การผลิตครู


กระบวนการผลิตครูแบบใหม่
ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าไปได้นั้นอยู่ที่คุณภาพคนในชาติ คนจะมีคุณภาพอยู่ที่การศึกษา การศึกษาจะช่วยพัฒนาคนให้มีคุณภาพดีได้อย่างไร เหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่งอยู่ที่การจัดการศึกษาซึ่งผู้มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา ผู้ให้การศึกษา ผู้บริหารการศึกษา เริ่มตั้งแต่รัฐบาลมาจนกระทั่งถึง ครู อาจารย์ รวมถึงผู้ปกครองจะต้องตระหนักในหน้าที่ของตนเอง ที่จะปั้นบุตรหลานผู้เข้ารับการศึกษาให้เป็นคนเก่ง ดี มีสุข ให้จงได้ (อุดมพร, 2549) ทั้งนี้ดิเรก และคณะ (2546) ได้กล่าวถึงกลไกสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษา คือ ครู เพราะครูเป็นผู้กำหนดคุณภาพประชากรในสังคม และคุณภาพประชากรในสังคม คือตัวพยากรณ์ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ครูจึงควรเป็นวิชาชีพที่รวมคนเก่ง คนดี สามารถเป็นต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรม การประพฤติปฏิบัติตน การดำรงชีวิต และการชี้นำสังคมไปในทางที่เหมาะสม ซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 4ได้กำหนดให้ “ครู” เป็นบุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียน การสอน และการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ, 2542) ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 4 ได้กำหนดให้ “ข้าราชการครู” เป็นผู้ที่ประกอบวิชาชีพ ซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียน การสอน และส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาของรัฐ (พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, 2547) นอกจากนี้แล้วอุดมพร อมรธรรม (2549) ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ครูเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างผู้เรียนให้มีคุณสมบัติเพียงต่อความรับผิดชอบของบ้านเมืองในอนาคต ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ผู้ที่เป็นครูจะต้องถือเป็นหน้าที่อันดับแรก ที่จะต้องให้การศึกษา คือสั่งสอนอบรมอนุชนให้ได้ผลแท้จริง ทั้งในด้านวิชาความรู้ ทั้งในด้านจิตใจและความประพฤติ ทั้งต้องคิดว่า งานที่แต่ละคนกำลังทำอยู่นี้ คือความเป็นความตายของประเทศ เพราะอนุชนที่มีความรู้มีความดีเท่านั้นที่จะรักษาชาติบ้านเมืองไว้ได้” แต่ปัญหาการจัดการศึกษา ได้แก่ 1)การกระจายอำนาจล้มเหลว/โรงเรียนอ่อนแอลงมาก 2)การปฏิรูปการศึกษามีผู้ได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูง 3)ครูต้องรับภาระงานอื่นมากที่นอกเหนือจากงานสอน ขาดเสรีภาพในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามความรู้ความสามารถ 4)การประกวด การแข่งขัน การทำวิทยฐานะ และเกณฑ์การประเมินอื่นๆ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนต่ำ 5)ระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาไม่เป็นเอกภาพและมีหลายมาตรฐาน 6)ปัญหาเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะไม่สอดคล้องกับสภาพการปฏิบัติงานจริงของครู 7)เรียนฟรีเป็นไปได้หรือไม่ และสิ่งที่นักเรียนต้องการคืออะไร 8)ปฏิรูปการศึกษา ครูอยากได้อะไรเพื่อนักเรียน 9)ระบบสรรหาครู ผู้บริหาร และบุคลากรอื่นโดยการสอบแข่งขันและการสอบคัดเลือก ทำให้ได้คนไม่มีความรู้ความสามารถพอ 10) วิธีการสรรหา การเลือกตั้ง และการกำหนดสัดส่วนในคณะกรรมการทุกระดับไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม (อุเทน, 2552) ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ปัญหาใดเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตการทำงานของครูในสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางปัญหานานัปการที่ประเทศไทยต้องเผชิญ จนดูเหมือนว่าจะกลายเป็นวิกฤติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง จนทำให้สถาบันจัดดัชนีความสงบสุขโลก (Global Peace Index) จัดอันดับไทยที่ 118 ต่ำกว่าสิงคโปร์ (29) เวียดนาม (37) มาเลเซีย (38) ลาว (51) อินโดนีเซีย (68) กัมพูชา (91) สูงกว่าพม่า (126) เพียงประเทศเดียว โดยไทยมีปัญหาภาพลักษณ์เสียหลายด้าน อาทิ แนวโน้มการเกิดการก่อการร้าย (4 คะแนน จากเต็ม 5) การเคารพสิทธิมนุษยชน (4คะแนน จากเต็ม 5) ระดับความขัดแย้งขององค์กรภายใน (3 คะแนน จากเต็ม 5) ความไม่เชื่อมั่นของพลเมืองต่างชาติต่อความสงบสุขภายในประเทศ (3 คะแนน จากเต็ม 5) ฯลฯ (มติชนสุดสัปดาห์, 2551) ด้วยเหตุที่กลไกสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษา คือ “ครู” เพราะครูเป็นผู้กำหนดคุณภาพประชากรในสังคม และคุณภาพประชากรในสังคม คือ ตัวพยากรณ์ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (ดิเรก, 2546) แต่ระบบการสรรหาครูด้วยวิธีการสอบแข่งขันและการสอบคัดเลือกในปัจจุบัน ยังไม่ได้คนที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ (อุเทน, 2552) ทำให้เกิดปัญหาการจัดการศึกษาตามมา ดังนั้นการบวนการผลิตครูแบบใหม่ที่นำเสนอมานี้จะสามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพของครูไทยได้เนื่องจากเป็นแนวความคิดใหม่ที่แตกต่างจากเดิมดังนี้ 1. จัดตั้งสถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อเป็นแหล่งผลิตครูเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเพื่อความเป็นเอกภาพในการผลิตครู 2.หลักสูตรการผลิตครูใช้เวลาตลอดหลักสูตร 6 ปี เทียบเท่าวิชาชีพชั้นสูง 3.การสรรหาครูใหม่ให้ใช้ระบบการสอบคัดเลือกเข้าเรียนที่สถาบันกัลยาณิวัฒนา ซึ่งมีรูปแบบการสรรหาเหมือนกับโรงเรียนเตรียมทหาร 4.กระบวนการผลิตครูให้ใช้สถาบันการศึกษาที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสังคมเป็นแหล่ง ผลิตครู 5.มีแผนการฝึกอบรมครูที่เข้าสู่สถานศึกษาแล้วอย่างเป็นระบบโดยมีโปรแกรมการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ใหม่ๆ ให้กับครูอยู่เสมอ 6.จัดเตรียมระบบการทำงานในสถานศึกษาที่เอื้อต่อเสรีภาพในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตามความรู้ความสามารถของครู และรองรับต่อความมีอิสระในงานสอนของครู สำหรับกระบวนการผลิตครูแบบใหม่อธิบายได้ ดังนี้ 1.จัดตั้งสถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อเป็นแหล่งผลิตครูเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเพื่อความเป็นเอกภาพในการผลิตครู สอดคล้องกับสมบัติ นพรัก (2552) ได้เสนอแนะให้จัดตั้งสถาบันฝึกหัดครูเพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพประสานข้อมูล และวางแผนการผลิตพัฒนาครู รวมทั้งการฝึกอบรมเพื่อยกระดับศาสตร์ ด้านการศึกษา ซึ่งอาจเป็นสถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อเป็นแหล่งผลิตครูเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเพื่อความเป็นเอกภาพ ในการผลิตครู เพราะหากมีแหล่งผลิตครูหลายแห่งดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะทำให้รูปแบบการฝึกหัดครูแตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบันทำให้หาเอกลักษณ์ของการผลิตครูไม่ได้ 2.หลักสูตรการผลิตครูใช้เวลาตลอดหลักสูตร 6 ปี เทียบเท่าวิชาชีพชั้นสูง หากต้องการให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง เช่น วิชาชีพแพทย์ หรือผู้พิพากษา เป็นต้น สามารถจัดชั้นเรียนในหลักสูตรให้กับนักเรียนครูได้ โดยจัดตั้งสถาบันกัลยาณิวัฒนาออกเป็นโซนนิ่งตามภูมิภาคของประเทศดังนี้ ชั้นปีที่ 1 นักเรียนครูทุกสาขาวิชาเรียนรวมกันที่สถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ความเป็นวิชาชีพครูโดยจัดหอพักให้นักเรียนครูได้ใช้ชีวิตอยู่รวมกันทุกคน ชั้นปีที่ 2-4 ส่งไปเรียนสถาบันการศึกษาที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสังคมที่เป็นแหล่งผลิตครู โดยคัดเลือกสถาบันที่มีความรู้ความชำนาญในการผลิตครูในแต่ละสาขาวิชาเป็นแหล่งผลิต เช่น มหาวิทยาลัย ก.มีความรู้ความชำนาญในการผลิตครูวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย ข.มีความรู้ความชำนาญในการผลิตครูคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัย ค.มีความรู้ความชำนาญในการผลิตครูภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นต้น เหล่านี้สามารถผลิตครูได้ตามความรู้ความชำนาญของแต่ละสถาบัน แต่ต้องมีระบบการคัดเลือกที่เป็นธรรมและมีมาตรฐานโดยเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย ทั้งนี้นักเรียนครูสามารถรับปริญญาตรีของแต่ละสถาบันได้ด้วยเพราะหลักสูตรปริญญาตรีในปัจจุบันจะเรียน 4 ปี แต่สำหรับหลักสูตรครูพันธุ์ใหม่ 5 ปี ควรปรับเป็น 4 ปี ตามเดิมเพราะนักเรียนครูชั้นปีที่ 6 จะกลับไปศึกษาที่สถาบันกัลยาณิวัฒนาเป็นปีสุดท้าย ซึ่งจะเป็นได้ว่าแทนที่จะเรียนในสถาบันกัลยาณิวัฒนาถึง 6 ปี แต่กลับใช้เวลาเรียนเพียง 2 ปี ทำให้ลดทรัพยากรอื่นๆ ลงไปได้มาก ทั้งยังเป็นกลยุทธ์ในการเลือกสถาบันผลิตครูที่มีคุณภาพให้กับนักเรียนครูอีกด้วย ชั้นปีที่ 6 นักเรียนครูทุกสาขาวิชากลับไปเรียนรวมกันที่สถาบันกัลยาณิวัฒนา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในวิชาชีพให้กับนักเรียนครูชั้นปีที่ 1 สร้างเครือข่ายนักเรียนครูทุกสาขาวิชา และรับเกียรติบัตรร่วมกันเป็นปีสุดท้ายก่อนที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษา 3.การสรรหาครูใหม่ให้ใช้ระบบการสอบคัดเลือกเข้าเรียนที่สถาบันกัลยาณิวัฒนา ซึ่งมีรูปแบบการสรรหาเหมือนกับโรงเรียนเตรียมทหาร โดยให้นักเรียนครูได้รับเงินเดือนและยศตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนชั้นปี 1 ในสถาบันกัลยาณิวัฒนา นอกจากนี้แล้วเพื่อความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติสัดส่วนนักเรียนครูต้องมากกว่าระบบการสรรหาครูด้วยวิธี การสอบแข่งขันและการสอบคัดเลือกครูในปัจจุบัน เช่น 80:20 เป็นต้น เพราะหากเติมคนเข้าไปในองค์การน้อยเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาถูกกลืนอุดมการณ์ความเป็นวิชาชีพครูได้ อุปมาเหมือนส่งทหารพลร่มเข้าไปในสนามรบ แต่จำนวนทหารพลร่มที่ส่งไปพิกัดดังกล่าวน้อยเกินไปก็อาจถูกศัตรูสอยลงด้วยด้วยอาวุธต่างๆ ลงไปได้ทำให้ยุทธศาสตร์การรบล้มเหลว ฉันใดก็ฉันนั้นจึงจำเป็นต้องวางแผนยุทธศาสตร์การผลิตจำนวนครูให้รอบคอบการศึกษาจึงจะประสบผลสำเร็จ แต่ก็น่าเป็นห่วงทหารพลร่มบางคนอาจลงพิกัดดังกล่าวได้แล้ว เผอิญมีชีวิตอยู่ได้ในสนามรบ บ้างแปรผันตัวเองเป็นทหารพราน บ้างก็แปรผันตัวเองเป็นฝ่ายศัตรูก็มี ดังเช่นโครงการผลิตนักเรียนครูในอดีตที่ผ่านมาเพราะขาดกระบวนการผลิตที่ชัดเจน สำหรับระบบการสรรหาครูด้วยวิธี การสอบแข่งขันและการสอบคัดเลือกครูในปัจจุบันควรจำกัดจำนวนให้น้อยลงไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งผลิตครูต้องมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสังคม หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าวต้องปรับเปลี่ยนไปผลิตหลักสูตรอื่นที่เป็นความต้องการของท้องถิ่นแทน ทั้งนี้นโยบายของนักการเมืองและผู้มีอำนาจสำคัญมากที่สุดในขั้นนี้เพราะต้องเห็นแก่ประโยชน์ของชาติเป็นหลัก และต้องปราศจากการเมืองในองค์การด้วยทั้งนี้มีความเห็นว่า หากระบบการสรรหาครูด้วยวิธี การสอบแข่งขันและการสอบคัดเลือกครูในปัจจุบันลดจำนวนอัตราการบรรจุลงจนในท้ายที่สุดสถาบันกัลยาณิวัฒนาจะเป็นแหล่งผลิตครูเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเพื่อความเป็นเอกภาพในการผลิตครูได้อย่างสมบูรณ์ 4.กระบวนการผลิตครูให้ใช้สถาบันการศึกษาที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสังคมเป็นแหล่งผลิตครู การคัดเลือกนักเรียนครูทำได้โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สถาบันกัลยาณิวัฒนา และระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยวางแผนร่วมกันในการกำหนดจำนวนนักเรียนครูให้พอดีกับจำนวนครูที่ต้องการในสถานศึกษา ของแต่ละปีการศึกษา 5.มีแผนการฝึกอบรมครูที่เข้าสู่สถานศึกษาแล้วอย่างเป็นระบบโดยมีโปรแกรมการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ใหม่ๆ ให้กับครูอยู่เสมอ ปัจจุบันกระแสโลกาภวิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นต้องมีแผนการฝึกอบรมครูที่เข้าสู่สถานศึกษาแล้วอย่างเป็นระบบ โดยมีโปรแกรมการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ใหม่ๆ ให้กับครู เพราะการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจำเป็นต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (อำนาจ,ม.ป.ป.) ด้วยเหตุนี้ครูจึงต้องมีความรู้ความชำนาญอยู่เสมอ 6.จัดเตรียมระบบการทำงานในสถานศึกษาที่เอื้อต่อเสรีภาพในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตามความรู้ความสามารถของครู และรองรับต่อความมีอิสระในงานสอนของครู เมื่อได้ผลผลิตครูที่ดีเข้ามาสู่องค์การ หากขาดระบบการทำงานในสถานศึกษาที่เอื้อต่อเสรีภาพในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามความรู้ความสามารถและรองรับต่อความมีอิสระในงานสอนของครู อาจทำให้เกิดปัญหาภาวะสมองไหลซึ่งเป็นการสูญเปล่าต่อกระบวนการผลิตครูแบบใหม่เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องให้ความร่วมมือจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นต่อการจัดการศึกษาให้เพียงพอจากความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาขาดเสรีภาพในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามความรู้ความสามารถ (วิทยากร, 2550) ซึ่งเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นเพื่อลดภาระงานอื่นที่นอกเหนือจากงานสอนของครูในปัจจุบันลง ท้ายสุดกระบวนการผลิตครูแบบใหม่สรุปได้ว่า เป็นหลักการนำคนเก่งคนดีเข้ามาในองค์การใช้กระบวนการผลิตครูที่มีประสิทธิผล และได้ผลผลิตครูที่มีคุณภาพตอบสนองความต้องการของสังคมโดยใช้ระยะเวลาสั้นและมีความเป็นไปได้ ซึ่งเป็นหลักการที่ออกนอกกรอบการจัดศึกษาในปัจจุบันเพราะหากทุกฝ่ายมีความจริงใจในการพัฒนาประเทศร่วมกันแล้วภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมของชาติจะเจริญได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ... เอกสารอ้างอิง 1.ดิเรก พรสีมา และคณะ. (2546). รายงานการวิจัยเรื่องการพัฒนาวิชาชีพครู. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550. จาก http://www.onec.go.th/Act/627/ 2.วิทยากร เชียงกูล. (2550). สภาวะการศึกษาไทยปี 2549/2550 การแก้ปัญหาและการปฏิรูป การศึกษาอย่างเป็นระบบองค์รวม. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.ที.ซี. คอมมิวนิเคชั่น. 3.อุดมพร อมรธรรม. (2549). ปรัชญาการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แสงดาว. 4.อำนาจ วัดจินดา. (ม.ป.ป.). การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์. วารสารดำรงราชานุภาพ,7(22), 24-28. 5.พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา. ราชกิจจานุเบกษา. 121(79 ก). 21 ธันวาคม 2547, หน้า 3. 6.สมบัติ นพรัก. (ม.ป.ป.). ทศวรรษที่สองของการปฏิรูปการศึกษา : การปฏิรูปการศึกษาคืออะไร? และอย่างไร?. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2552, จาก www.edu.nu.ac.th 7.พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542. (19 สิงหาคม 2542). ราชกิจจานุเบกษา. 116(74 ก). หน้า 1-114. 8.(23 พฤษภาคม 2551). มติชนสุดสัปดาห์, 29(1485), หน้า 31. 9.อุเทน ทองสวัสดิ์. (15 มกราคม 2552). การประชุมเสวนา เรื่องทิศทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2.ครูไทยดอทอินโฟ. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2552,จากhttp://www.kruthai.info/tennews/view.php?8
หมายเลขบันทึก: 340300เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2010 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท