บันทึกของผม นศ.จิรายุ ตังสกุล


วันนี้การเดินทางอันแสนยาวไกลได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ผมกลับรู้สึกว่านี่เป็นเพียงด่านแรกที่พวกเราปี 2 ได้ผ่านพ้นมา ยังเหลือหนทางข้างหน้าอีกยาวแค่ไหน ก็คงไม่มีใครรู้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้ก็คือ เราคงต้องก้าวต่อไป จนกว่าจะถึงที่หมายที่เราได้วาดฝันไว้ครับ

-  ทุกครั้งที่ลูกร้องไห้ คุณแม่จะคอยปลอบอยู่เสมอ  ทำให้สัมผัสได้ถึงสายใยแห่งความรักที่แม่ทุกคนมีให้กับลูก  แม้เราจะมองไม่เห็นแต่มันก็มีอยู่จริง

-  ผมคิดว่าการเรียนหมอนั้นยากแล้ว  แต่การจบมาเป็นหมอที่ดีนั้นยากกว่า เมื่อผมมาเห็นพี่หมอที่นี่จึงได้รู้ว่าความทุ่มเทและความเสียสละเป็นอย่างไร

-  คำชมเพียงเล็กๆ น้อย ๆ  ที่ให้กับผู้ป่วย ก็ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ  และมีพลังต่อไปครับ

-  คนไข้ส่วนใหญ่มักต้องการความรวดเร็วในการรับบริการ  จึงมักมีการสร้างข้อเปรียบเทียบขึ้นมา  แต่ถ้าเรามีเหตุผลสามารถตอบคำถามของคนไข้ได้  คนไข้จะรู้สึกดีและมีความเชื่อมั่นในผู้ให้การรักษาเพิ่มมากขึ้น  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเราไม่รู้หรือไม่ทราบถึงที่มาที่ไปจริง ๆ ขอเรื่องนั้น ๆ  เราก็ควรบอกตรง ๆ ว่าไม่รู้  ไม่ควรโกหก เพราะอาจทำให้เกิดผลเสียต่อคนไข้และต่อรพ.ได้ครับ

- บางครั้งเราคิดว่าการให้ยาทาน โดยแบ่งเวลาออกเป็น เช้า เที่ยง เย็น กินก่อนหรือหลังอาหารให้แก่คนไข้ น่าจะทำให้คนไข้สะดวกในการรับประทานยา  แต่ในความเป็นจริงยังมีคนไข้อีกหลายรายที่ยังไม่เข้าใจวิธีการทานยา  โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเรื้อรังหลายโรค ต้องกินยาหลายตัว บางครั้งไปตรวจติดตามการรักษาต่อเนื่อง ก็มีการปรับยา หรือเพิ่มยา ทำให้เกิดความสับสนระหว่างยาเก่าและยาใหม่  ชื่อยาก็เป็นภาษาอังฤกษ  ทำให้ไม่ทราบว่าเป็นยาอะไร  เหมือนหรือต่างกับที่เคยได้มา สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาสำหรับเรา แต่สำหรับคนไข้หลายรายอาจเป็นปัญหาหลักที่ทำให้คนไข้ไม่หายจากอาการที่เป็นอยู่เสียที และกินยาผิด ดังเช่นผู้ป่วยที่ผมได้ดูแล เพราะป้าอยู่คนเดียว มีหลานตัวเล็กดูแล และป้าก็ตาบอดด้วยครับ

 ป้าเป็นเบาหวานและความดัน  แต่ต้องกินอาหารหมักดอง  เพราะสามารถเก็บไว้ได้นาน  เนื่องจากป้าเดินไม่ได้ ไม่มีคนดูแล  ทำให้อาการป้าไม่หายขาดสักที ก่อนกลับป้าอวยพรให้พวกเราเป็นคนดี ป้ากล่าวพร้อมรอยยิ้ม  แอบสังเกตเห็นน้ำตาที่ปริ่มอยู่ตรงขอบตาล่าง ทำให้ผมรู้สึกเศร้าใจและอยากร้องไห้อย่างบอกไม่ถูก    ผมคิดว่าการได้ออกเยี่ยมชุมขนทำให้เราได้ใกล้ชิดคนไข้มากขึ้น  ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ได้ทำในสิ่งที่เราอาจไม่มีโอกาสได้ทำเลยในตลอดชีวิต

-  การที่คนไข้ต้องมารอคิวที่ รพ.นาน ๆ  อาจรู้สึกเบื่อหรือหงุดหงิดได้  การที่เราเข้าไปพูดคุยชวนคุยถามสารทุกข์สุขดิบ  จะช่วยทำให้คนไข้อารมณ์ดีขึ้น  และเราเองก็ได้รู้เรื่องราวอีกหลายๆ อย่างที่สามารถซักได้อย่างละเอียดจากห้องตรวจ อันเนื่องมาจากเวลาจำกัด  นอกจากนี้การรักษาคนไข้ ความสำเร็จของการรักษาไม่ได้อยู่ที่หมอฝ่ายเดียว  แต่ยังขึ้นกับความร่วมมือของคนไข้ด้วย หากคนไข้ให้ความร่วมมือดี  การรักษาก็จะได้ผลมากขึ้น 

- หลังจากผมไปส่งคุณลุงที่หน้า รพ.  คุณลุงหันมายิ้มพร้อมบอกว่า ‘ขอบใจมากนะลูกที่อยู่ คุยเป็นเพื่อนลุงขณะรอตรวจ’

ผมอยู่ปี 2  ได้เรียน PBL มาแล้ว 1 ปี  อาการที่คนไข้มาหาหมอก็มีลักษณะคล้ายกับ PBL หรือเนื้อหาที่พวกเราได้เรียน  แต่สิ่งสำคัญคือการประยุกต์ใช้ หากเราสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ได้จริง ๆ  ก็จะทำให้การเรียนรู้สัมฤทธิ์ผลมากที่สุด

ไปเยี่ยมผู้ป่วยมะเร็งที่บ้าน  พี่พยาบาลได้เอาข้างกล้องไปฝากป้าด้วย เพระข้าวกล้องมีสารต้านมะเร็ง  ซึ่งพี่เค้าใช้เงินตัวเองในการซื้อข้าวกล้องครั้งนี้  ผมคิดว่าพี่เค้าเป็นพยาบาลที่ทุ่มทั้งแรงกายและแรงใจในการรักษาผู้ป่วย  นับเป็นพยาบาลตัวอย่างที่ดีมาก ๆ เลยทีเดียวครับ

- ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่อยากนอนอยู่ที่ รพ.นาน ๆ เพราะมีภาวะหลายอย่างที่ต้องทำที่บ้าน เช่น เลี้ยงลูก ทำงาน เปิดร้านขายของ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวผลักดันให้ผู้ป่วยคาดหวังให้หมอรักษาคนไข้ให้หายจากอาการเจ็บป่วยให้เร็วที่สุด

- ทักษะการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ  เพราะถ้าเราสามารถพูดให้คนไข้เข้าใจ หรือพูดแสดงความเห็นใจต่อคนไข้ได้อย่างเข้าใจกันแล้ว  คนไข้ก็จะรู้สึกเชื่อใจเราและจะรู้สึกดีต่อเรา  แต่เราต้องมีความรู้ในการแนะนำ  จึงจะทำให้ไม่เกิดผลเสียต่อคนไข้

-  การมาสัมผัสชีวิตแพทย์ที่ รพ.ชุมชน ทำให้ทัศนคติของผมเปลี่ยนไปมากทีเดียว  แม้ว่าใน รพ.มีหมอแค่ 3 คน  แต่การบริหารงานต่าง ๆ ภายในทำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ  แม้มีปัญหาเกิดขึ้น แต่ทุกคนก็พยายามแก้ไข  เครื่องมืออุปกรณ์ก็มีเพียงพอและมาตรฐานเดียวกันกับ รพ.ในเมืองใหญ่  แม้จะไม่หรูหราและแพง  แต่ก็เป็นเครื่องมือจำเป็นที่รักษาคนไข้ได้ ประสบการณ์และความสามารถของหมอเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้งานใน รพ.ชุมชนประสบความสำเร็จ 

-  วันนี้การเดินทางอันแสนยาวไกลได้สิ้นสุดลงแล้ว  แต่ผมกลับรู้สึกว่านี่เป็นเพียงด่านแรกที่พวกเราปี 2 ได้ผ่านพ้นมา  ยังเหลือหนทางข้างหน้าอีกยาวแค่ไหน ก็คงไม่มีใครรู้  แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้ก็คือ  เราคงต้องก้าวต่อไป จนกว่าจะถึงที่หมายที่เราได้วาดฝันไว้ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 339072เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2010 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2012 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท