โฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์ : ปัญหาทางกฎหมายและทางออก


ผลสรุปจากเวทีวิชาการเรื่อง โฆษณาตรง / แฝง ปัญหาทางกฎหมายและองค์กรในการจัดการ ในวันศุกร์ที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ณ ห้องประชุม ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

 

สืบเนื่องจากการบังคับใช้ พรบ.ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นผลให้มีการยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจ พรบ.วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ๒๕๓๘ เช่น การกำหนดระยะเวลาในการโฆษณาในรายการโทรทัศน์ การกำหนดระบบการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ เป็นต้น


นอกจากนั้น ภายใต้บทเฉพาะการของ พรบ.ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ ทำให้ การบริหารจัดการรายการโทรทัศน์ วิทยุที่ใช้คลื่นเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้เป็นอำนาจของ คณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม แต่โดยที่คณะกรรมการชุดนี้ ยังคงอยู่ในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ กำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ..... ทำให้ในระหว่างนี้เป็น “ช่วงว่าง” ขององค์กรที่จะเข้ามาใช้อำนาจในการบริหารจัดการรายการโทรทัศน์ วิทยุ


ข้อมูลผลการศึกษาของโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อฯ (Media Monitor) สถานการณ์ของรายการโทรทัศน์ในปัจจุบันที่มีโฆษณาแฝงเกือบทุกประเภทรายการ ทั้งข่าว ละครซิทคอม สารคดี เกมโชว์ สนทนา โชว์ วาไรตี้ ฯลฯ  ผ่าน ๕ รูปแบบ วิธีการแฝง (Tie-In, Product Placement and Advertorial or Infomercials) ได้แก่ การแฝงวัตถุ กราฟฟิก บุคคล วีทีอาร์หรือสปอตสั้น และการแฝงเนื้อหา ยังพบว่า สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวียังทำการโฆษณา “เกินกว่าที่กฏหมายกำหนด” โดยปรากฏเป็น ๒ ลักษณะคือ (๑) ต่อชั่วโมง  สูงเกินกว่าค่าสูงสุด กำหนดไว้ที่ ๑๒ นาทีต่อชั่วโมง พบในบางรายการ หรือ (๒) เฉลี่ยทั้งวัน  สูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ 10 นาทีต่อชั่วโมง ที่พบในบางสถานี


ดังนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นเรื่องการโฆษณา และ สัญญา โดยอาศัยอำนาจตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำ ร่างประกาศ “แนวทางการปรากฏของสินค้าในเนื้อหารายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์” ขึ้น
ประเด็นอันเป็นปัญหาในทางกฎหมายจึงเกิดขึ้นใน ๒ ประเด็น กล่าวคือ

 
ประเด็นที่ (๑) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นองค์กรที่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะอำนาจในการบริหารจัดการ กำหนดกติกา กฎเกณฑ์ ระเบียบ อันเกี่ยวเนื่องกับ การบริหารจัดการวิทยุ โทรทัศน์ เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการยกร่างประกาศฉบับดังกล่าว

ประเด็นที่ (๒) ร่างประกาศของ สคบ. ฉบับนี้ได้กำหนดให้คำนิยาม “เพื่อให้การปรากฏของสินค้าในเนื้อหารายการ” ไม่ใช่การโฆษณาและไม่ต้องนับรวมเป็นเวลาการโฆษณาสินค้าหรือบริการธุรกิจ แต่โดยที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ ได้บัญญัติถึงคำนิยามของการโฆษณาไว้ว่า หมายความรวมถึงกระทำการไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และในกฎหมายฉบับนี้ได้นิยามความหมายของคำว่า “ข้อความ” ว่าหมายความรวมถึงการกระทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมาย หรือการกระทำอย่างใด ๆ ที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้ ดังนั้น การกำหนดคำนิยามในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดโดยขัดต่อคำนิยามของคำว่า โฆษณา ใน พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท

      เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายทั้งสองประเด็น ทาง แผนงานสื่อเพื่อสุขภาวะเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงร่วมกับ มูลนิธิศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ในการจัดเสวนาทางวิชาการเพื่อแสวงหาความชัดเจนในประเด็นปัญหา พร้อมทั้ง ข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหา เพื่อนำไปสู่การสร้างมาตรการในการคุ้มครองเด็ก และเยาวชน ในวันศุกร์ที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ณ ห้องประชุม ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม

หมายเลขบันทึก: 339854เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2010 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท