นิวซีแลนด์... ตอนที่ ๖ บทส่งท้าย


“นิวซีแลนด์ดินแดนแห่งคุณภาพ” นับเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งในสิบ หนึ่งในร้อยของศาสตร์แห่งความรู้ที่ผู้เขียนได้ประสบพบเห็นมา ในบางแง่บางมุมด้วยระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่อาจกล่าวได้ว่า สะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนถึงการสร้างคุณภาพของผู้คนในประเทศนิวซีแลนด์ได้ อย่างครบถ้วน

            การก้าวย่างจากถิ่นพำนักหรือสถานที่ปฏิบัติงานยามปกติไปสู่หลักแหล่งชุมชนแห่งใดแห่งหนึ่งที่มีลักษณะอารยธรรม ความเลิศหรูศิวิไลซ์ด้านวัฒนธรรมที่ผิดแผกแตกต่างไปจากสภาพที่เคยพบเห็นคุ้นตาเป็นประจำ ภายใต้อาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลบนผิวพื้นโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างที่สัมผัสได้ในเบื้องแรกที่พบเห็น อันได้แก่สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ การดำรงชีวิตของผู้คน วิถีการปฏิบัติภาระงาน การอาศัยพลังแห่งเครื่องจักรเครื่องกลเทคโนโลยีอันทันสมัย ซึ่งประกอบขึ้นด้วยความหลากหลายในความสามารถ สำหรับการแบ่งเบาภาระงานของมวลมนุษย์ นับเนื่องได้ว่าเป็นกำไรแห่งชีวิตเฉพาะตนในการเพิ่มเสริมเติมเต็มความแตกฉานทางสติปัญญาของผู้คนที่ได้รับโอกาสดังกล่าว และถือได้ว่าเป็นสิ่งท้าทายความสามารถในการประยุกต์ความรู้อันเป็นโลกทัศน์สากลต่างๆ ไปสู่มิติของการพัฒนาในหลากหลายแขนงสาขาศาสตร์แห่งมวลมนุษย์ โดยเฉพาะในปัจจุบัน โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องการความรู้เป็นฐานในการดำเนินงานควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย มาเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั่วโลก

            ข้อเขียนความเห็นที่นำมาถ่ายทอดเผยแพร่เล่าสู่กันอ่าน ด้วยความยืดยาวหลายตอนในหัวเรื่อง “นิวซีแลนด์ดินแดนแห่งคุณภาพ” นับเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งในสิบ หนึ่งในร้อยของศาสตร์แห่งความรู้ที่ผู้เขียนได้ประสบพบเห็นมา ในบางแง่บางมุมด้วยระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่อาจกล่าวได้ว่า สะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนถึงการสร้างคุณภาพของผู้คนในประเทศนิวซีแลนด์ได้ อย่างครบถ้วน แต่จากหลักฐานในสภาพโดยรวม อาจประเมินได้ว่า คุณภาพของพลเมืองชาวนิวซีแลนด์เกิดขึ้นจากมูลเหตุ ๔ ประการ คือ ประการแรก ระเบียบวินัยในการดำรงชีวิตของผู้คนที่นั่น ประการที่สอง  การส่งเสริมการจัดการศึกษาทุกระดับอย่างเป็นระบบต่อเนื่องกัน ประการที่สาม พัฒนาการในการประกอบสัมมาอาชีพ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปสนับสนุน และประการสุดท้าย การนำทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นจุดขายในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งหากถามว่าสยามประเทศเมืองยิ้มของเรา จะสามารถพัฒนาปรับปรุงคุณภาพประชากรของเราได้หรือไม่ คำตอบในความคิดของผู้เขียนถือได้ว่า เป็นสิ่งท้าทายในการปฏิบัติที่สามารถทำได้ ภายใต้ความร่วมมือร่วมแรง ร่วมใจของทุกฝ่าย โดยผ่านกระบวนการด้านการจัดการศึกษาในอนาคต ซึ่งในเบื้องต้นจะต้องพิจารณาถึงความน่าจะเป็นและความท้าทายที่มีอิทธิพลใน ๓ มิติ คือ มิติแรก ความท้าทายด้านเศรษฐกิจ ลำดับความสำคัญของรัฐบาลในขณะนี้คือ การสร้างเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเป็นพื้นฐานของการแข่งขัน ขณะที่โลกธุรกิจกำลังผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างโกลาหล จากแนวคิดเก่าที่มีการผลิตเป็นจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอ ไปสู่โลกแห่งนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ทุกรูปแบบ ทักษะความสามารถในการปรับตัวและการสื่อสารจะต้องเป็นกิจกรรมสนับสนุนที่ทุกๆคนทุกๆฝ่าย ในภาคธุรกิจจำเป็นจะต้องมีความ สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง มีความมั่นใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีความสามารถที่จะมองดูภาพรวม ในความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นของอนาคต ความคิ ดที่ว่าจะประสบความสำเร็จได้ด้วยนักวิทยาศาสตร์ นัเศรษฐศาสตร์และนักเทคโนโลยีที่ฉลาดปราดเปรื่องอย่างเดียว เป็นเรื่องไร้สาระ ปัจจัยสำคัญน่าจะเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์และความสามารถ ในการยืดหยุ่นต่อการทำงาน มิติที่สอง ความท้าทายทางด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าเราท่านจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ขณะนี้วิถีชีวิตของเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างมหาศาล โลกแห่งการศึกษาเพื่อความเท่าทันกำลังได้รับการร้องขอ ให้มีการเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง เพื่อเผชิญกับโลกแห่งเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่การทำงานด้วยกำลังคน ในแบบเก่าๆ มิติที่สาม ความท้าทายทางสังคม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตทางสังคมด้านต่างๆ การจัดการศึกษาในหลากหลายรูปแบบ จะช่วยให้เด็กเยาวชนและประชาชนมั่นใจในการก้าวเข้าร่วมกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ต้องมีการสร้างความตระหนัก ถึงความจำเป็นในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ความจำเป็นในการสนับสนุนความสามารถทางสติปัญญาและความสามารถส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว ไม่น่าจะเพียงพอ ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมประชาธิปไตย น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สูงสุด

            สำหรับยุทธศาสตร์ในด้านการศึกษาเพื่อสนองตอบมิติในความท้าทายทั้งสามประการ ที่สมควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลโดยรวมของประเทศ คือยุทธศาสตร์เพื่อเสริมสร้างทักษะสำคัญอย่างน้อย ๖ ประการคือ (๑) ทักษาะในการสื่อสาร (๒) ทักษะในความเข้าใจและประยุกต์ใช้ตัวเลขสถิติต่างๆ (๓) ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (๔) ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (๕) ทักษะในการแก้ปัญหา และ(๖) ทักษะในการพัฒนาปรับปรุงความสามารถในการเรียนรู้การทำงานของตนอย่างสร้างสรรค์

            สถาบันหรือหน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจในการพัฒนาสมรรถนะของเด็ก เยาวชน ประชาชนในทุกกลุ่ม ทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย จะต้องร่วมมือร่วมใจกัน ผนึกกำลังเพื่อพัฒนาคุณภาพประชากรในองค์รวมของสยามประเทศ ให้ก้าวไปสู่ความเป็นดินแดนแห่งคุณภาพ โดยความสำเร็จและความล้มเหลว ย่อมเป็นภาระของนักพัฒนาและนักการศึกษา ในแวดวงชาวกระทรวงศึกษาธิการโดยถ้วนทั่วกัน.....

หมายเลขบันทึก: 342788เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 00:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท