อิสลาม)ได้ให้คำวินิจฉัยว่า-การเข้าร่วมกับบริษัทบิสเนสและอื่นๆที่เป็นบริษัทธุรกิจแบบเครือข่ายไม่เป็นที่อนุญาตในศาสนาอิสลามเพราะถือว่าเป็นการพนัน-ระบบของบริษัทบิสเนสและบริษัทอื่นที่คลายกันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงนายหน้าตามที่บริษัทอ้างด้วยเหตุนี้ทางสภาจึงขอเสนอให้ฝ่ายต่างๆที่รับผิดชอบให้ใบอนุญาตในประเทศมุสลิมทำการยึดใบอนุญาตคืนจากบริษัทที่ดำเนินการในรูปเครือข่ายดังกล่าว.และควรสอบถามสภานิติศาสตร์อิสลามก่อนที่จะดำเนินการอนุญาตในเรื่องดังกล่าว.(12)

2- คำวินิจฉัยของคณะกรรมการถาวรแห่งที่ประชุมนักหะดีษ ( لملتقى أهل الحديث اللجنة الدائمة)ได้กล่าวถึงธุรกิจระบบเครือข่ายว่า “แท้จริงแล้วการทำธุรกิจประเภทนี้เป็นที่ต้องห้าม ทั้งนี้เพราะเป้าหมายหลักของธุรกิจนี้คือเม็ดเงินไม่ใช่สินค้า เม็ดเงินอาจจะเป็นล้านในขณะที่ราคาสินค้าไม่เกินร้อย คนมีสติทุกคนหากมีการเสนอระหว่างสองสิ่งดังกล่าว แน่นอนเขาจะต้องเลือกเม็ดเงิน ด้วยเหตุนี้บริษัทจะใช้วิธีโฆษณาสินค้าโดยการบอกถึงจำนวนเม็ดเงินที่ใหญ่ที่ผู้เข้าร่วมจะได้รับและจูงใจด้วยกำไรที่เกินคาดเทียบกับราคาสินค้าที่เล็กน้อย ดังนั้นสินค้าที่ขายจึงเป็นเพียงฉากและทางที่จะไปสู่เม็ดเงินและกำไร. (13)

3- ศูนย์ฟัตวาภายใต้การดูแลของ ดร.อับดุลลอฮฺ อัลฟะกีฮฺ ได้ตอบคำถามของผู้ถามว่า “หลังจากที่เราได้ศึกษาระบบของบริษัท(ที่ท่านถาม)พบว่าไม่เป็นที่อนุญาตให้ทำธุรกรรมกับบริษัทนี้เพื่อหากำไรผ่านการโฆษณาและค้าขายสินค้าของบริษัท เพราะว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมไม่ได้มีเป้าหมายในสินค้า แต่มีเป้าหมายในเม็ดเงินที่จะได้จากการหาสมาชิกใหม่ และพวกเขาอาจสำเร็จได้เงินที่เท่าหรือมากกว่าที่ลงทุนไป หรืออาจไม่ได้อะไรเลยและนี้ก็คือการพนันนั้นเอง ธุรกรรมนี้อยู่ระหว่างการได้และเสีย และสินค้าเป็นเพียงตัวกลางจึงไม่มีผลใดๆเลย(14).

4- คำประกาศของที่ประชุมสมัชชาคณะกฎหมายอิสลามมหาวิทยาลัย อัซซัรกออฺครั้งที่6 ซึ่งมีการจัดประชุมเมื่อวันที่23-25 เดือนญุมาดิลอาคิเราะฮฺ 1425 ฮิจเราะฮฺ ตรงกับวันที่ 12/8/2004 ได้มีการพูดคุยเรื่องปัญหาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในปัจจุบัน ซึ่งในหัวข้อที่8 ที่ประชุมมีมติดังนี้ สมัชชามีความเห็นว่า “การทำธุรกรรมกับบริษัทที่ทำธุรกิจแบบเครือข่ายต่างๆที่มีการดำเนินการในรูปแบบพีระมิดไม่เป็นที่อนุญาตเพราะธุรกิจรูปแบบนี้ประกอบด้วยธุรกรรมที่มีการพนัน(มุกอมะเราะฮฺ) ความไม่ชัดเจน (ญะหาละฮฺ) หลอกลวง (ตัฆรีร) และทำให้แรงงานเยาวชนสูญสินไปกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวเขาและสังคมอย่างแท้จริง และเพราะเหตุว่ามันนำมาซึ่งกำไรอันน้อยนิดแต่การขาดทุนที่มากมาย. พร้อมกันนี้ทางสมัชชาได้ประกาศจุดยืนให้ฝ่ายที่มีอำนาจรับผิดชอบทบทวนการอนุญาตให้บริษัทประเภทนี้ได้ประกอบการเพราะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ(15).

5- ดร.สามี สุวัยลิม ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์อิสลาม ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับบริษัทควิสท์(Quest)ของฮ่องกง ซึ่งมีรูปแบบคือเมื่อบุคคลพอใจกับบริษัทหรือสินค้าของบริษัท เขาก็จะลงทะเบียนในเว็บไซท์ของบริษัท โดยกรอบรายละเอียดของตัวเองและหมายเลขของผู้แนะนำ พร้อมกับจ่ายค่าลงทะเบียนสิบดอลลาร์และรับหมายเลขรหัสของตัวเองโดยถูกบรรจุภายใต้สายของผู้แนะนำ การลงทะเบียนเพียงอย่างเดียวจะยังไม่มีแต้ม เมื่อบุคคลนั้นซื้อสินค้าจะถูกบันทึกแต้มให้แก่ผู้แนะนำโดยที่สินค้าแต่ชนิดจะมีแต้มต่างกันเมื่อสะสมแต้มถึงหกแต้มผู้แนะนำก็จะได้เงิน250ดอลลาร์ เป็นเช่นนี้เรื่อยไปเป็นชั้นๆซึ่งดร.สามีได้ตอบว่าธุรกิจรูปแบบนี้ก็คือธุรกิจแบบเครือข่ายซึ่งถือเป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม) (16) นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับธุรกิจแบบเครือข่ายโดยยังมีคำวินิจฉัยจากอีกหลายท่านหลายเว็บไซท์ซึ่งล้วนแล้วแต่เห็นว่าการดำเนินธุรกิจแบบเครือข่ายนั้นเป็นที่ต้องห้ามในศาสนาอิสลาม.

สาเหตุของการห้าม เหตุผลหรืออิลละฮฺที่บรรดานักกฎหมายอิสลามต่างมองว่าการทำธุรกิจรูปแบบนี้เป็นที่ต้องห้าม(หะรอม)นั้นอาจสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้

1- เป็นธุรกิจที่มีองค์ประกอบในเรื่องดอกเบี้ยทั้งนี้เพราะสมาชิกใช้เงินเพียงเล็กน้อยในการสมัครเป็นสมาชิกแต่ผลที่ได้รับเป็นการแลกเปลี่ยนด้วยเงินที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีลักษณะการขายแบบซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินกับเงินหรือแลกกับสินค้าบวกเงินซึ่งหากเงินที่มาพร้อมกับสินค้ามีมากกว่าหรือเท่ากับกับเงินที่ใช้ซื้อนักปราชญ์ทั้งสี่มัซฮับเห็นตรงกันว่าเป็นริบาและต้องห้ามและหากน้อยกว่าทัศนะส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าเป็นที่ต้องห้ามเช่นเดียวกัน โดยเป็นปัญหา(มัสอะละฮฺ)ที่มีชื่อเรียกในทางฟิกฮฺว่า “มัดดุ อัจวะ(17).ในอัลกุรอานอัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสไว้ความว่า “แท้จริงพระองค์ทรงอนุญาตการซื้อขายและทรงห้ามริบา”. (18)

2 ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มีการหลอกลวง คลุมเครือและเป็นการพนัน เพราะมีการใช้กลยุทธ์ต่างๆในการดึงสมาชิก มีการโฆษณาชวนเชื่อและหลายบริษัทก็มีการโกงสมาชิก ผู้อยู่ส่วนบนของเครือข่ายก็มีการใช้แรงและผลงานของคนที่อยู่ด้านล่างของสายทั้งที่บางครั้งคนที่อยู่ด้านล่างสายอาจขายได้มากกว่าหรือมีผลงานมากกว่า นอกจากนี้ยังเป็นการพนันหรือการเสียงโชคเพราะผู้เข้าร่วมอาจหาสมาชิกใหม่ได้ก็จะได้แต้มหรืออาจจะหาไม่ได้ก็จะขาดทุน อัลลอฮฺได้ตรัสในอัลกุรอานว่า “ ) يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالأَنصَابُ وَالأَزْلاَمُ رِجْسٌ مِّنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ(ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย แท้จริงเหล้า การพนัน หินที่เชือดสัตว์เพื่อบูชา และไม้เสี่ยงทาย เป็นส่วนหนึ่งของการงานของซัยตอน พวกเจ้าจงหลีกห่าง”(19) อัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 9 ท่านนบีมุฮำหมัด(ศล)ก็ได้กล่าวว่า “قال عليه الصلاة والسلام : "من غش فليس مني ความว่า “ ใครที่ฉ้อโกงเขาก็ไม่ใช่ประชาชาติของฉัน”.(20)

3- เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการบริโภคทรัพย์ของผู้อื่นโดยมิชอบ เพราะมีเก็บค่าสมาชิกโดยมิได้มีสิ่งแลกเปลี่ยน บางบริษัทอาจมีค่าสมัครที่มากโดยที่สมาชิกไม่ได้อะไรเลยโดยเฉพาะหากสมาชิกดังกล่าวไม่อาจหาสมาชิกเพิ่มหรือขายสินค้าได้ และคนที่ได้กำไรที่แท้จริงก็คือบริษัทนั้นเองอัลลอฮฺได้ตรัสว่า ( قوله تعالى: يا أيها الذين آمنوا لا تأكلوا أموالكم بينكم بالباطل ) ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย พวกเจ้าจงอย่ากินทรัพย์ระหว่างพวกเจ้าโดยไม่ชอบธรรม”. (21)

4- ผลิตภัณฑ์ไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของการเข้าร่วมซื้อสินค้าหรือเป็นสมาชิกแต่เป้าหมายหลักคือเม็ดเงินและรายได้ที่อาจเป็นจริงหรือเลื่อนลอยก็ได้ หลักของฟิกฮฺ กล่าวว่า (العبرة في العقود بالمقاصد والمعاني لا الالفاظ والمباني ) ความว่า “การทำข้อตกลงต่างๆนั้นต้องดูที่เจตนาและความหมายไม่ใช่คำพูดหรือ รูปแบบโครงสร้างภายนอก”.

(12) www.mishkat .net
(13) http://ahlalhdeeth.com/vb/showthread.php?p=167266
(14)http://webcache.dmz.islamweb.net.qa/ver2/Fatwa/ShowFatwa.php?lang=A&Option=FatwaId&Id=19359
(15)www.zpu.edu.jo/services/conferences/financial_in_islamic_view.htm - 8k -
(16) www.islamtoday.net/questions/show_question_content.cfm?id=22445 - 36k-
(17)หนังสือ อัลมุฆนี แต่งโดยอิบนุ กุดามะฮฺ โรงพิมพ์ ฮัจร์ ไคโร พมพ์ครั้งที่สอง ปี 1992 เล่มที่ 6 หน้า 92-95มัดดุ อัจวะห์ คือการซื้อขายแลกเปลี่ยน สิ่งที่มีสาเหตุริบาเดียวกัน เช่นทองกับทอง หรือเงินแลกเงิน โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิ่งอื่นร่วมด้วย เช่น การซื้อขายทองหนึ่งบาทแลกกับทองหนึ่งบาทบวกกับผลอินทผาลัมหนึ่งลิตรเป็นต้น
(18) อัล- บะกอเราะห์ อายะฮฺที่ 275
(19) อัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 9
(20) รายงานโดยมุสลิม หมายเลข เศาะฮีฮฺมุสลิม .......
(21) อันนิสาอฺ อายะห์ที่29
หมายเลขบันทึก: 344068เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2010 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การเกื้อกูลกันและกันเป็นรูปแบบหนึ่งของการประกอบธุรกิจแบบเครือข่าย(ในความคิดของฉัน)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท