อเมริกากับสงครามโลกครั้งที่ 1(2)


อเมริกากับสงครามโลกครั้งที่ 1

การจัดหาอาหาร

                ประธานาธิบดีวิลสัน แต่งตั้ง เฮอร์เบิร์ท ซี ฮูเวอร์ (Herbert C. Hoover) เป็นประธานคณะกรรมาธิการจัดหาอาหารในยามสงคราม หน้าที่ของเขาที่จะต้องทำ คือ หาทางเพิ่มปริมาณอาหาร และหาวิธีชดเชยอาหารที่ขาดแคลนโดยใช้ชนิดอื่นแทน เขาพยายามลดความสิ้นเปลืองและช่วยปกป้องประชาชนผู้บริโภคจากพ่อค้าขูดรีดหากำไร ใน ค.ศ. 1917 รัฐสภาได้ออก รัฐบัญญัติลีเวอร์ (The Lever Act) ซึ่งควบคุมราคาสินค้า เชื้อเพลิง น้ำมันและปุ๋ยในการเกษตรกรรม เมื่อข้าวสาลีขาดแคลน ฮูเวอร์ก็รับรองกับชาวนาในนามของรัฐบาลว่าจะซื้อข้าวสาลีจากชาวนาโดยให้ราคาถึงบุชเชลละ 2.2 ดอลลาร์ ชาวนาจึงมีความกระตือรือร้นที่จะปลูกเพิ่มขึ้น ฮูเวอร์ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันประหยัด และจำกัดอาหารในฐานะผู้รักชาติโดยไม่ต้องให้รัฐบาลจัดการปันส่วนเช่นที่กระทำกันในยูโรป โดยเขาขอร้องให้แม่บ้านรู้จักการเก็บและถนอมอาหารให้ดีขึ้น พยายามกินและใช้อย่างประหยัด เช่น ใช้ขนมปังดำแทนขนมปังขาว วันจันทร์และวันพุธไม่กินข้าว วันอังคารไม่กินเนื้อวัว วันพฤหัสบดีและวันเสาร์ไม่กินเนื้อหมู และงดกินเนื้อสัตว์เสียวันละหนึ่งมื้อ เขาแนะให้ใช้ขัณฑสกรแทนน้ำตาล และคิดค้นตำรับอาหารใหม่ๆ ที่ประหยัดโดยไม่ใช้เครื่องปรุงที่ขาดแคลน หรือหาวิธีปรุงพืชผักพื้นเมืองที่มีเหลือเฟือและมีประโยชน์ต่อร่างกายเป็น

แรงงานในยามสงคราม

                ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1918 ประธานาธิบดีวิลสันได้จัดตั้ง สภาแรงงานแห่งชาติในยามสงคราม ไว้ทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดพิพากษากรณีพิพาทเกี่ยวกับแรงงาน โดยมีผู้แทนจากฝ่ายแรงงานและฝ่ายนายทุนอุตสาหกรรมฝ่ายละ 5 คน เป็นคณะกรรมาธิการ มีประธานสภาสองคนทำหน้าที่แทนประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นที่ปรึกษา สภานี้ยอมให้มีการต่อรองค่าแรงงาน แต่ห้ามการสไตรค์หรือนัดหยุดงาน กำหนดให้กรรมกรทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ทั้งบุรุษและสตรีได้ค่าจ้างเท่ากันในงานที่เท่ากัน แซมมวล กอมเปอร์ส ประธานแห่งสหพันธ์กรรมกรแห่งชาติ (The American Federation of Labor) เขาประกาศว่ากรรมกรอเมริกันเป็นพลังสำคัญอยู่เบื้องหลังการสงครามครั้งนี้ กอมเปอร์สได้ให้ความร่วมมือแก่รัฐบาลเป็นอย่างดี เขาช่วยปราบปรามกรรมกรที่มีหัวรุนแรงและก่อวินาศกรรม

สภาวะที่ไร้ขันติคุณเพราะความเกลียดชัง

                การใช้ รัฐบัญญัติจารกรรม (The Espionage Acts) ใน ค.ศ. 1917 ซึ่งเขาเองเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ รัฐบัญญัตินี้ลงโทษผู้ให้การช่วยเหลือศัตรู หรือขัดขวางการเกณฑ์ทหารโดยปรับเป็นเงินถึง 10,000 ดอลลาร์ และจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี กฎหมายนี้ยังให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไปรษณีย์ตรวจตราจดหมายและไปรษณียภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะก่อให้เกิดการทรยศหรือก่อกวนความสงบในสังคม ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1918 รัฐสภาได้ออก รัฐบัญญัติห้ามก่อกวนความสงบ (The Sedition Act) กฎหมายฉบับนี้กว้างขวางมาก ลงโทษแม้แต่การกระทำที่ชักชวนให้หมดความแข็งขันในการขายพันธบัตรสงครามของรัฐบาล หรือ “กล่าว พิมพ์ เขียน หรือโฆษณาเผยแพร่ภาษาที่ก่อให้เกิดความไม่จงรักภักดี หยาบคาย สามหาว ผรุสวาท” เกี่ยวกับรัฐบาล ธงชาติ รัฐธรรมนูญ เครื่องแบบของกองทัพบก หรือของกองทัพเรือ แม้เพียงการวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นสาเหตุให้ถูกจับกุมและจองจำได้ ยูจีน วี. เดบส์ ถูกตัดสินจำคุกสิบปีฐานกล่าวสุนทรพจน์ต่อต้านสงคราม โรเบิร์ท โกลด์สไตน์ ถูกตัดสินจำคุกสิบปี ในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “สปิริตของ’76 ที่จงใจก่อให้เกิดความเกลียดชังเป็นศัตรูกับอังกฤษผู้เป็นพันธมิตร” ประชาชนกว่า 1,500 คน ถูกจับขังคุกฐานกระทำผิดต่อกฎหมายนี้ อีก 450 กว่าคนถูกจองจำอยู่ในคุกทหารฐานคัดค้านการที่สหรัฐอเมริกา เข้าสู่สงคราม มีคนอเมริกันเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่กล้าประท้วงรํบบาลว่า เป็นวิธีการที่ประหลาดสำหรับผู้ที่คิดว่าตนทำสงครามเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย (โดยการลิดรอนเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็นที่มีอยู่แล้วของประชาชนในขณะนั้น)

การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1

                ในปลายเดือนกันยายน บัลแกเรียขอยอมจำนน ออสเตรียยอมจำนนในเดือนพฤศจิกายน ในวันที่ 11 พฤศจิกายน เยอรมันก็ขอเจรจาสงบศึก เพราะเชื่อว่าจะได้รับการปฏิบัติในฐานะผู้ปราชัยตามหลักสิบสี่ประการที่ประธานาธิบดีวิลสันได้ให้คำมั่นสัญญาไว้

                หลักการ 14 ประการ (Fourteen Points) ของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวโดยสรุปมีดังนี้

  1. เลิกล้มนโยบายการเมือง และไม่มีการทำสนธิสัญญาลับระหว่างประเทศอีก
  2. ให้มีเสรีภาพทางทะเลทั้งในยามสงบและในยามสงคราม
  3. ให้มีการค้าเสรีระหว่างประเทศ
  4. หาทางลดกำลังอาวุธ
  5. แก้ไขเรื่องการอ้างสิทธิในอาณานิคม
  6. จะต้องถอนตัวออกจากดินแดนของรุสเซีย
  7. ถอนทหารและให้เบลเยี่ยมมีอิสรภาพ
  8. จะต้องคืนแคว้นอัลซัค-ลอร์เรนให้กับฝรั่งเศส
  9. จะต้องปรับพรมแดนของอิตาลีใหม่ตามสัญชาติ
  10. ประชาชนในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีจะต้องมีเสรีภาพในการปกครองตนเอง
  11. จะต้องฟื้นฟูรัฐในบอลข่าน และให้เซอร์เบียมีทางออกสู่ทะเล
  12. ให้เสรีภาพแก่พลเมืองในจักรวรรดิออตโตมาน และเปิดช่องแคบตลอดเวลา
  13. ตั้งประเทศโปแลนด์เป็นเอกราช มีเสรีภาพและทางออกสู่ทะเล
  14. จะต้องจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้มีเสรีภาพทางการเมืองแก่ประเทศไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก มีสิทธิเท่าเทียมกัน

                ในหลักการ 14 ข้อของวิลสัน มองเห็นได้ชัดถึงเจตตารมณ์ของวิลสันในเรื่องสันติภาพและความยุติธรรม และยังมองเห็นได้ชัดเจนอีกด้วยว่า วิลสันเชื่อว่าสงครามเกิดจากความละโมบของรัฐบาลที่เสาะแสวงหาดินแดนและอำนาจ วิลสันต้องการให้คนกลุ่มน้อยมีสิทธิจัดตั้งรัฐอิสรภาพของตนเอง วิลสันแสดงความเห็นใจต่อชาวเชค โปล เซิร์บ สโลวัก และประชากรกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเข้ามาขอร้องเรื่องนี้ในสหรัฐอเมริกา

การเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีสในปี ค.ศ. 1919

                การประชุมตกลงเพื่อสันติภาพที่ปารีสในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1919 มิได้เป็นการประชุมตกลงระหว่างประเทศฝ่ายพันธมิตรกับมหาอำนาจผู้ปราชัย แต่ดูจะเป็นการประชุมกันเองในบรรดาประเทศฝ่ายพันธมิตรด้วยกัน เพื่อทำความตกลงกันว่าจะเรียกร้องอะไรจากฝ่ายปราชัยบ้าง มหาอำนาจทั้งสี่มีผู้แทนของตนดังนี้ คือ เดวิด ลอยด์ ยอร์ช (David Lloyd George) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยอร์ช เคลมังโซ (George Clemenceau) นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส วิตตอริโอ ออร์ลันโด (Vittorio Orlando) นายกรัฐมนตรีอิตาลี และประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา หลักการสำคัญที่วิลสันตั้งใจจะใช้ในการประชุมตกลงเรื่องสันติภาพมีอยู่ 3 ประการ คือ หลักการปกครองตนเอง การค้าเสรี และสันติภาพ ตามสนธิสัญญาลับที่แอบทำกันไว้นั้น ฝรั่งเศสได้รับคำมั่นสัญญาว่าตนจะได้รับทั้งแคว้นอัลซัสและลอแรน และแคว้นซาร์ (Saar Basin) อันอุดมสมบูรณ์ด้วยถ่านหิน อังกฤษจะได้อาณานิคมของเยอรมันเกือบทั้งหมด และจะได้มีอิทธิพลอย่างเต็มที่ในอียิปต์ เปอร์เซีย และเมโสโปเตเมีย อิตาลีจะได้เตรนติโน ตอนใต้ของติรอลที่ประชากรเป็นเยอรมัน และยังได้ควบคุมทะเลอาเดรียติกอีกด้วย ญี่ปุ่น โรมาเนีย และรุสเซียของพระเจ้าซาร์จะได้ดินแดนตอบแทนตามสัดส่วนเช่นกัน ประธานาธิบดีวิลสันรู้สึกว่าเป็นการยากที่จะชักชวนให้ฝ่ายพันธมิตรลดหย่อนข้อเรียกร้องต่อเยอรมันที่ตนเห็นว่ารุนแรงเกินไป การประชุมสันติภาพที่ปารีสเป็นการประชุมในระหว่างฝ่ายพันธมิตรผู้ชนะเท่านั้น ทำให้วิลสันผิดหวังมาก ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพแวร์ซายส์ ด้วยความไม่เต็มใจของประธานาธิดีวิลสัน สาระสำคัญในสนธิสัญญาฉบับนี้สรุปได้ว่า เยอรมันต้องสูญเสียอาณานิคมของตนทั้งหมดและสิทธิทางการค้าในแอฟริกาและในตะวันออกไกล ต้องคืนแคว้นอัลซัสและลอแรนให้ฝรั่งเศส และให้ฝรั่งเศสพิทักษ์แคว้นซาร์อันเป็นแหล่งถ่านหินที่อุดมที่สุดแหล่งหนึ่งของเยอรมันเป็นเวลา 15 ปี จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิออตโตมัน ได้แตกเป็นประเทศเกิดใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปกลาง สนธิสัญญาแวร์ซายส์ได้ลงโทษฝ่ายมหาอำนาจกลางผู้แพ้สงครามอย่างรุนแรงเกินกว่าที่วิลสันคาดหวังไว้มากมาย เยอรมันถูกบีบบังคับให้ยอมรับว่าตนเป็นผู้ก่อให้เกิดสงครามโลกขึ้น จึงต้องยอมรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาทั้งสิ้น ฝ่ายประธานาธิบดีวิลสันหวังว่าจะมีการเจรจาตกลงกันใหม่ในสมาคมสันนิบาตชาติจะแก้ไขข้อบกพร่องทั้งหลายแหล่ของสนธิสัญญานี้ได้ และเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้มีการจัดตั้งสมาคมสันนิบาตชาติขึ้นแน่นอน วิลสันได้ขอให้สัมพันธมิตรแทรกกติกาของสันนิบาตชาติต่อท้ายสนธิสัญญาสันติภาพแวร์ซายส์ด้วย เขายืนยันอย่างหนักแน่นว่า “สันนิบาตชาติจะยับยั้งสงครามในอนาคตได้อย่างแท้จริง”

การต่อสู้เพื่อให้รัฐสภายอมรับรองสนธิสัญญาแวร์ซายส์

                เมื่อกลับจากการประชุมสันติภาพแล้ว ประธานาธิบดีวิลสันได้วิงวอนให้วุฒิสภารับรองสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ตามรัฐธรรมนูญอเมริกาวุฒิสภาเป็นผู้ให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญากับต่างประเทศแล้วจึงจะมีผลใช้ได้สมบูรณ์ แต่ปรากฏว่าเป็นงานที่ยากที่สุดในชีวิตของเขา เพราะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1918 ทำให้พรรครีพับลิกันได้กุมคะแนนเสียงข้างมากในวุฒิสภา คนอเมริกันเชื้อสายเยอรมันทั่วประเทศคิดว่าเยอรมันถูกหลอกลวงให้ยอมจำนน เพราะเชื่อในคำมั่นสัญญาของประธานาธิบดีวิลสัน ชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลีก็ไม่พอใจในสนธิสัญญาสันติภาพที่วิลสันเป็นประธาน เพราะอิตาลีไม่ได้รับส่วนแบ่งดินแดนตามที่ตนต้องการ ชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชก็โกรธแค้นที่ประธานาธิบดีวิลสันมิได้หยิบยกปัญหาที่จะปล่อยให้ชาวไอริชเป็นเอกราชจากอังกฤษตามอุดมคติของหลักสิบสี่ประการ กลุ่มคนเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านสันนิบาตชาติและตัววิลสันเอง ฝ่ายพวกเสรีนิยมก็รู้สึกผิดหวังในความรุนแรงของโทษทัณฑ์ที่ฝ่ายเยอรมันได้รับจากสนธิสัญญาสันติภาพที่บิดเบือนไปจากอุดมการณ์ของวิลสันอย่างคาดไม่ถึง คำวิงวอนของประธานาธิบดีวิลสันจึงไร้ผล

                ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1919 การตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกสมาคมสันนิบาตชาติโดยปราศจากเงื่อนไขตามความต้องการของวิลสันก็ล้มเหลวไปด้วยคะแนนเสียง 53 ต่อ 38 (การให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญาใดๆ จะต้องได้รับคะแนนเสียงที่เห็นชอบด้วยถึงสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในวุฒิสภา แต่การออกคะแนนเสียงครั้งนี้ได้น้อยกว่าสองในสามมาก) ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1920 ได้มีการอภิปรายถึงเรื่องนี้กันอีก พรรคเดโมแครทที่สนับสนุนประธานาธิบดีวิลสันได้รับคำสั่งจากประธานาธิบดีผู้กำลังป่วยอยู่ไม่ให้รับรองสนธิสัญญาเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมสันนิบาตชาติโดยมีเงื่อนไขแต่ผลของการออกเสียงลงคะแนนก็ยังคงต่ำกว่าสองในสามอยู่มากนั่นเอง จึงเป็นอันว่าสหรัฐอเมริกามิได้รับรองสนธิสัญญาสันติภาพแวร์ซายส์และมิได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมสันนิบาตชาติ ซึ่งถือกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซายส์ด้วย เพราะได้ร่างกติกาไว้โดยผูกพันธะอยู่กับสนธิสัญญาแวร์ซายส์ สหรัฐอเมริกาได้ยุติสงครามกับเยอรมันอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กรกฏาคม ปี ค.ศ. 1921 ตามประกาศของรัฐสภา

สหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

ด้านสังคม

                เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง ชาวอเมริกันส่วนมากมีความคิดว่าการที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เพื่อที่จะปราบปรามทรราชให้สิ้นไปจากโลก และทำให้ลัทธิประชาธิปไตยคงอยู่และเจริญรุ่งเรืองต่อไป ดังนั้นเมื่อสหรัฐอเมริกาได้เข้าทำสงครามจนได้ชัยชนะแล้วก็ถือว่าชาวอเมริกันก็ควรหมดหน้าที่ นอกจากนี้สถานการณ์ภายในสหรัฐอเมริกาก็ยังยุ่งเหยิงเพราะราคาข้าวของได้สูงขึ้นมาก ทำให้เกิดการสไตรค์และจลาจลกันเป็นอาจิณจากพวกชาวนาและพวกกรรมกร ยิ่งไปกว่านั้นพวกหัวรุนแรงนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ได้พยายามเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในสหรัฐอเมริกาด้วย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นส่วนส่งเสริมให้ชาวอเมริกันหันเข้าหานโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวอีกครั้งหนึ่ง ผลจากบรรดาพวกหัวรุนแรงที่ได้ก่อเรื่องวุ่นวายในสหรัฐอเมริกา ทำให้รัฐสภาสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมายจำกัดการอพยพเข้าสหรัฐอเมริกาขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1921 โดยคิดอัตราส่วนในการอพยพออกเป็นเปอร์เซ็นต์ตามส่วนของประชากรชนชาตินั้น ที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว ซึ่งการออกกฎหมายจำกัดอัตราส่วนนี้เป็นการกีดกันชนชาติอื่นๆ แทบทุกชาตินอกจากชนชาติยุโรปตะวันตกซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น

ด้านการเมือง

                ส่วนทางด้านการเมืองของสหรัฐอเมริกาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น บรรดานักการเมืองที่มีนโยบายให้คืนกลับสู่สถานการณ์ปกติและยึดนโยบายโดดเดี่ยวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองสังกัดพรรครีพับลิกัน ก็ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อสิ้นสมัยของประธานาธิบดีวิลสันแล้ว พรรครีพับลิกันก็ได้เข้ายึดครองการบริหารประเทศเรื่อยมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1932 นับเป็นเวลากว่า 10 ปีที่พรรคเดโมแครทได้หลุดออกจากอำนาจ ซึ่งในช่วงเวลากว่า 10 ปีหลังสงครามนี้ เป็นระยะที่วงโคจรของเศรษฐกิจแห่งสหรัฐอเมริกากำลังรุ่งเรืองก้าวหน้าอย่างเต็มที่ ดังนั้นพรรครีพับลิกันจึงได้เครดิตอย่างมากทีเดียวในความมั่งคั่งหลังสงครามนี้ ทั้งๆ ที่นักการเมืองของพรรครีพับลิกันจะคอร์รัปชั่นกันมาก เช่น ในกรณี Teapot Dome Affair ในปี ค.ศ. 1923 ที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้โกงเงินของชาตินับล้านเหรียญในการที่อนุมัติให้บริษัทน้ำมันได้สัมปทานการขุดน้ำมันที่มลรัฐไวโอมิงอันเป็นบ่อน้ำมันที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา สงวนไว้ใช้ในยาม

ด้านเศรษฐกิจ

                 ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1920 – 1921 ได้เกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากการผลิตลดน้อยลงและปัญหาทหารที่กลับมาจากสงครามยังไม่มีงานทำ แต่วิกฤติการณ์นี้นี้มีอยู่ในช่วงเวลาเพียงปีเดียวต่อจากนั้นวงจรเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ก็พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเพราะความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมการผลิตโดยเครื่องจักร เช่น รถยนต์ ตู้เย็น เส้นใยสังเคราะห์ วิทยุ เครื่องบิน และอุตสาหกรรมใหม่ๆ อีกหลายชนิดโดยเฉพาะรถยนต์ซึ่งเพิ่งคิดประดิษฐ์ขึ้นได้ภายหลังปี ค.ศ. 1890 ได้มีจำนวนถึง 25 ล้านคันในปี ค.ศ. 1923 ทำให้ระบบสังคมของอเมริกันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย การก่อสร้างตึกระฟ้าก็เกิดขึ้นทั่วไป อุตสาหกรรมภาพยนตร์ อพาร์ทเม้น การทำนาก็ใช้รถแทรกเตอร์แทนม้า วัว ควาย การสร้างถนน ลาดยาง สะพาน โรงงานไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม โรงสี และร้านรวงได้ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด เมื่อการเศรษฐกิจรุ่งเรืองขึ้นแล้ว รัฐสภาสหรัฐอเมริกา ยังได้ตั้งกำแพงภาษีสินค้าขาเข้าในอัตราที่สูงมากอันทำรายได้ให้แก่สหรัฐอเมริกาได้เป็นอย่างดี แต่การตั้งกำแพงภาษีนี้เป็นดาบสองคมโดยเป็นอุปสรรคในการติดต่อค้าขายซึ่งกันและกันกับบรรดาประเทศอื่นๆ เพราะประเทศเหล่านี้ก็ตั้งกำแพงภาษีเช่นเดียวกันทำให้การติดต่อค้าขายระหว่างประเทศเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 341553เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เนื้อหาน้อยเกินไปนะจ๊ะ

ขอบคุณมากค่ะ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท