อเมริกากับสงครามโลกครั้งที่ 1(3)


อเมริกากับสงครามโลกครั้งที่ 1

สาเหตุของวิกฤติการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในปี ค.ศ. 1929

                วิกฤติการณ์เศรษฐกิจตกต่ำนี้ชาวอเมริกันจะเห็นว่าเปรียบเสมือนโรคหวัด โรคหัด โรคอีดำอีแดง ที่ทุกคนจะต้องเป็น และเมื่อเชื้อโรคออกฤทธิ์จนหมดแล้วก็จะหายไปเอง ดังนั้นวงจรเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ ต่อไปเศรษฐกิจก็จะเฟื่องฟูขึ้นมาเอง แต่วิกฤติการณ์เศรษฐกิจตกต่ำของปี ค.ศ. 1929 นี้ ได้ชื่อว่าวิกฤติการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เพราะได้ดำเนินติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี และไม่มีทีท่าว่าจะหายไปเอง จนกระทั่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ต้องยื่นมือเข้าแก้ไขทั้งๆ ที่ปรัชญาของรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาจะไม่เข้าไปเกี่ยงข้องกับการดำเนินงานของธุรกิจการค้าเท่าไรเลย

                สาเหตุของวิกฤติการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1929 สามารถสรุปได้ดังนี้

                1) สงครามได้ทำลายทรัพย์สิน บ้านเรือนของประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้บรรดาประเทศเหล่านี้ต้องเก็บภาษีทั้งภาษีรายได้ ภาษีสินค้าเข้า ภาษีสินค้าออกอย่างหนัก เพื่อนำรายได้มาฟื้นฟูบ้านเมือง ซึ่งยังผลให้เกิดการตั้งกำแพงภาษีอย่างสูง ก่อให้เกิดการเก็งกำไรและการกักตุนสินค้าอันเป็นการสร้างความลำบากให้แก่ชาวยุโรปโดยส่วนรวม

                2) ถึงแม้สหรัฐอเมริกาจะพยายามช่วยยุโรปด้วยการให้กู้เงินจากนายทุนชาวอเมริกัน แต่การให้กู้เงินนี้เป็นการให้กู้เพื่อให้ชาวยุโรปสามารถซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกานั่นเอง ซึ่งการกู้แบบนี้มิได้ช่วยให้สถานการณ์ของชาวยุโรปให้ดีขึ้นเท่าไรเลย เพราะวิญญูชนย่อมเข้าใจหลักเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ ที่ว่าการกู้เงินไปกินไปใช้มิใช่กู้ไปลงทุนนั้นเป็นวิธีการที่ไม่ทำให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้นเลย

                3) การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตทางอุตสาหกรรม ที่สหรัฐอเมริกาสามารถผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากด้วยวิธีการ Mass Production อันเป็นผลให้สินค้าในตลาดมีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ราคาค่าจ้างของกรรมกรมิได้เพิ่มขึ้นให้ได้อัตราส่วนกับจำนวนสินค้า ดังนั้นกรรมกรก็มิได้มีกำลังการซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าล้นตลาด อันนำไปถึงระบบการซื้อสินค้าแบบผ่อนส่ง ซึ่งก็เป็นการส่งเสริมให้ผู้คนสุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายเงินอย่างฟุมเฟือยทั้งๆ ที่ตนมิได้มีกำลังการซื้อพอเพียง

                4) ชาวนาอเมริกันผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อย่างเหลือเฟือ จึงทำให้ราคาของผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ชาวนาขาดทุนและไม่มีกำลังการซื้อเพียงพอที่จะซื้อสินค้าที่ทางฝ่ายอุตสาหกรรมได้ผลิตออกมาอย่างมากมาย

                5) นักธุรกิจส่วนมากก็ได้รับอิทธิพลของการซื้อขายระบบเงินผ่อนเช่นกัน ทำให้เกิดการเก็งกำไรกันใหญ่ ประกอบกับธนาคารก็ออกเงินกู้อย่างง่ายดาย มุ่งหวังแต่จะได้ดอกเบี้ยแต่ประการเดียว โดยไม่ดูว่าผู้ที่มากู้เงินจากธนาคารนั้นจะมีความสามารถชำระเงินกู้คืนได้หรือเปล่า

                ซึ่งจากการปฏิบัติเช่นนี้ของธนาคาร ทำให้ธนาคารล้มนับร้อยๆ ธนาคารแม้ในขณะที่ยังไม่เกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจตกต่ำก็ตาม

                6) จากการกู้เงินได้ง่ายๆ จากธนาคารเช่นนี้ จึงเกิดการเล่นเก็งกำไรในตลาดหุ้นกันยกใหญ่ มีนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ซื้อหุ้นด้วยระบบเงินผ่อนโดยเก็งกำไรว่าจะขายหุ้นในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อ ดังนั้นราคาหุ้นที่เก็งกำไรกันในตลาดหุ้นนั้น มีราคาสูงจนเกินความเป็นจริงอย่างมากมาย

                7) เมื่อราคาหุ้นในตลาดหุ้นราคาสูงจนเกินไปจากระบบเงินผ่อน เมื่อมีคนต้องการเงินสดในการขายหุ้นหรือธนาคารจะเรียกเงินกู้กลับคืนไป ตลาดค้าหุ้นก็จึงปั่นป่วนและล้มไปในที่สุดในปี ค.ศ. 1929 อันเป็นการเริ่มปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

                ในสมัยก่อนปี ค.ศ. 1929 นั้นสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐอเมริกายังไม่ร้ายแรงมากนักเนื่องสหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สามารถเลี้ยงตัวเอง แต่เมื่อสหรัฐอเมริกาได้วิวัฒนามาเป็นประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งคนงานกรรมกรต้องรับเงินค่าจ้างเพื่อใช้ยังชีพเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดเศรษฐกิจตกต่ำแล้วผู้คนจึงเดือดร้อนเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ. 1929 นั้น ดินแดนทางภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกาได้ถูกบุกเบิกจับจองแทบหมดสิ้นแล้ว ดังนั้นพวกกรรมกรที่ไม่ทำงานก็ไม่สามารถอพยพไปตั้งรกรากและจับจองที่ดินได้เหมือนเมื่อก่อน ทำให้พวกกรรมกรไม่มีทางจะไปไหนได้นอกจากยังคงอยู่ในเมืองและรับความทุกข์ยากของวิกฤติการณ์เศรษฐกิจต่อไป เมื่อวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจตกต่ำนี้ร้ายแรงขึ้นและกินเวลานานขึ้น ทำให้ประชาชนต้องหันมาหารัฐบาลเพื่อช่วยในการต่อสู้กับวิกฤติการณ์นี้              ขณะนั้นประธานาธิบดีเฮอร์เบอตท์ ซี. ฮูเวอร์ ก็ได้พยายามแก้ไขสถานการณ์อันเลวร้ายทางเศรษฐกิจครั้งนี้ แต่เนื่องจากฮูเวอร์มีความเชื่อตามแบบชาวอเมริกันทั่วไปที่คิดว่ารัฐบาลที่ดีคือรัฐบาลที่ปกครองน้อยที่สุด รัฐบาลไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจการค้าอุตสาหกรรมโดยตรง ฮูเวอร์ได้พยายามประกันราคาผลิตภัณฑ์ทางเกษตรโดยให้รัฐบาลรับซื้อสินค้าจากชาวนา แต่ก็มิได้ผลอะไร เนื่องจากชาวนาผลิตสินค้าออกมาอย่างมากมายเหลือเฟือจนรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ไม่สามารถซื้อไว้ได้ทั้งหมด อันทำให้ราคาผลิตผลทางการเกษตรก็ลดลงไปเรื่อยๆ ฮูเวอร์ได้พยายามที่จะขยายงานก่อสร้างของรัฐบาลออกไปเพื่อที่จะได้ลดปัญหาคนงานลงไปแต่การกระทำของฮูเวอร์นั้นจัดว่าน้อยเกินไป ดังนั้นภาวการณ์ของเศรษฐกิจตกต่ำก็ยังคงเลวร้ายอยู่เรื่อยๆ ในปลายปี ค.ศ. 1932 ของสหรัฐอเมริกามีคนว่างงานประมาณ 15 ล้านคน ธนาคารได้ล้มเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก การผลิตทางอุตสาหกรรมลดต่ำลงอย่างน่ากลัว โรงงานเป็นจำนวนมากต้องปิดตัวเองไป ในที่สุดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1932 ทำให้นายแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์แห่งพรรคเดโมแครทได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด ซึ่งจากชัยชนะของรูสเวลต์ในครั้งนี้ทำให้พรรคเดโมแครทกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งหลังจากที่พรรครีพับลิกันครองอำนาจเป็นเวลาร่วมสิบปี สาเหตุที่รูสเวลต์ได้รับชัยชนะครั้งนี้เป็นเพราะชาวอเมริกันส่วนใหญ่เห็นว่า ฮูเวอร์และพรรครีพับลิกันไม่มีความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำได้จึงให้โอกาสแก่พรรคเดโมแครทมาแสดงฝีมือบ้าง

สมัยของนิวดีล (The New Deal Era)

                ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1933 เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้เลวร้ายจนที่สุด รูสเวลต์ได้กล่าวปราศรัยกับประชาชนทางวิทยุเน้นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้ว่าเกิดขึ้นเนื่องจากความตื่นกลัวเป็นสาเหตุใหญ่ประการหนึ่งเพราะเมื่อทุกคนตื่นกลัวและไม่ไว้ใจในสถานการณ์แล้วต่างคนต่างเก็บเงินไว้ไม่มีการกู้ยืมและการลงทุนใหม่ๆ อันเป็นเหตุให้วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเลวร้ายลงไปอีก ดังนั้นรูสเวลต์จึงเริ่มงานขั้นแรก คือ การสร้างความมั่นใจในเสถียรภาพทางการเงินขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยการปรับปรุงการธนาคารเสียใหม่ รูสเวลต์ได้ประกาศปิดธนาคารทั่วประเทศ และทำการตรวจสอบบัญชีธนาคารทุกแห่ง เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลก็อนุมัติให้เฉพาะธนาคารที่มีฐานะมั่นคงดีเปิดกิจการอีกครั้งหนึ่ง ส่วนธนาคารที่มีฐานะร้อนเงินและมีการดำเนินการที่ผิดระเบียบและคดโกงก็ถูกปิดไปตลอดกาล ดังนั้นภายในเวลาเพียง 10 วัน หลังจากรูสเวลต์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเสถียรภาพทางการเงินก็ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากขึ้น

                รูสเวลต์ได้เสนอโครงการนิวดีล ซึ่งแปลตรงตัวก็ได้ความว่าข้อตกลงใหม่อันมีจุดประสงค์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ

                1) ช่วยเหลือคนว่างงาน โดยหางานให้ทำจากการที่รัฐบาลจัดการก่อสร้างโรงพยาบาล เขื่อน โรงเรียน ฯลฯ และการดูแลป่ารักษาป่า เป็นอาทิ อันเป็นการเปิดงานให้แก่คนที่ไม่มีงานทำ รวมทั้งแจกเงินทองข้าวของให้แก่ผู้ยากจนในระยะสั้นเพื่อประทังชีวิตไปก่อน

                2) ปรับปรุงระบบเศรษฐกิจจากระบบทุนนิยมแบบ (Laissez-Fair) มาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy) โดยเอาหลักการของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเข้ามาใช้ด้วยแต่ก็มิได้เลิกระบบทุนนิยมเสียทีเดียว กล่าวคือ รัฐบาลได้เข้าควบคุมการค้าอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมมากขึ้นกว่าเดิม

                โครงการนิวดีลของรูสเวลต์ ได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของสหรัฐอเมริกาครั้งยิ่งใหญ่ โดยที่สหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาเป็นแบบผสมโดยมีระบบสังคมนิยมกลายๆ ด้วย กล่าวคือ มีสวัสดิการสังคม รัฐจ่ายบำนาญให้แก่คนชราทุกคนและรัฐจ่ายเงินประกันชีพให้แก่คนว่างงาน โดยใช้วิธีเก็บเงินสะสมจากประชาชนทุกคนเหมือนพวกข้าราชการไทยปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกายังได้ช่วยกันราคาผลิตผลของการเกษตรอันเป็นวิธีช่วยชาวนาไม่ให้ขาดทุน ส่วนการแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรล้นตลาดนั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็จะจ้างไม่ให้ชาวนาทำนาโดยจ่ายเงินให้ชาวนาที่ปล่อยที่นาร้างเอาไว้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้เข้าควบคุมตลาดค้าหุ้นและการธนาคารโดยการออกกฎหมายไม่ให้พวกค้าหุ้นและธนาคารทำการเก็งกำไรในการซื้อหายหุ้น โดยการกู้ยืมเงินแบบจับเสือมือเปล่าอีกต่อไป โดยบังคับให้การซื้อขายหุ้นต้องวางเงินประกันครั้งแรกมากขึ้นและธนาคารจะต้องมีเงินสำรองมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยเงินกู้ไปมากจนเกินไปครั้นลูกค้ามาถอนเงินแล้วจะไม่มีจ่ายไม่ได้ นอกจากนี้รัฐบาลยังประกันลูกค้าธนาคารอีกด้วยว่าถึงแม้ธนาคารจะล้มเลิกกิจการ รัฐบาลจะเป็นหลักประกันจะจ่ายเงินคืนให้แก่ลูกค้านั้นอีกด้วยอันเป็นการสร้างความไว้วางใจแก่ประชาชนที่มีต่อธนาคารมากขึ้น นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาก็ทำการลดกำแพงภาษี เพื่อให้ระบบการค้าระหว่างประเทศมีความคล่องตัวขึ้น โดยไม่ให้มีการเอาเปรียบหรือเสียเปรียบกันมากจนเกินไป จากผลของโครงการนิวดีลนี้เองทำให้ประธานาธิบดีรูสเวลต์ได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนเป็นอย่างมาก รูสเวลต์จึงเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีถึง 4 สมัยติดต่อกัน และรูสเวลต์ได้ทำให้พรรคเดโมแครทกลายเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาตั้งแต่นั้นมา

การเมืองระหว่างประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1919-1939

                โครงการนิวดีลของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์นั้น เป็นโครงการที่ใช้ทั้งกับนโยบายในประเทศและนโยบายต่างประเทศ ประธานาธิบดีรูสเวลต์ได้ประกาศนโยบายเพื่อนบ้านที่ดี (The Good Neighbor Policy) แต่ประเทศทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศต่างๆ ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้เคยเข้าไปดำเนินนโยบายแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเหล่านี้อยู่เสมอ ดังนั้นสหรัฐอเมริกามักถูกมองจากประเทศในแถบละตินอเมริกาว่าเป็นจักรวรรดินิยมแยงกี้ สหรัฐอเมริกาจึงถูกเกลียดชังเสมอมาในฐานะผู้รุกราน

                นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในระยะนี้อยู่ในสภาพที่รวนเรว่า จะยึดถือหลักการอยู่โดดเดี่ยวหรือการที่ต้องเข้าไปร่วมในสังคมโลก ชาวอเมริกันได้พยายามป้องกันตนเองเป็นอย่างยิ่งโดยไม่พยายามที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกิจการในยุโรปและเอเชียมากจนเกินไป โดยที่ชาวอเมริกันมีความหวังที่จะหลีกเลี่ยงสงครามคราวต่อไป โดยการตั้งตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดโดยรัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายของความเป็นกลาง ปี ค.ศ. 1935 และ 1939 ซึ่งห้ามสหรัฐอเมริกาไม่ให้ทำการค้าขายกับประเทศคู่สงคราม ตลอดจนห้ามมิให้ประเทศคู่สงครามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกู้ยืมเงินทั้งสิ้น สหรัฐอเมริกาได้ยอมจำกัดสิทธิเสรีภาพในการค้าขายในทะเลหลวงด้วยตนเองเพื่อมิให้ไปกระทบกระทั่งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่นโยบายนี้มิได้ปฏิบัติตามอย่างจริงจัง ในที่สุดสหรัฐอเมริกาก็ไม่สามารถรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดของตนได้ในเวลาต่อมา

สามารถดาวน์โหลด Power point เพื่อประกอบการศึกษาได้ที่

http://www.thaicyberupload.com/get/IseVDdRK8E

หมายเลขบันทึก: 341554เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณนะคะ เนื้อหาเยอะกว่าเว็บอื่นๆเพียบเลย ช่วยได้มาก เผอิญต้องเรียนประวัติศาสตร์อเมริกาเป็นภาษาอังกฤษพอดี คือพอจะเพิ่มเนื้อหาตรงก่อนสงครามให้หน่อยได้มั้ยคะ ตรงพันธบัตรพันธมิตรอ่ะค่ะ ต่อจากนั้นไปให้อีกหน่อยได้มั้ย ขอบคุณล่วงหน้านะคะ ;-;

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท