โครงการเชิงรุก รูปแบบการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กอายุ 0-3 ปี ด้วยวิถีมุสลิมโดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง : กรณีศึกษาชุมชนมุสลิมแห่งหนึ่งใน อ.ยะหริ่ง (มอ.)


โรคฟันผุเป็นปัญหาทันตสุขภาพที่สำคัญของประชาชนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน จากผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 6  ปี พ.ศ. 2549-2550  พบว่า  เด็กกลุ่มอายุ 3 ปี มีอัตราการปราศจากฟันผุ  เท่ากับร้อยละ 38.6  และภาคใต้มีเด็กปราศจากฟันผุ เท่ากับร้อยละ 36.0 (กองทันตสาธารณสุข,2551)  สำหรับจังหวัดปัตตานีมีอัตราการปราศจากฟันผุในเด็กกลุ่มอายุ 3 ปี ในปี 2548 – 2552 เท่ากับร้อยละ 17.3, 20.8, ปี 2550 ไม่มีการสำรวจ, 26.3   และ 32.9 ตามลำดับ  และจากการสำรวจทันตสุขภาพเด็กในอำเภอยะหริ่ง ปี 2548– 2552 พบอัตราการปราศจากฟันผุในเด็กกลุ่มอายุ 3 ปี เท่ากับร้อยละ 1.9,  2.9, ปี 2550 ไม่มีการสำรวจ,  7.4  และ 13.4  ตามลำดับ  (ฝ่ายทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี,2551)   ซึ่งนับว่า  ต่ำ

มากเมื่อเปรียบเทียบกับระดับจังหวัดและประเทศ 

โรคฟันผุในเด็กเล็ก ( Early Childhood Caries หรือ ECC ) มีลักษณะฟันผุหลายซี่ในช่องปากของเด็กเล็ก โดยเฉพาะฟันหน้าบน 4 ซี่  ฟันผุในฟันน้ำนมจะลุกลามจนถึงโพรงประสาทฟันได้รวดเร็วกว่าฟันแท้ เนื่องจากความหนาของเคลือบฟันและเนื้อฟันมีน้อยกว่า  โรคฟันผุเป็นโรคติดเชื้อ เนื่องจากสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ โดยสามารถถ่ายทอดเชื้อจากแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็กสู่ลูกได้  ผลกระทบของการมีฟันผุในฟันน้ำนม นอกจากจะเกิดความเจ็บปวด การติดเชื้อและปัญหาการบดเคี้ยวแล้ว ยังมีผลต่อน้ำหนัก และการเจริญเติบโตของเด็ก บุคลิกภาพที่ขาดความมั่น ใจในตนเอง และอาจมีผลต่อการเกิดฟันผุและพัฒนาการของฟันแท้ด้วย  ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดฟันผุใน

ฟันน้ำนม  ได้แก่  ตัวฟัน อาหาร และเชื้อจุลินทรีย์  นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ระบบภูมิคุ้มกัน

พฤติกรรมการเลี้ยงดู การทำความสะอาด  พฤติกรรมการบริโภคอาหาร  พฤติกรรมการกินนมขวด  ฐานะทางเศรษฐกิจและการศึกษาของพ่อแม่ รวมทั้งประวัติการมีฟันผุของคนในครอบครัว  จากการศึกษาพฤติกรรมการดูแลทันตสุขภาพเด็กของมารดา/ผู้เลี้ยงดูเด็กไทยมุสลิมที่มารับบริการในคลินิกเด็กดีโรงพยาบาลยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีของ นาริศา  หีมสุหรี(2550)  พบว่า มารดา/ผู้เลี้ยงดูเด็กมีพฤติกรรมการเช็ดเหงือกและฟันให้ลูก ร้อยละ 56.7 โดยเช็ดทุกวันเพียงร้อยละ 27.4 เท่านั้น เด็กแปรงฟันทุกวันร้อยละ35.3  ร้อยละ 18.4 ที่เด็กแปรงฟันเองก่อนแล้วผู้ใหญ่แปรงซ้ำ พฤติกรรมการกินนมขวด พบว่า ร้อยละ 31.9 ของเด็กเคยกินนมขวดเท่านั้นที่ดื่มน้ำตาม เป็นประจำ ร้อยละ 32.8 ปล่อยให้ลูกหลับคาขวดนมเป็นบางครั้ง   ร้อยละ 22.1 เท่านั้นที่เลิกนมมื้อดึกไม่เกินอายุ 6 เดือน และร้อยละ17.1 ให้ลูกเลิกนมขวดไม่เกินอายุ 1 ปี     

แนวทางที่เหมาะสมสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ควรเน้นไปที่การป้องกันการเกิดฟันผุตั้งแต่ฟันเริ่มขึ้น ซึ่งสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี ช่วยให้สามารถเก็บรักษาฟันให้มีสุขภาพดีและใช้งานได้  เด็กก่อนวัยเรียนยังไม่สามารถดูแลตนเองได้ ในการพัฒนาด้านใด ๆ ก็ตาม ยังต้องการความช่วยเหลือสนับสนุนเป็นอย่างมากจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่มีบทบาทในการดูแลเอาใจใส่และสร้างพฤติกรรมที่ถูกต้องให้แก่เด็ก

               โรงพยาบาลยะหริ่งได้มีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนมาตั้งแต่ปี 2536 โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การให้ทันตสุขศึกษาแก่มารดาหรือผู้ปกครองที่พาเด็กมารับวัคซีนในคลินิกเด็กดี การตรวจฟันเด็ก รวมถึงการแจกแปรงสีฟันอันดับแรกของหนูแก่เด็กที่มารับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่หนึ่ง เป็นต้น แต่จากผลการสำรวจทันตสุขภาพ ยังพบว่า มีปัญหาฟันผุในเด็กเล็กสูงมากในอำเภอยะหริ่ง   แสดงว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาที่เน้นกระบวนการให้ความรู้แก่พ่อแม่นั้นยังไม่สามารถสร้างความตระหนักรู้และมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากลูกที่ดีได้  คงจะต้องอาศัยการส่งเสริมสุขภาพช่องปากอย่างเป็นองค์รวมถือเป็นกิจกรรมดำเนินการที่มีความ

สำคัญอย่างยิ่ง  เพราะการดูแลสุขภาพช่องปากนั้นจำเป็นต้องอาศัยทั้งกระบวนการส่งเสริม ป้องกัน  รักษา  และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งจากเจ้าหน้าที่ทันตบุคลากร เจ้าหน้าที่สาธารณ

สุขรวมถึงผู้ปกครอง บุคคลในครอบครัว   ครูหรือผู้ดูแลเด็กที่ต่างต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบและมีการดำเนินการสร้างเสริมทันตสุขภาพในเชิงบูรณาการอย่างต่อเนื่อง   เนื่องจากโรคในช่องปากเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้  หากมีการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้อง  ดังที่ จอนสัน  พิมพสาร และวิไลวรรณ  ทองเกิด (2551 )   กล่าวว่า  การที่จะแก้ปัญหาทันตสุขภาพในระดับชุมชนจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจระบบสุขภาพโดยรวม  วิถีชีวิต  ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆให้ถ่องแท้  จึงจะสามารถกระตุ้นและส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมที่จะดูแลสุขภาพของตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องได้

ร้อยละ 95 ของประชากรอำเภอยะหริ่ง  นับถือศาสนาอิสลาม โดยมีคัมภีร์อัลกรุอานและอัลหะดีษ เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต  ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างได้ทรงประทานลงมาให้แก่มวล

มนุษยชาติ การยึดมั่นและปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัดและครบถ้วนสมบูรณ์ จะนำพาให้ชีวิตของมนุษย์ไปสู่ความผาสุกได้โดยแท้จริง มิใช่เฉพาะ  ชีวิตในปรโลกเท่านั้น แต่หมายถึงชีวิตในโลกนี้(ดุนยา)ด้วยเช่นกัน  อิสลามถือว่า  “ร่างกายเป็นของขวัญจากพระผู้เป็นเจ้า  การรักษาสุขภาพนั้นเป็นหน้าที่ (วายิบ) สำหรับมนุษย์” ดังนั้นเมื่อเจ็บป่วยจึงต้องรักษาไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม ส่วนการหายของโรคนั้น ขึ้นอยู่กับการกำหนดสภาวการณ์จากพระผู้เป็นเจ้า  กระบวนการรักษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลการรักษานั้น  การเกิดโรคหรือความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่อัลลอฮ ทรงกำหนดมา เพื่อเป็นบททดสอบว่า  จิตใจของคนคนนั้นมีความยึดมั่นในวิถีทางของมุสลิมมากเพียงใด  นอกจากนี้อิสลามถือว่า  ลูกๆนั้นเป็นสิ่งทดสอบจากอัลลอฮ และเป็นหน้าที่รับผิดชอบ(อามานะห์)ของพ่อแม่ในการอบรมเลี้ยงดูลูก  อบรมเรื่องศาสนาและดูแลเรื่องสุขภาพ ทั้งทางกาย จิตใจ และทางสติปัญญาควบคู่ไปด้วย รวมถึงการให้ลูกๆได้รับอาหารที่ฮาลาล(อนุมัติ)และให้คุณค่าทางโภชนาการ(ต๊อยยีบัน) อย่างครบถ้วนก็ถือเป็นหน้าที่ของผู้เป็นพ่อแม่เช่นเดียวกัน  อิสลามให้ความ

สำคัญต่อสุขภาพช่องปาก โดยถือว่า “ปากคือประตูแห่งสุขภาพ” หากสุขภาพช่องปากดีจะมีส่วนส่งเสริมให้มีสภาวะร่างกายจิตใจโดยรวมดีไปด้วย  ท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “แท้จริงฟันนั้น คืออัญมณีที่ขาวสะอาด มันจะเกิดความสกปรกด้วยเหตุจากการเคี้ยวอาหาร และด้วยสาเหตุดังกล่าว กลิ่นปากก็จะเปลี่ยนแปลงไป และจะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นในโพรงจมูก (ประสาทดมกลิ่น) แต่เมื่อมนุษย์แปรงฟัน ความเสียหายดังกล่าวก็จะหมดไป และมันจะคืนสู่สภาพเดิม”  และท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) ยังกล่าวอีกว่า “ท่านทั้งหลายจงทำความสะอาดฟันเถิด เพราะแท้จริงมันคือส่วนหนึ่งของความสะอาด และความสะอาดนั้นคือ ส่วนหนึ่งของความศรัทธา(อีมาน) และความศรัทธานั้นจะอยู่ร่วมกับเจ้าของของมันในสวรรค์” ากรรม ส่วนการหายของโรคนั้น ขึ้นอยู่กับการกำหนดสภาวการณ์จาก

          หาก เราสามารถเชื่อมโยงหลักศาสนากับการดูแลสุขภาพช่องปากได้  เราก็คาดหวังว่าจะ เกิดการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนในการดูแลสุขภาพช่องปาก          ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาถึงการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและเครือข่ายในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กอายุ 0-3 ปี  ด้วยวิถีมุสลิม และการพัฒนารูปแบบวิธีการในการดูแลสุขภาพช่องปาก เด็กอายุ  0-3 ปี ด้วยวิถีมุสลิมโดยผู้ปกครองที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม  โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ( Participatory  Action Research ; PAR)  เนื่องจากรูปแบบดังกล่าวเปิดโอกาสให้ชุมชน/กลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของชุมชน/กลุ่มเป้าหมายด้วยความสมัครใจ โดยเริ่มต้นจากการร่วมศึกษาสภาพปัญหา  ร่วมวิเคราะห์ปัญหา  ร่วมหาแนวทางการแก้ปัญหา และลงมือปฏิบัติ   แล้วมาร่วมติดตามและประเมินผล  สะท้อนผลการปฏิบัติเพื่อปรับปรุง/แก้ไข ต่อไป  ซึ่งผลการศึกษาวิจัยที่ค้นพบเป็นความรู้เชิงปฏิบัติการที่ได้จากการสืบค้นแบบมีส่วนร่วมระหว่างมุมมองของคนใน ( emic view ) ซึ่งหมายถึงคนในชุมชน และ คนนอก (etic view ) ซึ่งหมายถึงผู้วิจัยจากภายนอก   โดยนำหลักศาสนาและวิถีมุสลิมมาใช้ในการแก้ปัญหา ตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของอำเภอยะหริ่ง ปี 2553 ที่นำหลักศาสนานำการสาธารณสุขมาใช้ในการแก้ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่  เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินงาน  และส่งผลให้เด็กอายุ 0 -3  ปี  มีสภาวะสุขภาพช่องปากที่ดีในอนาคต

ระเบียบวิธีวิจัยและรูปแบบการศึกษา 

                @  ขอบเขตของประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

v   ประชากร      :   ประชาชนหมู่ 2 ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี 

v   กลุ่มตัวอย่างและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง    :  โดยการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง  (Purposive Sampling) ซึ่งพื้นที่เป้าหมายเป็นเขตเทศบาล การคมนาคมสะดวก 

      ลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท  ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มี

      แนวทางการดำเนินชีวิตตามวิถีมุสลิมและเป็นพื้นที่ที่ผู้วิจัยมีความคุ้นเคย

      เนื่องจากเคยดำเนินงานทันตสาธารณสุขในพื้นที่มาแล้ว

v   กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ปกครองที่มีลูกอายุ 0-3 ปี และสมัครใจเข้าร่วมโครงการ  จำนวน 15 - 20  คน และเครือข่าย จำนวน 8-10 คน ที่ได้จากการสรรหา

                @  เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  ( Participatory Action Research; PAR)  

                 - ทีมวิจัย ประกอบด้วย ทีมวิจัยภายนอก ได้แก่  ผู้วิจัย/ทันตบุคลากร/เจ้าหน้าที่  

                สาธารณสุข จำนวน 4 คน และทีมวิจัยภายในชุมชนซึ่งได้จากการสรรหา จำนวน  4-5 คน

                โดยมีขั้นตอนการวิจัย  ดังนี้

                1. ผู้วิจัย (ทีมวิจัยภายนอก) เลือกพื้นที่ศึกษาแบบเจาะจงเข้าพบผู้นำชุมชนเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการวิจัยและสรรหาทีมวิจัยภายในชุมชนรวมถึงผู้ปกครองที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ และเครือข่าย

                 2.  จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแก่ทีมวิจัยเกี่ยวกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

 ( Participatory Action Research; PAR) และเทคนิคการเป็นวิทยากรกระบวนการ(moderator)/

การเป็นผู้จดบันทึก(note taker)/การสังเกตแบบมีส่วนร่วม ( Participation  Observation ) ในการจัดการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion)และการสัมภาษณ์ เจาะลึก( In-depth Interview ) 

                3.  จัดประชุมทีมวิจัยเพื่อร่วมวางแผนเกี่ยวกับรูปแบบการวิจัย/ขั้นตอนการวิจัย/การเก็บรวบรวมข้อมูล/เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูล

                4. ทีมวิจัยภายในและภายนอกร่วมศึกษาบริบทชุมชนวิถีมุสลิมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ปกครอง และเครือข่าย

- บริบทของชุมชน

- วิถีมุสลิมและบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพช่องปาก

- อื่นๆ

5. ทีมวิจัยภายในและภายนอกร่วมศึกษาสถารการณ์ปัญหา ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพช่องปากเด็กอายุ 0-3 ปี

- สภาวะสุขภาพช่องปากของเด็ก

- ความรู้/ทัศนคตื/พฤติกรรม ความคิด ความเชื่อเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากของกลุ่มเป้าหมายและของบุตร

-ระบบบริการ

 

 

6. ทีมวิจัยภายในและภายนอกร่วมจัดประชุมผู้ปกครองและเครือข่าย   นำเสนอข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันวิเคราะห์และกำหนดปัญหา / ค้นหาทางเลือกในการแก้ปัญหา และตัดสินใจเลือกทางเลือกในการแก้ปัญหาด้วยวิถีมุสลิม

7.  ทีมวิจัยภายในและภายนอกจัดประชุมผู้ปกครองและเครือข่ายเพื่อวางแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาด้วยวิถีมุสลิมโดยใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วม

8.  ผู้ปกครองร่วมปฏิบัติการตามกิจกรรม ที่ได้ จากการประชุมในขั้นตอนที่ผ่านมา

9.  ทีมวิจัยภายในและภายนอกจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ หลังจากที่ผู้ปกครองปฏิบัติการตามกิจกรรม ที่ผ่านมา  ร่วมติดตามและประเมินผลโดยสะท้อน

ผลการปฏิบัติเป็นระยะทุกเดือน  เพื่อปรับปรุงและดำเนินการในเดือนถัดไป

10.  ทีมวิจัยภายในและภายนอก  ผู้ปกครองและเครือข่าย ร่วมกันถอดบทเรียน(AAR)ที่ได้ จากการปฏิบัติที่ผ่านมาเพื่อ

@ กำหนดรูปแบบวิธีการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กอายุ 0-3ปี ด้วยวิถีมุสลิมโดยผู้ปกครองที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม

-          การทำความสะอาดฟันเด็ก

-          พฤติกรรมการบริโภคอาหาร

-          พฤติกรรมการกินนมขวด

-          อื่นๆ

@ สิ่งที่เป็นแรงจูงใจ/อุปสรรคในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กรวมถึงวิธีการจัดการกับอุปสรรคนั้นๆ

                11. ทีมวิจัยภายในและภายนอก  ผู้ปกครองและเครือข่าย ร่วมประเมินผลการมีส่วนร่วม

 ในประเด็น         

- ระดับการมีส่วนร่วม

- ความพึงพอใจต่อกระบวนการและผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

- เงื่อนไข ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและเครือข่าย ในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กอายุ 0-3 ปี  ด้วยวิถีมุสลิม

@ การเก็บรวบรวมข้อมูล

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  :  แบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลทันตสุขภาพเด็กโดยผู้ปกครอง/แนวคำถามการสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์เจาะลึก/ แบบสังเกตพฤติกรรม/แบบสอบถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและความพึงพอใจต่อวิธีการที่ใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วม

วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล  :   โดยการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion)   การสัมภาษณ์ เจาะลึก( In-depth Interview )  การสังเกตแบบมีส่วนร่วม ( Participation  Observation )  และใช้การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-Structure Interview) โดยมีการบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวและบันทึกเสียง  

@  การควบคุมคุณภาพของข้อมูล  : 

1.  ใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า(Triangulation) โดยข้อมูลเดียวกันทำการตรวจสอบซ้ำจากแหล่งที่มามากกว่า 1 แหล่งด้วยวิธีการที่แตกต่างกันมากกว่า 1 วิธีซึ่งข้อมูลที่ได้ต้อง ให้ผลที่สอดคล้องกัน

2.  การคัดผู้ให้สัมภาษณ์ต้องเป็นผู้ที่สามารถชี้ประเด็นต่างๆได้ชัดเจนตรงตามวัตถุประสงค์การวิจัย

3.  การขจัดสิ่งที่มีผลทำให้ข้อมูลบิดเบือนจากตัวผู้วิจัย  โดยผู้วิจัยสร้างความคุ้นเคยกับกลุ่มเป้าหมายและเครือข่าย  ใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสารและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของ กลุ่มเป้าหมายและเครือข่าย 

@  การวิเคราะห์ข้อมูล  :   โดยผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่ได้  ด้วยการจับประเด็นสำคัญ ตามแนวทางการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และนำเสนอข้อมูลในรูปการบรรยายและนำเสนอข้อความคำพูดประกอบ  

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 

1.  รูปแบบกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการดูแลทันตสุขภาพเด็กอายุ 0-3 ปี  ด้วยวิถีมุสลิม

2.  รูปแบบวิธีการในการดูแลทันตสุขภาพเด็กอายุ 0-3 ปี ด้วยวิถีมุสลิมโดยผู้ปกครองที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม    และนำมาใช้ในการแนะนำ/ให้ทันตสุขศึกษา  ในคลินิกเด็กดี ของโรงพยาบาลและสถานีอนามัยทุกแห่งของอำเภอยะหริ่งต่อไป  

3.  กลุ่มเป้าหมายและเครือข่ายสามารถนำหลักการการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

( Participatory  Action  Research ; PAR)  ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เรื่องอื่นๆต่อไป

หมายเลขบันทึก: 343537เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2010 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ข้อความขาดหายไปค่ะ

ความศรัทธานั้นจะอยู่ร่วมกับเจ้าของของมันในสวรรค์” ากรรม ส่วนการหายของโรคนั้น ขึ้นอยู่กับการกำหนดสภาวการณ์จาก...

ยังไม่มีผลหรือคะ อยากทราบผลค่ะ

นวลนิตย์ สสจ.

รซหละ (สอ.บ้านโคกศิลา)

 ขอดูตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูล (เช่น แบบสอบถาม หรือสัมภาษณ์ ) ได้ไหมคะ

ผู้วิจัย...หมอตี เป็นหญิงเก่งและน่ารักแห่งวงการทันตสาธารณสุข ดินแดนลังกาสุกะครับ เป็นพี่หมอฟันที่น่ารักของน้อง ๆ ในจังหวัดปัตตานี ผมชอบการทำงานวิจัยแบบนี้ครับ ชาวบ้าน และชุมชน ต่างร่วมคิดร่วมขับเคลื่อน(ชาวบ้านคงภูมิใจ ที่ได้ร่วมเป็นผุ้วิจัยด้วย) สร้างกระแสให้ชุมชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของฟันน้ำนม ผู้ปกครอง เป็นผู้มีอิทธิพลต่อลูก การได้ไปนั่งคุย กับชาวบ้าน คงสนุกไม่น้อย ทุกคนมีศักยภาพเป็นของตนเอง ผมว่า ผู้วิจัย คงได้ประสบการณ์มากมาย จากผู้วิจัยร่วม(ผู้ปกครอง) ถึง พฤติกรรม และเหตุผลตามวิถีชาวบ้านในการดูแลทันตสุขภาพของเด็กเล็ก

คงอีกไม่นาน เน้อ เด็ก ๆ ต.ยามู จะปราศจากฟันผุ สู้... กู้ฟันน้ำนม ค๊าบบบบ

เป็นกำลังใจให้พี่ตีนะครับ ไว้ผมจะปรึกษางานวิจัยกับ ปรมาจารย์หมอตี นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท