วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยทักษิณ ครบรอบ 41 ปี ม.ทักษิณ


การจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยทักษิณ ครบรอบ 41 ปี ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 ณ พื้นที่อำเภอป่าพะยอม จ.พัทลุง

กิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยทักษิณ ครบรอบ 41 ปี

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน 2552   

 มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง  จัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยทักษิณ ครบรอบ 41 ปี  ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552  ณ  พื้นที่อำเภอป่าพะยอม  ซึ่งเป็นพื้นที่จัดการเรียนการสอน และพื้นที่ตำบลพนางตุง ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน  โดยมีกิจกรรมทางศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม  กิจกรรมร่วมบำเพ็ญประโยชน์และพัฒนามหาวิทยาลัย  และกิจกรรมตามโครงการธนาคารต้นไม้ สาขาป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง    

                มหาวิทยาลัยทักษิณ  เป็นสถาบันอุดมศึกษาในภาคใต้  เริ่มต้นก่อตั้งจากวิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา  เมื่อวันที่  1 ตุลาคม  พ.ศ. 2511 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแก่นักเรียนในส่วนภูมิภาคได้มีโอกาสทางการศึกษาต่อ  เมื่อวันที่  29  มิถุนายน   2517 ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรี        นครินทรวิโรฒ  สงขลา  ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้   และได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ  ตั้งแต่วันที่  1  พฤศจิกายน  2539 เป็นต้นมา

                เพื่อให้บุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณ  ได้รำลึกถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัย  ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552)  วิทยาเขตพัทลุง  จึงจัดกิจกรรมเพื่อร่วมรำลึกถึงวันสำคัญดังกล่าวขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรและนิสิตได้รำลึกถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีในวันสำคัญของมหาวิทยาลัย     ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมทางศาสนาเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลและขวัญกำลังใจ   และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชน ประชาชน   มหาวิทยาลัย ให้มีโอกาสการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และพัฒนามหาวิทยาลัยร่วมกัน 

 โครงการปลาดุกลำพันคืนถิ่นเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดพัทลุง

 1.  ชื่อโครงการ   โครงการปลาดุกลำพันคืนถิ่นเฉลิมพระเกียรติจังหวัดพัทลุง

 2.  หน่วยงานรับผิดชอบ   ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 3.  คณะผู้ดำเนินการ  อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ภาควิชาชีววิทยา

4. หน่วยงาน / องค์กรที่ร่วมมือ

   4.1          องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง       

   4.2          ศูนย์วิจัย และพัฒนาประมงน้ำจืดพัทลุง  กรมประมง

   4.3          สำนักงานประมงจังหวัดพัทลุง กรมประมง

   4.4          เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

   4.5          สถานีพัฒนา และส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าทะเลน้อย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 5. หลักการและเหตุผล

    ปลาดุกลำพัน (Clarias nieuhofii) เป็นปลาน้ำจืดที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทย และบางส่วนของภาคตะวันออก ปัจจุบันปลาดุกลำพันจัดปลาน้ำจืดที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในภาคใต้ (ศราวุธ และคณะ, 2538 ; แผนพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา, 2548) และยังถูกจัดสถานะอนุรักษ์เป็นชนิดพันธุ์สัตว์ที่อยู่ในหมวดถูกคุกคาม (threatened) มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ในธรรมชาติ (vulnerable)  (IUCN, 2001) เนื่องจากมีการบุกรุกทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัยของปลาดุกลำพัน ตลอดจนการจับปลามากเกินกำลังการผลิตตามธรรมชาติ ทำให้คาดการณ์ว่าปลาดุกลำพันในธรรมชาติอาจสูญพันธุ์หมดไปจากธรรมชาติในระยะเวลาอันสั้น  

จากความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ และอนุบาลปลาดุกลำพันวัยอ่อนของหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง (Kiriratnikom et al., 2007)  ทำให้ปัจจุบันมีพันธุ์ปลาดุกลำพัน ระยะวัยอ่อน และระยะวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากชุมชนในจังหวัดพัทลุงได้ตระหนักดีถึงการลดจำนวนลงของปลาดุกลำพันในธรรมชาติ ประกอบกับเป็นปลาที่นิยมบริโภคในท้องถิ่น และมีราคาสูง จึงมีกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดพัทลุง และบุคคลทั่วไปเริ่มให้ความสนใจที่จะนำปลาดุกลำพันจากมหาวิทยาลัยทักษิณไปเลี้ยงทั้งในเชิงอนุรักษ์พันธุ์ปลาหายาก และเชิงเศรษฐกิจ เป็นจำนวนมาก

                    ทะเลน้อยนับเป็นพื้นที่แหล่งน้ำจืดที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง และเป็นพื้นที่ที่ในอดีตพบปลาดุกลำพันแพร่กระจายเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันปลาดุกลำพันได้สูญหายไปจากทะเลน้อย โดยไม่มีรายงานการพบปลาดุกลำพันในแหล่งน้ำดังกล่าวมาเป็นเวลานาน  การอนุรักษ์พันธุ์ปลาดุกลำพันสามารถดำเนินการได้ 2 ลักษณะ ได้แก่การฟื้นฟูถิ่นอาศัยของปลาชนิดนี้ และการเพาะขยายพันธุ์ปลาดุกลำพัน เพื่อปล่อยลูกพันธุ์กลับสู่ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ  โดยเฉพาะการผลิตลูกปลาดุกลำพันจากพ่อ-แม่พันธุ์ที่เพาะพันธุ์และเลี้ยงขึ้นเองในห้องปฏิบัติการ โดยมีการอนุบาลลูกปลาด้วยวิธีการที่เหมาะสม จนกระทั่งลูกปลามีขนาดที่สามารถดำรงชีวิตได้เองในธรรมชาติ แล้วปล่อยพันธุ์ปลานี้กลับสู่ถิ่นอาศัยในปริมาณ และช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยอาศัยความร่วมมือในการดูแลทำนุบำรุงรักษาทรัพยากร และถิ่นอาศัยของปลาจากชุมชนที่เล็งเห็นความสำคัญ 

เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นสิริมหามงคลฤกษ์ในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ตามเบื้องพระยุคลบาท การปล่อยปลาดุกลำพันคืนถิ่นอาศัยในแหล่งธรรมชาตินับเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งในการร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสอันสำคัญของประชาชนชาวไทย และเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ให้ดำรงอยู่ในธรรมชาติ   ด้วยเหตุผลดังกล่าวการปล่อยลูกพันธุ์ปลาดุกลำพันคืนถิ่นอาศัย โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่เป็นจุดเด่นของจังหวัดพัทลุง จึงเป็นกิจกรรมที่จะช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่สำคัญ และเป็นการทำนุบำรุงทรัพยากรที่แสดงถึงความป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพัทลุงอย่างยั่งยืน

 

6. วัตถุประสงค์ของโครงการ

 6.1  เพื่อขยายพันธุ์ปลาดุกลำพันซึ่งเป็นสัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ให้มีปริมาณมากขึ้น

6.2  เพื่อปล่อยปลาดุกลำพันลงแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ เป็นการอนุรักษ์ปลาดุกลำพันในแหล่งน้ำตามธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนโดยอาศัยการดูแลจากชุมชนในพื้นที่

6.3  เพื่อให้เกิดความร่วมมือ และการเรียนรู้ ระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณ กับชุมชนในจังหวัดพัทลุง

6.4  เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูล และผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยทักษิณสู่ชุมชน

6.5  เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

6.6  เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียง และเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยทักษิณ แก่ชุมชน และประเทศ

 7. กลุ่มเป้าหมายของโครงการ

ข้าราชการฝ่ายบริหารจังหวัดพัทลุง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง ข้าราชการกรมประมง ข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เกษตรกรในจังหวัดพัทลุง และจังหวัดใกล้เคียงครู นักเรียน นิสิต นักศึกษา  รวมตลอดโครงการประมาณ 120 คน

8. ระยะเวลาดำเนินการ  ระหว่าง เดือนพฤศจิกายน และ เดือนธันวาคม 2552

 - ดำเนินการเตรียมพันธุ์ปลาดุกลำพันที่อาคารปฏิบัติการเพาะเลี้ยงสัตว์น้  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

- ดำเนินการปล่อยพันธุ์ปลาที่ ท่าน้ำ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง

คำสำคัญ (Tags): #ไหม ม.ทักษิณ
หมายเลขบันทึก: 341442เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท