ก้าวสำคัญในการพัฒนาสตรีไทยสู่โลกสากล


“นักยกน้ำหนักหญิงจากประเทศเล็กๆ ในตะวันออกเฉียงใต้ของเอเซีย ที่มีพื้นที่น้อยกว่ารัฐเท็กซัส แต่สามารถทำผลงานได้สุดยอด โดยคว้า ๒ เหรียญทอง และ ๒ เหรียญทองแดง ทั้งๆ ที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกายังไม่เคยได้เฉียดกรายสัมผัสเหรียญจากกีฬาประเภทนี้มาเลย”

                  ความโดดเด่นแห่งสมรรถนะของสตรีไทยได้ฉายแสงเจิดจรัสขึ้น  ในทามกลางมนุษยชาติอีกครั้งหนึ่ง  ตลอดระยะเวลา ๒-๓ สัปดาห์ของเดือนสิงหาคม ปี ๒๐๐๔  อันคลาคล่ำไปด้วยความชุ่มเย็นของละอองฝนและปุยเมฆที่ปกคลุมแผ่นฟ้าของสยามประเทศ  รวมทั้งโปรยปรายความยินดีปรีดาปราโมทย์ให้แผ่ซ่านไปถ้วนทั่ว  ในดวงใจของมวลหมู่ชนชาวไทยทั้งปวง  ด้วยข่าวความอหังกาหาญกล้าของสตรีไทยที่สร้างความฮือฮามหัศจรรย์ขึ้นในเวทีโลก  จากชัยชนะอันใหญ่ยิ่งและกรรมสิทธิ์ครอบครองอันชอบธรรม  ในเหรียญทองบ้างเหรียญทองแดงบ้าง  เหรียญแล้วเหรียญเล่าในกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ที่รวบรวมผู้คนทั้งชายหญิงจากหลากหลายภูมิภาคกว่า ๒๐๐ ประเทศทั่วโลก  นับเป็นความชื่นชมยินดีที่หลั่งไหลกันมาดุจสายธาร  มีทั้งมาลัยน้ำใจที่เกิดจากดวงจิตอันบริสุทธิ์  รวมทั้งมาลัยแห่งรางวัลและสรรพสิ่งอันสูงค่าทางวัตถุต่างๆ ที่เกลื่อนกล่นมากมาย ชื่อของสตรีไทยนามว่า อุดมพร พลศักดิ์ หรือ น้องอร กับ ปวีณา ทองสุก หรือ น้องไก่  ที่คล้องเหรียญทอง รวมทั้ง อารีย์ วิรัฐถาวร กับวันดี คำเอี่ยม ที่คล้องเหรียญทองแดง จากพลังการยกน้ำหนัก และกลายเป็นกลุ่มสตรีไทยผู้พลิกผันประวัติศาสตร์  ที่สำนักข่าวดังอย่างเอพีได้รายงานข่าวกระหึ่มไปทั่วโลกว่า “นักยกน้ำหนักหญิงจากประเทศเล็กๆ ในตะวันออกเฉียงใต้ของเอเซีย ที่มีพื้นที่น้อยกว่ารัฐเท็กซัส แต่สามารถทำผลงานได้สุดยอด โดยคว้า ๒ เหรียญทอง และ ๒ เหรียญทองแดง ทั้งๆ ที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกายังไม่เคยได้เฉียดกรายสัมผัสเหรียญจากกีฬาประเภทนี้มาเลย” นอกจากนี้ยังมีน้องวิว หรือ เยาวภา บุรพลชัย คว้าเหรียญทองแดงจากการต่อสู้ในกีฬาเทควันโด และอาจจะมีหลายเหล่าสตรีไทยในอีกมากมายหลากหลายแขนง ไม่เฉพาะด้านการกีฬา ที่กำลังทยอยเป็นความหวังในการสร้างชื่อเสียง ให้นามของ Thailand ดังกระหึ่มไปทั่วโลก เป็นเกียรติประวัติแก่อนุชนรุ่นถัดไป

                เกียรติประวัติของสตรีไทยในลักษณะเช่นนี้มิใช่เรื่องแปลกใหม่   แต่ในอดีตที่ผ่านมา ไทยเรามีทั้งวีรกษัตรีผู้ห้าวหาญ ดังเช่น สมเด็จพระศรีสุริโยทัย  ซึ่งเสียสละพลีชีพในสงครามยุทธหัตถี วีรกรรมหาญกล้าในการพิทักษ์ปกป้องรักษาเอกราชของไทย ที่ผู้นำสตรีเยี่ยงท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรแห่งเมืองถลาง ท้าวสุรนารีหรือคุณหญิงโมแห่งเมืองโคราช  รวมทั้งสตรีไทยผู้ยืนแถวหน้าในฐานะหนึ่งเดียวแห่งจักรวาลความงาม ที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติความสามารถเฉพาะตัวที่โดดเด่น เช่น อาภัสรา หงสกุล และภรณ์ทิพย์  นาคหิรัญกนก แม้แต่สตรีไทยในแขนงสาขาอื่นที่มิได้เอื้อนเอ่ยไปถึงอีกมากมาย  ล้วนแล้วแต่มีสมรรถนะเป็นพลังภายในที่แฝงเร้นอยู่ภายในกายใจแทบทั้งสิ้น

                ในอดีตของห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา สมรรถนะหรือศักยภาพของสตรีไทย มักถูกสกัดกั้นมิให้มีการแสดงออก เพื่อปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม โดยม่านประเพณีที่สืบต่อกันมา จะโน้มน้าวระบุถึงความแตกต่างระหว่างบุรุษกับสตรีที่มีมาแต่กำเนิดด้วยเรื่องเพศ  หรือเกิดจากเงื่อนไขของสภาพแวดล้อม ที่สังคมแห่งบุรุษมักเป็นผู้กำหนดบทบาทต่างๆ  จึงให้สตรีทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ตามที่มีความสงบเสงี่ยม กิริยามารยาทต้องเรียบร้อยอ่อนโยน ทำเฉพาะกิจส่วนใหญ่ที่เป็นงานบ้าน แม้จะมีสตรีในบางกลุ่มบางท่านได้แสดงพลังความเป็นผู้นำโลดแล่นสร้างสรรค์ให้เกิดความสำเร็จเชิงประจักษ์แก่สังคมในหลายหลากสาขาไปแล้วก็ตาม  บทบาทที่เป็นความคิดเชยๆล้าสมัยดังกล่าวมักเป็นข้อปุจฉาที่สตรีไทยในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงสมัยนี้  เฝ้าพินิจพิจารณาท้วงติงอยู่ตลอดเวลาว่า บทบาทเพียงเท่านี้พอเพียงสำหรับศักยภาพสตรีไทยแน่หรือ?.....ในการศึกษาของ Gilligan นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แ ละคณะได้เสนอมุมมองของสตรีเพศ ที่มีลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะหลายประการ อาทิ  การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงและสนิทสนมคุ้นเคยกับผู้คนต่างๆได้ดี   การชอบความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน   การตัดสินใจในเชิงศีลธรรมมักอยู่บนพื้นฐานของความห่วงใย ที่เน้นบริบทของความสัมพันธ์   เป็นต้น ขณะที่ข้อเขียนของ Rosennerที่ศึกษาเรื่อง นักบริหารสตรี (Noble,1993) พบว่ารูปแบบการเป็นผู้นำที่บุรุษทั้งหลายชื่นชอบ  คือการสั่งและการควบคุม  ในขณะที่สตรีชอบทำงานแบบมีปฏิสัมพันธ์  มีการแบ่งปันอำนาจและข้อมูลซึ่งกันและกัน  แม้กระทั่งเรื่อง การพัฒนามนุษย์ก็มีความโน้มเอียง ให้ความสำคัญแก่บุรุษเพศมากกว่าสตรี อันเนื่องมาจากบุรุษเป็นผู้กำหนดกิจกรรม

                สำหรับก้าวสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะของสตรีไทย  น่าจะถึงเวลาที่จำเป็นจะต้องมีการเริ่มต้นกันอย่างจริงจัง โดยสังคมอันมีบุรุษเป็นกลุ่มชนที่ทรงอำนาจคอยตั้งป้อมสยายปีกกางกั้นด้วยทิฐิแห่งเพศ จะต้องกระทำตนวางจิตให้เป็นกลาง โดยลดพฤติกรรมที่น่ารังเกียจบางประการให้เหลือน้อยลง  ไม่ว่าจะเป็น (๑) พฤติกรรมการมองสตรีแบบเหมารวมที่มีธงในใจว่า  สตรีคือสัญญลักษณ์ของความอ่อนแอ  ความไร้สาระและความวุ่นวายไร้เหตุผล (๒) การสร้างกำแพงความแตกต่างและความไม่เท่าเทียมกันของบุรุษสตรี ที่มิได้คำนึงถึงข้อความจริงที่เกิดขึ้นในบริบทปัจจุบัน (๓) การมองฉาบฉวยเฉพาะเพียงความสวยงามแห่งเรือนกาย แทนการยอมรับในศักยภาพความสามารถของสตรี  รวมทั้งความไม่พร้อมในการทำใจที่จะโค้งศรีษะ เปิดทางให้สตรีก้าวออกไปยืนอยู่แถวหน้าในฐานะผู้นำ และ (๔) การสร้างรูปแบบการกล่อมเกลาเด็กให้ก้าวเดินไปสู่บรรทัดฐานทางสังคม ที่สร้างแบบฉบับเชิงความมีอำนาจ มอบไว้แก่บุรุษในทุกกิจกรรมและทุกช่วงของเวลา

                การพัฒนาสตรีไทยในยุคสมัยนี้จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานในเรื่อง (๑) การยอมรับในคุณค่าความสามารถของสตรีในด้านต่างๆ (๒) การให้โอกาสในการได้เข้าสัมผัสประสบการณ์และกิจกรรมทั้งหลาย ทุกชนิด ทุกประเภทที่เคยระบุว่าเป็นอาณาจักรของบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การทำงาน การประกอบอาชีพ การแสดงความสามารถ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็น โดยปราศจากการสกัดกั้นทั้งทางตรงและทางอ้อม (๓) การให้ความร่วมมือสนับสนุนกิจกรรมสตรีด้วยความจริงใจทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง  และ(๔) การแบ่งปันพลังอำนาจภายใต้ขอบข่ายแห่งความเป็นประชาธิปไตย โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมและพลังความสามารถเป็นหลัก

                สตรีไทยทุกท่านในทุกๆวงการพร้อมหรือยัง?  ที่จะผนึกกำลังสมานสามัคคี ร่วมกันพัฒนาสมรรถนะของกลุ่มสตรีไทยในภาพรวมของมวลชน  ให้ทุกๆท่าน ไม่เฉพาะบางกลุ่มบางท่านสามารถเชิดหน้าก้าวเดินไปยืนอยู่เคียงข้างกับบุรุษทั้งหลาย ด้วยความสง่างามและเชื่อมั่นในพลังแห่งศักยภาพส่วนบุคคลที่ทุกท่านมีอยู่   รวมทั้งพร้อมจะทำหน้าที่ผู้นำในเวลาและโอกาสอันเหมาะสมได้ตลอดเวลา  ภายใต้กรอบวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของสังคมไทย....

(จุลสารสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา ฉบับที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗)

หมายเลขบันทึก: 342740เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

มาชื่นชมพลังสตรีไทยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท