พระสงฆ์ไทยในอนาคต


                                สามเณรหายไปไหนแล้ว....

          เผอิญว่าได้อ่านหนังสือซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่ ผศ.ดร. ชาญณรงค์  บุญหนุน  ทำวิจัยในหัวข้อเรื่อง “พระสงฆ์ไทยในอนาคต” โดยได้รับงบวิจัยจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี  ศรีอรุณ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  ในขณะนั้น  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหาสาเหตุการขาดแคลนพระภิกษุสามเณรในปัจจุบัน  เพื่อนำเอาผลวิจัยมาใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  จึงอยากจะนำมาเสนอให้ได้ช่วยกันพิจารณา และ เสนอข้อคิดเห็นกัน  ซึ่งจากผลการวิจัยในครั้งนี้มาเหตุหลักที่เกี่ยวข้องกับการลดจำนวนลงของสามเณรจำนวน  ๕  ข้อ  ดังนี้

            1.จำนวนสามเณรลดน้อยลง  อันเป็นผลมาจากนโยบายการศึกษาภาคบังคับของรัฐ (หรือที่เรียกกันว่านโยบายคุมกำเนิดสามเณร) ซึ่งขยายไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่  3  และกำลังจะขยายไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่  6  ทำให้ไม่มีเด็กมาบวชเรียน  เพื่ออาศัยเป็นโอกาสทางการศึกษาอย่างแต่ก่อน

            2.การขาดแรงงานในหมู่บ้าน  สมัยก่อนครอบครัวมักมีลุกหลายคน  ใครที่มาบวช(ตามประเพณี) มักจะบวชได้นาน  อย่างน้อยทั้งพรรษาหรือทั้งปี  โดยไม่เกิดปัญหาแรงงานในครอบครัว  เพราะมีคนในครอบครัวหลายคน  แต่ปัจจุบันนี้คนหนุ่มบวชนานไม่ได้  เพราะครอบครัวหนึ่งมักมีลูกเพียง 1-2  คน  เมื่อลูกชายมาบวช  ก็จะทำให้คนในครอบครัวมีงานหนักเพิ่มขึ้น  ดังนั้นคนหนุ่มจึงมักจะบวชเพียง   1  เดือนเป็นอย่างมาก (ส่วนใหญ่จะบวช 15  วัน)  และนิยมบวชฤดูแล้ง  ซึ่งไม่ใช่ฤดูเกษตร  ยิ่งการบวชจำพรรษาด้วยแล้วยิ่งทำได้ยาก  เพราะเป็นฤดูเพาะปลูก  ต้องอาศัยแรงงานมาก  ครั้นจะไปจ้างคนอื่นมาเป็นแรงงานก็ทำได้ยากเพราะแรงงานในหมู่บ้านขาดแคลน  เนื่องจากจำนวนบุตรน้อยลง   นี่เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายวางแผนครอบครัวที่ได้ผลมาเกือบ  30  ปี  นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการขยายการจ้างงานตามระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยุคใหม่  ที่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ  ในเขตชนบทอีกด้วย

            3.”ความรู้” ที่ได้จากการบวชไม่สอดคล้องกับชีวิตของคนปัจจุบัน  สมัยก่อนคนนิยมบวชเรียน  เพราะเห็นว่า “คุ้มค่า”   เป็นประโยชน์แก่ชีวิตฆราวาส  นอกจากทำให้อ่านออกเขียนได้และรู้วิชาทางโลก หรือวิชาช่างแล้ว  สึกไปก็มีคนพร้อมที่จะยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย (เพราะถือว่าเป็น”คนสุก” คือได้อบรมมาแล้ว)  ทั้งนี้ยังไม่ต้องกล่าวถึงประโยชน์ทางธรรมและบุญกุศลที่ผู้บวชและพ่อแม่จะได้รับแต่ในปัจจุบัน  ผู้คนเห็นว่าความรู้ที่จำเป็นแก่ชีวิตฆราวาสนั้น  สามารถแสวงหาจากแหล่งอื่นได้โดยตรง เช่น โรงเรียน  มหาวิทยาลัยหรือ สถาบันอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วัด  ตัวความรู้ที่จำเป็นในปัจจุบันนั้นก็มีลักษณะแตกต่างจากอดีต  วัดและพระสงฆ์ไม่ได้เป็นสำคัญของความรู้เหมือนในอดีตอีกต่อไป  คนจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการศึกษาอบรมในระบบวัด

            4.วัดขาดผู้ให้การศึกษาหรือแนะนำสั่งสอน  ไม่เพียงการแนะนำสั่งสอนในทางโลกเท่านั้น  แม้แต่การให้การศึกษาในทางธรรม  รวมถึงการอบรมกิริยามารยาท  ในขณะนี้วัดส่วนใหญ่โดยเฉพาะในชนบทไม่ได้ทำหน้าที่นี้เลย  เพราะเจ้าอาวาสหรือพระในวัดขาดความรู้ความสามารถ  ส่วนหนึ่งเพราะเพิ่งมาบวชได้ไม่นาน(เป็นพระ”หลวงตา”)  ความรู้ทางปริยัติธรรมก็ขาด  ประสบการณ์การปฏิบัติธรรมก็มีน้อยมาก  ส่วนความรู้ทางโลกหรือการทำมาหากิน  ก็ไม่ทันหรือไม่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่  จึงไม่สามารถดึงดูดให้คนหนุ่มเข้าวัดมาบวชได้  ส่วนพ่อแม่ก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะให้ลูกมาบวชนาน ๆ  ลูกบวชตามประเพณีเพียง 15  วันก็พอใจแล้ว

            โดยสรุปก็คือ  วัดขาดบทบาทหน้าที่ทางสังคมดังที่เคยเป็นมาแต่ก่อน  มีแต่บทบาทหน้าที่ตามประเพณีหรือในเรื่องที่ไม่ใช่ทางโลก เช่น การทำบุญ  การทำพิธีทางศาสนา  จึงไม่สามารถโน้มน้าวใจให้คนเข้าวัดและมาใช้ชีวิตในวัดได้ดังแต่ก่อน

            5.ความศรัทธาในภิกษุ  แม้ภิกษุในปัจจุบันจะมีจุดอ่อนด้านความรู้ทางโลก  แต่หากมีศีลาจารวัตรน่าศรัทธา  ก็ยังสามารถดึงดูดคนให้เข้าวัดได้  อย่างน้อยพ่อแม่ก็อยากให้ลูกมาบวชเพื่อให้หลวงพ่อสั่งสอนในทางวินัยหรือความประพฤติ  แต่ด้วยเจ้าอาวาสจำนวนไม่น้อยมิได้ทำตัวให้น่านับถือ  หากแต่ดำรงชีวิตหรือมีความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ต่างจากฆราวาส  ชาวบ้านจึงไม่กระตือรือร้นที่จะส่งลูกมาบวช  ยิ่งกว่านั้นฆราวาสบางคนยังวิวาทกับพระหรือเจ้าอาวาส  นี่เป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ที่สำรวจ

คำสำคัญ (Tags): #สามเณร
หมายเลขบันทึก: 341001เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2010 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก ๆ ไม่ทราบว่ามีเผยแพร่หรือเปล่า
  • ขอให้มีพลังในการสร้างสรรค์เพื่อเด็กเยาวชนและสามเณรนะครับ
  • ขอบคุณครับ

 

อนุโมทนาครับท่านมหาฯ เรื่องการลดลงของสามเณร ผมได้เีขียนเอาไว้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ที่ธรรมศาสตร์นะครับ และบอกได้เลยว่า นโยบายหลายๆ อย่างของรัฐ จะมีผลต่อการลดลงของสามเณรอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่นโยบายของรัฐไม่ดีนะครับ ดีครับ แต่อาจจะมีผลต่อเด็กไทยที่จะตัดสินใจเข้ามาบวชในระยะเช่นพวกเราในสม้ัยก่อน

ขอบพระคุณครับอาจารย์พระมหาแล หนังสือมีวางจำหน่ายตามร้านหนังสือครับ เรื่องพระสงฆ์ไทยในอนาคต ครับ เนื้อหาน่าอ่านมากครับ เป็นข้อมูลสำหรับบริหารกิจการคณะสงฆ์ได้เป็นอย่างดี ผมถ่ายเอกสารแจกพระเถระในอำเภอทุกรูปเลยครับ

ขอบพระคุณครับพระอาจารย์หรรษา กระผมและครูโรงเรียนพระปริยัติธรรม เห็นถึงปัญหานี้อย่างมากครับ นับวันจะหาเด็กบวชเรียนยากมากครับ พวกกระผมก็ต้องหากลวิธีมากมายละครับเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสบวชเรียนเหมือนเช่นพระอาจารย์และกระผมละครับ

นมัสการพระเดชพระคุณท่าน

คนวันนี้แปลกแยกจากธรรมชาติเจ้าค่ะ

พยายามที่จะหาเครื่องมือพิเศษควบคุมอำนาจลึกลับ

จึงไม่แปลกที่บ้านเมืองเรามีคนทรงเจ้า มีหมอดู

มีคนให้หวยสารพัดรูปแบบ มีสำนักไล่ผีนับสิบ

ความศรัทธาในภิกษุ...ข้อนี้สำคัญมากเจ้าค่ะที่จะต้องทบทวน

นมัสการด้วยความเคารพ

โยมกระแต

เจริญพรคุณโยมกระแต ในผลงานวิจัยนี้ก็คงเปรียบเหมือนกระจกเงาส่องให้พระภิกษุ และพุทธศาสนิกชนเราได้เห็นความเป็นจริงในสังคม และหาทางร่วมกันแก้ไขต่อไป อนุโมทนาสาธุ....

ไม่ทราบว่าคณะสงฆ์ทราบปัญหาเหล่านี้แล้วได้มีมาตรการหรือนโยบายใดในการแก้ปัญหานี้ออกมาอ่างเป็นรูปธรรมบ้างครับ หรือว่ารู้แล้วยังเฉยอยู่

เจริญพร คุณโยม aplang

ทางคณะสงฆ์เองก็มีมาตรการที่แก้ไข แต่ก็ติดขัดด้วยเหตุผลหลายประการที่ไม่สามารถจะดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท