“ยกขันหมากปฐม” มหาวิทยาลัยทักษิณร่วมกับหลายหน่วยงาน เชิญร่วมงานฟื้นฟูสืบสานประเพณี “ยกขันหมากปฐม”


มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มูลนิธิทักษิณคดีศึกษา กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้ สถาบัน กศน. ภาคใต้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ขอเชิญร่วมงานบุญฟื้นฟูสืบสาน “ประเพณียกขันหมากปฐม:งานบุญวิวาห์จำลอง” ในวันเสาร์ ที่ 6 มีนาคม 2553 เวลา 08.30-13.00 น. ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา และร่วมรับประทานอาหารพื้นบ้านไทยภาคใต้ ชม มหรสพ นิทรรศการ ขบวนแห่ขันหมากคู่บ่าวสาวจำลอง

มหาวิทยาลัยทักษิณ เชิญร่วมงานฟื้นฟูสืบสานประเพณี “ยกขันหมากปฐม” 

มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มูลนิธิทักษิณคดีศึกษา กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้  สถาบัน กศน. ภาคใต้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา  สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ขอเชิญร่วมงานบุญฟื้นฟูสืบสาน “ประเพณียกขันหมากปฐม:งานบุญวิวาห์จำลอง” ในวันเสาร์ ที่ 6 มีนาคม 2553  เวลา 08.30-13.00 น. ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา และร่วมรับประทานอาหารพื้นบ้านไทยภาคใต้ ชม มหรสพ นิทรรศการ  ขบวนแห่ขันหมากคู่บ่าวสาวจำลองจำนวน 6 คู่  ประกอบด้วย

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา + วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา  1 คู่

คู่บ่าวสาวจากกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้  1 คู่

ชมรมสตรีไทยหัวใจแกร่ง อ.จะนะ + สถาบัน กศน.ภาคใต้  1 คู่

ชมรมสตรีไทยหัวใจแกร่ง อ.จะนะ + บริษัท เอส.เค. คุณธรรม กรุ๊ป จำกัด 1 คู่

สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา + สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา 1 คู่

เมืองจิตรา ประเทศมาเลเซีย + สมาคมเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน 1 คู่

[1] ภาคใต้มีประเพณีการยกขันหมากปฐม หรือที่บางท้องที่เรียกว่า “ยกขันหมากพระถม” จัดขึ้นเป็นการกุศลเพื่อระดมทุนถวายวัด คล้ายกับงานทอดผ้าป่าหรือทอดกฐิน เวลาการจัดประเพณียกขันหมากปฐมเป็นไปตามความพร้อมของชาวบ้าน แต่จะไม่จัดในช่วงเข้าพรรษา มักนิยมจัดตั้งแต่เดือนมีนาคมซึ่งเป็นเวลาหลังการเก็บเกี่ยว ประเพณียกขันหมากปฐมเป็นการสมมติพิธีแต่งงานโดยมีเค้าโครงเรื่องมาจากพุทธประวัติตอนวิวาห์มงคล ระหว่างพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา ซึ่งเป็นพระบิดา พระมารดาของพระพุทธเจ้า  พิธีแต่งงานจัดตามพิธีแต่งงานของท้องถิ่นอย่างครบถ้วน เงินสินสอดจากขันหมากและเงินที่ผู้เข้าร่วมงานร่วมกันบริจาคทั้งหมดถวายแก่วัดเพื่อใช้บำรุงพระพุทธศาสนา เมื่อเสร็จพิธีแต่งงานผู้เข้าร่วมงานร่วมกันฟังเทศน์เป็นอันเสร็จพิธี  การจัดงานประเพณียกขันหมากปฐมครั้งนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณจัดขึ้นโดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความร่วมมือเป็นเจ้าภาพฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว เช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้    วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ  องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา  สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคใต้ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ชมรมสตรีไทยหัวใจแกร่งอำเภอจะนะ และบริษัท เอส.เค.คุณธรรม กรุ๊ป จำกัด 

วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อร่วมเผยแพร่องค์ความรู้ ฟื้นฟูและสืบสานภูมิปัญญาประเพณียกขันหมากปฐม   รายได้เป็นกองทุนทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ และส่วนหนึ่งสนับสนุนการศึกษาของนิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ 

กำหนดการงานฟื้นฟูประเพณียกขันหมากปฐม

วันเสาร์ ที่ 6 มีนาคม 2553 

08.30 น. แขกรับเชิญทยอยเข้าสู่หอประชุมอเนกประสงค์ (สมมติว่าเป็นบ้านเจ้าสาว)

08.45 น. เจ้าสาว บิดามารดา (สมมติ) ญาติผู้ใหญ่ (สมมติ)พร้อมกัน   ณ หอประชุม

09.00 น. ขบวนเจ้าบ่าวพร้อมกัน ณ บริเวณวงเวียนน้ำพุในมหาวิทยาลัย   

             แล้วขบวนกลองยาวแห่นำไปยังหอประชุม

-    ฝ่ายเจ้าสาวอาจนำผ้าหรือเชือกหรือเข็มขัด ฯลฯ มากั้นขวางไว้ ไม่ยอมให้ขบวนเข้าไปจนกว่าจะนำเงินมาให้เท่าจำนวนที่เรียกร้อง

-    เด็กเล็กฝ่ายเจ้าสาวเช็ดรองเท้าให้เจ้าบ่าว

-    ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวรับขันหมาก นำเจ้าบ่าวเข้าสู่บริเวณพิธี

-    ชม VCD เปิดตัว “งานฟื้นฟูประเพณียกขันหมากปฐม”

-    หมอประกอบพิธีเช่นเดียวกับการแต่งงานจริง

-    คู่บ่าวสาวแต่ละคู่แยกย้ายไปกราบไหว้บิดามารดา (สมมติ) ญาติผู้ใหญ่ (สมมติ) บิดามารดาญาติผู้ใหญ่แต่ละคนให้พรและมอบเงินให้เป็นของขวัญแก่คู่บ่าวสาว

-    ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย

-    ประกอบพิธีทางศาสนา พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนตร์ แสดงธรรมเทศนา

-    ประธานในพิธีกล่าวขอบคุณแขก

-   คู่บ่าวสาวกราบไหว้ แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน และแขกผู้มีเกียรติแต่ละคนให้พรและมอบเงินเป็นของขวัญแก่คู่บ่าวสาว

-   รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน/รับของฝาก

13.00 น. เสร็จพิธี

หมายเหตุ : แต่งกายแบบไทยหรือไทยพื้นบ้านภาคใต้  

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ หมายเลขโทรศัพท์ 074-311885-7 ต่อ 1111  หรือที่งานประชาสัมพันธ์  โทร. 074-442660

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

งานฟื้นฟูสืบสานประเพณีการยกขันหมากปฐม[1]

 

ความเป็นมา

“ยกขันหมากปฐม” บางท้องที่เรียกว่า “ยกขันหมากพระถม” เป็นงานบุญอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านและวัดร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเรี่ยไรเงินเข้าวัด ทำนองเดียวกับงานทอดผ้าป่าหรือทอดกฐิน    โดยการสมมุติเหตุการณ์ย้อนหลังไปครั้งพุทธกาล อาศัยเค้าเรื่องจากพุทธประวัติในคัมภีร์พระปฐมสมโพธิ ตอนวิวาหมงคลระหว่างพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา   มีการสมมุติคู่บ่าวสาวขึ้นแทนพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา และสมมุติบุคคลอื่น ๆ   เป็นเครือญาติตามพุทธประวัติ เช่น พระมาตุจฉา พระมาตุลา พระปิตุจฉา พระปิตุลา เป็นต้น   ด้วยเหตุที่งานบุญนี้มีการยกขันหมากเหมือนงานแต่งงานจริง ประกอบกับจัดโดยอาศัยเค้า พุทธประวัติในคัมภีร์พระปฐมสมโพธิจึงเรียกว่า “ยกขันหมากปฐม”

ขนบนิยม     

จะสมมุติเอาวัด (อาจเป็นโรงเรียนหรือสถานที่สาธารณะอื่น ๆ  ตามที่เห็นสมควร)    เป็นสถานที่ประกอบพิธีแต่งงาน โดยจัดพิธีตามขนบประเพณีของท้องถิ่น บรรดาสิ่งของที่นำมาจัดขันหมากก็ดี เงินสินสอดก็ดี เงินขวัญถุงที่บรรดาผู้ไปร่วมงานมอบให้แก่คู่บ่าวสาวก็ดี  จะรวบรวมถวายวัด หรือบำรุงการกุศล

โอกาสและเวลา     

จะจัดขึ้นเมื่อใดแล้วแต่ความพร้อมของวัดและชาวบ้าน จัดได้ทุกเดือน ทุกฤดูกาล   เว้นระยะเข้าพรรษา แต่ส่วนมากนิยมจัดกันหลังฤดูเก็บเกี่ยว ประมาณเดือนมีนาคม   เป็นต้นไป

คู่บ่าวสาว  

ผู้ที่เลือกเฟ้นมาสมมุติเป็นตัวเจ้าบ่าวและเจ้าสาว จะเลือกจากคนโสดที่มีลักษณะดี  สวยงาม กล้าและฉลาดในการเรี่ยไร บางแห่งต้องการจัดให้เป็นงานใหญ่ หาเงินได้มาก  จะสมมุติให้มีการสมรสพร้อมกันหลายคู่ คู่บ่าวสาวสมมุติอาจเป็นชายจริงหญิงแท้     หรือเป็นหญิงทั้งคู่ เป็นชายทั้งคู่ก็ได้ จะใช้เด็กเล็ก ๆ ก็ได้ 

เจ้าภาพหรือผู้ใหญ่    

ผู้ที่จะสมมุติเป็นบิดาและมารดาของเจ้าบ่าวเจ้าสาว  มักเลือกเอาผู้ที่มีคนนับหน้าถือตามาก ๆ  ถ้ามีฐานะดีด้วยก็ยิ่งดี เพราะจะได้เพิ่มค่าสินสอดหรือค่าเงินใส่หัวขันหมาก  ได้สูงยิ่งขึ้น บางครั้งจะเลือกผู้เป็นเจ้าภาพฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวให้เป็นคนต่างละแวกกัน    เพื่อเสริมสร้างสามัคคีและขยายงานให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในกรณีคู่บ่าวสาวที่สมมุติเป็นพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายานั้น ผู้ที่สมมุติให้เป็นวงศาคณาญาติจะเลือกเฟ้นกันเป็นพิเศษ และถือเป็นเกียรติอย่างสูงของผู้ที่ได้รับการสมมุติ 

ต้องแต่งกายอย่างกษัตริย์ ซึ่งอาจหยิบยืมเครื่องแต่งกายจากคณะโนราหรือคณะลิเก บางรายศรัทธาแก่กล้าถึงกับยอมลงทุนจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เสร็จพิธีแล้วถวายเป็นสมบัติของวัดไปก็มี

การจัดขันหมาก  

เมื่อใกล้ถึงวันกำหนด ทั้ง ๒ ฝ่ายจะจัดเตรียมขันหมาก จัดตกแต่งอย่างสวยงาม สิ่งที่ใส่ในขันหมากมีหมากและพลู (ไม่ใช้ขนม) นิยมจัดหมากและพลูให้มีอัตราส่วนเป็นพลู  ๑ แบะ (แถว) ต่อหมาก ๕ ผล จะมีจำนวนพลูกี่แบะก็ได้โดยให้หมากเพิ่มขึ้นตามอัตราส่วน นอกนั้นก็มีคล้ายขันหมากแต่งงานจริง (แต่งงานจริงอาจจัด ๙ หรือ ๑๑ ขัน)

เงินสินสอดและเงินหัวขันหมาก   

หัวใจของงานยกขันหมากปฐมคือ “เงินใส่หัวขันหมาก” เป็นเงินที่ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาวถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแข่งขันกันจัดหาให้ได้มากที่สุด และมักปิดไว้เป็นความลับ ค่อยรู้กันตอนเปิดดูเงินหัวขันหมากในพิธี เงินจำนวนนี้สมมุติให้เป็นเงินที่ผู้ใหญ่ทั้ง ๒ ฝ่ายมอบให้แก่คู่สมรสเพื่อนำไปใช้ก่อร่างสร้างตัวเป็นครอบครัวใหม่ แต่ที่จริงก็คือเงินที่จะถวายวัด  หรือเพื่อการกุศลนั่นเอง จึงอาจได้มาจากผู้ที่เป็นเจ้าภาพและญาติมิตรร่วมกันอนุโมทนาหรือจัดหา ยิ่งหาได้มากเท่าใดถือเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีของบรรดาญาติมิตรของผู้ที่สมมุติเป็นญาติผู้ใหญ่ของคู่สมรส 

เงินอีกส่วนหนึ่งคือ “เงินสินสอด” เงินจำนวนนี้อาจช่วยกันกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องมีเท่าใด เมื่อกำหนดแล้วจะต้องจัดหามาให้ครบ แต่ส่วนมากจะกำหนดให้พอเหมาะตามฐานะ   และภาวะเศรษฐกิจของท้องถิ่นในขณะนั้น  “เงินสินสอด” นี้ เป็นหน้าที่ของผู้ที่สมมุติตัวเป็นเจ้าภาพฝ่ายเจ้าบ่าว   

ขั้นตอนพิธีกรรม   

เมื่อถึงวันกำหนดนัดจะปฏิบัติเหมือนประเพณีแต่งงานจริงของแต่ละท้องถิ่น คือ

๑. ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะจัดเตรียมขันหมาก และยกขันหมากออกจากบ้านไปที่วัด หรือสถานที่อื่น ๆ ที่กำหนดขึ้น 

๒. ให้ขบวนของฝ่ายเจ้าสาวไปถึงก่อน  เพราะสมมุติเอาสถานที่นั้นเป็นเสมือนบ้านของ เจ้าสาว (บางท้องถิ่นให้ฝ่ายเจ้าสาวจัดเตรียมแต่งตัวในสถานที่นั้น ๆ เลยก็ได้โดยไม่ต้องเข้าขบวนแห่ก็มี)

๓. เมื่อเจ้าสาวพร้อมแล้วขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวจึงถึงมาทีหลัง

การแห่ขันหมากนับว่าเป็นตอนที่สวยงามและเป็นที่สนุกสนานของชาวบ้าน    อาจมีผู้นำเงินมาสมทบใส่หัวขันหมากเพิ่มเติมได้ตลอดทาง 

๔. เมื่อขบวนขันหมากของฝ่ายเจ้าบ่าวมาถึงใกล้เขตจัดพิธี ฝ่ายเจ้าสาวอาจจะนำผ้าหรือเชือกมากั้นขวางไว้ ไม่ยอมให้ขบวนเข้าไปจนกว่าจะมีผู้นำเงินมาให้เท่าจำนวนที่เรียกร้อง อาจต่อรองกันอย่างสนุกสนานเหมือนธรรมเนียมการแต่งงานจริง ซึ่งเป็นอีกช่วงหนึ่งที่จะเรี่ยไรเงินเข้าวัดได้เพิ่มขึ้น

๕. เมื่อขบวนขันหมากและญาติมิตรของทุกฝ่ายถึงที่ประกอบพิธีพร้อมแล้ว (มักประกอบพิธีที่โรงธรรมหรือที่ที่ปลูกขึ้นเฉพาะ ไม่นิยมจัดในอุโบสถ) แล้วดำเนินพิธีเช่นเดียวกันกับการแต่งงานจริง 

๖. เสร็จแล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาวแต่ละคู่ก็จะแยกย้ายกันกราบไหว้บิดามารดา (สมมติ)     ญาติผู้ใหญ่ (สมมติ) ของแต่ละฝ่าย บิดามารดาญาติผู้ใหญ่แต่ละคนก็จะให้พรและมอบของขวัญให้แก่คู่บ่าวสาว (ซึ่งส่วนมากเป็นเงิน มากน้อยตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน)

๗. จากนั้นก็ดำเนินพิธีทางศาสนา คู่บ่าวสาวกราบพระ พระสวดให้ศีลให้พร อาจมีการฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย

๘. เสร็จแล้วคู่บ่าวสาวก็จะกราบไหว้ผู้ที่ไปร่วมงานทุกคน ซึ่งล้วนสมมุติว่าเป็นญาติมิตรทั้งสิ้น เมื่อกราบไหว้ผู้ใดผู้นั้นก็จะต้องมอบเงินให้เป็นของขวัญมากน้อยตามกำลังเช่นเดียวกัน

๙. นำเงินซึ่งเป็นของขวัญทั้งหมดมารวมกับเงินหัวขันหมาก เงินสินสอดถวายวัดหรือมอบไว้เพื่อการกุศลตามเจตนาของการจัดงานต่อไป

๑๐. เสร็จแล้วก็รับประทานอาหารร่วมกัน เป็นอันเสร็จพิธี

ประเพณียกขันหมากปฐมในบางท้องถิ่นมีพิธีเรียงสาดเรียงหมอนด้วย โดยนำของต่าง ๆ มาวางไว้แล้วให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวเสี่ยงทายเลือกของนั้น ตามประเพณีถือว่าเป็นการเสี่ยงเพื่อทายอุปนิสัย แต่ผู้ร่วมพิธีคนอื่น ๆ อาจอธิษฐานให้ผลจากการเสี่ยงทายนั้นเป็นนิมิตหมายบอกอุปนิสัยของคนที่ตนเองปรารถนาจะรู้ ของที่นำมาประกอบการเรียงสาดเรียงหมอนและคำทำนายกำหนดไว้ดังนี้คือ

ดอกไม้              ทายว่า คู่สมรสจะสดชื่นอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

ธูปเทียน            ทายว่า คู่สมรสเป็นคนใจบุญ โอบอ้อมอารี

กรรไกร              ทายว่า เป็นคนเรียบร้อย

มีดโกน              ทายว่า มีความฉลาดแหลมคม

หินลับมีด           ทายว่า เป็นคนที่จะต้องคอยตักเตือนจึงจะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้

รวงข้าว              ทายว่า ทำการทำงานดี อุดมสมบูรณ์

แหวน                ทายว่า จะมีฐานร่ำรวย

ประเพณียกขันหมากปฐม นับว่าเป็นงานบุญที่ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีขึ้นในท้องถิ่น ทำให้แต่ละคนสามารถเข้าร่วมงานบุญนี้ได้ตามกำลังความสามารถของตน ทั้งยังช่วยอนุรักษ์ประเพณีการแต่งงานของท้องถิ่นได้ส่วนหนึ่ง เปิดโอกาสให้คนต่างเพศต่างวัยและต่างถิ่นได้ใกล้ชิดสนิทสนมกัน และสนุกสนานร่วมกัน และยังเป็นทางที่จะจรรโลงศาสนาได้เป็นอย่างดี แต่ทว่าประเพณีนี้นับวันแต่จะหาดูได้ยาก

.............................................

 

คำแนะนำสำหรับแขกผู้มีเกียรติ

          เนื่องจากการจัดงานยกขันหมากปฐมเป็นการฟื้นฟูประเพณีที่ไม่ค่อยจะพบเห็นกันแล้วในปัจจุบัน เพื่อความสะดวกในการเตรียมตัวมาร่วมงานของแขกผู้มีเกียรติ จึงมีคำแนะนำดังนี้

            ๑. การแต่งกาย

                        ๑.๑ เด็กชาย/หญิง นักเรียน นิสิต นักศึกษา แต่งกายแบบไทย หรือแต่งชุดนักเรียน นักศึกษา

๑.๒ ผู้ชาย แต่งกายแบบไทย อาจนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน หรือนุ่งกางเกง สวมเสื้อราชปะแตน หรือเสื้อซาฟารี หรือนุ่งห่มอย่างอื่นแบบชายไทยพื้นบ้านภาคใต้     หรือตามความเหมาะสม

๑.๓ ผู้หญิง แต่งกายแบบไทย อาจแต่งชุดไทยแบบใดแบบหนึ่ง หรือนุ่งห่มอย่างอื่นแบบหญิงไทยพื้นบ้านภาคใต้ หรือตามความเหมาะสม

          ๒. ข้อปฏิบัติ

๒.๑ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีตามกำหนดการ

๒.๒ รับไหว้คู่บ่าวสาว/ มอบซองเงินตามสะดวกเป็นของขวัญแก่คู่บ่าวสาว

๒.๓ ร่วมรับประทานอาหารไทยพื้นบ้านภาคใต้

๒.๔ รับ VCD/เอกสารที่ระลึก

๒.๕ รับของฝากกลับบ้าน (ข้าวเหนียวขาว/เหลืองห่อใบบัว ข้าวเหนียวแดง กะละแม)

 


[1] เรียบเรียงจาก สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. “ยกขันหมากปฐม”. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม ๑๓. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒. หน้า ๖๒๓๔-๖๒๓๗.

คำสำคัญ (Tags): #onblog#online#pr#sar#tsu
หมายเลขบันทึก: 340372เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2010 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เคยได้เห็นเมื่อสมัยที่ยังเด็กๆ เป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับงานบุญ แล้วประเพณีนี้เกือบจะสูญหายไปแล้ว

เมื่อก่อนคนพัทลุงจะยกขันหมากปฐมไปสู่ขอสาวสงขลา ถ้าจำไม่ผิดเป็นประเพณีที่เชื่อมความสัมพันธ์ของชาวพัทลุงและสงขลาที่อาศัยบริเวณแถบทะเลสาปทั้งฝั่งพัทลุงและฝั่งสงขลา

เดี๋ยวนี้ด่วนสรุปพิธิเนื่องจากงบประมาณมีน้อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท