คุณค่าที่ได้จากนิราศเรื่อง รำพันพิลาป


รำพันพิราศ เป็นผลงานประเภทนิราศของสุนทรภู่ ที่ท่านกล่าวถึงชีวประวัติของตัวท่านเอง เป็นนิราศเทียม เพราะว่าไม่มีการเดินทาง อาศัยจินตนาการและประสบการณ์ของท่านในการแต่ง

คุณค่าทางด้านวรรณศิลป์

วหารภาพพจน์ 

                1. อุปมา (Simile)

- ธรรมชาติ

             “ออกลึกซึ้งถึงที่ชื่อสะดือสมุทร                        เห็นน้ำสุดสูงฟูมดั่งภูมผา

       ดูพลุ่งพลุ่งวุ้งวงหว่างคงคา                                สูดนาวาเวียนวนไม่พ้นไป”

 

       “แม้นพรายน้ำทำฤทธิ์นิมิตรูป                           สว่างวูบวงแดงดั่งแสงกระสือ

        ต้องสุมไฟใส่ประโคมให้โหมฮือ                     พัดกระพือเผาหนังแก้รังควาน”

 

 “แล้วจะใช้ใบบากออกจากฝั่ง                           ไปชมละเมาะเกาะวังกัลพังหา

 เกิดในน้ำดำนิลดั่งศิลา                                       เหมือนรุกขาขึ้นสล้างหว่างคีริน”

 

 “ชมพู่แลแต่ละต้นมีผลลูก                                  ดูดั่งผูกพวงระย้านึกน่าฉัน

    ทรงบาดาลบานดอกรีบออกทัน                        เก็บทุกวันเช้าเย็นไม่เว้นวาย”

 

    “โอ้อายเพื่อนเหมือนว่ากิ่งกาฝาก                     มิใช่รากรักเร่ระเหระหน

 ที่ทุกข์สุขขุกเข็ญเกิดเป็นคน                              ต้องคิดขวนขวายหารักษาหาย”

 

- นามธรรม

     “แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ                                  บรรชิตพิศวาสพระศาสนา

เหมือนลอยล่องท้องชะเลอยู่เอกา                    เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล”

     “ไปราชพรีมีแต่พาลจังทานพระ                      เหมือนไปปะบระเพ็ดเหลือเข็ดขม

ไปขึ้นเขาเล่าก็ตกอกระยม                 ทุกข์ระทมแทบจะตายเสียหลายคราว"

     “ถึงคราวคลายปลายอ้อยบุญน้อยแล้ว              ไม่ผ่องแผ้วพักตราวาสนาหนอ

นับปีเดือนเหมือนจะหักทั้งหลักตอ แต่รั้งรอร้อนรนกระวนกระวาย”

      “โอ้ชาตินี้มีกรรมเหลือลำบาก        เหมือนนกพรากพลัดรังไร้ฝั่งฝา

โอ้กระฎีที่จะจากฝากน้ำตา                ไว้คอยลาเหล่านักเลงฟังเพลงยาว”

      “น้ำกุหลาบอาบอุระแสนสบาย       ถึงเคราะห์ร้ายหายหอมให้ตรอมทรวง

เหมือนแสนโง่โอ้เสียแรงแต่งหนังสือ       จนมีชื่อลือเลื่องทั้งเมืองหลวง

มามืดเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มดวง         ต้องเหงาง่วงทรวงเศร้าเปลี่ยวเปล่าใจ"

“เหลืออาลัยใจเอ่ยจะเลยลับ            เหลืออาภัพพูดยากเหมือนปากหอย

ให้เขินขวยด้วยว่าวาสนาน้อย           ต้องหน้าจ๋อยน้อยหน้าระอาอาย”

 

- วัฒนธรรม

    “ เหมือนใบศรีมีงานท่านสนอม      เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา

พอเสร็จการท่านเอาลงทิ้งคงคา           ต้องลอยมาลอยไปเป็นใบตอง

เหมือนตัวเราเล่าพลอยเลื่อนลอยลับ      มิได้รับไทยทานดูงานฉลอง”

          สุนทรภู่เปรียบสภาพของตัวเอง “เหมือนใบศรี” คือ “บายศรี” การทำบายศรีเป็นงานฝีมือของผู้หญิงไทยที่ต้องใช้ความสามารถ เป็นงานแสดงวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง การใช้อุปมาในตอนนี้ให้ทั้งภาพและสื่อความรู้สึกน้อยใจในสภาพที่สุนทรภู่ได้รับในขณะนั้นออกมาได้ชัดเจน ใบตองเป็นสิ่งที่หาง่ายราคาถูก เอามาจัดเป็นบายศรีเพื่อใช้ในพิธีการจะกลายเป็นของที่มีค่า เมื่อใช้แล้วก็ทิ้งไปกลายเป็นใบตองที่ไม่มีค่าเหมือนเดิม

 2. อุปลักษณ์ (Metaphor)

    - ธรรมชาติ

  “ ขอเดชะพระคงคารักษาสนอม                      อย่าให้มอมมีระคายเท่าปลายผม

ให้เย็นเรื่อยเฉื่อยฉ่ำเช่นน้ำลม                          กล่อมประทมโสมนัสสวัสดี”

- สถานที่

      “ต้องขัดเคืองเรื่องราวด้วยคราวเคราะห์    จวบจำเพาะสุริยาถึงราหู

 ทั้งบ้านทั้งวังวัดเป็นศัตรู                            แม้นขืนอยู่ยากเย็นจะเห็นใคร”

           สุนทรภู่นำสถานที่คือ บ้าน วัง วัด เปรียบเป็น “ศัตรู” ให้ความรู้สึกรุนแรงน่ากลัว ชีวิตท่านในช่วงนี้ตกต่ำมีเรื่องต้องเร่ร่อน สถานที่ดังกล่าวสื่อความหมายทั้งสังคมคือคนและบรรยากาศในสังคมนั้น คงทำให้ท่านรู้สึกคับแค้น อึดอัดใจจนทนอยู่ไม่ได้ กลวิธีอุปลักษณ์นี้สื่อความสะเทือนใจอย่างรุนแรง สะท้อนให้เห็นลักษณะหนึ่งของท่านคือ การไม่รู้จักปรับตัวหรือเป็นคนปรับตัวไม่ได้ เป็นเหตุให้ท่านต้องใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ระยะหนึ่ง

         - นามธรรม

        “ถึงกระไรได้อุตส่าห์อาสาสมัคร        ขอเห็นรักสักเท่าซีกกระผีกผม

พอชื่นใจได้สร่างสว่างอารมณ์                   เหมือนนิยมสมคะเนเถิดเทวัญ”

 3. สาธก (Allusion)

        - ตัวละคร

            “โอ้ยามจนล้นเหลือสิ้นเสื่อหมอน    สู้ซุ่มซ่อนเสียมิให้ใครใครเห็น

    ราหูทับยับเยินเผอิญเป็น                       เปรียบเหมือนเช่นพราหมณ์ชีมณีจันท์”

            “เหมือนพบปะพระสิทธาที่ปรารภ   ชุบบุตรลพเลี้ยงเหลือช่วยเกื้อหนุน

สนอมพักตร์รักษาด้วยการุญ                     ทรงสร้างบุญคุณศีลเพิ่มภิญโญ

ถึงยากไร้ได้พึ่งเหมือนหนึ่งแก้ว                  พาผ่องแผ้วผิวพักตร์ขึ้นอักโข

พระฤๅษีที่ท่านช่วยชุบเสือโค                    ให้เรืองฤทธิ์อิศโรเดโชชัย”

 “โอ้อกเอ๋ยเชยอื่นไม่ชื่นแช่ม                      เชยที่แย้มยิ้มพรายไม่หายหอม

แต่หัสนัยน์ตรัยตรึงส์ท่านถึงจอม                ยังแปลงปลอมเปลื้องปลิดไพจิตรา

ได้บุตรีที่รักยักษ์อสูร                               สืบประยูรอยู่ถึงดาวดึงสา

เราเป็นมนุษย์สุดรักต้องลักพา          เหมือนอินทราตรึงส์ตรัยเป็นไรมี”

 “แม้นรับรักหักว่าเมตตาตอบ             เมื่อผิดชอบผ่ายหน้าจะพาหนี

เหมือนอิเหนาเขาก็รู้ไม่สู้ดี               แต่เพียงพี่นี้ก็ได้ด้วยง่ายดาย

อย่าหลบหลู่ดูถูกแต่ลูกยักษ์             เขายังลักไปเสียได้ดั่งใจหมาย

เหมือนตัวพี่นี้ก็ลือว่าชื่อชาย              รู้จักฝ่ายฟ้าดินชินชำนาญ”

 4. สัทพจน์ (Onomatopoeia)

- ธรรมชาติ

       “คิดจนตื่นฟื้นฟังระฆังฆ้อง       กลองหอกลองทึ้มทึ้มกระหึ่มเสียง

โกกิลากาแกแซ่สำเนียง                 โอ้นึกเพียงขวัญหายไม่วายวัน”

     “ทุกเช้าค่ำลำบากแสนยากยิ่ง     เหลือทนจริงเจ็บแสบใส่แกลบสุม

 เฉียงฉู่ฉู่หวู่ว่อนเวียนร่อนรุม            เป็นกลุ่มกลุ่มกลุ้มกัดนั่งปัดยุง”

    “บัดเดี๋ยวคลื่นครื้นครึกสะทึกโถม   ขึ้นสาดโทรมดาดฟ้าคงคาขัง

 เสียงฮือฮืออื้ออึงตูมตึงตัง                ด้วยกำลังลมกล้าสลาตัน”

 5. อธิพจน์หรือกล่าวเกินจริง (Hyperbole)

        - ธรรมชาติ

    “ดูปลาใหญ่ในสมุทรผุดพ่นน้ำ        มือเหมือนคล้ำคลุ้มบดสลดสลัว

พุ่งทะลึ่งถึงฟ้าดูน่ากลัว                    แต่ละตัวตละโขคนับโยชน์ยาว”

 

คุณค่าด้านสังคม  วัฒนธรรม  วิถีชีวิต  ตำนาน  ความเชื่อและความรู้อื่น ๆ 

1.ด้านสังคมและวัฒนธรรม 

สถาปัตยกรรม

                สถาปัตยกรรมที่วัดเทพธิดาราม  ท่านสุนทรภู่ได้พรรณนาภาพกุฏิที่ท่านอาศัยอยู่และบริเวณโดยรอบ ณ วัดเทพธิดารามไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้

          “ เคยอยู่กินถิ่นที่กระฎีก่อ                    เป็นตึกต่อต่างกำแพงฝากแฝงฝา

เป็นสองฝ่ายท้ายวัดวิปัสสนา                         ข้างโบสถ์บาเรียนเรียงเคียงเคียงกัน

เป็นสี่แถวแนวทางเดินหว่างกุฏิ                       มีสระขุดเขื่อนลงพระสงฆ์ฉัน

ข้างทิศใต้ในจงกรมพรหมจรรย์                       มีพระคันธกุฎีที่บำเพ็ง

ศาลากลางทางเดินแลเพลินจิต                      ประดับประดิษฐ์ดูดีเป็นที่เก๋ง

จะเริดร้างห่างแหสุดแลเล็ง                           ยิ่งพิศเพ่งพาสลดกำสรดทรวงฯ

หอระฆังดังทำนองหอกลองใหญ่                    ทั้งหอไตรแกลทองเป็นของหลวง

ปลูกไม้รอบขอบนอกเป็นดอกดวง                   บ้างโรยร่วงรสรื่นทุกคืนวัน”

 การแต่งกายและการใช้เครื่องสำอางของผู้หญิง 

       การแต่งกายของเทพธิดาในฝัน

       “พอเสียงแซ่แลหาเห็นนารี                     ล้วนสอดสีสาวน้อยนับร้อยพัน

 ล้วนใส่ช้องป้องพักตร์ดูลักขณะ                      เหมือนนางสะสวยสมล้วนคนสัน

 ที่เอวองค์ทรงศรีฉวีวรรณ                              ดั่งดวงจันทร์แจ่มฟ้าไม่ราคี

 ทั้งคมขำล้ำนางสำอางสะอาด                        โอษฐ์เหมือนชาดจิ้มเจิมเฉลิมศรี

 ใส่เครื่องทรงมงกุฎดังบุตรี                             แก้วมณีเนาวรัตน์จำรัสเรือง”

 วัฒนธรรมการกินของไทย 

        รำพันพิลาปนี้ สุนทภรภู่ได้สอดแทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับอาหารไทย คือ ข้าวแช่   ข้าวแช่เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับรับประทานในฤดูร้อน  เพราะฤดูร้อนมีอากาศที่ร้อนการรับประทานข้าวแช่จะช่วยให้ดับความร้อนในร่างกายได้ 

    ฤดูร้อนก่อนเก่าทำข้าวแช่                        น่าชมแต่เครื่องกับสำรับฉัน

ช่างทำเป็นเช่นดอกจอกเป็นดอกจันทน์            งามจนชั้นกระชายทำเหมือนจำปา

มะม่วงดิบหยิบดูจึ่งรู้จัก                                ทำน่ารักรูปสัตว์เมือนมัจฉา

จะแลลับกลับกลายสุดสายตา                        เคยไปมามิได้เห็นจะเว้นวาย ฯ

         ข้าวแช่ เป็นส่วนประกอบในเทศกาลสงกรานต์ของมอญ เป็นประเพณีสืบกันมาว่า ในวันสงกรานต์จะต้องทำข้าวแช่ถวายพระ เพราะถือว่าเป็นสิริมงคล

        ตำนานข้าวแช่ มีอยู่ว่ามีเศรษฐีคนหนึ่งมั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง ขาดอยู่แต่ทายาทที่จะรับสืบทอดมรดก จึงไปทำพิธีบวงสรวงพระอาทิตย์พระจันทร์อยู่นาน จนเวลาล่วงไป 3 ปี ยังไม่มีลูก เห็นทีจะไม่ได้ผล จึงเปลี่ยนไปบวงสรวงพระไทร ซึ่งสิงสถิตต้นไม้ใหญ่ริมน้ำ

        ในการจัดเครื่องบวงสรวงครั้งนี้ เศรษฐีสั่งให้บริวารเอาข้าวสารเมล็ดงามล้างน้ำถึง 7 ครั้งจนบริสุทธิ์หมดมลทิน แล้วจึงหุงข้าวนั้นเพื่อบูชาพระไทร ประกอบด้วยอาหารโอชารสอีกมากมาย ล้วนจัดทำประณีตทั้งสิ้น จากนั้นเศรษฐีจึงอธิษฐานขอบุตรจากพระไทร

        ฝ่ายพระไทรเห็นความพยายามของเศรษฐี ก็เมตตา จึงไปเฝ้าพระอินทร์ทูลขอบุตรให้เศรษฐีได้ผล พระอินทร์จึงโปรดให้เทวบุตรนามว่าธรรมปาล จุติลงมาเกิดในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ฝ่ายเศรษฐียินดีปรีดามากตั้งชื่อลูกชายว่า ธรรมบาลกุมาร พร้อมสร้างปราสาทเจ็ดชั้นให้ลูกชาย เป็นที่มาของนิทานมหาสงกรานต์ที่ได้ยินกัน

        ข้าวแช่ที่เราคุ้นเคยกันอยุ่ทุกวันนี้ เรียกเต็มๆแบบเพราะพริ้งว่า “ข้าวแช่เสวย” หรือ “ข้าวแช่ชาววัง” ซึ่งหมายถึงข้าวแช่ลอยในน้ำดอกไม้หอมเย็นชื่นใจ ที่รับประทานกับเครื่องเคียง เช่น ลูกกะปิทอดสีส้มจัด เครื่องผัดหวานสีน้ำตาลเข้ม และผักสีสวยทั้งหลายชื่อข้าวแช่ชาววังหรือข้าวแช่เสวยนี้หมายถึงข้าวแช่ที่ชาววังจัดถวายรัชกาลที่ 5 แล้วโปรดเป็นอย่างมาก หลังจากสิ้นรัชกาลที่ 5 ในปี 2453 แล้ว ข้าวแช่ก็ออกสู่สังคม แล้วกลายเป็นดารายอดฮิตประจำเมนูหน้าร้อน โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์มาตั้งแต่นั้น ข้าวแช่ตำรับที่มีชื่อมากที่สุด เป็นของ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ ผู้เคยทำงานอยู่ในห้องเครื่องต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านถือเป็นคนแรกๆที่ทำข้าวแช่ออกสู่ตลาด และมีชื่อเสียงโด่งดังจนถึงปัจจุบัน

        เสน่ห์ข้าวแช่อยู่ที่กรรมวิธีในการปรุง เพราะองค์ประกอบของข้าวแช่นั้นมีมากมาย เคล็ดลับในการทำและทานข้าวแช่ให้ได้อรรถรสจึงอยู่ที่การสังเกตไปพร้อมกับการลิ้มรส ข้าวแช่ต้องมากับ “น้ำดอกไม้”

        ในฤดูร้อนดอกไม้ไทยต่างพากันชิงออกดอกส่งกลิ่นหอม น้ำที่นำมาใส่ข้าวแช่จึงได้อิทธิพลของดอกไม้เหล่านี้ด้วย นิยมใช้ดอกไม้ไทยที่มีกลิ่นหอมเย็น ส่วนน้ำที่ใช้แต่เดิมมักใช้น้ำฝนใสสะอาด แต่ปัจจุบันมีน้ำแร่ของไทยชนิดไม่อัดแก๊สบรรจุขวดก็นำมาใช้แทนกันได้ดี เวลาเตรียมมักใส่น้ำลงในหม้อดินมีฝาปิด เพื่อให้น้ำนั้นเย็นกว่าอุณหภูมิภายนอก เวลาจะกินสมัยก่อนใช้เกล็ดพิมเสนโรยลงในน้ำเพียงสองสามเกล็ดเพื่อให้เย็นชื่นใจยิ่งขึ้น

        แต่ปัจจุบันหันไปใช้น้ำแข็งทุบละเอียดแทน “ลูกกะปิทอด” ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของกับข้าวแช่ จะดูกันว่าข้าวแช่ของใครที่มีฝีมือก็ต้องพิจารณากันที่ลูกกะปิทอดนี้เอง ถัดมาก็มีพริกหยวกสอดไส้ ปลายี่สนผัดหวานเนื้อเค็มฝอยผัดหวาน หัวหอมสอดไส้ผักกาดเค็มผัดหวาน ปลาแห้งผัดหวาน หมูสับกับปลากุเลา คือเครื่องเคียงที่นิยมรับประทานแกล้มกับข้าวแช่ ที่ลืมไม่ได้เลยคือผักสดแกะสลัก

        เมื่อกับข้าวแช่ส่วนใหญ่เป็นของทอด ก็ย่อมต้องมีผักที่ให้กลิ่นหอมและรสออกเปรี้ยวและขื่นนิดๆไว้ตัดรส แตงกวา มะม่วงดิบ ต้นหอม กระชาย และพริกชี้ฟ้าสด จึงถูกนำมาจัดเป็นผักสดไว้กินแนมกับข้าวแช่ การกินข้าวแช่ก็ยังต้องมีวิธีการกินเช่นกัน เริ่มจากนำข้าวใส่ในน้ำลอยดอกไม้ให้สัดส่วนน้ำมากกว่าข้าวใส่น้ำแข็งเล็กน้อยพอให้เย็นชื่นใจ เวลาจะกินให้ตักกับข้าวใส่ปากแล้วตักข้าวตาม ก็จะได้รสชาติทั้งเย็นฉ่ำและความอร่อยกลมกล่อมของกับข้าว

        นี่คือสิ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรมการกินของไทยที่งดงาม ละเอียดอ่อน ไม่แพ้ชาติใดในโลก เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์จากจินตนาการทิ้งไว้ให้กับชนรุ่นต่อๆมา เมื่อครั้งที่วัฒนธรรมจากตะวันตกยังมาไม่ถึง นับว่าเป็นความภาคภูมิใจที่ชนรุ่นหลังควรรักษาไว้ให้ยั่งยืนสืบไป

 ประเพณีตรุษสงกรานต์

 ตรุษสงกรานต์ท่านแต่งเครื่องแป้งสด        ระรื่นรสราเชนทร์พุมเสนกระสาย

น้ำกุหลาบอาบอุระแสนสบาย                     ถึงเคราะห์ร้ายหายหอมให้ตรอมทรวง

          คำว่า  ตรุษสงกรานต์  เป็นชื่อของเทศกาล  2 เทศกาล  ที่ประชาชนปฏิบัติสืบๆ กันมา   คือ  เทศกาลตรุษ  เป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า คือ สิ้นเดือน 4     และกะเทศกาลสงกรานต์  เป็นการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ คือ ออกใหม่  1 ค่ำ เดือน 5   เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่   ตามที่ปรากฏในพระราชพิธีสิบสองเดือน  ของ ร.5 

          คำว่า  สงกรานต์  เป็นคำมาจากภาษาสันสกฤต  หมายถึง  เวลาที่ดวงตะเว็นเคลื่อนจากราศีมีน  สู่ราศีเมษ  เอิ้นว่า  มหาสงกรานต์   โดยกำหนดตามสุริยคติ  กะตก  วันที่  13  เมษา  วันที่  14 เมษาเป็นมื้อเนาน้ำ     ส่วนมื้อเถลิงศก / เปลี่ยนจุลศักราช  กะคือ  มื้อวันที่ 15  ของสู่ปีนั่นเอง

 ประเพณีการเทศน์มหาชาติกระจาดหลวง 

      โอ้เดือนอ้ายไม่ขาดกระจาดหลวง                    ใส่เรือพ่วงพวกแห่เซ็งแซ่เสียง

            ประเพณีการเทศน์มหาชาติของราษฎรนั้นปรกติมีระหว่างเดือน 12 กับเดือนอ้าย(ตามปฏิทินจันทรคติ) อุบาสกอุบาสิกามักรับเป็นเจ้าของกัณฑ์เทศน์คนละ 1 กัณฑ์ ผู้ใดรับเป็นเจ้าของกัณฑ์ใด ก็จัดเครื่องบูชาและเมื่อถึงเวลาเทศน์กัณฑ์นั้นก็ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ เจ้าของกัณฑ์มักจะประกวดกันในการจัดเครื่องบูชาดอกไม้ธูปเทียนสำหรับถวายพระนั้น จัดเป็นชุดตามจำนวนพระคาถาในกัณฑ์ที่เป็นเจ้าของ เทศน์มหาชาติเป็นการบำเพ็ญกุศลที่ครึกครื้นในรอบปี

            สถานที่ที่จะมีการเทศน์  ชาวบ้านจะช่วยกันตกแต่งประดับประดาด้วยต้นกล้วยต้นอ้อยให้ดูเป็นป่าสมมติ เหมือนกับว่าเป็นนิโครธาราม สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทานเทศนาเรื่องมหาเวสสันดรชาดก นอกจากนั้นก็ประดับประดาด้วยราชวัตรฉัตรธงอีกด้วย เวลาค่ำก็ตามประทีปโคมไฟ ส่วนน้ำที่ตั้งในบริเวณปริมณฑลที่มีการเทศน์มหาชาติ ถือกันว่าเป็นน้ำมนต์ปัดเสนียดจัญไร

 

ความรู้บางประการในการจัดเทศน์มหาชาติ

         1. เครื่องกัณฑ์  ของที่ใส่กระจาดเป็นเครื่องกัณฑ์เทศน์ มีขนมต่างๆ อาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร ปลาแห้ง เนื้อเค็ม และส้มสูกลูกไม้ตามแต่จะหาได้ มักมีกล้วยทั้งเครือ มะพร้าวทั้งทลาย และอ้อยทั้งต้น ตามคตินิยมว่าเป็นของป่าดังที่มีในเขาวงกต เครื่องกัณฑ์ที่ถูกแบบแผนปรากฏในเรื่อง “ประเพณีการเทศน์มหาชาติ” ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีความตอนหนึ่งว่า

เครื่องกัณฑ์มักมีเครื่องสรรพาหาร ผลไม้กับวัตถุปัจจัยคือเงินตราเรานี่ดี ๆ และผ้าไตร อันนี้เป็นธรรมเนียมไม่ใคร่ขาด ที่มีเครื่องบริขารอื่นต่าง ๆ เพิ่มเติมอีกด้วยก็มีมากบริขารสำหรับมหาชาติที่ถือว่าถูกแบบแผนนั้น มักจัดเป็นจตุปัจจัย คือ ผ้าไตรนั้นอนุโลมเป็นตัวจีวรปัจจัย  สรรพาหาร ผลไม้ อนุโลมเป็นบิณฑบาตปัจจัย  เสื่อ สาด อาสนะ ไม้กวาด เลื่อย สิ่ว ขวาน อนุโลมในเสนาสนะปัจจัย ยาและเครื่องยาต่าง ๆ น้ำผึ้ง น้ำตาล อนุโลมคิลานปัจจัยบริขาร ส่วนวัตถุปัจจัยได้แก่เงินเหรียญติดเทียนซึ่งปักบนเชิงรองพานตั้งไว้

 

2. ด้านวิถีชีวิต

ชาวเพชรบุรี

ทางบกเรือเหนือใต้เที่ยวไปทั่ว                   จังหวัดหัวเมืองสิ้นทุกถิ่นฐาน

เมืองพริบพรีที่เขาทำรองน้ำตาล             รับประทานหวานเย็นก็เป็นลม

ไปราชพรีมีแต่จังทานพระ                         เหมือนไปปะบอระเพ็ดเหลือเข็ดขม

ไปขึ้นเขาเล่าก็ตกอกระบม                        ทุกข์ระทมแทบจะตายเสียหลายคราวฯ

         ต้นตาลเมืองเพชรให้ผลผลิตน้ำตาลโตนดที่ดีที่สุดมาตั้งแต่สมัยโบราณตราบจนถึงปัจจุบัน จึงมีชื่อเสียงติดปากคนทั่วไปว่า “น้ำตาลเพชรบุรี” เพราะมีรสหวานหอมอร่อย มีรสชาติกลมกล่อมชวนรับประทาน จนเป็นที่มาของคำว่า “หวานเหมือนน้ำตาลเมืองเพชร”

 ชาวกาญจนบุรี 

        ครั้นไปด่านกาญจน์บุรีที่กะเหรี่ยง        ฟังแต่เสียงเสือสีห์ชะนีหนาว

นอนน้ำค้างพร่างพนมพรอยพรมพราว              เพราะชื่อลาวลวงว่าแร่แปรเป็นทอง

                กาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านคือ พม่า ตามแนวชายแดน ภูเขาสูงเป็นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยง  นอกจากนี้กาญจนบุรียังเป็นชื่อของเมืองทอง (กาญจน์ แปลว่า ทอง) ชาวกาญจนบุรีจึงมีอาชีพร่อนทอง

ชาวชวา 

๏ แล้วจะชวนนวลละอองตระกองอุ้ม             ให้ชมเพลินเนินมะงุมมะงาหรา

ไปเกาะที่อิเหนาชาวชวา                          วงศ์อสัญแดหวาน่าหัวเราะ

จมูกโด่งโง้งงุ้มทั้งหนุ่มสาว                         ไม่เหมือนกล่าวราวเรื่องหูเหืองเจาะ

ไม่เพริศพริ้งหญิงชายคล้ายคล้ายเงาะ            ไม่มีเหมาะหมดจดไม่งดงาม

ไม่แง่งอนอ้อนแอ้นแขนไม่อ่อน                    ไม่เหมือนสมรเสมอภาษาสยาม

รูปก็งามนามก็เพราะเสนาะนาม                     จะพาข้ามเข้าละเมาะเกาะมาลากา

เดิมของแขกแตกฝาหรั่งไปทั้งตึก                  แลพิลึกครึกครื้นขายปืนผา

เมื่อครั้งนั้นปันหยีอุ้มวียะดา                          ชี้ชมสัตว์มัจฉาในสาครฯ       

                กวีบรรยายลักษณะของชาวชวาอย่างละเอียดว่า มีลักษณะไม่เหมือนกับอิเหนาเพราะอิเหนาเป็นวงศ์เทวัญ ส่วนแขกชวามีลักษณะไม่งาม ผิดดำคล้ายเงาะป่า

 

3. ด้านตำนานและความเชื่อ 

ความเชื่อเรื่องฝัน

          สุนทรภู่ เชื่อในเรื่องความฝันเป็นอย่างมากจะเห็นได้เมื่อ  พ.ศ.2385 พระสุนทรภู่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ท่านได้ประพันธ์บทกลอนเชิงนิราศเรื่อง “รำพันพิลาป” ขึ้น เนื่องจากเกิดนิมิตฝันอันเป็นลางร้าย ว่าจะต้องถึงแก่ชีวิต ในฝันนั้นท่านว่าได้พบเห็นนางฟ้านางสวรรค์มากมาย รวมถึงนางมณีเมขลา มาชักชวนให้ท่านละชมพูทวีป แล้วไปอยู่สวรรค์ด้วยกัน

          รำพันพิลาปนี้เป็นบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของท่าน โดยมีมูลเหตุจากความฝันที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นความเชื่อของคนไทยสมัยนั้น กล่าวคือ

                                                      ๏ สุนทรทำคำประดิษฐ์นิมิตฝัน

พึ่งพบเห็นเป็นวิบัติมหัศจรรย์                   จึ่งจดวันเวลาด้วยอาวรณ์

แต่งไว้เหมือนเตือนใจจะได้คิด                ในนิมิตเมื่อภวังค์วิสังหรณ์

เดือนแปดวันจันทวาเวลานอน                 เจริญพรภาวนาตามบาลี

                จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้แปล “ฝัน” ที่เป็นนาม คือ การเห็นเป็นเรื่องราวเมื่อหลับ แต่โดยปริยายหมายถึงการนึกเห็นในขณะตื่นอยู่ ซึ่งไม่อาจจะเป็นจริงได้

                  คำแปลอาจทำให้หลายคนแย้งเถียงในใจ เพราะฝันที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราวก็มี หรือฝันที่ไม่ได้หลับก็อาจเป็นจริงได้    ต้นเหตุของความฝันโดยยึดตามคัมภีร์โบราณซึ่งจำแนกลักษณะฝันออกเป็น 4 ประการ หลักพื้นฐานของความฝัน 4 ประการนี้

                 บุรพนิมิต เป็น ความฝันที่เกิดจากอำนาจกุศลจิตและอกุศลจิตของผู้ฝันเอง เป็นเรื่องราวของอดีตที่มาปรากฏในฝันบอกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลางร้ายหรือโชคลาภในอนาคต บางคนจะเรียกฝันประเภทนี้ว่าการระลึกชาติ

                 จิตนิวรณ์ คือ ความฝันที่เกิดตามอารมณ์ผูกพัน หรือการฝักใฝ่จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งของผู้ฝัน รวมไปถึงเรื่องที่พบเห็นแล้วจดจำไว้ไม่ลืมเลือน  

                  เทพสังหรณ์ เป็นความฝันที่เกิดขึ้นจากเทวดาบันดาล เพื่อสำแดงแจ้งเหตุการณ์ล่วงหน้า เน้นเรื่องมงคล แต่ถ้าเป็นฝันร้ายเรื่องร้ายก็เป็นเหมือนการตักเตือนผู้ฝันให้ระวังและป้องกันภัย

                   ธาตุโขภะ เป็นความฝันที่เกิดเพราะธาตุพิการ คือ กายไม่ปกติ กินมาก นอนมาก ท้องอืดท้องเฟ้อ ธาตุไม่ย่อย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เวลานอนหลับไม่สนิท ความฝันลักษณะนี้ถูกแยกส่วนออกมาเป็น ฝันที่ไร้สาระไม่มีมูลความจริง ไม่ให้ประโยชน์ ซึ่งโดยมากจะเป็นความฝันไม่ค่อยดี

      

ความเชื่อเรื่องลางสังหรณ์ 

                   ความเชื่อในโชคลาง มักใช้ควบกับคำอื่น เป็นคำซ้อน เช่น โชคลาง หมายถึง สิ่งที่นำผลมาให้โดยมิได้คาดหมาย ซึ่งอาจเป็นสิ่งดีที่เป็นโชค หรือสิ่งไม่ดีที่เป็นลางก็ได้ เช่น คนที่เชื่อโชคลางมักจะเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตนเอง เราควรเป็นคนที่มีเหตุผลไม่ควรเชื่อโชคเชื่อลาง ลางสังหรณ์ หมายถึง ลางที่ดลใจทำให้เชื่อว่าอาจจะเกิดเหตุดีหรือเหตุร้าย สิ่งที่เกิดนั้นมักจะเป็นสังหรณ์ให้รู้สึกว่าจะเกิดเหตุร้าย

ระลึกคุณบุญบวชตรวจกสิณ             ให้สุขสิ้นดินฟ้าทุกราศี

เงียบสงัดวัดวาในราตรี                    เสียงเป็ดผีหวี่หวีดจังหรีดเรียง

หริ่งหริ่งเรื่อยเฉื่อยชื่นสะอื้นอก          สำเนียงนกแสกแถกแสกแสกเสียง

เสียงแมงมุมอุ้มไข่มาใต้เตียง            ตีอกเพียงผึงผึงตะลึงฟัง

ฝ่ายฝูงหนูมูสิกกิกกิกร้อง                  เสียวสยองยามยินถวิลหวัง

อนึ่งผึ้งซึ่งมาทำประจำรัง                  ริมบานบังบินร้องสยองเย็น

                  นกแสกมาร้อง  โบราณท่านว่าถ้าได้ยินเสียงนกแสกมาร้องเรียกขวัญหรือหวีดร้องเสียงเยือกเย็นในหมู่บ้านไหน  หมู่บ้านนั้นต้องมีคนเสียชีวิตอย่างแน่นอนในไม่กี่วันข้างหน้านี้  ถ้าผู้ใดได้ยินเสียงนกแสกบินร้องไปมาในเวลาค่ำคืน  หรืออาจจะมาร้องหลายคืนติดต่อกันอยู่ในระแวกนั้นจนมีคนเกิดเสียชีวิตขึ้นนกก็จะหยุดร้อง   ฉะนั้นถ้าผู้ใดได้ยินเสียงนกแสกร้องไม่ต้องลุกไปไล่ให้อยู่เงียบ ๆ

                   แมงมุมอุ้มไข่ หรือ ตีอก  เป็นลางว่าจะเกิดเหตุร้าย มีอุบัติเหตุ หรือเกิดการสูญเสีย

                    ผึ้งทำรังในบ้าน  ผึ้งมาทำรังทางทิศตะวันออกบ้าน ก็เชื่อกันว่าเป็นลางดีจะทำให้มีลาภ หรือได้รับสิ่งที่ดีๆ แต่โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงคำว่า ลาง มักจะมุ่งสู่ลางร้ายลางไม่ดีมากกว่าลางดี เช่น เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งจะไปในที่มีอันตราย หากมีใครพูดว่าไปแล้วอาจจะไม่ได้กลับมา อาจมีอันเป็นไปอย่างไร หรือพบกันเป็นครั้งสุดท้าย ก็จะกล่าวว่าคำพูดนั้นเป็นการพูดเป็นลาง

 

เอกสารอ้างอิง

 กาญจนาคพันธุ์.(2522). ภูมิศาสตร์สุนทรภู่. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา.

 ชลดา  เรืองรักษ์ลิขิต.  ชีวประวัติและผลงานของสุนทรภู่. พิมพ์เผยแพร่เนื่อง

                ในโอกาสฉลอง 200 ปีเกิดของสุนทรภู่ ในปี พ.ศ. 2529.

 

หมายเลขบันทึก: 340447เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2010 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้าวแช่ไม่ใช่อาหารมอญเด็ดขาด เพราะข้าวแช่มอญหรือเปิงดาจณ์ มีกับข้าวบางชนิดที่ละม้ายข้าวแช่ของไทย โดยปกติถ้าไทยจะเอาอาหารของชนชาติอื่นมาพลิกแพลง ก็จะทิ้งชื่อให้รู้ว่าเป็นของชาติใด เช่น"คนอมจิน"ซึ่งเป็นแป้งเส้นของมอญ เราก็เรียกเป็น"ขนมจิน ที่เพี้ยนกลายเป็นขนมจีน"ทับศัพท์ลงไป หรือขนมเบื้องที่มีที่มาจากชนชาวเวียต ก็เรียกว่า"ขนมเบื้องญวน" หรือ"ขนมฝรั่งกุฏีจีน" เป็นต้น

เชื่อได้ว่า"ข้าวแช่"ของไทยนั้น ต้องมีมาตั้งแต่สมัยปลายอยุธยาเป็นอย่างน้อย เพราะขนาดสุนทรภู่ยังนำมารจนาเป็นคำกลอนใส่ในเรื่อง"รำพันพิลาป"ซึ่งสุนทรภู่นั้น เกิดในรัชสมัยของร.๑ และได้รับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๒ จึงน่าเชื่อได้ว่าชนชั้นสูงในยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็กินข้าวแช่ในฤดูร้อนมาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งช้าวแช่ของไทยมีความประณีตตั้งแต่การปรุง การเลือกสิ่งที่จะนำมาประกอบเป็นกับข้าวแช่ต่างๆ และการอบร่ำน้ำให้หอม ใสสะอาดชวนกิน ทั้งยังนำเอาผักและผลไม้มาสลักเสลาเป็นคอกจำปาบ้าง ใบไม้บ้าง เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมในการกินของไทยว่าละเมียดลไมเพียงใด ซึ่งต่างกับ"เปิงดาจณ์"ของมอญที่ไม่ได้วิจอตรบรรจงแต่อย่างใด คงเป็นสำรับกับข้าวธรรมดาๆ ที่มีกับคล้ายกับข้าวต้มก็มีหลายสิ่ง เช่นไข่เค็ม หอยแมลงภู่แห้งผัดหวาน เนื้อปลาป่นผัดน้ำตาล ฯลฯ และหากจะเทียบ"เปิงดาจณ์"กับ"ข้าวแช่บ้าน"อันได้แก่ข้าวแช่เมืองเพชร ซึ่งจะมีกับเพียงสามอย่าง คือลูกกะปิทอด ปลายี่สนผัดน้ำตาลโตนด และหัวผักกาดเค็มผัดหวานเพียงเท่านั้น

การทำข้าวแช่ของไทยไม่ว่าจะเป็น"ข้าวแช่เมืองเพชร"หรือ"ข้าวแช่ชาววัง" ล้วนแต่ทำขึ้นเพื่อบริโภคในฤดูร้อน ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อถวามเทวดาอย่างของมอญ จึงนับได้ว่ามีที่มาต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สำหรับที่มาสำหรับข้าวแช่เสวย ว่าเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นนำเข้ามเผยแพร่ในราชสำนัก เห็นจะแย้งได้โดยคำกอนของสุนทรภู่ และข้าวแช่ชาววัง เริ่มเผยแพร่ออกจากราชสำนักสู่ภายนอก ก็เห็นจะเป็นการสืบทอดจากราชสำนักสู่ชนชั้นสูง ที่อาจเกี่ยวดองกับเจ้านายในยุคต่อๆมา ที่ทรงมีชื่อในการตั้งเครื่อง"ข้าวแช่เสวย"และได้มีการเพิ่มเติมกับข้าวแช่ให้มีหลากหลายและน่ากินยิ่งขึ้น เจ้านายที่ขึ้นชื่อที่สุดในเรื่องของข้าวแช่ ก็คือ สมเด็จพระวิมาดาฯนั่นเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท