อยากได้วิทยากรที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าบรรยาย...!


บันทึกนี้ขออนุญาตนำคำถามที่มีคุณค่ายิ่งจากคุณรัชดาที่ได้ให้โอกาสให้ผม "ตอบ" มาให้ทุกท่านได้อ่าน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


 

เรียน... คุณปภังกรค่ะ


ก่อนอื่นแนะนำตัวก่อนนะคะ ดิฉันชื่อ รัชดา ค่ะ เพิ่งมาทำงานด้านพัฒนาคุณภาพได้ไม่นานค่ะ แต่ก็มีอุปสรรคนิดหน่อยค่ะ คือได้รับมอบหมายให้จัดอบรมการให้ความรู้เรื่อง KM และ R2R และจัด workshop ด้วยค่ะ แต่ไม่รู้จะหาวิทยากรที่ไหนดีค่ะ พอดีเป็นมือใหม่ค่ะ ยังไม่มีประสบการณ์เลยค่ะ จึงอยากขอคำแนะนำจากคุณปภังกรค่ะ อยากได้วิทยากรที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าบรรยายค่ะ ไม่ทราบว่าคุณปภังกรพอจะแนะนำได้มั้ยคะ รบกวนขอคำปรึกษาหน่อยนะคะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ


รัชดา


 

สวัสดีครับคุณรัชดา

สำหรับคำถามของคุณรัชดาที่ถามมานั้นผมขออนุญาตแบ่งแยกตอบเป็นประเด็นนะครับ ประเด็นแรกคือ ผมจะตอบแบบไม่ตรงกับคำถามที่คุณรัชดาถาม และประเด็นที่สองก็คือผมจะตอบตามที่คุณรัชดาถาม ซึ่งผมขออนุญาตตอบแบบไม่ตรงคำถามก่อนเพราะว่ามันยาวกว่าคำตอบในประเด็นที่สองคือตรงกับคำถามที่คุณรัชดาถามมากครับ

ประเด็นที่หนึ่ง (ตอบไม่ตรงคำถาม)
จากประเด็นที่คุณรัชดาเล่าให้ฟังว่า “เพิ่งมาทำงานด้านพัฒนาคุณภาพได้ไม่นานค่ะ แต่ก็มีอุปสรรคนิดหน่อยค่ะ คือได้รับมอบหมายให้จัดอบรมการให้ความรู้เรื่อง KM และ R2R และจัด workshop ด้วยค่ะ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยคที่ว่า “อยากได้วิทยากรที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าบรรยายค่ะ”

 
ในขั้นแรก ผมจึงขออนุญาตถามคุณรัชดาเพิ่มเติมอีกสักนิดหนึ่งว่า องค์กรที่คุณรัชดาทำงานอยู่นั้นเป็นองค์กรประเภทใดครับ ขออนุญาตแบ่งง่าย ๆ เป็น 3 ประเภทดังนี้ครับ คือ เป็นหน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน (ของไทย) และบริษัทเอกชนของต่างประเทศ
เพราะว่าวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละประเภทที่ผมแยกไว้กว้าง ๆ นี้แตกต่างกันค่อนข้างมากครับ ซึ่งนั่นจะส่งผลถึงกระบวนการ (Process) ที่จะต้องเลือกใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นของ “วิทยากร” ที่จะต้องเลือกให้เหมาะสมต่อไป ซึ่งผมขออธิบายคร่าว ๆ ดังนี้

1. ถ้าหน่วยงานของคุณรัชดาเป็นหน่วยงานราชการ คุณรัชดาก็ไม่ต้องห่วงอะไรมากครับ เพราะแค่ “ทำตามที่เขียน แล้วก็เขียนตามที่ทำ” คือ เขาจะให้จัด Workshop ก็จัดไปครับ ไม่ต้องคิดอะไรมาก แล้วผมก็บอกตามตรงว่าผมไม่แนะนำให้คุณรัชดาทำตามความฝันที่ตั้งเป้าไว้ว่า “อยากได้วิทยากรที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าบรรยายค่ะ” เพราะว่ามันไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของหน่วยงานราชการ 

หน่วยงานราชการ (ซึ่งผมขออนุญาตพูดในภาพกว้าง ๆ นะครับ) ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มุ่งหวังที่ผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแท้จริงจาก KM หรือ R2R อะไรมากนัก ผู้บริหารของหน่วยงานราชการรวมถึงพนักงานที่รับผิดชอบก็จะทำไป “ตามกระแส” เข้าฮิตอะไรก็ทำไปตามนั้น หรือว่าเป็นสิ่งที่ถูกบังคับให้ทำ ก็คือ ทำแล้วมีคะแนนให้ คะแนนจาก KPI ต่าง ๆ ที่เขียนไว้ในเอกสารคู่มือประกันคุณภาพ ซึ่งผมคิดว่าคุณรัชดาคงจะได้มีส่วนร่วมร่างเอกสารฉบับนั้น แล้วตอนนี้ก็กำลังกลุ้มใจว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผลงานตามแผนนั้น ซึ่งผมก็ย้ำคำตอบอีกครั้งว่า ขอเพียงคุณรัชดา “ทำตามที่เขียน แล้วก็เขียนตามที่ทำ” ชีวิตของคุณรัชดาก็จะมีความสุขกับงานประกันคุณภาพนี้ครับ

ผมขออนุญาตพูดตรง ๆ (ตามประสบการณ์ของผมที่เคยทำงานประกันคุณภาพให้กับหน่วยงานราชการ) เขาไม่ชอบให้เราทำอะไรคิดใหม่ทำใหม่ คิดแปลก ทำแปลก ถึงแม้นว่าเราจะคิดดีและทำดี มันไม่คุ้มค่าที่คุณรัชดาจะเอาความสุขสงบของชีวิตไปแลกกับมหันตภัยในอนาคตที่จะถูกอัดลงมาทั้งจากผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานหรอกนะครับ

เขาให้ทำอะไรก็ทำไป บรรยายก็บรรยาย Workshop ก็ Workshop ตาม KPI เขียนหรือบังคับอะไรไว้ก็ทำตาม KPI นั้นให้สมบูรณ์ ทำให้หน่วยงานได้คะแนนเยอะ ๆ ก็สุดยอดแล้วครับ

ที่ผมแนะนำให้เห็นรัชดาทำนี้อาจจะดูว่าเป็นเหมือนการเห็นแก่ตัว ไม่รู้จักอุทิศชีวิต ทุ่มเทให้กับหน่วยงาน ซึ่งนั่นเป็นความจริงครับ ใครได้อ่านสิ่งที่ผมเขียน หรือได้ฟังสิ่งที่ผมพูด เขาก็ต้องคิดไปอย่างนั้น แม้แต่ผมเองก็ยังคิดว่าเป็นอย่างนั้นเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่จะว่าว่าเราเห็นแก่ตัว เขาก็ไม่ทำหรอกครับ เรื่องการคิดใหม่ทำใหม่ในหน่วยงานราชการ (ไทย) นั้นเป็นอุดมคติ ถ้าทำงานในหน่วยงานราชการไทยแล้วขอให้เลือกกินข้าวแทนครับ อย่าไปเลือกกินอุดมคติเลย

2. ถ้าหน่วยงานหรือองค์กรที่คุณรัชดาทำงานอยู่นั้นเป็นบริษัทเอกชน (ของไทย) ก็ขอให้คุณรัชดาพิจารณาอย่างนี้นะครับว่า หน่วยงานธุรกิจเขาตั้งขึ้นมาเพื่อหวังกำไร ดังนั้น กิจกรรมใดที่คุณรัชดาทำแล้วทำให้เขาเห็นกำไร (โดยรูปธรรม) ซึ่งนั่นคือตัวเลขซึ่งเป็น “ตัวเงิน” แล้วนั้น ขอให้คุณรัชดาตั้งใจทำให้เต็มที่

แต่ในส่วนของ KM โดยเฉพาะการจัด Workshop นั้น ผู้บริหารบริษัทเอกชนจะเห็นแต่ตัวเลขทางด้านเครดิตของบัญชีทรัพย์สิน ก็คือ มีแต่เงินสดลดลง แล้วก็เห็นยอดเดบิตในบัญชีค่าใช้จ่าย ก็คือมีแต่ซื้อโน่น ซื้อนี่ จ่ายค่าวิทยากรบ้าง จ่ายค่าห้องประชุม จ่ายค่าอาหารอะไรต่าง ๆ จิปาถะ ซึ่งคุณรัชดาจะไม่มีโอกาสนำตัวเลขใด ๆ มาลบล้างตัวเลขสินทรัพย์และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนี้ได้เลย

เพราะหน่วยงานย่อยที่คุณรัชดารับผิดชอบอยู่ถือว่าเป็น “หน่วยงานสนับสนุน (Support unit) ซึ่งทำหน้าที่พนักงานส่วนหน้าทั้งฝ่ายตลาดและฝ่ายบริการลูกค้า ดังนั้น เวลาที่จัดอบรมอะไร หรือการประกันคุณภาพใด ๆ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้นเป็น “รูปธรรม” เสมอ แต่ผลกำไรที่บริษัทได้เพิ่มขึ้นนั้นจะเป็นเพียง “นามธรรม” ของฝ่ายประกันคุณภาพเสมอเช่นเดียวกัน

หรือจะตอบแบบตรง ๆ อย่างนี้ก็ได้ครับว่า ถ้าเกิดคุณรัชดาทำ Workshop แล้ว ในรอบบัญชีของบริษัทนั้น ๆ ดันเกิดมีกำไรขึ้นมา ผลกำไรที่เกิดขึ้นจะถูกเทไปให้ “ฝ่ายการตลาด” แต่ถ้าในรอบบัญชีนั้นเกิดขาดทุนขึ้นมา ค่าใช้จ่ายในการจัด Workshop ที่คุณรัชดาใช้ไป ก็จะกลายเป็น Talk of the town ของผู้บริหารได้ในข้ามคืน (Talk of the town ก็จะแปรสภาพเป็นซองขาวได้นะครับ)

ผมขอย้อนกลับไปที่ข้อ 1 สักเล็กน้อย คือ ถ้าเป็นหน่วยงานราชการ เขาจะไม่มีการมาคิดกำไรขาดทุน เดบิต เครดิตอะไรให้วุ่นวายหรอกครับ เขาจะดูแค่ว่า ผลการประเมินรอบนี้หน่วยงานของเรามีคะแนนเท่าไหร่ เปรียบเทียบกับจังหวัดต่าง ๆ แล้วอยู่ลำดับที่เท่าไหร่ เปรียบเทียบในระดับภาคแล้วเป็นอย่างไร มีคะแนนสามารถทำให้ผู้บริหารส่วนกลางชื่นชมและเลื่อนตำแหน่งให้ได้ไหม ถ้าคุณรัชดาทำคะแนน KPI ในส่วนที่คุณรัชดารับผิดชอบจนผู้บริหารหน้าชื่นตาบานได้ ชีวิตการทำงานในหน่วยงานราชการก็จะเจริญก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด
 
3. ถ้าหน่วยงานของคุณรัชดาเป็นองค์กรข้ามชาติคือหน่วยงานของคุณรัชดามีผู้บริหารและเจ้าของเป็นชาวต่างประเทศแล้ว ก็ขอให้คุณรัชดาทำตามความฝันได้อย่างเต็มที่ เพราะสิ่งที่คุณรัชดาคิดนั้นเป็นความคิดที่ผู้บริหารต้องการ

ผู้บริหารชาวต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้น เขาชอบแนวคิดแบบของคุณรัชดามาก ถ้ายิ่งคุณรัชดาเอาจริงเอาจัง จัดการประชุมกลุ่มย่อย ทำ workshop นำทฤษฎีโน้น ทฤษฎีนี้มาปรับปรุงการทำงาน ทำให้โรงงานเขามีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ทำให้บุคลากรในบริษัทเขามีกิจกรรมแบบนี้มาก ๆ และสามารถโชว์ผลงานได้เป็นรูปธรรมแล้ว ผมก็ขอเชียร์และสนับสนุนแนวคิดที่ของคุณรัชดาที่ว่า “อยากได้วิทยากรที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าบรรยายค่ะ” อย่างเต็มที่ครับ เพราะผู้บริหารต่างชาติเข้ามองมิติของการบริหารงานกว้างกว่าบริษัทเอกชนที่บริหารโดยคนไทยที่อะไรอะไรก็คิดแต่ “กำไร”

ผู้บริหารต่างประเทศเข้ามองว่าพนักงานทุกคนคือหุ้นส่วน คือเพื่อนร่วมงาน อะไรที่จะทำให้เพื่อนร่วมงนของเขาก้าวหน้า มั่นคงและมีความสุข เขาพร้อมที่ทุ่มเทจะทำ (Shareholder wealth maximization)

และถ้าเกิดหน่วยงานของคุณรัชดาเป็น “รัฐวิสาหกิจ” จะจัดเข้าอยู่ในประเภทใด สำหรับประสบการณ์ของผม (ซึ่งอาจจะผิด) ผมก็ให้คุณรัชดาจัดเข้าอยู่รวมกับประเภทที่ 1 คือหน่วยงานราชการครับ เพราะว่าจิตใจของความเป็นหุ้นส่วน (Stakeholders) ของบุคลากรในหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจนั้นเหมือน ๆ กันครับ คือ สบาย ๆ ความมั่นคงสูง ไม่ต้องอะไรมาก แถมรัฐวิสาหกิจเงินเดือนดีและมั่นคงกว่าอีกต่างหาก ถ้าอยู่ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแล้วได้ทำ km ก็ไม่ต้องคิดอะไรมากครับ ทำไป ทำไป

ประเด็นที่สอง (ตอบตรงคำถาม)
อยากขอคำแนะนำว่าอยากได้วิทยากรที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าบรรยายค่ะ พอจะแนะนำได้มั้ยคะ
ผมขอตอบแยกเป็นสองข้อนะครับ


ข้อแรก ถ้าในการเริ่มต้น วิทยากรที่จะบรรยายเรื่อง KM ได้ดีที่สุด ก็ต้องยกให้ สคส. (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม http://www.kmi.or.th)
ครับ เพราะ สคส. เป็นหน่วยงานตรงที่รับผิดชอบหลักเรื่อง KM ของบ้านเราครับ
และถ้าให้ระบุตัวคนลงไปเลย ก็ขอแนะนำ 2 คนครับ
คนที่หนึ่ง ก็เป็นท่านผู้อำนวยการ สคส. คือ ท่าน ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด
คนที่สอง คือ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ (สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข) 
ที่ผมแนะนำท่านอาจารย์ทั้งสองท่านนี้ถือว่าเป็นเหตุผลส่วนตัวนะครับ คือ ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยฟังใคร แล้วก็เป็นพวกฟังใครบรรยายไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่มีคนที่ผมฟังบรรยายเรื่อง KM รู้เรื่องก็มีอยู่ 2 คนนี่แหละครับ

ข้อที่สอง เรื่องของวิทยากรที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าบรรยาย ผมขอตอบตรง ๆ และจริง ๆ ว่า ผมยังไม่เห็นใครที่พาทำ KM ในการปฏิบัติมากกว่าบรรยาย... ("บรรยายได้เงิน พาปฏิบัติได้โล่")

สุดท้ายนี้ผมขออนุญาตนำคำถามและคำตอบของคุณรัชดานี้ลงไปบันทึกไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในบล็อก “ความรู้คือพลัง” (http://gotoknow.org/blog/papangkorn) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่มีคำถามหรือสนใจในคำตอบที่ผมกล่าวถึงทั้งหมดนี้

ขอบพระคุณคุณรัชดาเป็นอย่างสูงครับสำหรับคำถามที่ทรงคุณค่ายิ่งนี้
เพราะถ้าคุณรัชดาไม่ถาม ผมก็ไม่มีโอกาสได้ตอบ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ
13 มีนาคม 2553


 

 

ป.ล. ผมตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องการเข้าไปทำงาน KM ในหน่วยงานราชการในบันทึกต่อไป ถ้าเขียนเสร็จแล้วจะแจ้งให้ทราบในเมลล์ฉบับต่อไปครับ ขอบพระคุณในโอกาสอีกครั้งหนึ่ง

คำสำคัญ (Tags): #km#r2r#วิทยากร
หมายเลขบันทึก: 344037เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2010 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาอ่าน..โดนใจหลายพยางค์...โดยเฉพาะช่วงตอบแบบไม่ตรงคำถาม..นี่ตรงและจริงใจ..ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลและความคิดเห็น..ขอให้คุณปภังค์กรดูแลสุขภาพด้วยค่ะ

คุณปภังกรทำไมรู้จริง รู้ลึกในหน่วยงานราชการขนาดนั้น ก็โรงเรียนครูต้อยอบรม KM ไปตั้งนานแล้ว แนะนำ Gotoknow ให้คณะครู แต่หาครูที่จะเขียนบันทึกได้ไม่กี่คน ครูต้อยเองก็บันทึกแค่ไม่กี่ครั้ง เอาไว้เวลาจะถูกประเมินค่อยมาทำแบบไฟไหม้ฟางกันอีกซักที พอดีช่วงนี้ใกล้จะปิดเทอม เลยพอมีเวลามาอ่านบล็อก แล้วจะรออ่านเรื่อง KM ในหน่วยราชการนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท