การเปลี่ยนแปลงอาชีพของชาวบ้านในตำบลทุ่งตำเสา


การเปลี่ยนแปลงอาชีพของชาวบ้านในตำบลทุ่งตำเสา

การเปลี่ยนแปลงทางด้านอาชีพของชาวบ้าน

ในตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

 

                ชาวบ้านในตำบลทุ่งตำเสานั้นดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย และดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติมาเป็นเวลาช้านาน ชาวบ้านต่างทำงานเลี้ยงปากท้องโดยอาศัยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และทำนา โดยอาศัยพื้นที่ที่ตนมีในการประกอบอาชีพ เมื่อได้ผลผลิตก็จะนำมารับประทานภายในครอบครัว และหากเหลือก็จะแบ่งปันหรือแจกจ่ายให้แก่เพื่อนบ้านละแวกเดียวกัน แต่เมื่อสภาพแวดล้อม และจุดมุ่งหมายในการเพาะปลูกได้เปลี่ยนแปลงไปจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพขึ้นในตำบลทุ่งตำเสา

ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านอาชีพของชาวบ้านในตำบลทุ่งตำเสา

                ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านอาชีพของชาวบ้านในตำบลทุ่งตำเสา สามารถแบ่งออกได้เป็น

1. ปัจจัยภายใน

                1.1 ด้านสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

                       1) สภาพภูมิประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพ

                       2) สภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น

                       3) ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติในตำบลทุ่งตำเสาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพมี 3 ด้าน คือ

                                3.1) ดินและขนาดการถือครองที่ดิน การปลูกพืชมาเป็นระยะเวลานาน และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มผลผลิตทำให้ดินเสื่อคุณภาพ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพ

                                3.2) สัตว์น้ำในคลอง หนอง บึง ลดลง แหล่งน้ำต่างๆ ในปัจจุบันมีสัตว์น้ำลดลง เนื่องจากตื้นเขิน และน้ำเน่าเสีย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพ

                                3.3) แหล่งน้ำทางการเกษตร เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับแหล่งน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค เนื่องจากตื้นเขิน และน้ำเน่าเสีย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

                1.2 ด้านประชากรในหมู่บ้าน

                      1) ประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้น ปรากฏว่ามีการขยายครอบครัวและการย้ายถิ่นฐานจากภายนอกชุมชนเข้ามามากกว่าการย้ายออกไปทำงานที่อื่นๆ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพ

                      2) ประชากรมีการศึกษาสูงขึ้น ชาวบ้านนิยมส่งบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพ

                      3) สุขภาพอนามัยของประชากร รัฐได้เอาใจใส่เรื่องสุขภาพของประชาชน เช่นมีการจัดตั้งสถานีอนามัย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพ

                      4) ประชากรมีรายได้และรายจ่ายสูงขึ้น ประชาชนมีรายได้จากการขายผลผลิต แต่ก็มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพ

                1.3 การคมนาคมและการสื่อสาร การคมนาคมขนส่งที่รวดเร็วทำให้ชาวบ้านสามารถติดต่อกับสังคมภายนอกได้ตลอดเวลา ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสไปประกอบอาชีพนอกชุมชนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพ

2. ปัจจัยภายนอก

                2.1 ด้านนโยบายของรัฐ รัฐได้เข้าไปมีบทบาทต่อชาวบ้าน เช่น พัฒนาถนน สนับสนุนเงินช่วยเหลือต่างๆ เพื่อช่วยเหลือด้านการเกษตร มีการสนันสนุนกลุ่มแม่บ้านเกษตรในด้านของงานจักสาน โดยส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกอบรม และหาแหล่งจำหน่าย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพ

                2.2 ด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ชาวบ้านได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น รถไถเดินตาม รถแทรกเตอร์ เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น เข้ามาใช้ในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต การผลิตในช่วงนี้เป็นการผลิตเน้นเพื่อการค้าขาย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพ

ลักษณะการเปลี่ยนแปลงอาชีพของชาวบ้านในตำบลทุ่งตำเสา

                ลักษณะการเปลี่ยนแปลงอาชีพของชาวบ้านในตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500-ปัจจุบัน สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ

                1. ช่วงแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500-2511 ในช่วงนี้ชาวบ้านมีอาชีพหลัก ทำนา ทำสานกล้วยตานี ส่วนอาชีพรองคือ สวนผลไม้ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และทำประมง การทำนาส่วนใหญ่มุ่งเพื่อบริโภคในครัวเรือนมีเหลือก็จะขายบ้าง มาระยะหลังประสบปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้งจึงทำให้ผลผลิตไม่แน่นอนประกอบกับราคาตกต่ำ ชาวบ้านบางครอบครัวเริ่มเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ส่วนการทำสวนกล้วยนั้นก็ทำเพื่อขายใบ และทำเชือกกล้วยขาย ส่วนอาชีพรองส่วนใหญ่ทำเพื่อบริโภคเป็นส่วนใหญ่ หากมีเหลือก็ขายกันบ้างภายในหมู่บ้าน แรงงานส่วนใหญ่ใช้แรงงานในครัวเรือนหรืออาจจะช่วยเหลือกันบ้างภายในเครือญาติและเพื่อนบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่ใช้เครื่องมือพื้นบ้าน เช่น จอบ เสียม คราด ทุนทรัพย์ที่ใช้มีไม่มากนัก ส่วนใหญ่ก็เป็นของคนในครอบครัว หรืออาจจะหยิบยืมกันบ้างในหมู่เครือญาติและเพื่อนบ้าน

                2. ช่วงที่สองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512-2537 การประกอบอาชีพของชาวบ้านในช่วงนี้อาชีพหลักคือ การทำนา ทำสวนกล้วยตานี ส่วนอาชีพรอง คือ ทำสวนผลไม้ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และทำประมง เป็นต้น แต่ในช่วงนี้ปัจจัยในการผลิตได้เปลี่ยนไป พร้อมๆ กับได้นำเทคโนโลยีการผลิตมาใช้มากขึ้น เนื่องจากต่อมาระยะหลังจะประสบภัยธรรมชาติน้ำท่วมบ้าง บางปีฝนแล้ง ฝนไม่ตก ทำให้ผลผลิตไม่แน่นอน ชาวบ้านบางครอบครัวจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงอาชีพกันบ้าง เปลี่ยนจากอาชีพทำนาเป็นอาชีพจักสาน เปลี่ยนจากทำนามาเป็นทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในตัวเมืองหาดใหญ่ และเปลี่ยนจากทำนามาเป็นการปลูกผักเพื่อบริโภคและการค้า และเปลี่ยนจากทำนามาเป็นอาชีพเสริมอื่นๆ อีก เช่น ทำสวนผสม ค้าขายของชำ รับจ้างทั่วๆ ไป เป็นต้น การใช้เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพจะใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยผ่อนแรง เช่น ใช้รถจักรไถนา รถไถเดินตาม มีการใช้เครื่องสูบน้ำเข้ามาใช้เพื่อรดน้ำผัก และมีการใส่ปุ๋ยเคมี และยากำจัดศัตรูพืชโดยใช้สารเคมีบ้าง

                3. ช่วงที่สามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2552 การประกอบอาชีพของชาวบ้านในช่วงนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยชาวบ้านจำนวนมากที่อยู่ริมคลองนั้น ซึ่งเป็นที่ลุ่มประสบปัญหาในการทำนาข้าวได้เปลี่ยนนาข้าวเป็นนาผักบุ้ง เพราะรายได้ดีกว่าและยังมีหน่วยราชการสนับสนุน ส่วนการทำสวนกล้วยตานีนั้น ก็ยังคงมีอยู่แต่เน้นที่การขาย การปลูกผักก็ยังมีอยู่แต่เน้นที่การค้า การเลี้ยงสัตว์ก็มีอยู่ทั่วไปแต่ไม่มากนัก การทำการค้าในช่วงนี้เน้นที่การค้าและจำเป็นต้องใช้ปัจจัยในการผลิตที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง และชาวบ้านเกือยทุกครัวเรือนจะมีอาชีพสองชนิดขึ้นไป

ลักษณะการเปลี่ยนแปลงอาชีพของชาวบ้านในตำบลทุ่งตำเสา

                ลักษณะการเปลี่ยนแปลงอาชีพของชาวบ้านในตำบลทุ่งตำเสา จำแนกออกได้เป็น

                1. เปลี่ยนจากอาชีพทำนา ทำสวนกล้วยตานี เป็นทำนาผักบุ้ง ทำสวนกล้วยตานี

                2. เปลี่ยนแปลงอาชีพจากทำนา ทำสวนกล้วยตานี เปลี่ยนเป็นทำนา ทำสวนกล้วยตานี และการจักสาน

                3. เปลี่ยนจากอาชีพทำนา ทำสวนกล้วยตานีเป็นทำสวนผลไม้และทำสวนกล้วยตานี

                4. เปลี่ยนจากอาชีพทำนา ทำสวนกล้วยตานีเป็นทำไร่นาสวนผสม และทำสวนกล้วยตานี

                5. เปลี่ยนจากอาชีพทำนา ทำสวนกล้วยตานีเป็นทำนา ทำสวนกล้วยตานีและปลูกผัก

                6. เปลี่ยนจากอาชีพทำนา ทำสวนกล้วยตานี เป็นทำนา ทำสวนกล้วยตานี และเลี้ยงสัตว์

                7. เปลี่ยนจากอาชีพทำนา ทำสวนกล้วยตานี เป็นทำนา ทำสวนกล้วยตานีและรับจ้าง

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอาชีพของชาวบ้านในตำบลทุ่งตำเสา

1. ด้านเศรษฐกิจ

                1) ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น จากการประกอบอาชีพหลายอาชีพ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้สูงขึ้นกว่าการประกอบอาชีพเพียงอาชีพเดียว

                2) ชาวบ้านมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากการซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ และการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ

                3) ชาวบ้านมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ชาวบ้านมีรายได้สูงขึ้นจึงสามารถนำเงินมาเลือกซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกมาไว้ใช้ในครัวเรือน

                4) ชาวบ้านมีภาระหนี้สินสูงขึ้นจากการลงทุนกู้ยืมในการซื้ออุปกรณ์ต่างๆ และการลงทุน จึงต้องกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุน และยังใช้ซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆด้วย

2. ด้านสังคมและวัฒนธรรม

                1) ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชนลดลง ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ออกไปหางานทำนอกชุมชนกลับเย็นถึงค่ำ ทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง

                2) มีการเคลื่อนย้ายแรงงานมากขึ้น เนื่องจากการเดินทางมีความสะดวกสบายทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานนอกชุมชนและในตัวเมืองมากขึ้น

                3) มีการรวมกลุ่มในชุมชนมากขึ้น ชาวบ้านมีการรวมตัวกันในการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการประกอบอาชีพ

                4) มีการพึ่งพาชุมชนภายนอกมากขึ้น จากความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ชุมชนจึงต้องนำผลผลิตไปขายและเลือกซื้ออาหารจากภายนอกชุมชนมากขึ้น

                5) ปัญหาสังคมมีมากขึ้น การประกอบอาชีพภายนอกหมู่บ้าน และความสะดวกในการเดินทาง ทำให้ชาวบ้านเดินทางไปพักผ่อนนอกบ้านก่อให้เกิดปัญหาการปล้นชิง และอุบัติเหตุขึ้น

3.ด้านสภาพแวดล้อม

                1) ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลง เนื่องจากการปลูกพืชติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ดินเสื่อมสภาพ และน้ำในแหล่งน้ำเน่าเสียจากการปล่อยของเสียลงสู่แหล่งน้ำ

                2) มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสะดวกขึ้น ทำให้สภาพความเป็นอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น

หมายเลขบันทึก: 342575เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2010 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท