มวยไทย... ศิลปะการต่อสู้และเอกลักษณ์ประจำชาติไทย


แม้ยุคสมัยแห่งกาลเวลาได้เคลื่อนคล้อยผันแปรไปยาวนานเพียงไรก็ตาม มรดกแห่งการต่อสู้ลักษณะนี้ก็ยังยืนยงเป็นเอกลักษณ์ที่สูงค่าของลูกหลานไทยไม่เสื่อมคลาย

             การต่อสู้หรือการแข่งขันเป็นสภาพหรือสถานการณ์ปกติในแวดวงสังคมมนุษย์ทุกกลุ่มทุกหมู่เหล่า  ทั้งการดำเนินการในที่แจ้งอย่างเปิดเผย และดำเนินการลักษณะซ้อนเร้นในทางลับ จึงเสมือนเป็นวิถีชีวิต เพื่อมุ่งหวังให้เกิดสถานภาพสนองความต้องการของตน  ภายใต้เงื่อนไขแห่งการดำรงชีวิตด้วยความสุขที่เป็นนิรันดร์

             สำหรับ “มวยไทย” เป็นการต่อสู้ในลักษณะมือเปล่าที่ใช้อวัยวะประจำร่างกายของมนุษย์ ทั้งมือ เท้า เข่า ศอก ที่ประกอบด้วยเนื้อหนังและกระดูกมาประยุทธ์ใช้ในการป้องกันตัว ด้วยท่วงท่าลีลาที่มีลักษณะสวยงาม อ่อนโยนในการเคลื่อนไหวเรือนร่าง  แต่เมื่อเกิดการปะทะต่อกรกับคู่ปรปักษ์ องค์ประกอบแห่งร่างกายดังกล่าวกลับมีความแข็งแกร่งเป็นอาวุธที่รุนแรง ทั้งการรุกรับ การปกป้องตนเองและการตอบโต้ สร้างความปวดเจ็บขึ้นได้อย่างน่าประหลาด โดยการกำหนดวิธีการแห่งการเคลื่อนไหวที่กล่าวถึงข้างต้น  นับเนื่องได้ว่าเป็นศิลปะการต่อสู้ชั้นสูง ที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาอันฉลาดล้ำลึกของบรรพบุรุษแห่งชนชาติไทย และมีการสืบทอดต่อเนื่องกันจากรุ่นไปสู่รุ่น อันถือได้ว่าเป็นมรดกและเอกลักษณ์ของบรรพชนที่ทรงคุณค่าสำคัญ    ตกตะกอนสืบทอดอยู่ในหัวใจ ร่างกายของชายชาตรีชาวไทย จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน แม้ยุคสมัยแห่งกาลเวลาได้เคลื่อนคล้อยผันแปรไปยาวนานเพียงไรก็ตาม  มรดกแห่งการต่อสู้ลักษณะนี้ก็ยังยืนยงเป็นเอกลักษณ์ที่สูงค่าของลูกหลานไทยไม่เสื่อมคลาย  นอกจากนี้ความจำเป็นในการปกป้องตนเองจากภยันตรายรอบข้างและสายเลือดของความเป็นไทยยังสร้างความนิยมไปสู่กลุ่มสุภาพสตรีนักสู้ชาวไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการนำเผยแพร่ในเชิงเอกลักษณ์วัฒนธรรม จนแพร่หลายเป็นที่นิยมของชนชาติต่างๆเกือบทั่วโลก ในกรอบของกีฬาและวัฒนธรรม ที่สามารถก่อให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ครอบคลุม ทั้งด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) และด้านทักษะพิสัย(Psychomotor Domain)  ซึ่งถือได้ว่ามวยไทย เป็นทั้งกิจกรรมการออกกำลังกาย กีฬาและ อาชีพของผู้คนที่มีใจรัก  ท้าทายความอดทนจากการฝึกฝนอบรม  สร้างระเบียบวินัย  ทำให้กลุ่มบุคคลที่ยึดโยง นำศิลปะการต่อสู้ที่สูงส่งนี้เป็นเส้นทางแห่งการดำรงชีพ โดยกลุ่มผู้คนที่พิสมัยและนำศิลปะการต่อสู้ดังกล่าวไปฝึกฝนใช้ประโยชน์ในฐานะของกีฬาหรือการดำรงชีพจะได้รับการเรียกขานว่า              

          “นักมวย” สำหรับวิถีชีวิตของผู้คนกลุ่มนี้ได้โลดแล่นไปบนผืนผ้าใบ  ภายใต้กรอบสี่เหลี่ยมของเวที ทั้งในเชิงสมัครเล่นและข้ามไปสู่การต่อสู้กับการดำรงชีพบนถนนแห่งความเป็นจริง และในท่ามกลางแวดวงของนักมวยมากหน้าหลายตา พบได้ทั้งความทุกข์และความสุข  ความสมหวังและความผิดหวัง  มีความรุ่งโรจน์ร่ำรวยอันเป็นสุดยอดปรารถนา ด้วยทรัพย์สินที่หลั่งไหลมาบำรุงบำเรอเป็นบรรณาการแก่ผู้มีชัยชนะ นักมวย หลายต่อหลายรายสามารถรักษาสินทรัพย์ ชื่อเสียงให้เพิ่มทวีสูงขึ้น ขณะที่หลายต่อหลายรายได้ก้าวถอยหลังกลับคืนไปสู่ความว่างเปล่าของชีวิต เฉกเช่นชีวิตก่อนเข้าสู่วงการนักสู้

           อะไรคือปัจจัยที่มีอิทธิพลในการแปรเปลี่ยนที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางบนถนนของการต่อสู้  ข้อคำถามที่เกิดขึ้นมีมากมาย  อะไรกันแน่ที่ชี้นำไปสู่ความยั่งยืนแห่งความเจริญของชีวิตนักมวย และอะไรกันแน่คือประเด็นสำคัญในการล่มสลายของชีวิตนักมวย  อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล  หรือสูตรสำเร็จในการดำรงตนด้วยความสุขบนความเจ็บปวด เกี่ยวเนื่องกับหลักธรรมหรือคุณธรรมสำคัญประการใดหรือไม่ เพียงใด

            พระมหาสมเกียรติ ยุตฺติโก (พวงใย) นักวิชาการผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาบนเส้นทางธรรมแห่งสำนักวัดอรุณราชวราราม  และเป็นพระอาจารย์ผู้สนับสนุนการบริหารจัดการเรียนการสอนของสำนักเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  เป็นผู้มุ่งมั่นศึกษาสืบค้น  เพื่อขยายคำตอบอันเป็นปุจฉาข้างต้นในฐานะนักศึกษาระดับปริญญาโท  สาขาวัฒนธรรมศาสตร์  สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม         โดยสาระของผลการศึกษาปรากฏเป็นเอกสารวิทยานิพนธ์ เรื่อง “วิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมของนักมวยไทย”     ประกอบด้วย ข้อความจริง หลักการทางโลก ทางธรรม  นานาทัศนะที่เป็นองค์ความรู้ พฤติกรรมที่ควรนำมาบอกกล่าว  หรือถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างของการดำรงชีวิต สำหรับผู้คนที่ได้รับการเรียกขานในนาม”นักมวย”  ตลอดจนผู้คนทั่วไปที่อาจนำสาระต่างๆไปประยุกต์ใช้ในการประพฤติปฏิบัติตน ท่ามกลางสภาพความเปลี่ยนแปลงรอบข้างที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเอกสารวิชาการฉบับนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพฉบับหนึ่งที่ควรค่าแก่ความสนใจของ ผู้ใฝ่ศึกษา  นักวิชาการ นักการศึกษา และผู้สนใจ ..........................
ดร.สนธิรัก  เทพเรณู
๑  ตุลาคม  ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 342739เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท