เทศกาลง่วนเซียว เมืองพิษณุโลก : เครื่องมือในการพัฒนาเมือง?


เทศกาลง่วนเซียว เมืองพิษณุโลก : เครื่องมือในการพัฒนาเมือง?

เทศกาลง่วนเซียว เมืองพิษณุโลก : เครื่องมือในการพัฒนาเมือง?

หลายๆคนอาจไม่คุ้นหรือไม่เคยรู้จักกับ "เทศกาลง่วนเซียว" มาก่อน

แต่ในขณะนี้เมืองพิษณุโลกกำลังจะจัดเทศกาลง่วนเซียวขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว!!!

ที่มาที่ไปของเทศกาลตามความเชื่อของชาวจีนนั้นยาวมากไว้โอกาสต่อไปจะมาขยายความให้ฟังอีกที แต่สรุปให้พอเห็นภาพคร่าวๆก็คือ "เทศกาลโคมไฟ" นั่นเอง

แล้วมันเกี่ยวข้องกับเมืองพิษณุโลกอย่างไร?...

ในฐานะที่ได้รับการทาบทามให้เข้าไปช่วยจัดงานในหลายๆบทบาทหลายๆหน้าที่ตั้งแต่เมื่อตอนแรกเริ่ม เลยอยากเอามาขยายความให้ได้ฟังกัน...

เมื่อต้นปี 2552 ผู้เขียนได้รับการทาบทามจากกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มหนึ่งในเมืองพิษณุโลก(กลุ่ม PNEX) ให้เข้ามาช่วยจัดงานง่วนเซียว (แต่ชื่อเริ่มแรกที่กลุ่มเราเรียกกัน เรียกว่า "หยวนเซียว") ซึ่งเกิดขึ้นด้วยแนวคิดที่อยากสร้างงานเทศกาลที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นงานใหญ่ประจำปีของเมือง ประมาณงานตรุษจีนก็ต้องนครสวรรค์ เผาเทียนเล่นไฟที่สุโขทัย เป็นต้น  ซึ่งทางกลุ่ม PNEX มองว่าจริงๆแล้วเทศกาลที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ก็พึ่งจะจัดอย่างมีรูปแบบ และเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาในช่วงประมาณ 10 ปีมานี้เอง

ขณะเดียวกัน เมืองพิษณุโลกแม้จะเป็นเมืองหลัก เมืองพัก แต่กับยังไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอย่างชัดเจนนอกเหนือไปจากวัดใหญ่ของหลวงพ่อพุทธชินราช  กิจกรรมหรือเทศกาลที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มุ่งมาเที่ยวเมืองพิษณุโลกเองก็ยังไม่ชัดเจนอีกเช่นกัน

ทางกลุ่มจึงพยายามมองหาเทศกาลต่างๆที่ยังไม่มีคน(หรือเมือง)จัดขึ้นมาก่อน

ผนวกกับการที่คนในกลุ่มเกือบทั้งหมดล้วนมีเชื้อสายจีน และชาวจีนเองก็มีบทบาทค่อนข้างชัดเจนกับเมืองพิษณุโลก และยังมีย่านที่มีภาพลักษณ์ของย่านชาวจีนค่อนข้างชัดเจนหลงเหลืออยู่บ้าง(ย่านตลาดใต้)  ทุกอย่างจึงมาลงตัวที่"เทศกาลง่วนเซียว" เทศกาลที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักนัก...

คำถามที่เกิดขึ้นในใจผู้เขียนทันทีก็คือ "ราก"ของเทศกาลนี้กับเมืองพิษณุโลกมันมีแค่ไหน...

ซึ่งยิ่งผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุม หาข้อมูลของเทศกาล ชุมชนชาวจีน โดยเฉพาะการได้พบปะพูดคุยกับผู้คนในเมืองพิษณุโลก ทั้งคนเก่าคนแก่ และคนรุ่นหนุ่มสาว  ผู้เขียนได้พบว่าคนรุ่นตั้งแต่หนุ่มสาวลงมามีความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของเมืองพิษณุโลกน้อยมากๆ!!!

ผู้เขียนจึงเกิดความรู้สึกว่า แทนที่จะมัวแต่ตั้งข้อสงสัยถึง "รากของเทศกาล" ที่ว่า หากเราสามารถนำมันมาเป็นเครื่องมือในการทำให้คนเข้าใจถึง "รากที่แท้จริงของชาวพิษณุโลก"จะดีกว่าไหม?

ผู้เขียนซึ่งมีบทบาทเป็นอาจารย์สาขาสถาปัตยกรรม ซึ่งมีพื้นฐานทางด้านการออกแบบและการพัฒนาชุมชนเมือง จึงได้พยายามในทุกโอกาสที่จะใช้ "เทศกาลง่วนเซียว" และพื้นที่จัดงานอันได้แก่ "ตลาดใต้" เป็นเครื่องมือที่จะสื่อสารเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมให้แก่ประชาคมเมืองพิษณุโลก ผ่านกิจกรรมต่างๆร่วมกับนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ประชาชนในชุมชน ผู้ประกอบการ หอการค้า เทศบาลฯ คนเก่าคนแก่ ฯลฯ  ในรูปแบบของการสนทนา พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ หรือการสัมมนาเล่าเรื่องเก่าอย่างค่อนข้างเป็นทางการ  การประกวดถ่ายภาพและวาดภาพ การจัดนิทรรศการและกิจกรรมในถนนคนเดินเมืองพิษณุโลก และวนมาถึงเทศกาลง่วนเซียว ครั้งที่ 2 นี้อีกครั้ง!!!

ขณะนี้ผู้เขียนมุ่งหวังเพียงว่าชาวเมืองพิษณุโลกจะได้รับรู้ และเข้าใจถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของเมืองพิษณุโลกเองให้มากขึ้น ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเมืองพิษณุโลกในอนาคตมีความตระหนัก และใส่ใจ ใน "ราก" ที่แท้จริงของเมืองพิษณุโลกมากขึ้น.

01.35 น.   25 ก.พ. 2553

ณ บ้านเลขที่ 173/1

หมายเลขบันทึก: 339777เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2010 01:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับการเล่าขานงานเทศกาล รากเหง้าประวัติศาสตร์ของชุมชน อยากให้ชุมชนได้ตระหนักถึงคุณค่าประวัติศาสตร์ของชุมชนตนเองครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท