คลังเร่งการบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณ


เงินนอกงบประมาณ

นายแพทย์พฤฒิชัย  ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาในโครงการวิจัยเรื่อง บทบาทของเงินนอกงบประมาณกับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ โดยกรมบัญชีกลางร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (ส.ว.ค.) วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2553 ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่น โรงแรมรามาการ์เด้น  กรุงเทพฯ

นายแพทย์พฤฒิชัย  ดำรงรัตน์  กล่าวภายหลังเปิดงานสัมมนาว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งนโยบายกระทรวงการคลังในการเร่งรัดการบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณ  ที่มีทรัพย์สินสูงถึง 1.89 ล้านล้านบาท โดยได้
มีการวิจัยเรื่อง บทบาทของเงินนอกงบประมาณกับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ  และจะมีการจัดเวทีเสวนา   เพื่อศึกษาบทบาทในการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการภาครัฐ รวมถึงการใช้เงินนอกงบประมาณเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการด้านการเงิน การคลังของประเทศ ซึ่งจะทำให้เพิ่มเสถียรภาพทางการเงินการคลังภาครัฐ   โดยจะนำข้อคิดเห็นจากการสัมมนาและจากผลการวิจัยของ ส.ว.ค. มาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการ กำหนดโครงสร้างการบริหารและการควบคุม กำกับ ดูแล การติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณของภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

 นายแพทย์พฤฒิชัย  ดำรงรัตน์  กล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงานการเงิน ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มูลค่าสินทรัพย์ของเงินนอกงบประมาณประเภททุนหมุนเวียน  มีจำนวนสูงประมาณ 1.89 ล้านล้านบาท จำนวน 107 ทุน โดยครอบคลุมทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การเงิน การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และการเมืองการปกครอง และ
เงินนอกงบประมาณประเภทเงินฝาก ได้แก่ เงินฝากคลัง ประมาณ 160,879.82 ล้านบาท และเงินฝากธนาคารพาณิชย์  ประมาณ 91,000 ล้านบาท   เช่น เงินบำรุงโรงพยาบาล เงินบำรุงสถานศึกษา   เงินช่วยเหลือ และเงินฝากบูรณะทรัพย์สิน  ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมากหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ก็จะทำให้เสียประโยชน์อย่างมาก  ซึ่งเรื่องนี้
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 170  ก็ได้มีการบัญญัติไว้ชัดเจนเช่นกัน สำหรับกรณี
เงินรายได้ของหน่วยงานใดที่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน หน่วยงานมีหน้าที่ต้องทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อสิ้นปีงบประมาณทุกปี และการใช้จ่ายเงินดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังด้วย  และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่9 กุมภาพันธ์ 2553 ได้มอบให้กระทรวงการคลัง
โดยกรมบัญชีกลางทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องตามรูปแบบรายงาน  และดำเนินการวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน
ในภาพรวมของประเทศทั้งระบบ  เสนอ ครม. เพื่อรายงานให้สภาพผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบในภาพรวมทั้งหมดต่อไป  

“ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลอย่างมากในการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่มีผลต่อเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ”  นายแพทย์พฤฒิชัย กล่าวตอนท้าย

หมายเลขบันทึก: 343692เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2010 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 05:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมเห็นด้วยกับการสัมมนา เพราะเงินนอกงบประมาณจะกินกันเป็นระบบ ส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ส่วนราชการใดที่มีเงินนอกเยอะหน่อย

ก็ส่งลูกน้องตัวเองเป็นหัวหน้า เพื่อจะได้รับทรัพย์ให้เปรม ผมเป็นแค่ข้าราชการตัวเล็ก แต่ก็จะพยายามกีดกันเท่าที่ทำได้บางครั้งก็ได้บ้างเพราะผมรู้เยอะก็เลยไม่กล้าเอาผมออกจากการเงินและเราซื่อตรงมารก็เลยไม่กล้าผจญ แต่บางครั้งก็เศร้าใจและต้องอดทนทำใจ เราควรจะดำเนินการเรื่องนี้ได้ตั้งนานแล้ว เรามัวทำอะไรกันอยู่ ปล่อยให้เค้าทำกันขนาดนี้ไม่ต้องถามหรอกว่าหมดไปเท่าไหร่ โธ่...ประเทศไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท