บันไดร้อยกรอง ๑๐ เสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคของกลอนสุภาพ


   

 

         ความไพเราะของกลอนสุภาพ ส่วนหนึ่งมาจากการลงเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคด้วย   เสียงวรรณยุกต์ที่ลงตามประเพณีนิยม จะทำให้กลอนไพเราะ  

 

         ผลงานของครูกลอนสุนทรภู่ในนิราศเรื่องต่างๆ หรือจาก เรื่องพระอภัยมณี ท่านได้ลงเสียงวรรณยุกต์ไว้เป็นแบบฉบับให้คนรุ่นหลังศึกษาได้อย่างดี

 

        การลงเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคของครูสุนทรภู่  จะมีประเพณีนิยมดังนี้

         คำสุดท้ายของวรรคสดับ(สลับ)       จะไม่ลงเสียง  สามัญ

        คำสุดท้ายของวรรครับ                    จะลงเสียง เอก โท และจัตวา แต่ผลงาน

                                                          ของครูสุนทรภู่ส่วนใหญ่จะเป็นเสียงจัตวา

                                                          ซึ่งเป็นเสียงที่ไพเราะที่สุด

 

        คำสุดท้ายของวรรครองและวรรคส่ง   จะลงเสียง สามัญ หรือ เสียง ตรี

      

      ตัวอย่าง

         ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด         คิดถึงบาทบพิตรอดิศร

                                                           (อ่านว่า อะ-ดิด-สอน ให้คล้องกับบอ-พิด)

โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร         แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น

พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด       ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ

ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น                 ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา

จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย      ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวษา

เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา                  ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป

(อ่านว่า มุน-ลิ-กา ให้คล้องกับ ฉะ-หลอง -คุน)

 

       สีแดง คือคำลงท้ายวรรคสดับ     สีน้ำเงินคือคำลงท้ายวรรครับ

       สีน้ำตาลคือคำลงท้ายวรรครองและวรรคส่งตามลำดับ

       ขาดเสียงวรรณยุกต์  เอก

       ศร   เข็ญ  และ วษา  เสียงวรรณยุกต์จัตวา

       ทร  เย็น  เป็น   พา   กา  ไป  เสียงวรรณยุกต์สามัญ

 

     ศึกษาตัวอย่างเพิ่มเติมได้ที่ คลิก>>  นิราศภูเขาทอง

       แต่ผลงานในสมัยต่อมา อย่างเช่นผลงานของ ท่านเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ และกวีท่านอื่นๆ  พบว่ามีบทกวีบางเรื่องบางบท   ลงเสียงวรรณยุกต์สามัญในวรรคสดับ

 

     ตัวอย่างเช่น

 

            นกขมิ้น  -  เนาวรัตน์   พงษ์ไพบูลย์

 

        เขาคลอขลุ่ยครวญเสียงเพียงแผ่วผิว

ชะลอนิ้วพลิ้วผ่านจากมานหมอง

โอดสะอื้นอ้อยอิ่งทิ้งทำนอง

เป็นคำพร้องพริ้งพรายระบายใจ



โอ้ดอกเอ๋ยเจ้าดอกขจร    (จร  เป็นเสียงสามัญ)

  นกขมิ้นเหลืองอ่อน จะนอนไหน

ค่ำลงแล้วแนวพนาและฟ้าไกล

เจ้านอนได้ทุกเถื่อนท่าไม่อาทร

 

    แล้วหวนเสียงเรียงนิ้วขึ้นหวิวหวีด

เร่งอดีตดาลฝันบรรโลมหลอน

ถี่กระชั้นสั่นกระชากใจจากจร

ระเรื่อยร่อนเร่มาเป็นอาจิณ

        ฯลฯ

 

   หรือจาก กรองกานท์

.............................

 จะใคร่ทักด้วยรักกำเริบทรวง    (ทรวง เสียงสามัญ)

ยังหนักหน่วงไม่เคยก็คิดขาม

ปากสั่นหวั่นจิตแต่คิดความ

ขยับปากแล้วก็คร้ามประหม่าใจฯ

 

โอ้หวานนักน้ำคำที่ร่ำเรื่อง

ไม่เปล่าเปลืองแรงจิตที่คิดไข

เพลินคะนึงถึงพิมพิลาไล

มนต์รักในไร่ฝ้ายมิคลายคลา

 

อดข้าวดอกนะเจ้าชีวิตวาย     (วายเสียงสามัญ)

ไม่ตายดอกเพราะอดเสน่หา

นางก้มอยู่กับตักซบพักตรา

เฝ้าวอนว่าไหว้พลางพ่อวางพิมฯ

   .........................

       ฯลฯ

 

      ให้สังเกต  คำลงท้ายวรรค รับ ว่า ครูเนาวรัตน์  ลงด้วยเสียงจัตวาทุกวรรค

ศึกษาตัวอย่างเพิ่มเติม  คลิก>>> อ่านบทกวี เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์

หมายเลขบันทึก: 340484เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2010 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท