พลังแห่งบารมี


เมื่อบารมีทั้ง 9 ถูกใช้นั้น “ปัญญาบารมี” จะต้องขึ้นมีและมาควบคู่ เทียบเคียง ควบคุมอยู่เสมอ “เสมอ”

พลังแห่งตัวตนมีและเกิดได้จากการได้อยู่ใกล้กับบุคคลที่มี “พลัง” พลังนั้นมีอยู่ 10 อย่าง 10 ประการ หรือที่รู้จักกันในนาม “บารมี 10”

บุคคลใดที่พรั่งพร้อม สมบูรณ์ด้วย “ทศบารมี” หรือบารมีทั้ง 10 นี้ สามารถนำส่วนประกอบของบารมีไปใช้กับบุคคลใด ที่เหมาะสมด้วยบารมีใด
บารมีทั้ง 10 จะหมุนวนเป็น “ธรรมจักร” ในจิตใจคนแต่ละคน
จิตใจใครต้องการ ถวิลหาบารมีตัวใด บารมีตัวนั้นจะถูกผ่องถ่ายจากบุคคลที่ชื่อว่าเป็น “พระอริยะ”

“อริยะบุคคล” เป็นผู้ที่มีบารมีเหนือกว่า “ปุถุชน” และยิ่งเป็นอริยะบุคคลชั้นสูงขึ้นไปถึง “พระอรหันต์” ด้วยแล้ว จะสามารถทำให้บุคคลซึ่งเป็น “ปุถุชน” ที่ได้อยู่ใกล้นั้นซึมซาบ รับรู้และเติมเต็มข้อบกพร่องที่เขาได้ขาดหายไป

ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่นั้นสักแต่ว่าใช้ “ปัญญาเติมปัญญา”
การเติมปัญญาลงไปโดยมากนั้นมักจะทำให้เกิด “อัตตา” ขึ้นโดยปริยาย
อัตตาเกิดขึ้นเพราะความบกพร่องแห่ง “สมดุล” ของบารมี

เมื่อเราคิดว่าสังคมของเราต้องการแต่บุคคลที่มีความรู้ หันหน้าไปทางใดก็มีแต่ที่จะเติม ความรู้ ความรู้ และ “ความรู้” ให้แก่กัน
เมื่อบุคคลที่เติมยังขาด ยังบกพร่องด้วยบารมีทั้ง 10 ประการ บุคคลที่รับย่อม คลางแคลงใจ “ไม่ลงใจ” กับบารมีที่บุคคลผู้นั้นมักหยิบยื่นให้ ซึ่งเป็นการให้ที่ไร้ “ปัญญา”

เมื่อบารมีทั้ง 9 ถูกใช้นั้น “ปัญญาบารมี” จะต้องขึ้นมีและมาควบคู่ เทียบเคียง ควบคุมอยู่เสมอ “เสมอ”
บุคคลใดใช้ความวิริยะ อุตสาหะ พากเพียร พยายาม เป็นฐาน เป็นพลัง ย่อมสามารถสะสมกำลังทางกายและเพิ่มพูนเป็น “กำลังทางใจ”

กำลังทางใจนี้ จะเป็นฐาน เป็นปัจจัยส่งเกื้อหนุนให้เรามีกำลัง มีพลังที่จะต่อสู้กับ “มิจฉาทิฏฐิ” ที่ก่อร่าง สร้างตัวจากความรู้ที่สมสู่มาจาก “สังคม (Socialization)”

เมื่อคนถูกอัดด้วยความรู้ที่เขาไม่จำเป็นต้องรู้ ความรู้นั้นจักกลายเป็นศัตรูปัญญา
ยิ่งรู้มาก ยิ่งอยากใหญ่ ปัญญานั้นจักเกิด จักมีไม่ได้เลยหากบุคคลใดมีความ “อยากใหญ่” อยู่เสมอ
ปัญญาเป็นสสารที่ละเอียด ความละเอียดอย่างยิ่งนี้เองเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของบุคคลที่มีความอ่อนน้อมและถ่อมตน บุคคลที่มี “ปัญญาบารมี” จึงเป็นบุคคลที่ควรค่ายิ่งแห่งการ “บูชา”

นิยามแห่งปัญญา จะต้องมี “ศีล” ประกอบด้วยอยู่เสมอ
บุคคลที่จะมีปัญญาได้ และเรียกว่าผู้มีปัญญาได้จักต้องซื่อสัตย์และมั่นคงในศีล อันจะเป็นปัญญาที่บริสุทธิ์เพราะมีจุดกำเนิดจาก “ศีลบารมี”

ศีลจึงเป็นกำลังแห่งจิตใจโดยแท้
“เมื่อนักกีฬาใช้การวิ่ง การเคลื่อนไหวสร้างกำลังให้กับร่างกายฉันใด บุคคลที่จะมีปัญญาได้แท้จริงนั้นย่อมจักต้องมีและใช้ศีลเป็นการสร้างกำลังให้แก่จิตใจ...”

ศีลเป็นที่มาของปัญญา บุคคลที่มีศีลจึงคือบุคคลที่มีปัญญาที่เที่ยงแท้ เพราะเป็นปัญญาที่ประเสริฐ บริสุทธิ์และสิ้นสุดแห่งความ “เห็นแก่ตัว”

“การให้” เป็นภาษาที่เรียบง่ายแทนความหมายของการกระทำที่เรียกว่า “ทานบารมี”
การให้เป็นการชำระล้างความตระหนี่ ถี่เหนียวอันเป็นต้นเหตุแห่ง “ความโลภ” ของจากจิตใจ
เมื่อบุคคลใดยังมีความโลภอยู่ ชีวิตย่อมทุกข์เพราะความร้อนรุ่ม กระวน กระวาย ในทุกย่างก้าวล้วนแล้วแต่คิดจะเอาแต่ได้ไม่รู้จัก “พอ...”

การให้จึงเป็นครูผู้ประเสริฐ ครูผู้สอนให้เรารู้จักการพอ
ชีวิตใดที่รู้จักพอ ชีวิตนั้นจึงจักรู้จักคำว่า “สงบ”


 

คำสำคัญ (Tags): #บารมี#พลัง
หมายเลขบันทึก: 341614เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2010 07:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"พอเพียง เพียงพอ ทางสายกลาง ความสมดุล ชีวิตสงบสุข ค่ะ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท