“รู้ตน รู้ตื่น รู้ผู้อื่น รู้เบิกบาน” : วันวาน วันนี้ วันต่อ ๆ ไป (ตอนที่ 1)


แม้ไม่ได้รู้สึกสงสัยอะไรในตอนนั้น แต่คำตอบก็เดินเข้ามาหาอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ตอบแบบผ่านๆ เหมือนที่ลูกศิษย์บ้างคนเขียนตอบในกระดาษคำตอบในข้อสอบมิดเทอม และปลายภาคบ่อยๆ

       “สุขแท้ด้วยปัญญา” คือคำที่ได้ยินในวันที่กำลังอยู่ในงานมุฑิตาจิต ที่คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันจัดขึ้นให้กับอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ที่เกษียณอายุราชการ แน่นอนว่าใจจดจ่ออยู่กับบรรยากาศในงานวันนั้น จึงไม่ได้ตระหนักถึงเนื้อหา และสาระ ที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นเท่าไหร่ พูดง่ายๆ คือ ไม่สำเหนียกถึงชะตากรรมที่จะได้รับ แต่ชีวิตก็ไม่ได้ให้โอกาสใครต้องรอคำตอบนาน ไม่ว่าจะด้วยเพราะตำแหน่ง หน้าที่ หรือความรับผิดชอบที่มีในขณะนั้น ทำให้ต้องเดินผ่านเข้ามารับรู้ถึง “สุข” ที่สร้างได้จากการใช้ปัญญา ความคิด และการกระทำ ในกรอบของคำติดปากตามมา คือ “รู้ตน รู้ตื่น รู้ผู้อื่น รู้เบิกบาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นความท้าทายที่ว่า ไม่ได้แค่รับรู้ แต่เป็นการเรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในทีม จากปลายเดือนกันยายน ผ่านมาจนวันนี้ วันที่ถูกยื่นกระดาษเปล่า ๆ ที่มีโลโก้ รู้ตน รู้ตื่น รู้ผู้อื่น รู้เบิกบาน อย่างที่เห็น จะส่งเป็นกระดาษเปล่ากลับไป ก็คงจะเสียน้ำใจคนยื่นมาให้ งั้นคงต้องมาลองดูว่าจากวันนั้น จนวันนี้ จากที่ได้เรียนรู้ แบบเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง มีอะไรให้พูดถึงได้บ้าง

            จากปกหลังหนังสือที่ได้รับในโครงการ เขียนบอกว่า ทัศนคติอันเป็นที่มาแห่งความสุข ได้แก่ 1) การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง 2) การไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุอย่างเดียว 3) การเชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอย คอยโชค และ 4) รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล (พระไพศาล วิสาโล, 2552) ไม่ใช่แค่ต้องอ่าน อย่างที่บอกนั้นแหละ ว่าต้องมีอะไรติดไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วย

            จำได้ว่าหลังจากที่ได้ยิน และรับรู้ในเบื้องต้นแล้ว แม้ไม่ได้รู้สึกสงสัยอะไรในตอนนั้น แต่คำตอบก็เดินเข้ามาหาอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ตอบแบบผ่านๆ เหมือนที่ลูกศิษย์บ้างคนเขียนตอบในกระดาษคำตอบในข้อสอบมิดเทอม และปลายภาคบ่อยๆ กลับเป็นคำตอบที่มีทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ทั้งภาคเช้า ภาคสาย ภาคบ่าย ภาคค่ำ บางวันมีรอบพิเศษ (ภาคดึก) แถมให้ด้วย

            แรกๆ ก็ไม่ได้คิดอะไรมากมาย เพราะว่างานในหน้าที่ช่วงเวลานั้น มันท้าทายมาก ทีมมีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาให้คิด ให้ทำ ให้ถกเถียงกันตลอดเวลา รวมถึงภารกิจหลักแบบ 7 วันต่อสัปดาห์ เส้นทางอุตรดิตถ์ – พิษณุโลก – อุตรดิตถ์ – แพร่ – ลอง – แพร่ – อุตรดิตถ์ วนเวียนจน 24 ชั่วโมงต่อวัน แทบจะไม่เพียงพอ

            ทีมยังคงมุ่งมั่นทำงานกันอย่างเพลิดเพลิน การแลกเปลี่ยนซึ่งทัศนคติทั้ง 4 ช่วยให้ ทีมเป็นทีมมากขึ้น เป็นทีมในแบบที่ไม่ต้องเหมือน บนความแตกต่างที่แต่คนในทีมเป็น กลับทำให้ทีมทำงานได้ลงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ความคล่องตัวใน การประสานงานมีมากขึ้น ท่ามกลางสายตาที่จ้องมองมีเพิ่มมากขึ้น และเป็นธรรมดาของโลกที่ย้อมจะมีทั้งสายตาที่ชื่นชม และสายตาที่ไม่ชื่นชม แต่ก็คงเพราะทัศนคติทั้ง 4 อีกนั้นแหละ ที่เป็นแกนกลางยึดให้ทีมมีแรงในการขับเคลื่อนงาน

            แล้ววันหนึ่ง ในวงสุนทรียะสนทนา หลังการประชุมงาน “มนุษยสาด ฃ” ก็กลายเป็นของเล่นชิ้นใหม่ ให้กับทีม ไม่ได้แค่ทีมเท่านั้นที่มีนัดกันทุกเย็นวันพุธ ผู้คนผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนกันมาแวะเยี่ยมเยือนให้กำลังใจ ทีมฟุตซอล เล่นๆ ขำๆ ทั้ง “ป๋าโก้” เสาหลักของศิลปกรรม กับ “พี่จูน” พี่ใหญ่ของสาขาการพัฒนาชุมชน อาจารย์ผู้ชายเกือบๆ หมดคณะฯ รวมไปถึงกองเชียร์อาจารย์ทั้ง ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ, นิติศาสตร์ และเด็กๆ จากศิลปกรรม, ดนตรี, พัฒนาชุมชน และสารฯบรรณฯ ช่วยกันสร้างสีสันให้กับโรงยิมฯ ได้มากมาย จะแอบนับไว้เป็นผลงานของทีมก็คงไม่มีใครกล้าว่าอะไรหรอกกระมัง

            จะด้วยเงื่อนไขอะไรก็ตาม ความลงตัวของทีมที่เกิดขึ้น ก็สอดรับกับกิจกรรมในงานของทีม วันเวลาที่กำหนด ถูกวางไว้อย่างลงตัว ในแบบที่ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งใดๆ แม้จะเกิดอุปสรรคบ้าง แต่ทุกครั้งก็จะผ่านไปได้ด้วยดี ในแบบที่มันสมควรจะเป็น

หมายเลขบันทึก: 342261เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2010 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท